การทำสัญญาแฟรนไชส์ คือการจรดปากกา ลงลายเซ็นต์ เพื่อยืนยันการตกลงปลงใจที่จะทำธุรกิจร่วมกันระหว่าง แฟรนไชซอร์ (Franchisor) ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ สินค้าหรือบริการ ที่ไม่เพียงสร้างสินค้าให้มีคุณภาพแล้ว ยังสร้างระบบบริหารจัดการให้ได้มาตรฐาน และยินดีขายสิทธิในการดำเนินการค้าภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ตนเองให้กับแฟรนไชซี (Franchisee) ซึ่งผู้รับสิทธิในการดำเนินธุรกิจตามระบบที่เจ้าของสิทธิ์ได้จัดเตรียมไว้ให้

ถ้าถามว่าการทำสัญญาแฟรนไชส์ต้องมีอะไรบ้าง อย่างแรกคือเงินลงทุนขั้นเริ่มต้น ซึ่งก่อนที่จะนำเงินมาลงทุนนั้น ก็ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ มีวิสัยทัศน์ ประกอบพิจารณาให้ถ้วนถี่ว่า ธุรกิจที่เราจะเลือกยึดหัวหาดเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมต่อไปในอนาคตนี้ มีความคุ้มค่าในระยะยาวหรือไม่ เพียงไร

ก่อนการทำสัญญาแฟรนไชส์ เราควรจะต้องทำความเข้าใจในข้อตกลง ในสิทธิหรือขอบเขตในการดำเนินการที่ทั้งสองจะพึงมี พึงได้ร่วมกัน ให้กระจ่างใจเสียก่อน ซึ่งตามปกติแล้ว ก่อนที่จะตกลงเซ็นสัญญาขอรับสิทธิมาดำเนินการ  โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับเงิน มีสิ่งควรรับทราบ เพื่อประกอบการพิจารณา อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนี้

แฟรนไชส์ ฟี ( Franchise Fees) หรือค่าธรรมเนียมแรกเข้า

ปัจจุบันนี้ ค่าแฟรนไชส์ ฟี มีตั้งแต่ 0 บาท ไปจนถึงหลักล้านบาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจ ว่ามีขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ มีระบบการบริหารจัดการ ซับซ้อนมากน้อยเพียงไร มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศหรือไม่ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยให้บริการ เพื่อพัฒนาความรู้แก่ผู้ประกอบการเป็นระยะหรือไม่ รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะนำมาติดตั้งในร้านค้า ตั้งแต่พื้นที่ขนาดเท่าบูธรถเข็น ไปจนถึงสองห้องแถว หรือใหญ่กว่านั้น บางธุรกิจไม่คิดค่าแฟรนไชส์ ฟีก็ได้ แต่เน้นขายอุปกรณ์ประกอบร้าน  และซื้อวัตถุดิบซึ่งเจ้าของเป็นผู้ผลิต ต่อไป แต่ถ้าหากแฟรนไชซีทำสัญญาไปแล้วเลิกขาย อย่างน้อยเจ้าของผลิตภัณฑ์ก็ยังได้ค่าหม้อชามรามไห เตาอบ ป้าย รถเข็น ฯลฯ  ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านแฟรนไชซี ฟี จึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดตัวแรก ให้เรากระโจนเข้าใส่ธุรกิจบางอย่าง จนบางครั้งอาจลืมมองข้ามเงื่อนไขอื่นๆ ที่ติดตามมา หลงคิดว่า จ่ายน้อย อาจจะได้ผลตอบแทนมาก ดังนั้น ถ้าอยากเป็นผู้ประกอบการแฟรนไชซีที่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องไม่ลืมหลักคำนวณต้นทุน กำไร ขาดทุน ซึ่งหลายๆ ท่านที่ปรารถนาจะเป็นผู้ประกอบการใหม่ แต่ไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวทำมาค้าขาย หรืออยู่ในสายงานการตลาดมาก่อน อาจจะต้องศึกษาข้อมูลให้ถ้วนถี่ก่อนทำสัญญา

รอยัลตี้ ฟี (Royalty Fees) หรือค่าสิทธิระยะยาว

เป็นค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่อง ตามสัดส่วนของผลการดำเนินธุรกิจ บางรายอาจจะเรียกเก็บเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อเดือน หรือต่อปี บางรายอาจจะหักจากยอดขาย หรือเรียกเก็บจากยอดซื้อสินค้า บางรายอาจจะคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้าก้อนใหญ่ แล้วคิดค่ารอยัลตี้ ฟี น้อยๆ หรือบางรายคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้าน้อยๆ แล้วคิดสัดส่วนรอยัลตี้ ฟีเป็นขั้นบันได ตามยอดสั่งซื้อสินค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ไม่ได้มีหลักการตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่ายหรือไม่ ข้อพิจารณาก็คือ การแบ่งปันส่วนแบ่งรายได้ เป็นหนึ่งในหลักการสนับสนุนธุรกิจของแฟรนไชซอร์ละสะท้อนให้เห็นถึงหลักประกันอย่างหนึ่งสำหรับการเติบโตในการทำธุรกิจร่วมกันในระยะยาว

ค่าส่งเสริมการตลาด (Advertising Fees หรือ Marketing Fees)

ค่าใช้จ่ายนี้อาจจะไม่มี หรือมีก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของสินค้ามีสายตายาวไกลในการสร้างแบรนด์สู่ผู้บริโภคมากน้อย เพียงไร หากเจ้าของแบรนด์มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้าและบริการของเขา ให้เป็นแบรนด์ยอดนิยมอย่างต่อเนื่อง อาจจะดีกับแฟรนไชซีด้วยซ้ำ หากเราได้อานิสงส์ผลพวงของการโฆษณานั้นไปด้วย