หลายคนที่คิดจะเปิดกิจการใหม่ ไม่แน่ใจว่าสรุปจะเอาเงินกูหรือเงินกู้มาลงทุนทำธุรกิจดี วันนี้เรามีคำตอบให้ครับ

หลายคนตั้งใจเก็บเงินสักก้อนเพื่อหวังจะเอามาลงทุนทำธุรกิจเป็นของตนเอง เปิดกิจการเล็กๆแบบครอบครัว หากกิจการไปได้ดีค่อยกู้เงินมาขยายกิจการ  แต่เรามักจะได้ยินคำว่า กู้เงินมาลงทุนดีกว่าเอาเงินตัวเองลงทุน  การเอาเงินคนอื่นมาสร้างเงินให้ตัวเองมันดีกว่า เพราะถ้าเอาเงินตัวเองลงทุน ถ้าหมดก็คือหมดเลย แต่ถ้าเอาเงินคนอื่น (ธนาคาร) มาลงทุน ถ้าได้ก็เอากำไรมาจ่ายผ่อนชำระเงินกู้ไม่ต้องควักกระเป๋าตัวเอง ถ้าขาดทุน ก็ยังมีเงินตัวเองคอยหมุนเวียน พอต่อลมหายใจได้อีก จึงทำให้หลายคนที่คิดจะเปิดกิจการใหม่ ไม่แน่ใจว่าสรุปจะเอาเงินกูหรือเงินกู้มาลงทุนทำธุรกิจดี วันนี้เรามีคำตอบให้ครับ

เราลองมาทำความเข้าใจแบบง่ายๆก่อนว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนมากจะอยู่ไม่เกิน 10% แต่เวลาเราทำธุรกิจ (สถานการณ์ปกติ) กำไรจาการทำธุรกิจจะอยู่ที่ 20-30% โดยประมาณ ซึ่งมากกว่าอัตราดอกเบี้ย ทำให้เราไม่ต้องควักกระเป๋าตัวเองไปจ่ายดอกเบี้ยสักบาท แต่ในสถานการณ์จริง มันไม่มีอะไรมาการันตีว่าธุรกิจจะอยู่รอด ไม่มีขาดทุน อันนี้ก็อยู่ที่การวางแผนในการทำการตลาด และการตัดสินใจของเจ้าของกิจการเอง

แต่โดยปกติแล้ว การกู้มาลงทุนทำธุรกิจมีข้อดีกว่าการใช้เงินตัวเองอยู่หลายข้อครับ

1 การกู้เงินมาขยายธุรกิจเป็นการสร้างโอกาสทำกำไรที่มากขึ้น

เพราะในการทำธุรกิจบางครั้งจำเป็นต้องซื้อเครื่องจักร เครื่องมือ หรือแม้แต่สิ่งก่อสร้าง เพื่อขยายการผลิต และมีเครื่องมือเครื่องจักรที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมากพอสมควร การกู้เงินมาลงทุนจึงดีกว่าเอาเงินตัวเองทั้งหมดไปกองจมอยู่กับธุรกิจ เมื่อเทียบแล้วการกู้ถือว่าคุ้มกว่า และการมีเครื่องมือ เครื่องจักรที่ทันสมัย ก็มีโอกาสที่ทำผลผลิตออกมาได้คุณภาพ ทำให้แข่งขันได้ และเป็นที่ยอมรับ เพราะมีกระบวนการผลิตที่มาตรฐาน จึงทำให้เห็นโอกาสในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น และสามารถนำเงินมาชำระหนี้ได้

เช่น ธุรกิจของคุณกำลังไปได้ดี จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มอีก 5 ล้าน เพื่อซื้อเครื่องมือเพิ่มเพื่อรองรับการผลิต หากไม่มีเครื่องมือจะทำให้เสียโอกาสเสียลูกค้า เพราะผลิตไม่ทัน ซึ่งการมีฐานลูกค้าที่ชัดเจนอยู่แล้ว เปอร์เซ็นความเสี่ยงก็ลดลง การกู้เงิน 5 ล้านมาลงทุน  ยังสามารถทำกำไรได้เพิ่มอีก 20-30%

แต่สำหรับใครที่ไม่ต้องการกู้เต็มจำนวน ก็สามารถนำเงินทุนตัวเองออกมาช่วยบางส่วน เช่น เงินกู้ 3.5 ล้านบาท เงินตัวเอง 1.5 ล้านบาทก็ได้เช่นกัน อันนี้ต้องอยู่ที่สภาพคล่องของแต่ละธุรกิจ ก็ต้องวางสัดส่วนให้ดี เวลามีปัญหาจะได้ไม่กระทบมากจนเกินไป

2 การกู้ช่วยลดหย่อนภาษีได้

สำหรับผู้ประกอบการ สามารถนำดอกเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งการที่ธุรกิจไม่มีการกู้เลยก็ดีอีกแบบ แต่ถ้ามีการกู้และมีการส่งผ่อนชำระปกติ ก็จะเป็นการสร้างเครดิตให้กับธุรกิจทำให้เกิดสภาพคล่อง เมื่อมีการกู้เกิดขึ้น ผู้ประกอบการก็สามารถนำดอกเบี้ยไปคำนวณลดหย่อนภาษีได้ หากไม่กู้เลย ก็จะเสียโอกาสในการประหยัดลดหย่อนภาษี

3 การกู้เงินเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

หากผู้ประกอบการนำเงินเก็บ หรือเงินก้อนสุดท้ายของครอบครัวมาลงทุน หากธุรกิจมีปัญหา อาจจะถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว  การกู้เงินมาลงทุนทั้งหมด หรือกู้บางส่วนมาลงทุน จึงเป็นการกระจายความเสี่ยง เวลาธุรกิจมีปัญหา ก็ยังสามารถเจรจาต่อรองในการผ่อนชำระหนี้ได้ และยังอุ่นใจที่ยังมีเงินส่วนตัวไว้สำรอง ทำให้มีทุนใช้ในช่วงเวลาในช่วงฟื้นตัว และพอประทังให้ธุรกิจอยู่รอดในช่วงวิกฤต

4 การกู้ย่อมทำให้ธนาคารเห็นสภาพคล่องและวินัยทางการเงิน

สร้างความน่าเชื่อถือได้ระดับหนึ่ง แต่การกู้เงินธนาคารก็จะดูสัดส่วนของหนี้สินประกอบในการปล่อยกู้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการอยากจะกู้เงินมาทำธุรกิจ หรือขยายกิจการ ต้องคำนึงถึงสัดส่วนที่พอเหมาะ ไม่ใช่กู้ 100% เพื่อมาทำธุรกิจ และไม่มีเงินทุนหมุนเวียน หรือไม่มีเงินฝากและหลักทรัพย์อย่างอื่นเลย

5 ได้รับสิทธิพิเศษจากทางธนาคาร

ระหว่างการกู้เงิน โดยเฉพาะกู้มาเพื่อขยายธุรกิจ หากเป็นลูกหนี้ที่ดี ชำระตรงตามเวลา ไม่มีเลื่อน หรือไม่เคยมีประวัติติดตามทวงถาม เป็นลูกหนี้ประวัติดี ธนาคารมักจะมีสิทธิพิเศษให้ต่างๆมากมาย เช่น เมื่อกู้และผ่อนชำระมาสักพัก ก็จะเพิ่มวงเงินกู้ให้โดยเราไม่ต้องขอ  หรือ มีการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ หรือช่วยหาช่องทางการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการพัฒนาธุรกิจมากยิ่งขึ้นด้วย

ถึงแม้ว่า อาจจะดูเหมือน การกู้เงินมาลงทุนมีข้อดีหลายอย่าง ทั้งช่วยลดหย่อนภาษี ทั้งช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างกำไร และเป็นการกระจายความเสี่ยง แต่ในความเป็นจริง

ผู้ประกอบการต้องพิจารณาสัดส่วนการเป็นหนี้ให้ดี ให้เหมาะสม และดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง วางแผนการทำธุรกิจให้ดี และทำประกันภัยเพื่อลดความเสี่ยงทั้งประกันชีวิต ประกันอัคคีภัย ประกันเงินกู้ ควบคู่ไปด้วยก็จะทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกอุ่นใจมากขึ้นด้วย

ส่วนจะใช้เงินกูหรือเงินกู้ ผู้ประกอบการก็ลองพิจารณาถึงสภาพคล่องที่เกิดขึ้น นำมาเปรียบเทียบ ข้อดี ข้อเสีย ก่อนตัดสินใจกู้ และติดต่อขอทราบเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยกับหลายธนาคาร เพื่อนำมาเปรียบเทียบก่อนเลือกว่าจะกู้กับธนาคารไหน แนะนำอย่างน้อยก็ควรเข้าไปติดต่อสัก 3 ธนาคาร ก็จะทำให้เราได้สินเชื่อที่ตอบโจทย์ธุรกิจและสภาพคล่องทางการเงินของเรามากที่สุด