ในช่วงแรกที่อินเตอร์เน็ตเริ่มเฟื่องฟู พ่อค้าแม่ค้าคนกลางวิตกว่าการค้าออนไลน์จะทำให้ธุรกิจตัวกลางหายไป แต่ปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าตรงกันข้ามเลย โลกการค้าออนไลน์กลับทำให้มีคนกลางเกิดขึ้นมากมาย แต่เป็น “คนกลางที่ไฮเทค” เข้ามาแก้ปัญหาสำคัญที่ธุรกิจตัวกลางดั้งเดิมทำไม่ได้ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงความต้องการของมนุษย์เข้าหากันแบบที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน โดยธุรกิจที่ตัวกลางเหล่านี้สร้างขึ้นมาเรียกว่า “ธุรกิจแพลตฟอร์ม” นั่นเอง ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจแบบใหม่ มักอยู่ในรูปแบบแอพพลิเคชั่น ที่โหลดง่ายใช้สะดวกบนมือถือ หากเราอยากเริ่มต้นทำธุรกิจแพลตฟอร์ม ขั้นตอนแรกต้องเริ่มจากการวางแผนงานและเขียนแผนธุรกิจเสียก่อน ซึ่งมี 5 ข้อสำคัญที่แตกต่างจากแผนธุรกิจทั่วไปหรือแผนธุรกิจดั้งเดิม ดังนี้
1. คุณค่าของธุรกิจแพลตฟอร์ม (Value Proposition) เน้นอำนวยความสะดวก และแก้ Pain Point
คุณค่าของธุรกิจแพลตฟอร์มเน้นการอำนวยความสะดวก และการแก้ Pain Point เป็นหลัก ซึ่งทำไม่ได้ในธุรกิจดั้งเดิม เนื่องจากลักษณะเด่นเป็นการ “การจับคู่ความต้องการ” ระหว่างผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม ดังนั้น ยิ่งวงการไหนเจอกันลำบาก หรือมีปัญหาความไม่เชื่อใจกัน การสร้างธุรกิจแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกและตรวจสอบกันและกันได้จะยิ่งเป็นที่ต้องการ เช่น GrabCar เป็นการจับคู่ระหว่างแท็กซี่กับผู้โดยสาร ที่เข้าช่วยแก้ปัญหาผู้โดยสารที่มักจะถูกปฎิเสธการให้บริการหรือความไม่ปลอดภัยจากการนั่งแท็กซี่คนเดียว ขณะเดียวกันก็ช่วยให้คนขับรู้จุดเหมายปลายทางก่อนตัดสินใจว่าจะรับส่งผู้โดยสารรายนี้หรือไม่ หรือ Freshket ที่จับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายวัตถุดิบอาหาร ทำให้ร้านอาหารหรือโรงแรมสามารถสั่งผัก ผลไม้จากผู้ขายในตลาดสดได้อย่างรวดเร็วตามต้องการ ขณะเดียวกันทั้งคู่ก็สามารถตรวจสอบกันและกันได้
2. เงินทุนในการดำเนินธุรกิจ (Financials) สามารถหาได้จากหลากหลายแหล่ง
ธุรกิจแพลตฟอร์มจัดอยู่ในหมวดธุรกิจนวัตกรรมที่อยู่ในความสนใจของหลายๆ วงการ รวมถึงวงการสตาร์ทอัพ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและกองทุนสำหรับธุรกิจแนวนี้มากมาย อีกทั้งภาครัฐก็มีกิจกรรม จัดประกวดแนวคิดธุรกิจ ชิงเงินทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการประกวดจากธนาคารออมสิน ดังนั้นถ้าเราสนใจทำธุรกิจแพลตฟอร์ม เราสามารถวางแผนหาเงินทุนได้จากหลายแหล่ง ไม่จำกัดเพียงแค่การกู้ยืมจากธนาคารอีกต่อไป เพราะหากหลักฐานไม่ผ่าน ก็หมดโอกาสเลย! แต่ธุรกิจแพลตฟอร์มสามารถใช้วิธีการระดมทุนแบบ Crowdfunding หรือหาเวที Pitching ไอเดีย ซึ่งมีโอกาสได้เงินสนับสนุนจาก Angle หรือ Venture Capital อย่างเช่น Local Alike เป็นธุรกิจแพลตฟอร์มธุรกิจเพื่อสังคม ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของชุมชนเป็น “ไกด์พิเศษ” ให้กับนักท่องเที่ยว สามารถจัดทัวร์ได้เอง โดย Local Alike สามารถหาเงินทุนมาขยายธุรกิจได้ถึง 11.4 ล้านบาท จากการประกวดโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนของ Booking.com
3. โมเดลรายได้ (Revenue Model) ไม่ใช่แค่ขายแค่สินค้า แต่สามารถสร้างรายได้จากสิ่งที่จับต้องไม่ได้ด้วย
ลองนึกถึงถ้าเราอยากเปิดร้านขายหนังสือ ก็ต้องไปติดต่อสำนักพิมพ์หลายๆ แห่ง ต้องมีพื้นที่หน้าร้านสำหรับวางขายพร้อมเก็บสต๊อกส่วนหนึ่ง ถ้าพื้นที่เต็มก็ต้องขายออกไปให้หมดก่อน แล้วจึงค่อยลงหนังสือใหม่ แต่หากนึกถึง Ookbee ซึ่งเป็นธุรกิจแพลตฟอร์ม ที่สามารถวางขายแบบไม่จำกัดพื้นที่ อีกทั้งได้หนังสือที่มาจากสำนักพิมพ์ที่หลากหลายกว่า จะเห็นว่า Ookbee เปลี่ยนโมเดลรายได้แบบที่เราคุ้นกันมานาน คือ การตั้งราคาขายปลีกจากการบวกเพิ่มกำไรจากต้นทุนที่เรียกว่า Mark-up Model สู่โมเดลรายได้แบบ Subscription Model แบบอ่านได้ไม่อั้น (แล้วแต่ลูกค้าจ่ายเหมารายเดือนหรือรายปี) เพราะว่าแท้ที่จริงแล้ว ถ้าเราเป็นสมาชิก Ookbee เราไม่ได้ซื้อหนังสือเป็นเล่มๆ กลับมาอ่านที่บ้าน แต่เราได้สิทธิ์เข้าถึงการอ่านหนังสือออนไลน์ ซึ่งแผนธุรกิจแพลตฟอร์มแบบนี้ ต้องพิจารณารายได้รูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่การขายสินค้า แต่ต้องมองลึกไปถึงการขายสินค้าดิจิตัล บริการ หรือ สิทธิ์ด้วย
4. การแบ่งเซ็กเมนต์ลูกค้า (Customer Segment) เน้นการประสานประโยชน์ระหว่างกลุ่มผู้ใช้
ธุรกิจแพลตฟอร์มใช้การแบ่งส่วนตลาดแบบ Multisided Segment และบริหารประโยชน์ที่สมดุลระหว่างลูกค้าในแพลตฟอร์มจากหลายๆกลุ่มได้ ซึ่งเป็นการแบ่งส่วนตลาดรูปแบบใหม่ที่ธุรกิจดั้งเดิมทำได้ยาก ลูกค้าของแพลตฟอร์มจะมีหลายกลุ่มและมีบทบาทสัมพันธ์กันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ลูกค้าของ Netflix จะมี 2 กลุ่ม คือ เจ้าของลิขสิทธิ์หนัง และผู้ชม ลูกค้าของ GrabFood มี 3 กลุ่ม คือ ร้านอาหาร วินมอเตอร์ไซค์ และผู้ซื้ออาหาร ส่วน Facebook จะมี(อย่างน้อย) 4 กลุ่ม คือ ผู้เล่นเฟซบุ๊ค นักพัฒนา ผู้โฆษณา และพาร์ทเนอร์อื่นๆ โดยที่แพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานประโยชน์ ถ้าแพลตฟอร์มเราสามารถดึงดูดกลุ่มใหม่ๆ ที่เข้ามาเชื่อมโยงใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ธุรกิจเราก็จะยิ่งเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ
5. ห่วงโซอุปทาน (Value Chain) ไม่ได้เป็นเส้นตรงแบบธุรกิจดั้งเดิม
ธุรกิจแพลตฟอร์มไม่ได้มีห่วงโซ่อุปทานแบบเส้นตรงแนวนอนดังทฤษฎีของ Michael E. Porter หรือ “แบบท่อน้ำ (Pipeline)” ดังที่เขียนไว้ในหนังสือ Platform Revolution แต่เป็นแบบที่เรียกว่า “Network effects” โดยวัตถุประสงค์ของธุรกิจแพลตฟอร์มนั้นมุ่งไปที่การสร้างเครือข่าย จำไว้ว่าธุรกิจแพลตฟอร์มสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งสองด้านคือ Demand และ Supply ซึ่งถ้า Demand มีมาก(ขอให้มาเถอะๆ!) ก็ไม่ต้องกังวลจะส่งมอบไม่ทัน เพราะสามารถขยายเพิ่ม Supply เข้ามาได้อย่างรวดเร็วและไม่จำกัดอีกด้วย ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจแบบท่อน้ำ จึงเปรียบธุรกิจนี้เหมือนชานชลาที่คอยอำนวยความสะดวกและเชื่อมโยงคนทุกกลุ่ม โดยร่วมอาศัยพาหนะไปสู่จุดหมายเดียวกัน
ธุรกิจแพลตฟอร์มเป็นธุรกิจตัวกลางสมัยใหม่ที่อาศัยความสะดวกและความทันสมัยของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่แค่ธุรกิจที่มีเว็บไซต์มาเกี่ยวข้อง หรือเพียงแค่จัดการบริการอยู่เว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่ง ซึ่งแน่นอนที่สุดการเขียนแผนธุรกิจจึงมีมิติที่แตกต่างออกไป เราจึงต้องทำความเข้าใจเสียก่อนจึงจะสามารถเขียนแผนขับเคลื่อนธุรกิจธุรกิจสมัยใหม่ได้
ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรเขียนบทความสร้างรายได้รุ่นสู้โควิด 2020
คุณ Jinalyst
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME