บริษัท startup เจ๊ง 95% รอดเพียง 5% สิ่งที่น่ากังวลของนวัตกรรมไทย

สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจได้รายงานเรื่อง เรื่องชวนน่ากังวลของนวัตกรรมไทยเมื่อนวัตกรรมใหม่ ๆ มีโอกาสตายถึง 95% และรอดเพียง 5% โดยมีรายละเอียดดังนี้

            เรื่องน่าเศร้าอย่างหนึ่งที่ถูกพูดถึงในหลาย ๆ เวทีการพูดคุยมักจะเป็นเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยที่นับวันจะถดถอยและมีโอกาสสูงมากที่จะไม่สามารถสู้กับใครได้ในอนาคต โดยหากไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือแก้ไขเพื่อเพิ่มพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันก็มีโอกาสสูงมากที่เราจะสู้เพื่อนบ้านรอบด้านไม่ได้ด้วยซ้ำ

เมื่อหันกลับมามองว่าแล้วอะไรที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้คำตอบที่เรามักจะดได้ยินกันอยู่เสมอก็คือการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสินค้าที่เป็น “นวัตกรรม” ขึ้นมาเพื่อให้เราสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

แม้นวัตกรรมจะเป็นคำตอบของการแข่งขันแต่การพัฒนานวัตกรรมกลับไม่ใช่เรื่องง่าย

ดร.วรวัฒน์ ชิ้นปิ่นเกลียว ซีอีโอ บมจ.ไทย โคโคนัท เจ้าของรางวัลนวัตกรรมจากงานแสดงสินค้าอาหารระดับโลก “SIAL2022” ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้า“ไข่น้ำแช่แข็ง” หรือ “Fresh Frozen Wolffia” ได้เล่าถึงปัญหาของการพัฒนานวัตกรรมว่าการพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาสักอย่างหนึ่งต้องใช้เวลา

โดยกว่ากระบวนการแรกจะสำเร็จไปจนถึงในขั้นตอนการวางจำหน่ายได้ต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีโดยแบ่งเป็นการวิจัยและพัฒนาไม่ต่ำกว่า 2 ปีและขั้นตอนการทำการตลาดอีก 3 ปี รวมเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีซึ่งในช่วงนี้บริษัทจะไม่มีรายได้เข้ามาเลยนอกจากรายจ่ายที่พ่วงมาด้วยความเสี่ยงเพราะสินค้าที่ผลิตอาจจะไม่ติดตลาดอย่างที่คาดคิดก็ได้

ดร.วรวัฒน์ยังเล่าถึง start up ที่มีสินค้าที่ดีหลาย ๆ รายแต่ก็ต้องเจ๊งไปซึ่งเมื่อคิดเป็นตัวเลขกลับพบว่ามีสัดส่วนถึง 95% เลยทีเดียว โดย Start up เหล่านี้มีจุดอ่อนอยู่ที่การหาตลาดและเงินทุนสนับสนุนซึ่งหากใครมีสายป่านยาวพอก้อาจมีเวลารอให้สินค้าติดตลาดได้ แต่หากใครสายป่านไม่ยาวพอโอกาสรอดก็น้อยมาก แต่สำหรับตัวของ ดร.วรวัฒน์เองเขากล้าที่จะเสี่ยงเพราะมองว่าอนาคตของไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรหากไม่มีการพัฒนานวัตกรรมด้านนี้เลยเราก็จะเสียเปรียบ

ในอนาคตผู้ประกอบการไทยรวมถึงไทยโคโคนัทคาดหวังว่าการพัฒนานวัตกรรมจะเกิดจาก 2 ส่วนคือตัวของบริษัทเองที่ต้องเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรในขณะที่อีกด้านหนึ่งการพัฒนานวัตกรรมต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภาครัฐหรือองค์กรใหญ่ ๆ ที่มีเงินทุนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือประคับประคองและช่วยส่งเสริมให้นวัตกรรมสามารถสู้กับตลาดได้เพราะท้ายที่สุดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจากสินค้านวัตกรรมนี้จะย้อนกลับมาช่วยให้บริษัทและประเทศไทยในอนาคตเติบโตไอ้อย่างยั่งยืน

ที่มา: https://www.prachachat.net/columns/news-1213096

วิเคราะห์ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจสำหรับข่าว บริษัท startup เจ๊ง 95% รอดเพียง 5%

ในช่วงที่ผ่านมาประเด็นของ start up กำลังเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงในประเทศไทยเพราะมี start up ใหม่ ๆ ผุดขึ้นมามากมายและพวกเขาเหล่านี้มาพร้อมนวัตกรรมที่น่าสนใจด้านต่าง ๆ แต่ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปกลับมีข่าวว่า start up เหล่านี้เหลือรอดอยู่ในวงการไม่ถึง 5 % เท่านั้นโดยส่วนใหญ่ล้มหายไปจากธุรกิจทั้ง ๆ ที่สินค้าและบริการของพวกเขาหลาย ๆ อันก็มีความน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

หากเราวิเคราะห์ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเหล่า start up ยังคงขาดประสบการณ์ในเรื่องของการทำธุรกิจอยู่อีกมากแม้พวกเขาจะมีไอเดียที่ดีในการสร้างสรรนวัตกรรมออกมาแต่ทว่าในเรื่องของการต่อยอดให้ประสบความสำเร็จในธุรกิจเรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกันเลย

Start up หลายรายรู้ว่าสินค้าและบริการของพวกเขาเหมาะกับลูกค้ากลุ่มใดแต่กลายเป็นว่าเขาไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เพราะขาดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ดีในขณะที่บางรายไม่รู้วิธีหรือลำดับขั้นตอนในการทำธุรกิจด้วยซ้ำและส่วนมากเงินทุนของพวกเขาก็มักจะจมไปกับตัวของสินค้าจนไม่เหลือเงินที่จะนำไปโปรโมทเพื่อทำการตลาด และกว่าจะรู้ว่าควรจะต้องมีการทำการตลาดเงินทุนที่มีก็ไม่มากพอที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก

แต่สิ่งที่น่าเสียดายมากที่สุดคือจริง ๆ แล้วพวกเขามีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนรวมถึงความรู้ในเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมและการทำธุรกิจจากหน่วยงานภาครัฐมากมายที่ในแต่ละปีมีทุนที่ทางรัฐบาลจัดสรรไว้เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs มากมายแต่กลายเป็นว่าต้องส่งเงินก้อนนี้กลับเข้าคลังเพราะมีธุรกิจมาขอความช่วยเหลือน้อยมาก

หรือแม้กระทั่งความช่วยเหลือจากภาคเอกชนที่ต่างเข้ามาร่วมกันพัฒนาเหล่า Start up ผ่านโครงการอบรมต่าง ๆ ดังนั้นก่อนที่ start up จะเริ่มลงมือทำธุรกิจก็จำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลในเรื่องเหล่านี้รวมถึงภาครัฐเองก็ต้องมีนโยบายออกมาสนับสนุนและมีการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างมากกว่านี้และให้ Start up และ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนและความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันได้สูงสุดและต่อยอดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาเป็นหลักให้กับประเทศนี้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต