การขายของตลาดนัดไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ต้องอาศัยความอดทน มุ่งมั่น ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีการเตรียมความพร้อมที่ดี รวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ

คงยากที่จะปฏิเสธว่ารายได้ทางเดียวสำหรับยุคนี้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ถึงแม้จะประหยัดแค่ไหนก็ตาม ยิ่งเงินเก็บออมนั้นแทบไม่ต้องพูดถึง ทางเดียวที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้คือการหารายได้เสริม มีวิธีแตกต่างกันในแต่ละคนขึ้นอยู่กับความชอบและความถนัด ซึ่งตลาดนัดก็เป็นอีกแหล่งรายได้หนึ่งที่ได้รับความนิยม สำหรับมือใหม่อยากขาย จะเริ่มต้นอย่างไร เตรียมตัวเรื่องอะไรบ้างนั้น ลองมาดูกันเลย

แฟรนไชส์เครื่องสำอางปันสวย

1.ถามใจตัวเองก่อนสู้ไหวไหมขายของตลาดนัด

“ใจสู้หรือเปล่า ไหวไหมบอกมา”

ส่วนหนึ่งของเนื้อเพลงศรัทธา ที่ขับร้องโดยพี่โป่ง หิน เหล็ก ไฟ คงต้องถามก่อนว่าพร้อมแค่ไหน อย่างที่รู้กันว่าตลาดนัดเป็นสมรภูมิทดสอบความอึด ทึก ทน งานนี้ขึ้นอยู่กับใจล้วนๆ ถ้าผ่านตรงนี้ไปได้ ที่เหลือเตรียมวางแผนลุยต่อได้เลย

2.ทำเลจะลงตลาดนัดไหนดี ต้องดูอะไรบ้าง

รูปแบบของตลาดนัดมีหลากหลาย ตั้งแต่ตลาดนัดออฟฟิศ  ตลาดนัดช่วงเช้า ตลาดนัดช่วงเย็น มีทั้งแบบขายได้ทุกวัน ขายเฉพาะบางวัน ขึ้นอยู่กับการจัดสรรเวลา สิ่งที่ต้องทำก่อนตัดสินใจเลือกทำเลที่จะขายมีดังนี้

  • เดินสำรวจตลาดโดยรอบ
  • ดูว่าโซนไหนของตลาดและช่วงเวลาใดที่คนเดินเยอะ
  • เช็คพื้นที่โดยรอบว่าเป็นอย่างไร เช่น ตั้งอยู่ใกล้แหล่งชุมชน สถานที่ทำงานต่างๆ
  • การเดินทางมาตลาดสะดวกหรือไม่ เช่น ที่จอดรถกว้างขวาง มีรถโดยสารประจำทางผ่าน
  • ประเมินสถานการณ์คร่าวๆในช่วงหน้าฝน โดยสอบถามได้จากพ่อค้าแม่ค้า
  • อยู่ไกลจากแหล่งที่พักของเราหรือไม่ เนื่องจากมีค่าเดินทางยังไม่รวมถึงระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง ตรงจุดนี้ต้องนำมาพิจารณาให้ดี นอกเสียจากว่าตลาดที่ไปขาย ทำยอดขายได้คุ้มกับค่าเดินทาง
  • สอบถามถึงขั้นตอนการจอง เช่น เข้าจองเวลาใด
  • ราคาค่าเช่า ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
  • มีล็อคขายประจำหรือไม่ พื้นที่มีขนาดเท่าไหร่
  • อุปกรณ์อื่นๆ ที่ต้องเตรียม เช่น สายไฟ ผ้าคลุมบังแดด ใช้แก๊สได้หรือไม่ รวมถึงเต็นท์ ซึ่งตลาดนัดบางแห่งมีให้บริการ

3.ลูกค้ากลุ่มไหน ซื้ออะไรกัน ในตลาดนัดที่เราไปลง

สำรวจลูกค้าที่มาเดินซื้อสินค้าว่าเป็นกลุ่มใด ช่วงอายุเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เพศอะไร

เช่น ตลาดนัดตามออฟฟิศ กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่คือผู้หญิง ลักษณะการจับจ่ายสินค้าเป็นอย่างไร หรือสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอยู่ก่อนแล้วก็ได้ วิธีการที่ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าคือ

  • อย่ามโนไปเองว่าลูกค้าน่าจะชอบสินค้าเรา
  • ลองสังเกตสินค้าที่ลูกค้าส่วนใหญ่เลือกซื้อ
  • สังเกตร้านค้าที่ขายดี ว่าขายอะไร ทำไมลูกค้าถึงเลือกซื้อสินค้านั้น

4.สินค้าของเราเป็นอะไร เหมาะสมกับตลาดนัดไหม

ประเภทสินค้าที่จะขาย มีตั้งแต่ ของกินเล่น ของใช้ในครัวเรือน เครื่องสำอาง เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน สินค้ามือสอง ให้เลือกสินค้าจากความชอบก่อน แล้วดูว่าตลาดที่จะไปขายนั้น สินค้านี้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าหรือไม่ มีคู่แข่งกี่เจ้า สินค้ามีความแตกต่างอย่างไร ตัวอย่างเช่น

  • ขายของกิน
  • ต้องเป็นอาหารที่ใช้เวลาในการปรุงไม่นาน
  • เน้นของกินเล่น ทานได้ง่าย
  • หน้าตาอาหารต้องดูดี เนื่องจากคนส่วนใหญ่นิยมถ่ายรูปอาหาร
  • ควรคำนึงถึงวิธีการเก็บรักษาในกรณีที่เป็นของสด
  • ขายเสื้อผ้า
  • เลือกสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์
  • ดึงจุดเด่นของสินค้าให้ลูกค้าเห็นภาพได้ชัดเจน
  • งาน
  • มีจุดเด่น แตกต่างจากท้องตลาดทั่วไป
  • มีลูกเล่น ชวนให้น่าดึงดูด
  • เครื่องประดับ
  • ราคาไม่แพง เน้นซื้อง่าย ขายคล่อง
  • เลือกรูปแบบที่ใส่แล้วดูดี ใส่แล้วดูแพงกว่าราคาที่ซื้อ

ทั้งนี้แหล่งซื้อวัตถุดิบควรหาได้ง่าย การคำนวณต้นทุนต้องรวมถึงค่าขนส่ง ส่วนราคาขายสามารถอิงได้จากสินค้าชนิดเดียวกัน

5.รูปแบบร้านในตลาดนัดก็ต้องโดนใจ เห็นคนเห็นต้องแวะ !!

รูปแบบร้านเป็นส่วนที่ช่วยดึงดูดลูกค้า ควรตกแต่งร้านให้เข้ากับสินค้าและกลุ่มลูกค้า สร้างบรรยากาศให้สวยงามน่าเข้ามาเลือกชม

เช่น โทนสี รูปแบบตัวอักษร ป้ายหน้าร้านต้องเด่น สีของหลอดไฟ ความสว่างภายในร้าน อุปกรณ์ประดับตกแต่งต่างๆ และควรติดป้ายราคาให้ชัดเจน ส่วนร้านขายอาหารที่ทำตามออเดอร์ ควรมีรูปในแต่ละเมนูหรือสินค้าตัวอย่างวางโชว์ เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพได้ชัดเจน รวมถึงการตั้งชื่อร้านก็เป็นอีกสิ่งที่สร้างเอกลักษณ์ทำให้ลูกค้าจดจำได้ ตัวอย่างเช่น

  • เน้นจัดเต็ม อะไรที่ว่าดี อะไรที่ว่าเด็ด ต้องโชว์ให้เต็มที่ อย่าให้ร้านดูโล่งๆเด็ดขาด
  • มีธีมที่เป็นเอกลักษณ์ เห็นแล้วสะดุดตา
  • โทนสีที่ใช้ สามารถเลือกได้โทนสีเดียว หรือหลายสีผสมกัน ให้ง่ายต่อการจดจำ
  • อุปกรณ์ประดับตกแต่งต้องมี เช่น ใช้หญ้าเทียมปูบนโต๊ะ ใช้ถาดไม้วางอาหารที่จะโชว์
  • แสงไฟโทนสีส้ม จะช่วยให้สินค้าดูสวยขึ้น 

6.การแต่งตัวพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดใครว่าไม่สำคัญ

นอกเหนือจากสินค้าดีมีคุณภาพนั้น เรื่องของภาพลักษณ์เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างการจดจำให้ลูกค้าได้ ควรคำนึงเสมอว่า เป็นแม่ค้าไม่จำเป็นต้องแต่งตัวให้ดูเหมือนแม่ค้า อยากแต่งตัวแบบไหน แต่งหน้า ทำผมอย่างไร ขอให้จัดเต็มที่ สไตล์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จะทำให้เกิดความประทับใจเมื่อแรกเห็น ทำให้อะไรๆก็ดูง่ายขึ้นไปหมด ใครๆต่างก็อยากจะเข้าหาคนที่ดูดีอยู่เสมอ สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ได้แปลว่าต้องแต่งตัวแฟชั่นจ๋า เน้นให้เข้ากับบุคลิก ดูสะอาดตา รวมถึงการเรียกลูกค้า การบริการที่ดี ความเอาใจใส่ และเทคนิคการขายต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นยอดขายได้

7.เงินทุนสำรอง เงินหมุนมีพอไหม

นอกจากเงินลงทุนในการซื้ออุปกรณ์ วัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนอื่นๆนั้น

ควรมีเงินทุนสำรองไว้สำหรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมรวมถึงการหมุนเงินซื้อของเพิ่มในแต่ละครั้ง

เนื่องจากในช่วงแรกของการขายไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร บางช่วงอาจจะขายดี บางช่วงอาจจะซบเซา จึงต้องมีเงินทุนสำรองมากพอสมควร ถ้าหากมีลูกจ้างก็ต้องมีเงินจ่ายค่าแรงให้ ถึงแม้ว่ายอดขายในช่วงนั้นไม่ค่อยดีก็ตาม  ยิ่งในช่วงหน้าฝน ตลาดนัดบางแห่งแทบจะไม่มีลูกค้า จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวตรงจุดนี้ ซึ่งทำให้การค้าขายไม่เกิดการสะดุดกะทันหัน 

8.บัญชีรายรับ รายจ่าย ขายของตลาดนัดก็สำคัญนะ

สิ่งที่สำคัญมาก นอกเหนือจากการขาย คือการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย ต้องคำนวณต้นทุนสินค้าให้ได้ หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเท่าไหร่ เพื่อที่จะสามารถวางแผนการขายได้

  • ไม่นำเงินส่วนตัวรวมกับเงินค้าขาย
  • จดต้นทุนสินค้า เพื่อสามารถเช็คราคาได้ว่ามีเจ้าไหนที่ให้ราคาถูกกว่านี้
  • ดูว่ามีค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็นหรือไม่
  • วัตถุดิบใดมีราคาสูงเกินไป สามารถหาวัตถุดิบที่มีการใช้งานเหมือนกัน แทนที่กันได้หรือไม่ เช่น กล่องใสสำหรับบรรจุอาหารทรงกลมมีราคาสูง ให้ลองเปลี่ยนเป็นกล่องสี่เหลี่ยมที่ราคาถูกกว่า
  • ควรหักค่าแรงออก เผื่อในอนาคตมีการขยับขยาย จะได้รู้ถึงค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้

9.แผนสำรอง ต้องมีนะ ไม่งั้นขายตลาดนัดอย่างเดียวอาจจะอกหักได้

การค้าขาย นอกจากการเตรียมตัววางแผนที่รัดกุมแล้ว ในบางครั้งไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น สิ่งที่คิดไว้ในตอนแรก อาจไม่เป็นไปตามคาด ควรมีการเตรียมพร้อม ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขาย ไม่ยึดติดกับสินค้าที่ขาย ควรให้เวลาสักพัก หากเล็งเห็นแล้วว่าไม่สามารถจำหน่ายต่อไปได้ อาจเปลี่ยนเป็นสินค้าชนิดอื่นแทน หรือหาตลาดใหม่ที่เหมาะกับสินค้าที่จำหน่ายอยู่

การขายของตลาดนัดไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ต้องอาศัยความอดทน มุ่งมั่น ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีการเตรียมความพร้อมที่ดี รวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ในช่วงเริ่มต้นอาจจะเหนื่อย ต้องเจอกับแรงกดดัน สภาพอากาศต่างๆ และทัศนคติภายในใจของตนเอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยหล่อหลอมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

หัวใจหลักของการค้าขายไม่ใช่แค่กำไรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นมูลค่าที่สร้างให้กับสินค้ารวมถึงตัวเองอีกด้วย

 บทความโดย

ผู้ผ่านรับการฝึกอบรม “ใช้เวลาว่างเขียนบทความสร้างรายได้”

คุณ  มาลินี เพ็ชรอุไรแม่บ้านครูสอนพิเศษวิชาวิทยาศาสตร์