บทความนี้ยาวหน่อย แต่มีประโยชน์มากสำหรับคนทำธุรกิจ

ต้องยอมรับว่าหนึ่งในตลาดที่มาแรงและติดอันดับต้นๆ มาโดยตลอดในเรื่องศักยภาพการเติบโต คือ ตลาดสุขภาพและความงาม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อยากทำธุรกิจ สิ่งแรกๆ ที่คิดคือ การทำสินค้า ความงาม อันดับสอง ก็ของกิน อันดับสามที่มาแรงในระยะหลัง ก็คือ สุขภาพ ที่ได้อานิสงฆ์จากกระแสคนหันมาสนใจและดูแลสุขภาพกันมากขึ้นเรื่อย อีกทั้งกระแสเรื่อง aging society มาผนวกร่วมด้วยช่วยดันให้ตลาดสุขภาพมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

บทความนี้เลยจะขอพูดถึงตลาดสุขภาพและความงาม และโมเดลธุรกิจ ที่ดูเหมือนจะฮอตฮิตและระบาดหนักอยู่ในตอนนี้.. สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ เป็นบทวิเคราะห์และเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น

เริ่มต้นที่มาโมเดลจากตลาดเครือข่าย

กลุ่มบริษัทที่เข้ามาเล่นตลาดสุขภาพและความงามนี้ มายาวนานคือ กลุ่มธุรกิจขายตรง – ธุรกิจเครือข่าย โดยนำเสนอถึง mega trend ของตลาดสุขภาพและความงาม บวกด้วยการพัฒนาสินค้า คิดค้นนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลลัพธ์ในมุมของลูกค้าผู้ใช้ และเพื่อให้สอดรับกับโมเดลธุรกิจ ที่ต้องแบ่งรายได้จำนวนมากให้กับนักธุรกิจเครือข่ายที่เข้ามาทำตลาดให้กับบริษัท สินค้าที่ขายจึงต้องมีราคาค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้ ประเด็นเรื่องนวัตกรรมจะช่วยทำให้สามารถขายสินค้าราคาสูงได้

แต่จุดตายอันหนึ่งที่ทำให้คนที่อยากทำธุรกิจจำนวนไม่น้อย ไม่ค่อยอยากทำธุรกิจเครือข่าย ก็คือเรื่อง ภาพลักษณ์ที่เป็นลบของธุรกิจเครือข่าย ซึ่งถ้าเป็นธุรกิจเครือข่ายจริงๆ ล้วนเกิดจากคนที่เข้ามาทำธุรกิจ มากกว่านโยบายหรือกลยุทธ์ของบริษัทเอง..

เพื่อให้ตัวเองได้ผลประโยชน์รายได้รวดเร็วและมากอย่างที่ต้องการ

อีกเรื่องที่ยังคงเป็นปัญหาของธุรกิจเครือข่ายคือเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจที่ต้องพาตัวเองและทีมงานเข้าร่วมงานประชุม อบรม อีเว้นท์ ของบริษัทเพื่อพัฒนาธุรกิจและรายได้ของตัวเอง ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ หลายบริษัทจะนำ social media มาปรับใช้ในการทำการตลาดและอำนวยความสะดวกให้กับการทำงาน สร้างทีมงานมากขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังต้องเข้าร่วมงานและอีเว้นท์ต่างๆ อยู่เช่นเดิม

พูดมาถึงตอนนี้ อาจงงว่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกับตลาดสุขภาพและความงามทั่วไปตรงไหนอย่างไร

ที่ต้องปูพื้นเรื่องธุรกิจเครือข่าย ก็เพราะตอนนี้ มีการนำ โมเดลธุรกิจเครือข่ายมาประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจสุขภาพและความงาม.. แถมทำแล้วชีวิตเปลี่ยน มีเงินมีทอง มีชื่อเสียง แต่แค่คนกลุ่มเดียวนะ.. และทำให้ธุรกิจสุขภาพและความงามแบรนด์อื่นๆ ที่ทำแบบปกติ ตั้งใจทำ คิดจะทำให้ออกมาดี มองตาปริบๆ เพราะสู้กระแสไม่ได้ แบรนด์ไม่ติดตลาด ยอดขายไม่ปัง ไม่ดังเป็นกระแส แพ้ในทุกมิติ.. จนต้องบอกว่า หลายแบรนด์เริ่มจะถอดใจ บางรายทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ อยากจะทำตลาดด้วยโมเดลธุรกิจแบบนี้บ้าง เพราะมันได้เห็นๆ และเปลี่ยนชีวิตอย่างที่เล่าไป

จากตลาดธุรกิจเครือข่ายสู่ตลาดออนไลน์

โมเดลธุรกิจนี้จะว่าไปก็ประยุกต์มาจากโมเดลธุรกิจเครือข่ายนั่นแหละครับ แต่ก็มีความแตกต่างอยู่บ้าง บางประเด็น

  • เน้นสินค้าสุขภาพและความงาม และพยายามชูจุดขายของสินค้าให้โดดเด่น
  • ใช้กลยุทธ์ แบรนด์ แอมบาสซาเดอร์ หรืออาจเป็นเพียงแค่ พรีเซนเตอร์ในการเดินเกมธุรกิจ (ส่วนมากมักเป็น ดารา เซเลบ คนดัง คนมีชื่อเสียง โดยเฉพาะรายที่กำลังอยู่ในกระแสหลักของสื่อ มีผลงานออกสื่อ มีงานที่ปรากฎกายเยอะ เห็นหน้าบ่อย มีกระแสในแวดวง ฯลฯ)
  • ออกแบรนด์มาก็เปิดรับตัวแทนพร้อมแคมเปญชุดใหญ่ไฟกระพริบ โดยมีระดับการซื้อของตัวแทนหลายระดับ ดูแล้วก็คล้ายกับการโครงสร้างแผนการตลาดของธุรกิจเครือข่ายยังไงยังงั้นเลย.. ดูแล้วเหมือนออกแบรนด์มาตั้งใจจะขายสินค้าให้ตัวแทน มากกว่าการทำสินค้ามาเพื่อตอบโจทย์ปัญหา – ความต้องการของผู้บริโภค

 

– ขับเคลื่อนธุรกิจด้วย บิ๊กแคมเปญเพื่อจูงใจตัวแทนให้กระโดดเข้ามาทำธุรกิจกันในวงกว้าง ตั้งแต่ ผลกำไรที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่น้อยเลยให้กับคนที่สมัครเป็นตัวแทนแต่ละระดับ ต่อด้วยการจัดแคมเปญทำเป้า สะสมยอด แบบจัดหนัก แจกบ้าน แจกรถ แจกทอง แจกสมาร์ทโฟน ทริปท่องเที่ยว ฯลฯ อย่างล่อตาล่อใจ

– มีแพลนการตลาดสร้างกระแส โดยใช้แบรนด์ แอมบาสซาเดอร์ หรือ พรีเซนเตอร์ เป็นตัวหลักในการสร้างกระแสในวงกว้าง ทั้งหมดนี้พุ่งเป้าไปที่ทำให้เกิดภาพความนิยมสินค้าตัวนี้ เพื่อดูดคนให้เข้ามาสมัครเป็นตัวแทน ซื้อสินค้าไปขาย และนี่คือจุดมุ่งหมายของโมเดลธุรกิจแนวนี้เลย

– แพลนการตลาดทั้งหมดนี้ มุ่งเน้นให้เกิดกระแส จะทำหนักๆ แค่ 2-3 เดือน แล้วก็หายต๋อม ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานของมันเอง ถ้าสินค้าใช้ดี ติดตลาด มีผู้ใช้สินค้าในวงกว้างมากพอ ก็จะเดินหน้าต่อไปได้อีกระยะ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น สินค้าแบรนด์นั้น ก็จะค่อยๆ หายไปจากตลาดเองในเวลาไม่นาน

– ทั้งหมดทั้งมวล ถามว่าสินค้าที่ใช้โมเดลธุรกิจนี้ สามารถขายสินค้าได้ไหม ต้องตอบตรงๆ ว่าได้แน่นอน และได้เยอะเสียด้วย ไม่งั้นคงไม่มีแบรนด์มากมายมาทำแบบนี้หรอก แถมบางแบรนด์ที่ทำแบบเดิมแล้วไม่เวิร์ค ยังคิดอยากจะทำบ้างเลย

– ข้อแตกต่างระหว่างโมเดลนี้กับโมเดลเครือข่ายคือ โมเดลนี้ ใช้ social media เป็นช่องทางหลักในการขายสินค้า (จริงแค่ส่วนหนึ่ง) ไม่ใช้ระบบการประชุม เข้าร่วมอีเว้นท์ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ชอบในมุมของธุรกิจเครือข่าย

– ที่บอกว่าช่องทางการขายหลักคือ social media เป็นจริงแค่บางส่วนเพราะว่า ในภาพจริง สินค้ากลุ่มนี้ ตัวแทนที่ซื้อสินค้าไปส่วนใหญ่ (ตัวแทนย่อย ระดับกลางไปล่าง) จะขายสินค้าได้ค่อนข้างยาก หรือต้องใช้เวลานานเพื่อระบายสต๊อกที่ซื้อมาให้หมดไปกับการขายไปยังผู้ใช้สินค้า ทำให้ตัวแทนกลุ่มนี้ เจ็บตัว มากกว่าจะตั้งตัวได้จากการขายสินค้าแบรนด์นี้

 

แล้วใครล่ะที่จะเป็นคนที่ขายสินค้านี้ได้..

จะมีคนอยู่ 4 กลุ่มที่สามารถขายสินค้าได้

กลุ่มแรกคือ ตัวแทนที่มีลูกทีมอยู่ในมือเยอะ

เพราะทำธุรกิจเป็นตัวแทนมาก่อนนานพอสมควรแล้ว เช่นพวกตัวแทนระดับที่มีลูกทีม หลายร้อย หลายพันคน กลุ่มนี้ซื้อล็อตใหญ่แล้วไปแบ่งขาย แต่ละคนรับสต๊อกไปคนละนิดคนละหน่อย ก็ปล่อยได้หมด

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่มีหน้าร้าน

และพรรคพวกที่มีหน้าร้าน ที่สามารถปล่อยสินค้าได้ เพราะมีประสบการณ์และฐานลูกค้าของร้าน สามารถรวมกันซื้อเพื่อให้ได้ราคาถูกที่สุดแล้วแบ่งกันขาย ไม่นานก็หมด บางรายก็ตัดราคาส่งเอากำไรนิดเดียว เพื่อลดความเสี่ยง จะสไตล์ไหนก็แล้วแต่รายเลย

กลุ่มที่สามคือกลุ่มที่มีคอนเนกชั่นกับประเทศเพื่อนบ้าน

ก็สามารถเป็นตัวแทนหลักแล้วก็เอาสินค้าไปขายแทบจะเรียกว่า ขายคนเดียว กำไรคนเดียว บริหารจัดการช่องทางการขายในตลาดเพื่อนบ้านคนเดียวเลยก็ว่าได้ แบบนี้คือได้เต็มๆ และแทบจะไม่เสี่ยงเลย

กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่เป็นนักขายแบบนักสู้

คือ สู้ทุกรูปแบบ รบทุกสมรภูมิ ทั้งขายบนออนไลน์ เปิดท้ายขายตามตลาดนัด เร่ขายตามตลาด ออกบูธ ออกงานแฟร์ เสนอขายกับร้านย่อย เอาของไปปล่อยที่ร้านที่มีศักยภาพ ถามว่าขายได้ไหม ก็ได้ แต่เหนื่อยมาก คุ้มไหม แล้วแต่คนมอง แต่ที่แน่ๆ คือแม้ขายได้ ก็ไม่มีสบายๆ แบบเสือนอนกินแน่นอน

นอกจาก 4 กลุ่มนี้ต้องบอกว่า ร้อยละ 95 คือเจ็บตัว จะเจ็บมาก เจ็บน้อย เจ็บแล้วจำ ไม่ทำต่อ หรือรอลุ้นแบรนด์ใหม่ เพราะคิดว่าน่าจะขายได้ ก็แล้วแต่ที่สบายใจ แต่บอกเลยว่า กลุ่มนี้

คือกลุ่มที่เป็นหน้าใหม่ อ่อนทักษะและประสบการณ์ เห็นแต่ความนิยม ความดัง ที่สร้างขึ้นมา ก็คิดว่าดี ต้องได้แน่ๆ โดยที่เนื้อแท้ คุณยังไม่เข้าใจการทำธุรกิจที่แท้จริงเลย

ตั้งดาราเป็นเจ้าของแบรนด์มาล่อเม่าเข้าสู่วงโคจร

แล้วใครล่ะที่ได้แน่ในโมเดลธุรกิจนี้..

หนึ่ง คือ แบรนด์ แอมบาสเดอร์ – พรีเซนเตอร์

กลุ่มนี้ได้แน่ๆ แต่ก็เหนื่อยออกหน้า เดินเกมธุรกิจ แต่อันที่จริงก็เป็นบทบาทหน้าที่อยู่แล้ว ปรับตัว ทำใจไม่ยาก แถมได้เงินเยอะขึ้นด้วย

สอง คือเจ้าของโรงงานที่ผลิต

อันนี้ของตาย ได้แน่นอน แบบเสือนอนกิน ไร้ความเสี่ยงใดๆ

สามคือ เจ้าของแบรนด์ ที่แผนธุรกิจ

แผนการตลาดทั้งหมด นี่ก็ได้เต็มๆ และอาจรวยที่สุดเลยก็ว่าได้ แถมจะดัง และสามารถต่อยอดคอนเนกชั่น ไปทำอย่างอื่นได้อีกเยอะ เรียกได้ว่า ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง..

 

นอกจากนั้นก็พวกที่รับงาน ร่วมทำกิจกรรมให้กับแบรนด์ เช่น สถานที่จัดอีเว้นท์ ดารา นักร้อง พิธีกร หรือคนดังที่ถูกจ้างให้มาร่วมงาน พวกนี้ก็ได้เต็มๆ ไร้ความเสี่ยง

 

สรุปจบแบบตรงๆ ว่า..​ แบรนด์พวกนี้ ทำนายไว้ได้เลยว่า ร้อยละ 99 คืออยู่ในตลาดได้ไม่เกิน 2-3 ปี

เพราะคนออกแบรนด์นี้ เค้าไม่ได้คิดว่า แบรนด์นี้ต้องอยู่ยั้งยืนยง มั่นคงเติบโต และก้าวไกลไปในอนาคต แล้วเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ใครที่อยากฝากอนาคตกับแบรนด์เหล่านี้คิดดีแล้วเหรอ

เปรียบเหมือนเราจะคิดสร้างครอบครัว กับคนที่ไม่เอาการเอางาน คิดแค่อยู่ไปวันๆ คบไปก็ต้องเลิกกันแน่นอน ส่วนที่ว่าเลิกแล้วจะเสียความรู้สึก เจ็บใจ เจ็บตัว แค่ไหน ก็แล้วแต่วาสนา ผมว่า คนที่ตั้งใจและคิดดี ไม่อยากให้มีวันแบบนี้เลยโดยเฉพาะกับการทำธุรกิจ ที่ก็เล่นจริง เจ็บจริง ไม่น้อยเช่นกัน

สุดท้ายอยากให้ใครก็ตามที่คิดจะลองเป็นตัวแทน ขายของ สร้างรายได้เสริม ตั้งสติ และค่อยๆ เรียนรู้ ทำความเข้าใจกับคำว่า “ธุรกิจ” และ “ธรรมชาติ” ของแบรนด์นั้นๆ ให้ดีพอ ก่อนที่จะร่วมหอลงโรงแบบสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะสุดท้ายก็จะอยู่ที่ว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้น คุณรับไหวรึเปล่า..