เป็นที่ทราบกันดีว่า วิกฤตโควิด 19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงอย่างน่าใจหาย แต่ยังมีธุรกิจ (ที่ปรับตัวทัน) สามารถเติบโตท่านกลางวิกฤตนี้ได้ คือธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ จากการที่ร้านอาหารถูกปิด ทางรอดเดียวคือต้องขายแบบเดลิเวอรี่เท่านั้น ประกอบกับผู้ให้บริการรับส่งอาหารหลายๆ เจ้า ไม่ว่าจะเป็น      Lineman, Grabfood , Foodpanda เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้ค่าจัดส่งถูกลงมาก และยังมีอาหารให้เลือกสั่งได้สารพัดตั้งแต่อาหารสตรีทฟู้ด อาหารทะเล อาหารอีสาน จนถึงของสุดโปรดอย่างชานมไข่มุก ทำให้ปรากฎการณ์สั่งอาหารออนไลน์ยังเติบโตแม้หลังโควิดแล้วก็ตาม ธุรกิจนี้จึงเป็นที่หมายตาของคนรุ่นใหม่ค่ะ นอกจากนี้โควิดยังทำให้คนรักสุขภาพมากขึ้น คนเข้าไปค้นในกูเกิลมากขึ้นเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการ ดังนั้นถ้าเอากระแสรักสุขภาพมาผนวกกับกระแสเดลิเวอรี่…เราก็เห็นโอกาสของธุรกิจหนึ่งเกิดขึ้นมา นั่นคือ ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพแบบเดลิเวอรี่ เรามาดูกันค่ะ ถ้าจะลงทุนเข้าไปทำธุรกิจนี้ จะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง

ทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพเดลิเวอรี่ เตรียมตัวอะไรบ้าง

  • เริ่มต้นคงต้องสำรวจกันก่อนว่าคนรักสุขภาพแต่ละกลุ่มมีความต้องการอย่างไร เช่น กลุ่มวีแกนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ กลุ่มคีโตที่รับประทานไขมันสูง หรือกลุ่มคนชอบออกกำลังกายที่เน้นโปรตีน  การเข้าใจจะทำให้เรากำหนดเมนูและสื่อสารการตลาดได้ตรงความต้องการค่ะ
  • ต้องหาโลเคชั่น แต่ไม่ใช่เพื่อเปิดหน้าร้านนะคะ แต่เป็นโลเคชั่นสำหรับทำเป็นออฟฟิศและครัว อาจเช่าสถานที่ที่อนุญาตให้ทำเป็นครัวได้ ควรอยู่ในบริเวณที่กลุ่มเป้าหมายอยู่หนาแน่น จะทำให้ค่าจัดส่งไม่สูง
  • สถานที่ต้องจัดแบ่งพื้นที่เป็นโซน ตามกิจกรรมการทำงาน เช่น พื้นที่รับคำสั่งซื้อ จัดเตรียมและปรุงอาหาร และพื้นที่เก็บ สต๊อกวัตถุดิบ ทั้งแห้ง แช่เย็น แช่แข็ง
  • หาแหล่งค้าส่งในการหาซื้อวัตถุดิบ เพื่อให้ได้ของที่สะอาด ปลอดภัย สดใหม่ อาจดีลกับบริษัทที่จัดหาเนื้อสัตว์อนามัยโดยตรง ส่วน ผัก ผลไม้ อาจต้องไปรับซื้อจากตลาดไท ถ้าของแห้งก็ซื้อจากแมคโครได้เลย
  • หาเชฟที่มีทักษะความรู้ด้านอาหารสุขภาพ และนักโภชนาการ คอยปรุงอาหาร พัฒนาสูตรเมนูให้ครบตามหลักโภชนาการ โดย key Success ของธุรกิจนี้อยู่ที่สองคนนี้เลยค่ะ
  • เปิดโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Instagram และหน้าร้านในแพลตฟอร์ม Food Delivery อย่าง Grab, Line, Food Panda เตรียมพร้อมพนักงานรับมือกับการสื่อสารกับลูกค้า รับคำสั่งซื้อ ทั้งแบบดั้งเดิมอย่างโทรศัพท์และผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหลาย

ทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพเดลิเวอรี่

ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ที่เป็นรายกลางและเล็ก ส่วนใหญ่ใช้เงินลงทุนเริ่มแรกไม่มากนัก คือประมาณ 700,000 บาท แต่ธุรกิจนี้มีลักษณะเฉพาะคือต้องใส่ใจการบริหารสต๊อกและต้องลงทุนกับส่วนนี้เพื่อจัดเก็บวัตถุดิบให้สดใหม่และต้องมีระบบจัดการลดของเสียให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการลงทุนอาจเป็นเงินเก็บของเจ้าของ เนื่องจากไม่ต้องลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมากนักและไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน สัดส่วนต้นทุนมีดังนี้

  1. ต้นทุนผลิตสินค้า 50% ประกอบด้วย วัตถุดิบเนื้อสัตว์ ผัก ข้าว เครื่องปรุงรสต่างๆ วัสดุสิ้นเปลือง เช่น ช้อนส้อม กล่อง ถุง และค่าขนส่งวัตถุดิบ เป็นต้น
  2. ต้นทุนดำเนินการ 40% ประกอบด้วย เงินเดือนเจ้าของ เชฟ นักโภชนาการ พนักงานการตลาดที่ดูแลด้านโซเชียลมีเดีย ค่าใช้จ่ายในส่วนออฟฟิศอย่างค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ และเงินสดหมุนเวียนแต่ละวัน
  3. ต้นทุนการตลาด 10% คือค่าจัดทำเว็บไซต์ ค่าโฆษณาสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักจดจำ เช่น Google Ads และ Facebook Ad ค่าการตลาดแพลตฟอร์มผ่าน Food Delivery โปรโมชั่นเปิดตัวและเทศกาลต่างๆ 

ทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพเดลิเวอรี่ คืนทุนเมื่อไหร่?

จากการที่เงินลงทุนเริ่มต้นในระดับพอเพียงคือ 700,000 บาท จึงสามารถมาจากเงินทุนของตัวเองทั้ง 100%โดยมีสมมุติฐานด้านแผนการเงิน ดังนี้

  • ปีแรก จะขายได้ 21,600 กล่อง โดยเน้นเฉพาะพื้นที่ใกล้เคียง และยอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 64,800 กล่องในปีที่ 3
  • ราคาขายอาหารเพื่อสุขภาพ กล่องละ 120 บาท ต้นทุนกล่องละ 45-60 บาท
  • เริ่มธุรกิจโดยมีผู้บริหารและพนักงาน 5 คน ประกอบด้วย เชฟ 1 คน นักโภชนาการ 1 คน พนักงานจัดซื้อ 1 คน พนักงานการตลาดด้านโซเชียลมีเดีย 1 คน และผู้บริหาร 1 คน

สำหรับการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุน พบว่า ธุรกิจนี้คืนทุนเร็วมากค่ะ โดยระยะเวลาคืนทุน 2.64  ปี มูลค่าปัจจุบันสุทธิอยู่ที่ 196,278.78 บาท และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 14% แต่หากเราสามารถขยายฐานลูกค้าขาประจำได้ หรือ ลดค่าเช่าสถานที่ไปตั้งออฟฟิศและใช้ครัวที่บ้านแทน ก็จะสามารถคืนทุนได้เร็วกว่านี้ค่ะ

แผนการตลาดกลยุทธ์ทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพเดลิเวอรี่

แม้ว่าแนวโน้มตลาดจะเติบโตได้ดีจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หากมองสภาพการแข่งขันใน กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยแล้วนับว่าสูงมากเลยค่ะ และมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาตลอดเวลา เนื่องจากใช้เงินลงทุน ไม่สูง ดังนั้นเป้าหมายธุรกิจจึงต้องสร้างลูกค้าขาประจำแบบผูกปิ่นโตหรือ Subscription ให้มากที่สุด จุดที่ต้องคำนึงคือเมนูต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้ไม่ซ้ำภายใน 1 เดือน เพราะจากการวิจัย คนที่ไม่บอกรับประจำมักเกรงเมนูจะซ้ำและจะทำให้เบื่อ นอกจากนี้การจะทำการตลาดคนรักสุขภาพให้ไปได้สวยนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือพฤติกรรม คนกลุ่มนี้ยินดีจ่ายในราคาที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอาหารทั่วไป เราจึงต้องหาวัตถุดิบที่มีความเป็นพรีเมี่ยม ทั้งสด สะอาด แตกต่างจากร้านอาหารทั่วไปอย่างชัดเจนและสอดคล้องวิถีสุขภาพด้วย เช่น การใช้ข้าวกล้องผสม คีนัว เน้นการปรุงแบบย่างหรือทอดไร้น้ำมัน การใช้เม็ดมะม่วงหิมพานต์แทนถั่วลิสง การมีผักหลากหลายมาแนมกับทุกเมนู นอกจากนี้ต้องให้นักโภชนาการกำกับคุณค่าโภชนาการในทุกๆ เมนูเพื่อสร้างจุดเด่นทางธุรกิจ

ด้านกลยุทธ์ ควรทำ Pre-order ทุกเดือน เช่น เมนูลด 20% เปิดให้สั่งก่อนล่วงหน้า จะทำให้ประมาณการซื้อวัตถุดิบได้แม่นยำขึ้น บริหารของเสียได้ดีขึ้น และควรร่วมโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการสั่งซื้อตลอดทั้งปีกับแพลตฟอร์ม Food Delivery ต่างๆ เพื่อให้คนได้ทดลองชิมอาหารของเรา ส่วนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ต้องเข้าร่วมกับ Wongnai ทั้งยิงแอด Facebook, Google ด้วย ถ้าสะสมแต้มในไลน์ได้จะยิ่งดีค่ะ ที่สำคัญจัดโปรเมนูตามเทศกาล เช่น อาหารเจ อาหารคลีน เป็นต้น

ที่สุดแล้วธุรกิจบริการแบบนี้ต้องรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าให้กลับมาซื้อซ้ำค่ะ เราต้องมีคนดูแลโซเชียลมีเดียที่รักในการบริการ และหากเกิดความผิดพลาดขึ้น เช่น ได้รับอาหารล่าช้า อาหารผิดออร์เดอร์ อาหารไม่ครบ อาหารเสียหายการจากขนส่งไม่ดี อาหารเสียก่อนกำหนด ควรมีบริการหลังการขาย ยินดีเปลี่ยนใหม่ให้ไม่มีเงื่อนไข ถ้าทำได้อย่างนี้จะได้ใจลูกค้าและเค้าจะไม่หนีไปไหนแน่นอนค่ะ

ผลงาน ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรเขียนบทความสร้างรายได้รุ่นสู้โควิด 2020

ทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพเดลิเวอรี่

คุณ Jinalyst


บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์  ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ  Content  Marketing,การโฆษณา  Facebook,การโฆษณา  Tiktok,การตลาด  Line  OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google

บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ 
คอร์สเรียนออนไลน์ผ่าน Facebook Group