ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่สาขาฮ่องกงที่จดทะเบียนจาก UniClo เป็น UniQlo ทำให้แบรนด์นี้กลายเป็นชื่อที่ ทาดาชิ ยานาอิ ชายวัย 69 ปี เจ้าของ บ.ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ที่ได้ชื่อว่ารวยที่สุดในญี่ปุ่น ไม่เพียงแต่จะไม่โกรธ กลับชอบใจเปลี่ยนทุกสาขาเป็นยูนิโคล่ ที่ใช้อักษรตัว “คิว”

เราไม่สามารถแยกยูนิโคล่ออกจากทาดาชิ ได้เลย ถ้าไม่ใช่เขาคนนี้ วันนี้อาจเป็นเพียงร้านเล็กๆ ในเมืองอูเบะ ยามากูชิ กับธุรกิจเสื้อผ้าสืบทอดจากรุ่นพ่อฮิโตชิที่สร้างไว้ตั้งแต่ปี 1963  อะไรทำให้ ทาดาชิ กล้าที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจสร้างอาณาจักรยูนิโคล่กว่า 1,900 สาขาใน 19 ประเทศทั่วโลก ขึ้นเป็นอันดับ 3 ธุรกิจฟาสต์แฟชั่นรีเทล ด้วยยอดขาย 17.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018

โอกาสและแรงบันดาลใจ สร้างธุรกิจ

เมื่อทาดาชิ เห็นตลาดเสื้อผ้าลำลองราคาถูกเป็นโอกาส ยังไม่มีใครเล่นตลาดนี้มากนัก ปี 1984 สาขาแรกยูนิโคล่จึงเปิดตัวด้วยชื่อ Unique Clothing Warehouse ที่ฮิโรชิมา แรงบันดาลใจจากการเดินทางไปท่องยุโรปและอเมริกา ทำให้ทาดาชิมีความใฝ่ฝันอยากขยายธุรกิจ เมื่อเห็นโอกาสจาก Benetton และ Gap ที่ดำเนินธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ออกแบบ ผลิตและค้าปลีก พร้อมขยายสาขาจนใหญ่โต

บทเรียนสอนใจครั้งยิ่งใหญ่

ปี 2001 ยูนิโคล่เปิดัวในย่านคิงส์บริดจ์ กรุงลอนดอน เป็นครั้งแรกในต่างประเทศ ด้วยความทะเยอทะยานต้องการขยายสาขาให้มากที่สุด กลายเป็นความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่  ทาดาชิ เปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นโอกาส เรียนรู้ที่จะต่อยอดไปสู่ความสำเร็จในอนาคต เมื่อรู้ว่าผิดพลาด ต้องกล้ารับผิด เปลี่ยนแปลงและท้าทายตัวเอง วันนี้ ทาดาชิ ไม่กลัวที่จะเปิดสาขาใหม่อย่างรวดเร็วอีกต่อไปแล้ว คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร

เปลี่ยนล้มเหลวเป็นพลัง ฉีกภาพลักษณ์เก่ายูนิโคล่

หลังความผิดพลาดที่อังกฤษ ทาดาชิ แก้มือโดยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เป็นสากล ดึงครีเอทีฟดีไซเนอร์ชั้นนำเข้าร่วมทีมปฎิวัติแบรนด์ สร้างดีเอ็นเอใหม่ให้กับยูนิโคล่ด้วยวัฒนธรรมเจป๊อบที่ร่วมสมัย  จ้างดีไซเนอร์ออกแบบร้านใหม่ ลบภาพโกดังเก็บผ้า ดึงนักออกแบบชื่อดังต่างชาติมาร่วมงานสร้างธีมคอลเล็กชั่นแบบลิมิตเต็ด จัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนา เพื่อรวบรวมข้อมูลเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ในแต่ละท้องถิ่นเพื่อกำหนดคอนเซ็ปต์แต่ละคอลเลคชั่น ไม่ว่าคุณจะเข้าร้านไหน ก็จะมีสินค้าหลักที่เหมือนกันหมด จนเป็นยูนิโคล่ภาพลักษณ์ใหม่ในทุกวันนี้

สิ่งที่เรียนรู้จากยูนิโคล่ ภายใต้เงาทาดาชิ

1.มองความผิดพลาดให้เป็นโอกาส

ขึ้นชื่อว่าผิดพลาด อาจไม่เลวร้ายเสมอไป ความผิดพลาดของการสะกดชื่อแบรนด์ผิด ความผิดพลาดจากการประมาทในตลาดใหม่อย่างยุโรป แลกกับบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ให้ยูนิโคล่ได้เตรียมความพร้อมจนมั่นใจก่อนการขยายสาขาในประเทศอื่น

2.หาช่องว่างให้เจอ แล้วจะรวย

ยูนิโคล่มองเห็นการขยายตัวของตลาดกลางถึงล่างในหลายประเทศ และสบช่องว่างขนาดใหญ่ จากความต้องการของผู้คนจำนวนมาก ที่ต้องการเสื้อผ้าลำลองคุณภาพดี ในราคาประหยัด กับอีกช่องว่างที่น่าอัศจรรย์ ยูนิโคล่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมชายหนุ่มที่ไม่นิยมช็อปปิ้ง ให้กล้าถือตะกร้าหยิบเสื้อผ้าช้อบปิ้งในร้านและจ่ายหนักกว่าผู้หญิงเสียอีก

3.ฟังเสียงลูกค้า ต่อยอดวิจัยพัฒนา

เมื่อเข้าใจความต้องการผู้บริโภค สินค้าจึงถูกพัฒนาให้ตอบโจทย์อย่างแม่นยำ AIRism เสื้อผ้าระบายความร้อนได้ดีสำหรับคนเมืองร้อน เสื้อผ้าอบอุ่นแต่บางเบาอย่าง Heattech สำหรับคนเมืองหนาว ผ่านการวิจัยทั้งเทคโนโลยีเสื้อผ้าควบคู่กับพฤติกรรมผู้บริโภค ยูนิโคล่เปิดรับคำติชมของลูกค้ากว่า 150,000 คอมเม้นท์ต่อปีมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด สมแล้วกับสโลแกนยูนิโคล่ “Make for all”

3.ปิดจุดวิกฤต ในธุรกิจที่ทำ

จุดวิกฤตของยูนิโคล่ คือ การควบคุมให้สินค้าคุณภาพดีด้วยต้นทุนที่ต่ำ การผลิตและจัดหาวัตถุดิบเป็นเรื่องท้าทาย ลบล้างแนวความคิดของดีราคาถูกไม่มีในโลก เมื่อสั่งปริมาณมากๆ ตัดเย็บด้วยแรงงานราคาต่ำ ควบคุมคุณภาพด้วยทีมงานส่วนกลาง ของดีราคาถูกย่อมเป็นไปได้ ความท้าทายใหม่เมื่อแรงงานจีนเริ่มไม่ถูก จุดวิกฤตกำลังถูกเปิด ยูนิโคล่จะแก้เกมอย่างไร ต้องติดตามดูต่อไป

4.อย่ากลัวที่จะล้มเหลว ไม่มีคำว่าสายที่จะลุกใหม่

เพราะความกลัวนี้ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อใดที่ล้มเหลว ให้เรียนรู้จากมัน แล้วทำให้ดียิ่งขึ้น ทาดาชิ เคยประกาศลาออกจากตำแหน่งประธาน เพราะเจ็บหนักเมื่อครั้งขยายสาขาเร็วเกินตัวด้วยเป้า 50 สาขา แทนที่จะล้มเลิก กลับหาทางที่จะเอาชนะ ด้วยการวางแผนใหม่ จนวันนี้ ยูนิโคล่ 10 สาขาที่ลอนดอน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับบริษัท

5.เปลี่ยนคู่แข่งให้เป็นบทเรียน

เรามัวแต่คิดเอาชนะคู่แข่ง จนลืมที่จะศึกษาในอีกมุม อะไรที่คู่แข่ง ทำแล้วสำเร็จหรือล้มเหลว เราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่คู่แข่งทำ แล้วสามารถปรับใช้หรือทำได้ดีกว่าเขาหรือไม่  แม้กระทั่งจับตาคู่แข่งที่กำลังมาแรงก้าวแซงหน้า เขาทำอะไรอยู่ ทำไมเขาทำได้ดี อีกเคล็ดลับที่ยูนิโคล่ทำ

6.อย่านั่งสั่งการบนหอคอยงาช้าง

มันเป็นการดีที่จะยอมให้มือเปื้อนคราบสกปรกดีกว่านั่งสั่งการอยู่แต่ในออฟฟิศ อย่างนั้นจึงถือว่าเป็นผู้จัดการที่ดี บทเรียนที่ ทาดาชิ สอนผู้ประกอบการอย่างเรา รวมถึงผู้จัดการของเขา ให้หมั่นลงพื้นที่ ใส่ใจหน้าร้าน ดูปัญหา อะไรทำให้ลูกค้าติดขัด ให้รีบแก้ไข เพราะหัวใจธุรกิจอยู่ที่ลูกค้า ไม่ใช่กองกระดาษบนโต๊ะทำงาน

7.ดูแลคู่ค้าเสมือนเพื่อน

ไม่เอาเปรียบคู่ค้า สร้างความสัมพันธ์ระยะยาวแบบ win-win ยูนิโคล่มองโรงงานเป็นเหมือนพาร์ตเนอร์ เมื่อสั่งผลิตสินค้าแล้ว ต้องไม่ให้เป็นภาระกับผู้ผลิต ไม่มีการส่งคืนสินค้า ยูนิโคล่ยินดีแบกรับไว้เอง พร้อมทำโปรโมชั่นปรับราคาล้างสต็อคให้หมดไม่มีเหลือ

ผิดเป็นครู การทำธุรกิจ ถ้าไม่ลงสนามจริง ย่อมไม่มีทางรู้ได้ลึกซึ้ง การศึกษาจากกรณีศึกษาช่วยลดความเสี่ยง แต่ไม่ใช่เกราะป้องกันความผิดพลาด ในเมื่อเรารู้ว่าเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดผิดพลาด จงใช้ความผิดพลาดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เซอร์ เจมส์ ไดสัน ใช้เวลา 5 ปี ล้มเหลว 5,127 ครั้งกับผลิตภัณฑ์สุญญากาศที่เขาคิดค้นภายใต้แบรนด์ ไดสัน  นักขายประกันชั้นยอด ไม่เคยท้อเมื่อถูกปฎิเสธนับ 100 ครั้ง

ทาดาชิ กับปรัชญาล้ม 9 ครั้งสำเร็จ 1 ครั้ง แล้วตัวคุณล่ะ จะยอมให้ความผิดพลาด 1 ครั้ง ทำลายชีวิต ความฝันและอนาคตที่วาดไว้เลยรึเปล่า

บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนบทความสร้างรายได้ รุ่น 2”

คุณ สุวัฒน์ โปษยะวัฒนากุล (คุณวัฒน์)

เภสัชกร นักวิเคราะห์ข้อมูล วิทยาศาสตร์การตลาดและการขาย

พนักงานบริษัทเอกชน

บทความเกี่ยวกับธุรกิจเสื้อผ้า