หลายคนที่เริ่มต้นทำธุรกิจโดยเฉพาะบรรดาเถ้าแก่ใหม่ทั้งหลาย หรือกระทั้งเถ้าแก่มือเก่าที่ดำเนินธุรกิจมาสักพัก ส่วนใหญ่มักเริ่มทำธุรกิจเล็ก ๆ ในครอบครัว และไม่ว่าตอนนี้ธุรกิจของคุณยังคงเป็นธุรกิจเล็ก ๆ หรือว่าเติบโตมั่งคงแล้วก็ตาม หากตอนนี้คุณบริหารธุรกิจแบบครอบครัวผมเชื่อว่าเจอปัญหาไม่ต่างกัน

 

คุณเห็นด้วยคำประโยคนี้ไหมครับ

 “ปัญหาธุรกิจส่งผลต่อครอบครัว ปัญหาของครอบครัวก็ส่งผลต่อธุรกิจได้เช่นกัน”

 

จุดอ่อนในการบริหารธุรกิจในครอบครัวมีหลัก ๆ อยู่ไม่กี่อย่างหรอกครับแต่จุดที่มักทำให้เกิดความขัดแย้ง

 

อย่างแรกเลย คือ เรื่องของอารมณ์

การทำงานกับคนในครอบครัวปัญหาโลกแตกคือแยกเรื่องงานกับ

เรื่องส่วนตัวไม่ออก ไม่ว่าจะตั้งกฎเกณฑ์ไว้ก่อนยังไงก็เถอะครับ สุดท้ายพอเกิดปัญหาหรือขัดแย้งทางความคิด ก็มักจะเอาอารมณ์เป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ น้อยใจ งอน โกรธ ความเป็นครอบครัวมันมีความละเอียดอ่อนมากครับ

 

อย่างที่สอง การไม่รู้จักขอบเขต

คือพอเห็นว่าเป็นคนในครอบครัวเลยคาดหวังความทุ่มเทมากไป จน

ลืมไปว่า เราทำธุรกิจก็เพื่อความสุขของคนในครอบครัวไม่ใช่หรือครับ ยกตัวอย่างเช่น พอทำธุรกิจในครอบครัว พ่อแม่ก็หวังให้ลูกมาช่วยอย่างเต็มที่ คาดหวังให้เรียนบัญชี เรียนบริหารเพื่อวางแผนให้ลูกสืบทอดกิจการ จนลืมไปหรือเปล่าครับ ว่าคนเราชอบไม่เหมือนกัน ถ้าคนรุ่นลูกชอบก็แล้วไป ถ้าไม่ชอบแล้วเกิดการบังคับนี่มีแต่พังกับพังนะครับ อย่างแรกความสัมพันธ์ในครอบครัวพัง และแน่นอนครับ สุดท้ายธุรกิจพัง

 

อย่างสุดท้าย การปิดโอกาสให้คนนอกมาบริหารงาน

คนส่วนใหญ่เวลาทำธุรกิจ มักเชื่อมั่นในตัวเอง คิดว่า “ธุรกิจของเราเราบริหารเองดีที่สุด” ทำให้พลาดโอกาสในการมองหาคนที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมาช่วยบริหารงานให้ธุรกิจรุ่งเรื่องยิ่งขึ้น เนื่องด้วยเพราะกลัวว่าถ้าให้คนนอกมาทำงานบริหารจะเสียการปกครองหรือกลัวโดนโกง กลัวคนอื่นบริหารไม่ดีเท่าคนในครอบครัว

 

แต่พอใช้คนในครอบครัวทำงานด้วยกัน ปัญหาก็วนลูปล่ะครับ สุดท้ายก็แยกแยะอารมณ์ส่วนตัวไม่ได้ คาดหวังกับความสามารถของสมาชิกในครอบครัวมากเกินไป พอจะหามืออาชีพมาบริหารก็กลัวไว้ใจไม่ได้ กลัวเปลือง มันก็จะวน ๆ อยู่อย่างนี้ล่ะครับ คุณเห็นด้วยไหม

 

เอาจริง ๆ นะครับ ลองคิดให้ลึก คิดให้ดี เราสร้างธุรกิจ ก็เพื่อความสุขของครอบครัวไม่ใช่หรือครับ ถ้าทำธุรกิจแล้วครอบครัวพัง ผมว่ามันอาจจะผิดวัตถุประสงค์หลักในชีวิตไปสักหน่อย ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของธุรกิจในครอบครัวคือ “บริหารความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดี ความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัวมีค่ามากกว่าเรื่องอื่นใด”

 

ขั้นแรก คุณลอง แยกแยะงานออกมาก่อนดูสิครับ

แล้วลองสำรวจว่า งานไหน ที่สามารถมอบหมายให้คนในครอบครัวของคุณเองทำได้และเขาต้องเต็มใจทำ แล้วให้อำนาจในเรื่องนั้น ๆ ให้เขาอย่างเต็มที่ ส่วนงานอย่างอื่นที่คนในครอบครัวไม่ถนัด จ้าง เถอะครับอย่าเสียดายเงินเลยครับ ซึ่งการจ้างคนอื่นทำก็มีหลายรูปแบบ อาจจ้างเป็นคราว ๆ หรือจ้างประจำก็ได้ แล้วแต่ความจำเป็น ยกตัวอย่างนะครับ ตัวคุณเองถนัดการขาย การตลาด แฟนคุณถนัดด้านการบริหารการผลิต แต่ไม่มีใครถนัดเรื่องการทำบัญชี หรือเรื่องการบริหารเงินเลย ถ้าคุณยอมจ้างมืออาชีพ คุณจะทุ่นเวลาไปได้เยอะ ไม่ต้องมาปวดหัวมากมาย เอาเวลาไปบริหารงานดีกว่า (แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณต้องติดตามกำกับอย่างใกล้ชิดและต้องดูบัญชีเป็นนะครับ) ที่สำคัญ คุณจะได้มีเวลา ใช้เงินใช้เวลาร่วมกับครอบครัวอย่างมีความสุขอย่างไรล่ะครับ

 

ขั้นที่สอง เมื่อแยกแยะงานได้ แบ่งงานกันได้

ตกลงได้ว่าต้องจ้างคนอื่นหรือเปล่า ก็ทำการมอบหมายงานให้ชัดเจน ว่าใครทำหน้าที่อะไร มีอำนาจอะไรบ้าง ทำเป็นบันทึกรายงานการประชุมของกิจการไปเลยก็ได้ครับ ตรงนี้จะตัดปัญหาการสั่งงานซ้ำซ้อน ลองนึกภาพนะครับ “งานเดียวกันอาเฮียมาสั่งอย่างหนึ่ง วันถัดมาอาซ้อมาสั่งให้ทำอีกอย่างหนึ่ง” ลูกจ้างงงเป็นไงตาแตกครับ ไม่รู้จะฟังใคร สุดท้ายไม่รู้จะโทษใครดี แล้วเฮียกับซ้อก็มาทะเลาะกัน กลายเป็นปัญหาครอบครัวไปอีก

ดังนั้นต่อให้เป็นธุรกิจในครอบครัว ก็ต้องแบ่งงานแบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจนครับ เช่น ถ้าเรื่องขายต้องฟังอาเฮีย แต่เรื่องผลิตของต้องฟังซ้อ จะใช้เงินต้องผ่านคุณแต๋วพนักงานการเงิน แต่ต้องมีลายเซ็นอาซ้อหรืออาเฮียเป็นคนอนุมัติ อะไรอย่างนี้เป็นต้นครับ

 

ขั้นสุดท้าย คุยกันให้มาก ๆ ครับ

ไม่ได้แปลว่าให้มานั่งเมาท์มอยกันนะครับ หมายความว่า คุณควรจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นทางการบ้าง เดือนละครั้งก็ได้ เพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินกิจการ พูดคุยปัญหาอุปสรรค หรือหารือไอเดียใหม่ ๆ ที่จะนำมาปรับปรุงกิจการ ซึ่งจะทำให้ทุกคนทราบถึงสถานการณ์ของกิจการ มีส่วนร่วมในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาร่วมกัน ที่สำคัญเป็นโอกาสได้แสดงความโปรงใสในการบริหารจัดการงานต่าง ๆ ไปในตัวด้วย เป็นโอกาสได้อธิบายถึงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทำงานร่วมกัน ได้ขอโทษขอโพยกัน ได้ให้กำลังใจกันและกัน

 

ผมว่าลองทำได้อย่างนี้ ลดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวไปได้เยอะเลยครับ อย่างที่บอกล่ะครับ เป้าหมายของการทำธุรกิจ จริง ๆ แล้วคือความสุขของคนในครอบครัวครับ คงไม่มีประโยชน์อะไร ถ้ากิจการรุ่งเรืองแต่ครอบครัวรุ่งริ่ง ปักธงความสำเร็จทางธุรกิจบนซากปรักหักพังของหัวใจคนที่เรารัก อย่างนี้คงไม่ใช่ความสำเร็จในฝันของเถ้าแก่ใหม่แน่ ๆ จริงไหมครับ