กรณีศึกษาสำเพ็ง บทเรียนต่างๆ จากทั้งสำเพ็ง หรืออีกหลายๆแห่งที่กำลังประสบปัญหาต่างๆ เนื่องจากการปรับตัวที่ช้าเกินไป หรือยังไม่ปรับให้ทันโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นแล้ว ก็จงตระหนักให้ดีว่าธุรกิจเราเป็นแบบไหน แต่ถ้าเห็นว่าธุรกิจเราดูคล้ายๆ กับที่กล่าวมา ก็จงรีบลงมือปรับและแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไปจนกู่ไม่กลับ

หากย้อนไปสักสิบยี่สิบปี แหล่งค้าส่งที่โด่งดังในกรุงเทพฯมีทั้งพาหุรัด โบ้เบ๊ คลองถม ประตูน้ำ และอีกหลายแห่ง แต่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือสำเพ็ง เพราะถ้าใครเคยไปเดินสำเพ็งก็น่าจะจำได้ว่าสำเพ็งครึกครื้นขนาดไหน ต้องเคยเห็นภาพบรรยากาศที่พ่อค้าแม่ขายเปิดร้านรับลูกค้าชนิดหยิบของใส่ถุงให้ลูกค้าไม่ทัน เพราะลูกค้าเดินกันแน่นขนัด คนซื้อเดินเบียดกันจนแทบจะหายใจรดหน้ากัน ยอดซื้อในแต่ละวันจากลูกค้าทั้งเจ้าประจำและขาจรที่หน้าร้านทำให้ยอดขายของแต่ละร้านเยอะจนนับเงินกันไม่ทันเลยทีเดียว เรียกว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า มีเท่าไรจัดมาขายได้หมดก็ว่าได้

แต่มาวันนี้หลายอย่างเปลี่ยนไป เริ่มมีเสียงบ่นเสียงโอดครวญจากเหล่าบรรดาแม่ค้าพ่อค้า หลายคนก็ว่าลูกค้าบางตาไปมาก จนร้านค้าบางร้านต้องปิดกิจการพับเสื่อกลับไปพักยาวกันเลยทีเดียว ดังนั้นวันนี้เรามาเรียนรู้ไปด้วยกันว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้แหล่งค้าส่งอย่างสำเพ็งต้องซบเซาเช่นนี้

3 บทเรียน กรณีศึกษาสำเพ็ง ที่ทุกตลาดต้องปรับตัว

1.ไม่เข้าใจความต้องการของลูกค้า

พ่อค้าแม่ค้าหลายคนอาจยังไม่เข้าใจลูกค้าของตัวเอง เพราะเมื่อก่อนไม่ต้องเข้าใจลูกค้าอะไรมากนักก็ขายได้ และมากไปกว่านั้นลูกค้ายังมาหาถึงร้านอีกด้วย แต่มาวันนี้ในวันที่คนขายเต็มไปหมด และพฤติกรรมของลูกค้าก็เปลี่ยนไป ลูกค้าต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น แต่คนขายยังขายแบบเดิม ไม่ปรับเปลี่ยน ไม่ปรับปรุงการบริการ ก็เลยทำให้ลูกค้าหันไปซื้อของจากแหล่งอื่นที่สะดวกมากขึ้น อย่างเช่นระบบออนไลน์ เพราะระบบออนไลน์มาพร้อมกับความสะดวกสบายที่พร้อมเสริฟ์ให้ถึงที่ และลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ามากขึ้นแม้จ่ายแพงกว่านิดหน่อยเพราะไม่ต้องเหนื่อยไปเดินหาซื้อของด้วยตัวเอง แบบซื้อง่ายจ่ายสะดวก ไม่ต้องเดินทาง บางครั้งแถมด้วยซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่า สั่งปุบของส่งปั๊บรวดเร็วทันใจ แบบไม่ต้องไปหิ้วของให้เหนื่อยอีกต่อไป แต่บางร้านก็ยังไม่เข้าใจไม่ใส่ใจและลืมมองไปว่าลูกค้าต้องการอะไรจนทำให้ลูกค้าเก่าก็หาย ลูกค้าใหม่ก็ไม่มี แต่ถ้าคนขายรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร การขายแบบออฟไลน์ก็สามารถเอาชนะออนไลน์ได้เช่นกัน เช่น ลูกค้าเก่าที่ซื้อของเดิมๆไปขาย รู้ใจกันอยู่แล้วว่าจะซื้ออะไรบ้างในแต่ละครั้ง ก็อาจจะเสนอทางเลือกใหม่ให้ลูกค้าว่า แค่โทรสั่ง แล้วเราส่งให้ถึงบ้าน แถมด้วยส่งฟรีถ้ายอดซื้อถึง ก็น่าจะเป็นอีกทางที่ไม่ต้องใช้ออนไลน์สำหรับลูกค้าที่ไม่สะดวก แต่ถ้าลูกค้าคนไหนที่ต้องการซื้อผ่านออนไลน์ ทางร้านก็อาจจะมีช่องทางให้ลูกค้าได้เลือกกันมากขึ้น ดังนั้นแค่เปิดใจใช้ความเข้าใจและหาให้เจอว่าใครคือลูกค้าตัวจริงและลูกค้าต้องการอะไร ไม่ว่าจะออฟไลน์ออนไลน์ในเศรษฐกิจแบบไหนก็ยังพอจะทำให้ธุรกิจไปต่อกันได้ และในยุคนี้ถ้าขาดความเข้าใจในความต้องการของลูกค้ายังไงก็จบกัน

2.ไม่ติดตามโลกเลยปรับไม่ทัน

หลายร้านยังคงยึดติดการขายแบบเดิมๆ คือรอให้ลูกค้ามาพูดคุยต่อรองกันหน้าร้าน และยังคงทำการค้าขายในเชิงรับเท่านั้น แต่ในทุกวันนี้การทำธุรกิจแบบเชิงรับอย่างเดียวก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ยาวนานนัก ในท่ามกลางสมรภูมิทางการค้าอันดุเดือดถ้าไม่นำโลกไปเลย ก็ต้องตามโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงให้ทัน ธุรกิจก็ต้องปรับตัวเชิงรุก และที่สำคัญต้องรู้ว่าต้องปรับตัวอย่างไรให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ออนไลน์อย่างเดียว ธุรกิจออฟไลน์ก็ถูกนำมามิกซ์กับออนไลน์เพื่อทำให้ลูกค้าสะดวกสบายมากขึ้นอย่างเช่นในจีน Alibaba ก็เปิดร้านออฟไลน์ที่เชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ เพื่อให้ทั้งสองสิ่งเป็นตัวสนับสนุนซึ่งกันและกัน หรือแม้กระทั่งใช้เทคโนโลยีมาวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า และช่วยในการหารูปแบบธุรกิจใหม่กันเลยทีเดียว ดังนั้นถ้ามองความเปลี่ยนแปลงอย่างเข้าใจ และปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้เข้ากับตัวเองก่อนที่จะถูกบังคับให้เปลี่ยน ก็ย่อมดีกว่าที่เราไม่สนโลกไม่ขยับตัว หรือขยับก็ช้าเกินไปจนต้องปิดร้านเก็บของกลับบ้านอย่างแน่นอน

3.ลืมมองคู่แข่งเลยถูกทิ้งห่าง

ในวันเก่าๆที่ลูกค้าอาจจะยังไม่มีตัวเลือกมากนัก เหล่าบรรดาคนขายก็ขายกันแบบไม่สนใจคู่แข่งกันเท่าไร ไม่เคยวิเคราะห์คู่แข่ง และไม่รู้ว่าคู่แข่งแซงหน้าไปขนาดไหนแล้ว ก็ยังคงขายในสไตส์ที่ตัวเองอยากจะขาย อยากให้ลองนึกภาพตาม ร้านกอไก่ช่วงขายดี คนขายเหนื่อยมากก็อาจจะมีบ้างที่หน้างอใส่ลูกค้า หรือพูดแบบมะนาวไม่มีน้ำบ้างเวลาที่ลูกค้าสอบถาม หรือบางทีก็เมินลูกค้าไปเลย แต่ในขณะที่อีกร้าน ร้านขอไข่บริการดี พูดจาน่าฟัง ใส่ใจลูกค้า และขายในราคาที่เท่ากัน หรือแม้กระทั่งอีกร้านมีระบบออนไลน์ให้ลูกค้าดูหน้าตาสินค้าแบบไม่ต้องเดินทางมาร้าน และมีช่องทางให้สอบถามในเรื่องที่สงสัย ทั้งสั่งและส่งกันง่ายๆ กับอีกร้านต้องหอบหิ้วกันจนแขนจะหลุด เป็นคุณ คุณจะเลือกเข้าร้านไหน นี่ยังไม่รวมร้านของชาวต่างชาติที่มาดัมพ์ราคาให้ถูกลงไปอีก และอีกหลายธุรกิจที่มา disrupt จนทำให้สำเพ็งต้องเงียบเหงา

ดังนั้นเมื่อเราเห็นบทเรียนต่างๆ จากทั้งสำเพ็ง หรืออีกหลายๆแห่งที่กำลังประสบปัญหาต่างๆ เนื่องจากการปรับตัวที่ช้าเกินไป หรือยังไม่ปรับให้ทันโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นแล้ว ก็จงตระหนักให้ดีว่าธุรกิจเราเป็นแบบไหน แต่ถ้าเห็นว่าธุรกิจเราดูคล้ายๆ กับที่กล่าวมา ก็จงรีบลงมือปรับและแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไปจนกู่ไม่กลับ

บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนสร้างรายได้ออนไลน์ รุ่น 3”

สร้างแบรนด์สินค้า

คุณ สุชาดา พิชิตปรีชา
พนักงานบริษัท
ฝ่ายจัดซื้อ และวิเคราะห์ข้อมูล