เถ้าแก่ใหม่ทั้งหลายที่กระโดดเข้าสู่โลกแห่งธุรกิจไม่ว่าจะเพราะเหตุผลอะไรก็ตาม เมื่อคุณตัดสินใจก้าวมาสู่เส้นทางนี้แล้ว คุณต้องสวมจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ คุณต้องมีคุณสมบัติ ความเป็นผู้นำ กล้าได้กล้าเสีย รักความท้าทายทุกรูปแบบ ในขณะที่คุณรักในความเป็นอิสระแต่คุณต้องมีระเบียบวินัยในตัวเองสูงมาก ๆ ฟังดูขัดแย้งกันนะครับ

 

คืออย่างนี้ครับ เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่อยากมีธุรกิจของตัวเอง เพราะอยากเป็นนายตัวเองใช่หรือเปล่าล่ะครับ จะได้ไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจใคร ไม่ต้องมีใครมาสั่ง แต่การที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ คุณต้องคิดวางแผนเอง และคุณต้องบังคับตัวเองให้ทำตามแผนนั้นให้ได้ เพื่อให้คุณบรรลุเป้าหมาย ถ้าคุณเหยาะแหยะไม่รักษาวินัยไม่เดินตามแผน นับถอยหลังรอวันเจ๊งได้เลยครับ…ไม่ต้องรอให้หมอดูที่ไหนมาทำนาย 55555

 

ปัญญาหลักอย่างหนึ่งที่เถ้าแก่ใหม่ทั้งหลายต้องกุมขมับอยู่ตลอดเวลา นั่นคือเรื่องของ “คน” ครับ

ในหัวข้อนี้ ผมขอโฟกัสไปที่ “ลูกจ้าง” ในธุรกิจเลยนะครับ แล้วขอตัดเรื่องธุรกิจในครอบครัว ที่ใช้แรงงานในครอบครัวออกไปก่อนนะครับ วันนี้เราจะมาคุยกันในมุมของธุรกิจที่ต้องจ้างลูกจ้างว่ามันมีปัญหาอะไรบ้าง แล้วคุณจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร

 

ข้อแรก ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

          อันนี้ว่ากันตั้งแต่จะเริ่มธุรกิจเลยล่ะครับ เริ่มตั้งแต่จะจ้างใคร จ้างที่ไหน ไว้ใจได้หรือเปล่า จ้างกี่คนดี แล้วทำอย่างไรให้ลูกจ้างอยู่กับเรานาน ๆ

ทางออกของปัญหาข้อนี้ ในส่วนจะจ้างใคร จ้างกี่คน ขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจของคุณว่าธุรกิจของคุณเป็นแบบไหน แต่พอหาคนได้ ใช่ว่าจะจบปัญหาขาดแคลนแรงงานนะครับ เพราะทุกวันนี้การแข่งขันสูง การแย่งตัวคนงานก็มีสูง มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะผูกใจลูกจ้างไว้ได้อย่างไร

ง่าย ๆ ครับ “คนเราอยู่ที่ไหนสบายตัวสบายใจ เขาก็อยากอยู่ที่นั่น”

  1. ค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อ ถ้าลูกจ้างไม่รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ เขาอยู่กับคุณยาว ๆ แน่นอนครับ ดังนั้นคุณต้องแจกแจงขอบเขตงานให้ชัดเจนครับ ทำอะไร อย่างไร เวลาเท่าไรในแต่ละวัน ตกลงกันตั้งแต่แรก ที่เหลือก็เป็นเรื่องของน้ำใจล่ะครับ
  2. สวัสดิการอื่น ๆ
    • ค่าล่วงเวลา ถ้าทำงานเกินเวลาหรือเกินกว่าขอบเขตงานที่ตกลงกัน มีเงินพิเศษให้
    • การประกัน อาจซื้อประกันอุบัติเหตุ หรือประกันชีวิตกลุ่มให้ลูกจ้างเพื่อสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้แก่ลูกจ้าง อาจช่วยออกครึ่งหนึ่ง ลูกจ้างออกเองครึ่งหนึ่งก็ได้ครับ
    • สิทธิในการลา กำหนดวันลาให้ชัดเจน ลาอะไร ได้กี่วัน ลากิจ ลาป่วย ลาพักผ่อน กำหนดให้ชัดไปเลยครับ ว่าในรอบปี การลาแต่ละประเภทลาได้กี่วัน

ข้อที่สอง ปัญหาแรงงานขาดทักษะ

ได้ลูกจ้างมาใช่ว่าปัญหาจะจบ บางครั้งคุณเลือกไม่ได้ที่จะได้คนเป็นงานเลยมาทำงานกับคุณ หรือจะเอาคนที่ทำงานเป็นแล้วมีทักษะแล้วแต่ค่าจ้างสูง คุณก็แบกรับต้นทุนค่าจ้างไม่ไหว ก็จำเป็นล่ะครับที่ต้องจ้างคนที่ไม่ทีทักษะมา

แต่ผมกลับมองในแง่บวกนะครับ ได้คนที่ไม่เป็นอะไรมาเลยก็ดีไปอีกแบบ เราจะได้สอน หรือพัฒนาทักษะลูกจ้างให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจของเราไปเลย แม้จะเสียเวลาสักหน่อย แต่ก็ดีกว่าขาดคนนะครับ

และสิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ คุณได้ให้โอกาสคน มันจะเป็นสิ่งมัดใจให้คนที่คุณสอนเขา พัฒนาเขาและให้อาชีพเขา อยู่กับคุณไปนาน ๆ ครับ

 

มุมมองง่าย ๆ ในการมัดใจคนให้อยู่กับเรา แต่ถ้าทำด้วยความตรงไปตรงมา จริงใจ ชัดเจน ผมเชื่อว่าถ้าไม่ใช่คนที่ไม่เอาไหน อย่างไรเสีย ก็ต้องเลือกอยู่กับนายจ้างที่ไม่เอาเปรียบเขาล่ะครับ