นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะแวะซื้อของฝากที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัด ร้านขายของฝากจึงเป็นอีกธุรกิจที่มีบทบาทในการสร้างรายได้สู่ชุมชน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร ค่อนข้างได้รับความชื่นชอบจากนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับแขกรับเชิญท่านนี้ที่มาร่วมแบ่งปันความรู้ แชร์ประสบการณ์ธุรกิจร้านของฝากผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูป ปั้นแบรนด์โอท็อปจากชุมชนให้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากลูกค้า ใช้วัตถุดิบชุมชน ผลิตในชุมชน โดยแรงงานชุมชน คุณพิพัฒพงษ์ คันธี  แบรนด์ “แม่อารักษ์” อ.สังคม จ.หนองคาย

จุดเริ่มต้นในการปั้นแบรนด์แม่อารักษ์ สานต่ออาชีพของคุณแม่

ก่อนหน้านี้คุณพิพัฒพงษ์ทำงานประจำอยู่ที่กรุงเทพมหานครกว่า 10 ปี ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมาทำธุรกิจร้านของฝาก จนวันหนึ่งทราบว่าคุณแม่ป่วยจนไม่สามารถทำงานหนักได้  จึงตัดสินใจลาออกจากงานมาช่วยดูแลคุณแม่ เดิมทีคุณแม่ทำอาชีพค้าขาย ทำผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปขายมาก่อน เป็นร้านเล็กๆ ตั้งอยู่ข้างทาง คุณพิพัฒพงษ์ได้ใช้ความรู้ด้านการออกแบบ ดีไซน์ถุงขนมให้ดูดีทั้งรูปลักษณ์ ฉลาก และข้อความ ในราคาที่ลูกค้าสามารถจับต้องได้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะสานต่ออาชีพของคุณแม่ แม้ไม่มีความรู้ และประสบการณ์ในอาชีพนี้มาก่อน คุณพิพัฒพงษ์จึงได้เข้าอบรมตามโครงการต่างๆ ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ นำมาปรับปรุงจนกลายเป็น “ร้านของฝากแม่อารักษ์ เมื่อสินค้าเริ่มเป็นที่รู้จัก ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจในชุมชนเริ่มขยายตัว คนในชุมชนเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น

หลังจากที่ได้ช่วยงานคุณแม่ประมาณ 2 ปี  คุณพิพัฒพงษ์คิดว่าอยากที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานบางอย่าง เพื่อให้ได้ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น มีมาตรฐานการผลิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องกังวลกับสภาพอากาศหากวันใดที่ฝนตกทำให้ต้องยุติการผลิตชั่วคราว ต้องรีบเก็บสินค้าเพื่อไม่ให้เปียกฝน จึงตัดสินใจลงทุนเพิ่ม สร้างโรงเรือนสำหรับเป็นสถานที่ผลิต สร้างโดมสำหรับตากกล้วย มีหน้าร้านจำหน่ายสินค้า แม้ช่วงแรกจะมีความขัดแย้งกันทางความคิดบ้าง

แต่ในที่สุดก็สามารถจัดการได้โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วนหลัก คุณพิพัฒพงษ์ดูแลในเรื่องของการตลาด ส่วนคุณแม่ดูแลในเรื่องการผลิต ในช่วงนั้นอำเภอสังคมกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยม มีจุดชมวิวทะเลหมอก สามารถมองเห็นแม่น้ำโขงและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนหนึ่งเป็นเส้นทางที่ผ่านไปยังจังหวัดเลย อ. สังคมอยู่ตรงกลางระหว่างเชียงคานและตัวเมืองหนองคาย จึงเป็นจุดแวะพักสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะถามหาของฝาก ร้านแม่อารักษ์มักจะได้รับการแนะนำแก่นักท่องเที่ยว แน่นอนว่าสินค้าขึ้นชื่อของที่นี่คือกล้วย การที่คุณพิพัฒพงษ์ให้ความสำคัญกับเรื่องดีไซน์บรรจุภัณฑ์ เหตุผลก็เพื่อให้เหมาะกับการซื้อกลับไปเป็นของฝากนั่นเอง

ร้านขายของฝากจากไร่ สร้างรายได้สู่ชุมชน

ร้านของฝากแม่อารักษ์เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ก็เริ่มมีคนติดต่อเข้ามาขอศึกษาดูงาน คุณพิพัฒพงษ์จึงพัฒนาสถานที่ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ลูกค้าที่ได้มาเห็นกระบวนการผลิต เป็นการเพิ่มความมั่นใจแก่ลูกค้ามากขึ้นว่าสินค้าที่ซื้อไปนั้นมีคุณภาพอย่างแน่นอน ตลอดระยะเวลา 8-9 ปีที่มีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนา ทำให้กล้วยฉาบแบรนด์แม่อารักษ์ มีความพิเศษตรงที่นำกล้วยที่ผ่านกระบวนการทอดแล้ว นำมาอบลมร้อนด้วยเตาถ่านอีก 4 ชม. เพื่อให้กรอบมากขึ้น รีดน้ำมัน ไล่ความชื้น ลดกลิ่นหืนน้ำมัน ทำให้เก็บได้นานขึ้น

กระบวนการผลิตที่ไม่ใช้เครื่องจักร ใช้วิธีคลาสสิคแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่ได้สินค้าที่มีคุณภาพและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยที่ไม่ต้องลงทุนมากมายในการสร้างโรงงานขนาดใหญ่ เป็นสิ่งที่คุณพิพัฒพงษ์อยากนำเสนอให้แก่คนที่มาเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถที่จะนำไปทำได้ ซึ่ง “กล้วยตากสังคม” จังหวัดหนองคาย ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นกล้วยน้ำว้าพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์มะลิอ่อง และพันธุ์ปากช่อง 50  เมื่อนำมาตากแดดและอบด้วยความร้อนจากเตาถ่าน ทำให้ได้กล้วยตากที่มีสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม เนื้อนุ่มหนึบ รสหวานธรรมชาติ กลิ่นหอมคล้ายน้ำผึ้ง

คุณพิพัฒพงษ์ เล่าว่า กล้วยน้ำว้าที่ใช้ในการแปรรูปนั้นมาจากกล้วยที่ชาวบ้านปลูกตามธรรมชาติบนภูเขา ชาวบ้านเปรียบเหมือนกับภาคีในธุรกิจ เป็นต้นน้ำในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่ปลูกกล้วย เผาถ่าน หรือแม้แต่คนปอกกล้วย ซึ่งคุณพิพัฒพงษ์ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของชาวบ้านในชุมชนตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ไม่อยากที่จะไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม อยากมุ่งทำในสิ่งที่ถนัดให้ดีนั่นคือ การแปรรูปและจัดจำหน่าย ส่วนการเพาะปลูกปล่อยให้เป็นหน้าที่ของชาวบ้าน เป็นลักษณะของการพึ่งพากันในชุมชน

ธุรกิจร้านของฝาก กับผลกระทบในช่วงวิกฤตโควิด-19

ธุรกิจร้านของฝากสัมพันธ์กับธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายหน้าร้านลดฮวบ แน่นอนว่าไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าวันหนึ่งจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น  การที่คุณพิพัฒพงษ์เคยผ่านการอบรมการทำธุรกิจมาก่อน มักจะมีคำถามที่อาจารย์เคยพูดว่า “ต้องคิดเสมอว่า ถ้าวันหนึ่งธุรกิจที่ทำอยู่เจ๊งขึ้นมา จะทำอย่างไร?” “ถ้าเกิดว่าธุรกิจที่ทำอยู่ไม่มีอีกต่อไปแล้ว จะทำอย่างไร?” ในตอนนั้นคุณพิพัฒพงษ์คิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะอำเภอสังคมปลูกกล้วยทั้งอำเภอ แต่พอถึงจุดที่กล้วยขาดแคลน นี่คือความเสี่ยงของธุรกิจ คุณพิพัฒพงษ์จึงเริ่มวางแผนปลูกกล้วยเพื่อสำรองไว้และช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบ

พอมาเจอกับวิกฤตโควิด-19 แม้หน้าร้านเริ่มเงียบ แต่ในช่วงที่เริ่มทำธุรกิจได้ 2 ปี คุณพิพัฒพงษ์ให้ความสนใจเกี่ยวกับตลาดออนไลน์ ในตอนนั้นยังไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์มากมายเหมือนปัจจุบัน จึงหันไปเปิดเว็บไซต์เพื่อบุกตลาดออนไลน์ แม้ช่วงแรกที่ทำยอดขายยังน้อยมาก แต่เมื่อเฟสบุ๊คเป็นที่รู้จัก ทำให้คุณพิพัฒพงษ์ทำการตลาดออนไลน์ได้เร็วกว่าคนอื่นที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่โลกออนไลน์

จากนั้นจึงเริ่มศึกษาการใช้งานของแต่ละแพลตฟอร์มออนไลน์ และพัฒนาเว็บไซต์ควบคู่กันไปด้วย  ผู้เยี่ยมชมเพจก็จะทราบว่าแบรนด์แม่อารักษ์มีที่มาที่ไปอย่างไร กระบวนการผลิตเป็นอย่างไร จำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยน้ำว้ามาแล้วกี่ปี ช่องทางออนไลน์ช่วยให้การขายสินค้าของคุณพิพัฒพงษ์ง่ายและสะดวกขึ้น ลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้เอง ซื้อได้ตลอด 24 ชม.

ส่วนการแพ็คสินค้าเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าที่แตกหักง่าย เพราะบางครั้งลูกค้าซื้อไปขายต่อ หากสินค้าได้รับความเสียก็จะเสียโอกาสในการขาย ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ไม่มีรายได้จากทางหน้าร้าน จึงต้องหันไปโฟกัสที่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น จากเดิมที่ยอดขาย 80% มาจากหน้าร้าน กลับกลายเป็นว่าตอนนี้ยอดขายหลัก 80% มาจากออนไลน์ แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เปรียบเหมือนร้านสาขา โดยที่ไม่ต้องลงทุนเช่าตึก ไม่ต้องจ้างพนักงานเพิ่ม และที่สำคัญสามารถจำหน่ายได้ทั่วโลก ไม่ต้องรอให้ลูกค้าผ่านมาเจอหน้าร้านเท่านั้น การที่คุณพิพัฒพงษ์สะสมประสบการณ์การขาย และสร้างฐานลูกค้าผ่านทางออนไลน์มาก่อนหน้านี้ เมื่อเจอกับวิกฤตโควิด-19 กลายเป็นว่าแทบจะไม่ได้รับผลกระทบ

สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์

การทำธุรกิจเมื่อเจอปัญหาอย่ารอให้ใครมาช่วยเหลือ ลองพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนในวงการเดียวกัน ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เราไม่ถนัด ส่วนการขายออนไลน์ ลองคิดในมุมของลูกค้าว่า เขาจะค้นหาสินค้าอย่างไร ทำยังไงให้ลูกค้าเจอร้านเรา สำคัญคือ อย่าหยุดเรียนรู้ ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและไปต่อได้ในทุกสถานการณ์