ธุรกิจของคุณกำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่หรือเปล่า ?????
“รายจ่ายมากกว่ารายรับ”
“ชักหน้าไม่ถึงหลัง ควักเนื้อตัวเองบ่อย ๆ ยิ่งขายยิ่งเข้าเนื้อตัวเอง”
“ทำธุรกิจมาตั้งนานกำไรก็ไม่เห็น ทุนก็หาย ไม่มีเงินเก็บ”
“ลูกค้าจ่ายเงินไม่ตรงเวลา ตามหนี้ลูกค้าไม่ได้ เงินจมไปกับหนี้ลูกค้า”
“ต้องกู้เงินบ่อย ๆ ต้องหยิบยืม เอาตรงโน้นมาโปะตรงนี้”
สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณเตือนว่าธุรกิจของคุณ “มีปัญหาทางการเงิน” อยู่นะครับ
“แย่แล้วสิ ถ้ามีปัญหาทางการเงิน ธุรกิจต้องลำบากแน่ ๆ”
ใช่แล้วครับ ถ้าคุณต้องเจอกับปัญหาทางการเงินไม่ต้องทำธุรกิจหรอกครับ แค่อยู่ธรรมดา ๆ ยังลำบากเลยจริงหรือเปล่าล่ะครับ
การเงินเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ในการทำธุรกิจ ‘ก่อนการลงทุนทางธุรกิจ’ คุณจึงควรให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงินเป็นลำดับแรก นอกจากคุณต้องมีเงินในการลงทุนแล้ว คุณยังต้องมีการจัดสรรเงินบางส่วนเพื่อสำรองใช้จ่ายในภาวะฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันเอาไว้ด้วยนะครับ
การวางแผนทางการเงินเป็นการ “ป้องกันปัญหา” ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นกับธุรกิจของคุณ หรือต่อให้เกิดปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณก็จะมีแผนการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้ ปัญหาเหล่านี้ที่คนทำธุรกิจมักจะเจอคือ “ปัญหาขาดสภาพคล่อง” พูดง่าย ๆ ก็คือ เงินขาดมือนั่นเองครับ
ดังนั้นสิ่งที่คุณควรทำเมื่อรู้ตัวว่ามีปัญหาทางการเงินคือ
- ทบทวนข้อมูลทางการเงิน ถ้าคุณมีการจัดทำบัญชีในธุรกิจของคุณอยู่แล้ว รีบทบทวนมันซะ เอามันมานั่งดูอย่างละเอียดเลยนะครับ โดยดูจากบัญชีงบดุล และบัญชีรายได้ เพื่อดูว่าคุณมีช่องโหว่อะไรบ้างในด้านการเงินและความคล่องตัวของกระแสเงินสด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทำธุรกิจขายของส่งคุณไปเอาสินค้ามาขายโดยเขาให้เครดิตคุณ 15 วัน แต่คุณให้เครดิตลูกค้าคุณ 30 วัน แบบนี้เงินจะไปจมอยู่กับลูกค้านานเกินไปครับ คุณต้องปรับช่วงเวลาใหม่อาจไปขอเครดิตเจ้าหนี้นานขึ้นให้พอดีกับที่ให้เครดิตลูกค้า หรือ ขอลดเวลาเก็บเงินจากลูกค้าลง ให้พอดีกับที่ต้องเอาเงินไปจ่ายเจ้าหนี้ แบบนี้พอเห็นภาพหรือเปล่าครับ
- ต้องเรียนรู้การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ถ้าคุณละเลยเรื่องการทำบัญชีมาตั้งแต่ต้น รีบทำมันซะ เริ่มทันที ถ้าการตลาดคือดาบที่ใช้ต่อสู้ในการทำธุรกิจ ระบบบัญชีก็คือเกราะป้องกันที่จะทำให้ธุรกิจของคุณก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง เพราะการใช้เงินของคุณจะสะท้อนให้เห็นได้จากบัญชี ทำให้คุณสามารถเห็นรอยรั่วที่ทำให้เงินไหลออกจากกระเป๋าได้ และเมื่อพบรอยรั่วนั้น รีบหาวิธีอุดมันซะ
“บัญชีคือแผนที่สู่ความสำเร็จ” เถ้าแก่ใหม่ทั้งหลายต้องให้ความสำคัญมาก ๆครับ
- ต้องเข้าสู่โหมดประหยัด เมื่อคุณรู้รอยรั่วในธุรกิจของคุณ นั่นหมายถึง คุณต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นต่อกิจการของคุณออกให้หมด ย้ำนะครับ “ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น” การประหยัดไม่ได้หมายความว่าลดการใช้จ่ายทุกสิ่งทุกอย่างลง แต่ให้ตัดสิ่งที่ไม่ส่งผลดีต่อธุรกิจของคุณออกไป
หลายคนครับพอบอกให้ประหยัด ดันไปลดคุณภาพวัตถุดิบในการผลิตลง ไปลดค่าแรงลูกจ้างลง ระวังนะครับ จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
- ต้องบริหารการเงินให้เป็น การที่คุณต้องประสบกับปัญหาทางการเงินในธุรกิจของคุณนอกจากปัจจัยภายนอกที่คุณควบคุมไม่ได้ คุณต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากการบริหารการเงินของคุณเอง ดังนั้น คุณต้องปรับตัวและเรียนรู้การบริหารการเงินให้สอดคล้องกับธุรกิจของคุณให้ได้ ใช้จ่ายในธุรกิจเท่าที่จำเป็น ไม่ซื้อของมากองไว้มันจะทำให้เงินจมและคุณจะเจอปัญหาเงินสดขาดมือ ต้องรู้จักแยกส่วนที่จะเก็บ แยกส่วนที่จะใช้ ซึ่งหากคุณสามารถจัดตารางการใช้เงินได้คุณจะคุมการใช้เงินในกิจการของคุณได้ ซึ่งจะทำให้คุณมีเงินคล่องมือและไม่เดือดร้อน แถมยังมีเงินเก็บด้วยครับ
- ต้องหาช่องทางเพิ่มรายได้ นอกจากการทบทวนแผนการเงินในธุรกิจของคุณแล้ว สิ่งที่คุณควรทำอีกอย่างหนึ่งคือ ทบทวนแผนการผลิต หรือแผนการตลาดของคุณว่า มีช่องทางไหนบ้างที่จะสามารถสร้างรายได้อีกทางให้แก่ธุรกิจของคุณเอง เพราะในบางธุรกิจ หากจัดการดี ๆ มีช่องทางสร้างรายได้เสริมได้ด้วย เช่น คุณทำการผลิตสินค้าสักอย่างหนึ่ง ของเหลือใช้ เศษวัสดุ อาจจะเอามาคิดค้นผลิตเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งก็ได้ หรือเก็บรวบรวมของเหลือใช้ในการผลิตขายให้ร้านขายของเก่าก็ได้
ทริกเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการแก้ไขปัญหาทางการเงินในธุรกิจ ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่คุณต้องเติมให้ตัวเองตลอดเวลา แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือการทำทบทวนแผนการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปัญหาการเงินไกลจากธุรกิจของคุณ
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME