สรุป 4 วิธีเอาตัวรอดจากโจรไซเบอร์ คำแนะนำจาก กรมพัฒน์ฯ

กรมพัฒน์ฯ แนะธุรกิจและประชาชน 4 วิธีเอาตัวรอดจาก ‘โจรไซเบอร์

ลั่นดำเนินคดีกับมิจฉาชีพไม่ให้ลอยนวล หยุดสร้างความเดือดร้อนกับประชาชน

     กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ย้ำเตือนอีกครั้งหลังได้รับแจ้งว่ามีมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนอย่างต่อเนื่อง    พร้อมแนะนำ 4 วิธีเอาตัวรอดจากโจรไซเบอร์ ได้แก่

1) ก่อนเข้าเว็บไซต์ต้องเช็คตัวสะกดของ URL ให้ดี

2) ไม่กดลิ้งค์/SMS/โหลดแอปพลิชัน ที่ไม่รู้จักหรือได้รับแชร์

3) ไม่หลงเชื่อคำเชิญชวน และ

4) ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

ทั้งนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับมิจฉาชีพให้ถึงที่สุดที่แอบอ้างชื่อและปลอมโลโก้กรมฯ

      นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “จากกรณีที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับเรื่องร้องเรียนจากธุรกิจและประชาชนหลายรายว่า มีมิจฉาชีพโทรศัพท์หรือส่งข้อความไปยังผู้ประกอบธุรกิจและประชาชน โดยแอบอ้างชื่อกรมฯ ขอตรวจสอบธุรกิจหรือให้ปรับปรุงข้อมูลนิติบุคคลหรือโครงการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจจากโควิด-19 ซึ่งต้องแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมและเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลผ่านทางแอปพลิเคชัน Line ที่สร้างปลอมขึ้นมาให้หลงเชื่อว่าเป็นช่องทางการติดต่อกับกรมฯ หลอกให้ประชาชน   ดาวน์โหลดจนนำไปสู่การโจรกรรมออนไลน์สูญเสียทรัพย์สินตามมา

          อธิบดี กล่าวต่อว่า “กรมฯ ห่วงใยประชาชนที่อาจจะตกเป็นผู้เสียหายได้หากไม่รู้เท่าทันมิจฉาชีพ และย้ำชัดว่าไม่มีนโยบายทักหาใครก่อน รวมถึงขอข้อมูลส่วนบุคคลหรือเสนอเงินช่วยเหลือธุรกิจด้วย โอกาสนี้จึงขอแนะแนวทางในการป้องกันตัวให้รอดพ้นจากรูปแบบการโจรกรรมข้อมูลใน 4 วิธี ดังนี้ 1) ก่อนเข้าใช้งานเว็บไซต์จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า URL ของเว็บไซต์นั้นสะกดถูกต้องตรงกับหน่วยงานที่จะติดต่อ ต้องไม่มีสระขาดหรือเกินมา URL เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ถูกต้องคือ www.dbd.go.th เท่านั้น และการพิมพ์ตัวอักษรด้วยตนเองแทนการกดผ่านลิ้งค์ที่ได้รับต่อมาจะเป็นวิธีการใช้งานที่ปลอดภัยที่สุด 2) ไม่กดลิ้งค์/SMS/โหลดแอปพลิชัน ที่ไม่รู้จักหรือได้รับแชร์มาจากที่ต่างๆ เพราะอาจมีกลโกงจากมิจฉาชีพแฝงอยู่เพื่อหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลผ่านลิ้งค์ 3) ไม่หลงเชื่อคำเชิญชวน หากได้รับโทรศัพท์หรือการติดต่อจากบุคคลที่อ้างว่ามาจากกรมฯ โดยไม่ได้มีธุรกรรม     ที่เกี่ยวข้องกันมาก่อน หรือเสนอเรื่องต่างๆ ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ขอให้พึงระวังว่าเป็นมิจฉาชีพ และ 4) การโจรกรรมทรัพย์สินผ่านระบบออนไลน์จะต้องใช้ข้อมูลที่ระบุได้ถึงตัวบุคคล จึงต้องไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อย่างเช่น  บัตรประชาชน อีเมล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ และข้อมูลบัตรเครดิต เป็นต้น รวมทั้ง ต้องปกปิดข้อมูลดังกล่าวกับบุคคลที่ไม่รู้จักและ ไม่นำขึ้นบน Social Media ซึ่งทำให้คนทั่วไปเข้าถึงได้”

        “ปัจจุบันมิจฉาชีพได้เปลี่ยนกลโกงให้เข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งใช้ชื่อหน่วยงานภาครัฐที่มีความน่าเชื่อถือมาหลอกกลวงให้เชื่อใจ ประชาชนจึงต้องระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลาและรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมเพื่อจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อและสูญเสียทรัพย์สิน ทั้งนี้ กรมฯ กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับมิจฉาชีพที่ได้แอบอ้างชื่อและปลอมโลโก้กรมฯ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และยอมไม่ได้ซึ่งจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเพราะสร้างความเสียหายกับธุรกิจและประชาชน หากมีข้อสงสัยและศึกษาข้อมูลอื่นๆ ติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน 1570 เว็บไซต์ www.dbd.go.th และ FB: DBD Public Relations” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  กรมพัฒนาธุรกิจการค้า                       ฉบับที่ 166 / วันที่ 8 ธันวาคม 2565

https://www.dbd.go.th/news_view.php?nid=469423286