อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กฎไตรลักษณ์ตามวิถีพุทธเพื่อความหลุดพ้นและหนทางสู่นิพพาน เราควรนำมาใช้ในการดำรงชีพเป็นอย่างมากเพราะว่า โดยปกติมนุษย์เรามักจะทำอะไรตามใจของตัวเองเพราะความอยากให้เป็นอย่างนั้น หรือไม่ต้องการให้เป็นอย่างนี้อย่างนั้น
แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่มีผู้ใดกำหนดสิ่งเหล่านั้นตามใจต้องการได้เพราะมันเป็น อนัตตา นั่นเอง เพราะมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เสมอ เราไม่สามารถควบคุมได้ และสิ่งเหล่านั้นก็มีเหตุ มีปัจจัยให้ดำเนินไปในวิถีทางของมันเสมอ
ทฤษฎี 4P วิถีพุทธ หลุดพ้นกับดักทางการเงิน
อนิจจัง คือความไม่เที่ยง
ที่เรามักมองข้ามเพราะเราอยู่กับสิ่งนั้นจนคุ้นเคย จนกลายร่างเป็นความเสี่ยงของฐานะทางการเงิน เพราะรายรับของคุณมีขึ้นมีลง ได้มาหมดไป มีทุกข์มีสุขก้อชั่วครั้งชั่วคราว เพราะสรรพสิ่งมีคุณลักษณะของมัน คุณไม่สามารถเลือกได้ แม้แต่จะเลือกได้ คุณก็ไม่สามารถบอกได้ว่า “อย่าเลย อย่าบอกให้ฉันเลือกเลย….. อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน”
ทุกขัง ความเป็นทุกข์
ทุกข์ที่เจ้านายไม่รักไม่สนับสนุน ทุกข์ที่ไม่มีเงินเก็บ ทุกข์ที่ทุกสิ่งไม่ได้เป็นดังใจฝัน มรรค 8 คือสิ่งที่นำไปสู่หนทางดับทุกข์ นั่นคือความสุขนั่นเอง เราได้บริหารจัดการกับความทุกข์นี้แล้วหรือยัง
หนึ่งในสิ่งที่ทุกคนมีความอยาก และร่ำร้องคืออยากที่จะมีอิสรภาพทางการเงิน มนุษย์เงินเดือนก็อยากเป็นเถ้าแก่ คนเป็นเถ้าแก่ก็บอกว่ากินเงินเดือนสบายดี ก่อนจะมาเถียงกันดั่งกับคำถามที่ว่า “ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน” เราลองมาคิดแก้ปัญหาที่ตัวเหตุปัจจัยที่จะทำให้เราจะมีอิสรภาพทางการเงิน และสามารถหลุดพ้นกักดับนี้ การแก้ปัญหานี้ต้องไม่ใช่การแก้ด้วยความอยากคืออยากเป็นอิสระ แต่เราต้องลองประยุกต์ 4P ทางการตลาดมาเป็น 4P เพื่อการหลุดพ้นและเพื่อบริหารจัดการกับอนิจจัง และทุกขัง กัน
4P สำหรับอิสรภาพทางการเงินในวันนี้เป็น 4P ที่ปรับมาจากแนวคิดการบริหารในภาวะวิกฤติ ซึ่งประกอบด้วย
P1 – Predict
อิสรภาพทางการเงินเกิดขึ้นได้จากการคาดการณ์เหตุในอนาคตว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในอนาคต และการเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลกระทบอะไรบ้าง มองทั้ง 2 ด้านเพราะเหรียญมีสองด้าน เช่น ธุรกิจที่กำลังเติบโตจะเกิดอะไรขึ้นหากมีเหตุปัจจัยใดที่เป็นอนัตตาเข้ามากระทบเช่นประชาคมอาเซียนที่กำลังโหมโรงกัน สภาพความหวานชื่นของชีวิตคู่ที่กำลังสั่นคลอน มีมือที่สาม แล้วถ้าเตียงหักคุณจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไรในเมื่อที่ผ่านคุณอยู่ด้วยเงินที่แฟนส่งให้ทุกเดือน พรุ่งนี้ถ้าเดินเข้ามาที่โต๊ะทำงานแล้วเจอซองจดหมายบอกรักจากเจ้านายที่เป็นห่วงเป็นใยในสุขภาพของคุณให้คุณได้พักได้ผ่อนคุณจะทำอย่างไร ฯลฯ เหล่านี้เป็นอนิจจัง เป็นความเสี่ยงที่ต้องบริหารจัดการ
P2 – Prepare
อิสรภาพทางการเงินจะเกิดขึ้นเมื่อคุณได้บริหารจัดการอนิจจังด้วยการจัดทำแผนสำรอง (ภาษาวัยรุ่นเรียก Plan B) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง แผนสำรองในที่นี้ต้องมีแผนทั้งระยะสั้น และแผนระยะยาว แผนระยะสั้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันที่เกิดขึ้นเช่น การมีงานเสริมรายได้ในช่วงหลังเลิกงาน การมีแผนการดำรงชีวิตที่เป็นระบบแม้จะไม่เป็นระเบียบ การสร้างวงเงินสำรองใช้ยามฉุกเฉิน การมี product สำรองยามธุรกิจหลักไม่เป็นไปตามแผน หรือมีการพัฒนา core product อย่างสม่ำเสมอ สำหรับแผนระยะยาวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวคือยามแก่ตัวไป เช่นการสร้างวิสัยทัศน์ (vision) และเป้าหมาย (mission)ในตนเอง การวางแผนกลยุทธ์การเก็บออมเพื่อใช้เงินทำงาน การวางเป้าหมายในอนาคตของธุรกิจที่กำลังดูแลอยู่ ฯลฯ สโลแกนว่าเป้าหมายมีไว้ให้พุ่งชนเป็นความจริงเสมอ แต่อย่าลืมแผนของคนอื่นอาจไม่ใช่แผนของเรา ไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ตามแบบที่สารพัด coach กำลังบอกคุณ และแผนต้องมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่ออนัตตา และสร้าง P3 ได้โดยง่าย
P3 – Prompt
คุณต้องพร้อมด้วยการ “ซักซ้อม” ตามแผน P2 เพื่อให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์จริงโดยไม่ตื่นตระหนก และทันท่วงนี้ แปลง่ายๆ การซักซ้อมให้พร้อมและรับมือได้ทันทีกับการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นการปฏิบัติให้เป็นนิจสินจึงเป็นเป้าหมาย เช่นลองเที่ยวแต่พอตัว ซื้อแต่พอใช้ ใช้บัตรเครดิตที่มีแต่พองาม สร้างและดำเนินธุรกิจตามกำลังที่มี กำหนดเป้าหมายให้ต่ำเท่าที่เอื้อมถึง ไม่ใช่วาดแผนสวยหรูด้วยการสร้างวิมาน แต่ต้องดำเนินชีวิตอยู่บนความทุกข์ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ภาวะทุกข์ในจิตใจและร่างกายจะถูกดับไปได้โดยง่าย เช่นเมื่อวันที่ได้รับจดหมายบอกรัก คุณยังคงมีงานที่ใจรักที่ได้ทำเสริมเอาไว้พอเลี้ยงชีพโดยไม่กระเทือนต่อแผนระยะยาวที่กำหนดไว้ใน P2 หรือหากธุรกิจที่รักโดนแรงกดดันจากคู่แข่งหรือสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ 24 ชั่วโมง แต่เชื่อว่ายังคงเดินหน้าต่อไปได้เพราะ P2 ที่วางแผนไว้ การวางระบบการควบคุมภายในเพื่อควบคุมความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ อิสรภาพทางการเงินตามข้อนี้ เกิดขึ้นได้เมื่อคุณใช้ชีวิตอยู่ในกรอบ เพื่อไม่ให้ชีวิตกรอบ
P4 – Post managing
การจัดการหลังการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้กลับเข้าสู่สภาวะปรกติอย่างรวดเร็ว อิสรภาพทางการเงินจะยังมั่นคงต่อไปด้วยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ การไม่ระทมอยู่กับความทุกข์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามอนัตตาด้วยการดื่มน้ำข้าวหมัก สูบใบไม้อบแห้งโดยอ้างว่าดับทุกข์ การสร้างทางเลือกหรือโอกาสใหม่ๆ การกลับไปทำ P1 และทบทวนแผน P2 เพื่อรองรับอนัตตาที่จะเกิดอีกครั้ง
สัจธรรม การเวียนว่ายตายเกิดในวงจร 4P จึงยังคงมีอยู่ตลอดเวลา การบริหารจัดการ 4P จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเป็นไปตามแก่นธรรมที่ให้มนุษย์เรา ตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท นั่นเอง
ขอบคุณบทความดี ๆ จาก
Wittaya Ekwirunphon
CPA Thailand / Lecturer – Mahidol University
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME