สิ่งหนึ่งที่ Startup มักให้ความสำคัญน้อยกว่าเรื่องการตลาด คือ “เรื่องการเงิน” …

เปิดตัวด้วยประโยคนี้แล้ว ผู้อ่าน หรือ Startup บางท่านอาจถามผมเสียงดังๆ
“อ้าวเฮ้ย ! ถ้าตรูใช้เงินทุนส่วนตัวของตรูเอง แล้วเรื่องเงินจะสำคัญกว่าเรื่องตลาดได้อย่างไร ใครจะสน? 555+”

ตอบ 3 คำ “ต้อง สน ครับ” 555+ …
ถึงจะใช้เงินทุนตัวเอง ถึงจะมีเงินถุงเงินถัง แต่ยืนยันว่า “ต้องสนใจ” ครับ

เนื่องจาก Startup กว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ประกอบการรายใหม่
ส่วนใหญ่คืออดีตพนักงานบริษัทที่หันมาทำธุรกิจของตัวเอง และ ผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ

ในมุมมองของธนาคารหรือสถาบันการเงินทุกแห่ง
ผู้ประกอบการรายใหม่ ถือเป็นคนหน้าใหม่ เป็นคนที่ยังไม่คุ้นเคยกันครับ…

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็เปรียบเสมือนหนุ่มสาวที่เพิ่งทำความรู้จักกัน แต่ยังไม่รักกันนะครับ 555+

คนเริ่มรู้จักกัน หรือ เริ่มทำธุรกิจ ถือเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงในการให้สินเชื่อ !!!
นี่คือ Internal Policy หรือนโยบายภายใน ของทุกสถาบันการเงิน !!!

ดังนั้น ถึงแม้คุณจะเริ่มทำธุรกิจด้วยเงินทุนของตัวเอง แต่ต้องคิดต่อนะครับ

ถ้าสักวันธุรกิจที่ทำเติบโตขึ้น ต้องขยายกิจการ ต้องใช้เงินทุนเพิ่ม
เมื่อถึงวันนั้นจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคุณมีเงินทุนในกระเป๋าเพียงพอที่จะติดปีกบิน…

ดังนั้น พฤติกรรม 3 ข้อ ต่อไปนี้ จึงเป็นสิ่งที่คุณควรทำเมื่อคุณตัดสินใจเป็น Startup …

1. ทำความรู้จักกับธนาคาร หรือ สถาบันการเงิน อย่างน้อย 2 แห่ง

คนจะรักกันได้ ต้องเริ่มจากการทำความรู้จักกันก่อน
การทำความรู้จักกับธนาคาร หรือ สถาบันการเงิน โดยการเปิดบัญชีเงินฝาก
เสมือนเป็นการเริ่มทำความรู้จักกับคนรักในอนาคต และเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่ Startup ต้องทำ
เพราะเป็นการแสดงตัวตน เพื่อให้คุณมีประวัติทางการเงิน หรือ “Financial Profile” ในสถาบันการเงิน
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับคุณในอนาคตเมื่อถึงเวลาที่คุณต้องการสินเชื่อ

นอกจากนี้ ขอแนะนำว่า…

คุณควรทำความรู้จักกับสถาบันการเงิน ไม่น้อยกว่า 2 แห่ง
เพราะอะไรหรือ??? คำตอบจริงๆ นะครับ… “เผื่อเลือกในอนาคต !!!”

นี่คือคำตอบจริงๆ นะ 555 …

สถาบันการเงินแต่ละแห่ง มีนโยบายไม่เหมือนกัน และเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป
การติดต่อกับสถาบันการเงินหลายแห่ง เพื่อลดความเสี่ยงและเป็นทางเลือกในอนาคตครับ
เผื่อสักวันมีแห่งหนึ่งไม่รักคุณแล้ว คุณจะเหลืออีกแห่งไว้เป็นที่รัก เพื่อให้ธุรกิจของคุณยังเดินต่อไปได้

อย่ารักเดียวใจเดียวกับสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว
บอกคุณได้เต็มปาก สถาบันการเงินไม่เหมือนคนรัก เมื่อนโยบายเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยน (เรื่องจริงที่ไม่ขำ)
มีสถาบันการเงินสำรองไว้ คุณจะไม่เสียใจภายหลังครับ

ส่วนการเลือกสถาบันการเงินแห่งไหนเป็นหลัก
ผมเชื่อว่าเมื่อคุณทำตาม ข้อ 1 และ ข้อ 2 แล้ว
ไม่นาน… คุณจะตอบได้ด้วยตัวเองว่า แห่งไหนควรจะเป็นหลัก หรือ เป็นรอง (ไม่เชื่อลองดู 555+)

2. กำหนดความถี่เพื่อไปธนาคารหรือสถาบันการเงิน อย่างสม่ำเสมอ

ให้คิดเสมอว่าการไปธนาคารคือการไปบ้านสาวที่หมายปอง ต้องหมั่นไปมาหาสู่เพื่อพิชิตใจเธอมาครอง 555+ …

การนำเงินไปฝาก หรือทำธุรกรรมบ่อยๆ
ทำให้คุณมีรายการเคลื่อนไหวทางบัญชี หรือที่เรียกว่า “Statement” นั่นล่ะครับ

และการไปฝากเงิน ไม่จำเป็นต้องรอสะสมให้มีเงินเป็นจำนวนมากแล้วจึงนำไปฝาก
เพราะนั่นคือความคิดที่ผิดครับ !!!

ความสม่ำเสมอต่างหากคือสิ่งที่ธนาคาร หรือ สถาบันการเงินทุกแห่งต้องการ…
สิ่งที่คุณต้องทำคือ… กำหนดความถี่ในการไปทำธุรกรรมการเงิน
เช่น วันเว้นวัน หรือ สัปดาห์ละ 2-3 วัน เป็นต้น

ความสม่ำเสมอของรายการเดินบัญชีจะแสดงถึงกระแสเงินของคุณ
เพราะความสม่ำเสมอของกระแสเงิน เป็นอีกสิ่งที่สำคัญในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินทุกแห่ง !!!

กำหนดความถี่ และรักษาความสม่ำเสมอ คุณจะไม่เหนื่อยกับคำถามมากมาย เมื่อต้องขอสินเชื่อครับ …

3. หมั่นพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล กับพนักงานสถาบันการเงิน

ข้อนี้ ถึงแม้ไม่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางการเงินโดยตรง แต่เป็นเรื่องสำคัญครับ
รู้จักสาวที่หมายปองแล้ว ไปหาที่บ้านแล้ว แต่ไม่เคยพูดคุยกับคนในบ้านสาวเลย ก็แปลกนะ จริงไหม…

เช่นเดียวกัน…
สิ่งที่คุณต้องทำเมื่อไปธนาคาร หรือสถาบันการเงิน คือ การผูกมิตรกับพนักงาน…
เพราะการพูดคุยของคุณกับพนักงาน นอกเหนือจากการผูกมิตรกันตามปกติทั่วไปแล้ว
คุณอาจได้พันธมิตรใหม่ๆ จากการแนะนำของพนักงาน เพื่อต่อยอดให้ธุรกิจของคุณได้อีก

นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงิน…
เคยได้ยินไหมครับ การไปธนาคารได้มากกว่าการทำธุรกรรมการเงิน 555+

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ…

การพูดคุยของคุณ เป็นการแสดงตัวตน ทัศนคติ ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต และ การทำธุรกิจของคุณ
ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ สามารถได้ยินไปถึงหูของผู้พิจารณาสินเชื่อให้แก่คุณในอนาคต  

ใช่แล้วครับ…ผมกำลังบอกคุณว่า…
ตัวตนของคุณ แนวคิดการทำธุรกิจ รวมถึงพฤติกรรมของคุณทั้งหมด
เป็นหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญในการพิจารณาสินเชื่อด้วยเช่นกัน

เพราะคุณคือ ผู้บริหารของธุรกิจ และธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับผู้บริหารเป็นสำคัญครับ…
นี่คือแนวคิดการให้สินเชื่อของทุกสถาบันการเงินเช่นกัน !!!

ถึงตอนนี้เริ่มเห็นภาพหรือยังครับ…
สิ่งที่ผมพูดไม่ได้เกินเลยจากหลักการและความเป็นจริง…(เอาหัวเป็นประกัน 555+)

พฤติกรรมทั้ง 3 ข้อที่แนะนำข้างต้น ไม่ได้มีต้นทุนที่เป็นตัวเงินใดๆ ครับ
ถึงแม้ตอนนี้คุณจะยังคงใช้เงินทุนของตัวเอง
แต่ข้อแนะนำดังกล่าว จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องแหล่งเงินทุนในอนาคตให้แก่คุณได้เป็นอย่างดี
และอาจช่วยให้คุณพบพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจให้ไปไกลได้ โดยที่ตัวคุณเองอาจคาดไม่ถึง !!!