ปัจจุบันการทำธุรกิจ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เริ่มต้นได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อย้อนกลับไปราวๆ 5 ปีที่แล้ว เริ่มง่าย แถมมีโอกาสรวยได้ไม่น้อย ถ้า “เดินถูกทิศ ทำถูกทาง”.. แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ แล้วในปัจจุบันนี้

สำหรับคนทำธุรกิจ คงไม่มีใครคิดสั้น อยากทำให้มันสำเร็จยืนยาวกันทั้งนั้น.. ดังนั้นการจะสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ต้องมีคือ “VISION” หรือ “วิสัยทัศน์” นั่นเอง

“VISION” หรือ “วิสัยทัศน์” เป็นศัพท์ที่อยู่คู่กับโลกธุรกิจ ไม่น้อยกว่า 20 ปีมาแล้ว ถ้าแปลความหมายตรงตัว ก็คือ ความสามารถในการมองเห็น สิ่งที่ไกลออกไปได้ชัดเจน ยิ่งเห็นชัด ยิ่งทำให้รู้ได้ว่าเราควรจะมุ่งหน้าไปทางไหน ทำอย่างไรจึงจะไปสู่จุดนั้นได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า “เดินถูกทิศ ทำถูกทาง” นั่นแหละ

 

การจะทำธุรกิจ แบบมี VISION ในมุมมองผมต้องพร้อมในองค์ประกอบ 6 ด้านดังนี้

 

I) Value Proposition – คุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า

ซึ่งหลายคนมักคิดและยึดติดว่า คุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้านี้ คือสิ่งเดียวกับ คุณค่าของตัวสินค้านั่นเอง หนักไปกว่านั้นคือ คิดว่ามันคือ สิ่งที่ได้รับจากการใช้สินค้าหรือเกี่ยวข้องกับ ฟังก์ชันการทำงานหลักของสินค้านั้นๆ ..

ถามว่าเข้าใจและคิดแบบนั้นผิดไหม ตอบว่าไม่ผิด แต่ถ้าให้เหมาะกับโลกธุรกิจยุคนี้ ต่อไปยุคอนาคต การคิดแบบนั้น ดูจะจำกัดกรอบตัวเอง และลดทอนความสามารถในการแข่งขันลงไปมากเลยทีเดียว

ตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพของ Value Proposition คือ ไอโฟน ไม่ได้เป็นเพียงแค่ สมาร์ทโฟน เหมือนฝั่งแอนดรอยด์ของหลายๆ ค่าย แต่ไอโฟน ส่งมอบคุณค่าด้านอื่นให้กับลูกค้าด้วย เช่น ความดูดี พรีเมียม บ่งบอกถึงความมีรสนิยม สถานะทางสังคม นั่นจึงทำให้ ไอโฟนแตกต่างจากสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นอย่างเห็นได้ชัด มีสาวกของแบรนด์ที่จงรักภักดีแบบสุดๆ เรียกได้ว่า ออกมากี่รุ่น ก็ต้องอัพเดท และอัพเกรด ซื้อมาเป็นเจ้าของ

II) Integrity – ความซื่อสัตย์

ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องยึดถือ โดยเฉพาะธุรกิจที่ลงทุนสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำและยอมรับจากลูกค้า.. เพราะความซื่อสัตย์นี้ จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวสินค้า บริษัท ที่จะทำให้ธุรกิจเราดำเนินต่อไปได้ยาวนานตราบนานเท่านาน

ธุรกิจใด ทำแบบฉาบฉวย หรือตีหัวเข้าบ้าน ถามว่าสินค้าขายได้ไหม ก็ต้องตอบว่าได้ และหลายกรณี ได้กำไรดีซะด้วย แถมอาจเลยเถิดจนเกิดกระแส คนแห่ซื้อมาใช้กันมากมาย ก็มีให้เห็น แต่ถ้ามองระยะยาว

ความไม่ซื่อสัตย์ เท่ากับการไม่เคารพต่อลูกค้า เมื่อวันใด สิ่งที่เป็นเหตุแห่งความไม่ซื่อสัตย์ถูกเปิดเผยขึ้นมา ธุรกิจอาจพังพินาศไปในพริบตาได้เลย

III) Strategic Move – การปรับตัวเชิงกลยุทธ์

ถือเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งใน 6 องค์ประกอบที่จะแสดงให้เห็นถึงการมี วิสัยทัศน์ทางธุรกิจ เลยก็ว่าได้ ภายใต้สภาวะการแข่งขันในโลกธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และหลากมิติ ยิ่งกว่าในอดีตมากมายนัก ว่ากันว่าย้อนหลังไป 10-20 ปีก่อน เราจะเห็นการปรับเปลี่ยนแบบทีละเล็กละน้อย ใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นภาพชัด นั่นทำให้ธุรกิจต่างๆ มีเวลา เหมือนการวิ่งระยะยาว หรือมาราธอน ..

แต่ในปัจจุบัน และอนาคต การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่เดือน ดังนั้นในเวลาเพียงปีสองปี เราอาจเห็นธุรกิจมากมายล้มหายตายจากไปไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากหลายอุตสาหกรรมที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมต่างๆ ต่างต้องโบกมือลาไปรายแล้วรายเล่า เปรียบเป็นการวิ่ง ก็ไม่ใช่การวิ่งมาราธอน แต่เป็นการวิ่งสปรินท์ ระยะสั้น ที่ตัดสินชัยชนะกันในเวลาน้อยนิดนั่นเอง

ตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพของ Strategic Move คือ คาเฟ่ อเมซอน ที่เดิมทีเป็นร้านกาแฟ ราคาปานกลางในปั๊ม ปตท. และบริหารจัดการโดย 94 คอฟฟี่ จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทาง ปตท. ได้ตัดสินใจดำเนินการธุรกิจร้านกาแฟนี้ด้วยตัวเอง และเลือกปรับตัวเชิงกลยุทธ์ (Strategic Move) ด้วยการขยายสาขา นอกปั๊ม ปตท. เข้าไปแข่งกับร้านกาแฟในห้างประเภทต่างๆ ในรูปแบบ ออริจินัล คือทุกสิ่งอย่างเหมือนกับร้าน คาเฟ่ อเมซอนที่อยู่ในปั๊มเลย กับรูปแบบ คาเฟ่ อเมซอน เอมเบรซ ที่จับราคาแพงขึ้นมาอีก 20-30% ด้วย Strategic Move นี้เอง ที่ให้แบรนด์ อเมซอนเติบโตแบบก้าวกระโดดเท่าตัวใน 3 ปีเท่านั้น

IV) Intelligence – ข้อมูลธุรกิจ

ที่ว่ากันว่า ถ้าจะให้เข้าคอนเซ็ปต์ของการมี วิสัยทัศน์ ต้องเป็นข้อมูลที่ทำให้เห็นภาพของตลาดเป้าหมายและตลาดที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน (Consumer Insight) ในมิติต่างๆ เช่น ความรู้สึก ทัศนคติ พฤติกรรม ความต้องการด้านข้อมูล ไลฟ์สไตล์ การใช้เวลาในแต่ละวันทำกิจกรรมอะไรอย่างไรบ้าง ใครเป็นผู้มีอิทธิพลต่อความคิด และการตัดสินใจเลือกสินค้า รูปแบบการเลือกซื้อสินค้าเป็นอย่างไร ฯลฯ ซึ่งนั่นคือ สิ่งที่เรียกว่า Big Data นั่นเอง

ยิ่งเจ้าของธุรกิจได้ข้อมูลก้อนใหญ่ๆ นี้ได้ครบถ้วน สมบูรณ์ ถูกต้อง อัพเดทให้เป็นปัจจุบัน และเร็วเพียงใด ชัยขนะในสมรภูมิธุรกิจ ก็อยู่แค่เอื้อม .. ซึ่งการจะทำให้ได้ ให้มีสิ่งที่เรียกว่า Intelligence นี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ต่อไปนี้ต่อเนื่องไปในอนาคต เราไม่สามารถคิดและทำธุรกิจแบบเล่นขายของได้อีกต่อไปแล้ว

V) Omni Channel – ช่องทางการขายแบบองค์รวม

เป็นการใช้กลยุทธ์ด้านช่องทางการขายและการจัดจำหน่ายที่ผสมผสาน สอดรับอย่างลงตัว แบบไร้รอยต่อ เพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ ของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ในมิติต่างๆ อาทิ ข้อมูลที่จำเป็นและสำคัญ รายละเอียดสินค้า และบริการ เรื่องการสื่อสารด้านภาพลักษณ์สินค้า ทั้งที่เป็น Online และ Offline ประเภทต่างๆ คีย์สำคัญในการพัฒนา Omni Channel ให้ได้ถูกต้องตรงใจ และมีประสิทธิภาพอย่างที่ต้องการ เจ้าของธุรกิจต้องเข้าใจ Consumer Touchpoints และ Consumer Journey ของตลาดเป้าหมายของตัวเองอย่างถ่องแท้เสียก่อน

หลายธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ทั้งระดับ Local และ Global brands เริ่มดำเนินการพัฒนาและสร้างกลยุทธ์ Omni Channel กันมาสักพักแล้ว และนี่คือสัญญาณเตือนภัย และ

ลางร้ายสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก รายใหม่ โดยเฉพาะสายมโน เพราะต่อไปนี้อีกไม่นาน โลกธุรกิจจะมีแต่ สนามรบ ไม่ใช่ สนามเด็กเล่นอีกต่อไปแล้วนะ เราเตือนคุณแล้ว

VI) Network – การพัฒนาเครือข่าย

องค์ประกอบสุดท้าย แต่ไม่ทัายสุด เพราะกลยุทธ์ด้าน Network ตัวนี้แหละที่ถือเป็น จิ๊กซอว์ ช้ินสำคัญที่จะช่วยให้ ธุรกิจรายเล็ก ปานกลาง หรือผู้เข้ามาใหม่ สามารถที่จะอยู่รอด และเติบโตต่อไปได้ ท่ามกลางสนามรบ ที่ไม่ใช่สนามเด็กเล่น แต่อย่าลืมว่าการพัฒนา Network ไม่ใช่เรื่องเฉพาะรายเล็ก ปานกลาง หรือรายใหม่เท่านั้น เพราะรายใหญ่ ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่ใช่น้อย และสามารถทำได้ดีกว่าด้วย เพราะปัจจัยความพร้อมมีมากกว่า เมื่อคิด แล้วขยับตัวทำ ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาย่อมมากเป็นเงาตามตัว การพัฒนา Network นี้จะช่วยให้เกิดผลดีหลายประการ เช่น

– การควบคุมต้นทุน ค่าใช้จ่าย ที่ไม่ต้องมีเอง ทำเองหมดทุกสิ่งอย่าง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนธุรกิจสูงเป็นเงาตามตัว

– ความคล่องตัวในการปรับตัวทางธุรกิจ ถ้าเรามี Network ที่ดี และเป็นพาร์ตเนอร์ที่ถูกต้อง จะส่งเสริมให้เรามีความคล่องตัวในการแข่งขัน ในสถานการณ์เศรษฐกิจ และการแข่งขันทางธุรกิจที่มีขึ้นมีลง ตลาดที่แปรปรวน หรือเป็นตลาดแข่งเดือด

– ความสามารถในการแข่งขัน ถ้าเราเลือก Network ที่เป็นพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่งและมีความเหมาะสมกับธุรกิจของเรา ย่อมส่งผลให้ธุรกิจเราพุ่งทะยานได้ไม่ยาก เหมือนเลือกคู่ขีวิตที่ดี ชีวีก็มีสุขอย่างไรอย่างนั้นเลย

– การได้มาซึ่งข้อมูล ในการพัฒนา Network สิ่งที่จะได้ตามมาถ้ามีการตกลงทำความเข้าใจกันอย่างเหมาะสม ก็คือ การนำข้อมูลที่แต่ละคนมี มาใช้ประโยชน์ ต่อยอด ทำให้ธุรกิจสามารถตอบสนองลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น สามารถนำมาวิเคราะห์ความถูกต้องของข้อมูล เกิดความเข้าใจตลาดที่ถูกต้องแม่นยำ และทันต่อยุคสมัยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่มี VISION ต้องมีองค์ประกอบ 6 ด้านตามตัวอักษรคำว่า VISION คือมี

  • Value Proposition ที่สอดคล้องและเหมาะสมต่อตลาดเป้าหมาย
  • Integrity ที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างหนักแน่น มั่นคง และยั่งยืน
  • Strategic Move ที่จะทำให้ธุรกิจฝ่ากระแสความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว และหลากมิติได้อย่างแคล้วคลาดปลอดภัย และเติบโตได้เป็นอย่างดี
  • Intelligence ที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างและนำเสนอ Value Proposition ที่ดียิ่งขึ้นได้ และเห็นภาพและแนวทางที่จะทำ Strategic Move อย่างถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา ถูกจังหวะอีกด้วย
  • Omni Channel ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมของลูกค้าตลาดเป้าหมาย เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในปัจจุบันและอนาคต เพราะต่อไป การสร้างความต้องการลูกค้าเป็นแค่พื้นฐานของธุรกิจ แต่ถ้าธุรกิจใดตอบสนองความต้องการลูกค้าได้เร็ว และสะดวกมากเท่าไหร่ ผู้นั้นจะเป็นฝ่ายกำชัยไปนั่นเอง
  • Network การสร้างเครือข่าย ที่จะเชื่อมต่อตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ ในด้านการพัฒนาสินค้า บริการ การผลิต การทำการตลาดแบบครบวงจร การสื่อสารด้านการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดจำหน่ายที่จะอำนวยความสะดวกแบบสำเร็จรูปและรวดเร็วแก่ลูกค้า หากเราสามารถสร้าง Network ที่ครอบคลุมและครบถ้วนแบบนี้ได้แล้ว ความสำเร็จจะไปไหนเสีย..

และนี่คือการมี “VISION” ของธุรกิจในมุมมองของผมครับ..