เป็นคำถามยอดฮิตจริงๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่มีแนวความคิดเปลี่ยนไปจากคนรุ่นอดีตอย่างมาก เพราะเรียนจบมาแล้ว ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยอยากใช้ชีวิตแบบพนักงานประจำ แต่มองข้ามช็อตไปถึงความสำเร็จอันหอมหวาน ที่ได้มาจากการประกอบธุรกิจส่วนตัว
อันที่จริงความคิดแบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะการทำธุรกิจส่วนตัวมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แต่ก็อีกนั่นแหละ บางทีคำ (แอบ) ขู่ต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นแค่วลีกั้นหนทางเติบโต เอาเป็นว่า ผู้เขียนเองค่อนข้างสนับสนุนให้คนหันมาทำธุรกิจส่วนตัวกัน
แต่ก่อนที่จะก้าวไปทำกันจริงๆ จังๆ ต้องถามตัวเองให้แน่ๆ ก่อนว่า เราแน่นมากพอที่จะลุยในเส้นทางนี้ไหม รวมไปถึงได้มีการสะสมประสบการณ์และความรู้ในด้านต่างๆ ให้มากเพียงพอหรือเปล่า เพราะการจะเป็นเจ้าของธุรกิจนั้น ต้องมีความรู้ทั้งในเชิงลึกและกว้าง แถมยังต้องมีจิตใจแกร่งดั่งหินผา พร้อมเผชิญกับสารพัดความเสี่ยงที่ดาหน้าเข้ามาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
แต่เอาล่ะ! ถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความฝันอยากจะมีธุรกิจส่วนตัวกับเขาบ้าง ลองมาสำรวจกันก่อนไหมว่า คุณมีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วนหรือไม่ ถ้าอ่านแล้ว เห็นว่าตัวเองไม่ขาดตกบกพร่องอะไร ก็ลุยไปข้างหน้า แล้วเริ่มต้นสร้างธุรกิจที่คุณรักกันได้เลย!
1. รักสิ่งไหน ให้ทำสิ่งนั้น
เป็นองค์ประกอบที่เบสิคเหลือเกินสำหรับการเริ่มต้นทำธุรกิจ เพราะถ้าคุณต้องฝืนทำในสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบ คุณจะอยู่กับมันได้สักกี่น้ำกัน ทว่า ปัจจุบันมีผู้คนจำนวนไม่น้อย มองข้ามเรื่องสำคัญนี้ไปดื้อๆ ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เช่น ทำเพราะเห็นว่าได้เงินง่าย กำไรดี ทำเพราะรู้สึกว่าเท่ ทำเพราะความต้องการของครอบครัว ฯลฯ
ซึ่งแน่นอนว่าถ้าคุณต้องคลุกคลีและอุทิศชีวิตให้กับสิ่งที่คุณไม่ได้หลงใหลได้ปลื้ม คุณจะมีความสุขกับมันได้อย่างไร
การทำธุรกิจ หากเริ่มต้นด้วยความรัก ต่อให้เหนื่อยให้หนัก คุณก็รับไหว เพราะคุณรักและถนัด อะไรที่เคยว่ายาก เมื่อคุณเทใจให้กับมันเต็มที่ สุดท้ายก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย เขาถึงได้มีคำแนะนำกันว่า
หากคุณจะเริ่มต้นหยิบจับสิ่งไหน ให้สะสมช้างให้ได้ 5 เชือกก่อน นั่นคือ ชื่นชอบ ช่ำชอง ชำนาญ เชี่ยวชาญ และโชกโชน ทีนี้ก็อยู่ที่คุณนั่นแหละ ที่ต้องค้นหาสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ ออกมาทำให้เป็นเงินเป็นทอง รับรองว่าคุณจะได้ทั้งเงินทั้งความสุขเลยเชียวล่ะ
2. ค้นหาลูกค้าเป้าหมาย
เมื่อโฟกัสได้แล้วว่าตัวเองจะทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร ทีนี้ก็ต้องมาค้นหาให้ได้อีกว่าสินค้าหรือบริการของคุณนั้นน่ะ จะถูกขายให้ใคร อย่าบอกเชียวนะว่าสินค้าหรือบริการของคุณเหมาะกับทุกๆ คนบนโลกใบนี้ ถ้ามีความคิดแบบนี้มาเมื่อไหร่ล่ะก็ หนทางในการทำตลาดของคุณเป็นได้ตีบตันตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นแน่เชียวล่ะค่ะ
เหตุผลที่เราต้องโฟกัสลูกค้าเป้าหมาย ก็เพื่อทำให้เรากำหนดทิศทางในการทำตลาดได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ เมื่อเรารู้ว่าธุรกิจของเราเหมาะกับใคร อายุเท่าไหร่ เพศไหน ทำงานอะไร สถานภาพเป็นอย่างไร รายได้ประมาณเท่าไหร่ เขากระจุกตัวอยู่ที่ไหนกัน หรือเขามีความต้องการพิเศษแบบใด ฯลฯ เราก็จะสามารถดีไซน์ธุรกิจได้อย่างชัดเจน และโดนใจพวกเขาได้มากที่สุด
ดังนั้นคุณต้องพยายามค้นหาและรู้ทุกสิ่งเกี่ยวกับตัวพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลองสังเกตดูก็ได้ค่ะ ทำไมร้าน MK สุกี้หมื่นล้าน ถึงต้องมีทั้ง MK Restaurant, MK Gold และ MK Trendy ทั้งที่แบรนด์นี้ก็เป็นผู้นำตลาดอย่างไม่มีใครเทียบติดอยู่แล้ว นั่นก็เป็นเพราะว่า เขาต้องการกวาดลูกค้าให้ได้ทุกกลุ่ม ทุกวัย และการที่แบรนด์มีบุคลิกเพียงแนวเดียว ไม่สามารถเข้าไปนั่งในใจได้เท่ากับการดีไซน์ให้ถูกจริตของกลุ่มเป้าหมายได้ละเอียดทุกเม็ดเช่นนี้
คุณเองก็เช่นเดียวกัน เมื่อรู้แล้วว่าคนที่จะซื้อสินค้าหรือบริการของเราเป็นใครแน่ๆ ทุกอย่างจะตามมาอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นทำเลที่ตั้ง การตกแต่งร้าน การออกแบบแพคเกจจิ้ง การตั้งราคา การใช้ภาษาในการสื่อสาร การเลือกช่องทางการจัดจำหน่าย ฯลฯ และถ้าคุณเจาะไปถึงกลางใจลูกค้าเป้าหมายได้อย่างจั๋งหนับ โอกาสที่แบรนด์จะเกิดก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย
3. ระดมเงินลงทุน
แม้จะเป็นนักธุรกิจหน้าไฟแรงเฟร่อ แต่อย่ามาตกม้าตายเพราะมองข้ามเรื่องเงินๆ ทองๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการผลักดันธุรกิจ เพราะการสร้างธุรกิจที่คุณรักให้ไปได้ไกลอย่างที่ฝัน ไม่ใช่เพียงแค่มีเงินลงทุนเพื่อก่อร่างสร้างธุรกิจให้เป็นรูปเป็นร่างเท่านั้น แต่คุณยังต้องมีเงินทุนอีกส่วนหนึ่งสำหรับสร้างแรงหมุนเวียนในธุรกิจให้เดินต่อไปข้างหน้าได้อีกด้วย (ภาษาชาวบ้านเรียกว่าสายป่านนั่นแหละ)
และต้องน่าเศร้าใจนัก หากไอเดียดีๆ ต้องมามอดไหม้ดับไปเพราะคำว่า “ขาดเงินลงทุน” ดังนั้น หน้าที่ของคุณคือต้องมองหาแหล่งเงินทุนที่มีความแข็งแรงมากพอในการสนับสนุนคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนจากครอบครัว เงินอุดหนุนหรือเงินกู้จากภาครัฐ สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงนักลงทุนทั้งลักษณะที่เป็นรายบุคคลและองค์กร ซึ่งมีความพร้อมที่จะร่วมมือหรือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจของคุณ หากไอเดียมันมีความเจ๋งมากพอที่จะทำให้เขาสนใจได้
4. เฟ้นหาทีมงาน
จริงอยู่การเป็นเจ้าของธุรกิจจำเป็นจะต้องมีความรู้ในทุกๆ หน้าที่ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องทำเองในทุกภาระหน้าที่ (คุณจำโฆษณาชิ้นหนึ่งของกาแฟแบล็คอัพได้ไหม เนื้อหาว่าด้วยการที่เจ้าของธุรกิจคนหนึ่งต้องทำหน้าที่เองในทุกๆ ตำแหน่ง
ตั้งแต่ รปภ. แม่บ้าน เลขานุการ ไปจนถึงผู้บริหาร เป็นโฆษณาที่มีเนื้อหาสนุกสนานและเน้นย้ำถึงความเป็นแบรนด์ที่สนับสนุนคนขยัน แต่ดูแล้วมันเจ็บจี๊ดจริงๆ สำหรับคนที่ต้องทำอะไรทุกอย่างด้วยตัวเองคนเดียว)
ดังนั้น คุณลองตั้งทีมงานที่จำเป็นขึ้นมาสำหรับการแบ่งหน้าที่กันทำตามความจำเป็น อาจจะเป็นหุ้นส่วน หรือการจ้างงานในลักษณะประจำหรือฟรีแลนซ์ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แต่ถ้าขืนคุณยังคิดว่าข้าแน่ ข้าเจ๋ง ทำได้เองทุกอย่างล่ะก็ ไม่นานคุณจะรู้สึกว่าธุรกิจที่รักของคุณกลายเป็นฝันร้ายที่ลืมไม่ลงกันเลยทีเดียว
5. สร้างคอนเนคชั่น
การทำธุรกิจแบบหัวเดียวกระเทียมลีบ ไม่ต่างอะไรจากการยืนอย่างโดดเดี่ยวบนเส้นด้ายบางๆ ท่ามกลางลมมรสุม หากคุณพลาดพลั้งไปเมื่อไหร่ จะเอามือจากไหนมาฉุดกระชากลากเอาไว้ไม่ให้ตกที่สูงตายไปเสียก่อน ฉะนั้น อย่ามั่นใจในตัวเองนักเลย ลองมองหาสายสัมพันธ์ทางธุรกิจเอาไว้บ้าง
เพราะอันที่จริงแล้ว “คอนเนคชั่น” ถือว่าเป็นตัวแปรที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันธุรกิจไม่น้อยเลยนะครับ ยิ่งมีคอนเนคชั่นดีๆ มากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งลดความเสี่ยง และมีทางออกในการแก้ปัญหาต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น บางทียังช่วยได้ถึงอำนาจต่อรองทางธุรกิจและความแข็งแกร่งที่มากกว่าคู่แข่งขันเลยทีเดียวค่ะ
ดังนั้น คุณต้องมีเวลาที่จะออกไปทำความรู้จักหรือไปทำกิจกรรมต่างๆ กับคนนอกองค์กรบ้าง บางทีคอนเนคชั่นดีๆ ของคุณอาจจะเป็นเพื่อนเก่าที่เล่นหัวด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก หรือมาจากสายสัมพันธ์ของบุคคลที่คุณได้ทำการติดต่อประสานงานด้วยบ่อยๆ ซึ่งไม่ว่ามิตรไมตรีเหล่านั้นจะเริ่มต้นจากจุดไหน ขอให้คุณรู้รักษาเอาไว้ให้เป็นยอดก็แล้วกันค่ะ
อันที่จริงปัจจัยสำคัญก่อนการเริ่มต้นทำธุรกิจนั้นมีให้เรียนรู้อีกมากมาย ซึ่งจะเป็นการดีที่สุดหากคุณไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองแล้วเรียนรู้สิ่งดีๆ ไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญคือคุณต้องมีความตั้งใจและเอาจริงเอาจังกับมัน รวมไปถึงพยายามวางแผนการทำงานในทุกมิติอย่างรอบคอบ คุณอาจมีตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จไว้เป็นแรงบันดาลใจ
แต่คุณต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่า จะไม่มองแค่เพียงปลายทางว่าเขาทำได้ หากแต่ต้องดูไปถึงต้นทาง ระหว่างทาง ว่าเขามีความเป็นมาเป็นไปอย่างไรกว่าจะไปถึงเส้นชัยอย่างที่เห็น เพื่อไม่ให้คุณกลายเป็นเพียงแมลงเม่าตัวหนึ่ง ที่หลงละเมอเพ้อพกไปกับการสร้างธุรกิจในฝัน โดยไม่มีการเตรียมความพร้อมใดๆ ไว้เลย
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME