90.0
Score

เชสเตอร์กริลล์ Fast food แบรนด์ไทยแท้ 100% จุดเริ่มต้นจากไก่ย่าง สู่แฟรนไชส์กว่า 200 สาขาทั่วประเทศ มีรายได้ต่อปีกว่า 1,000 ล้านบาท

เมื่อพูดถึงไก่ย่างเราคงจะนึกถึง ข้าวเหนียวส้มตำ ไก่ย่าง  ที่ปูเสื่อนั่งทานกันแบบสบายๆ  แต่วันนี้เราจะมาเปิดครัวเชสเตอร์ฟาสฟู้ดสัญชาติไทยจากเครือเจริญโภคภัณฑ์   “เชสเตอร์” ไก่ย่างสัญชาติไทยที่เปิดขายกันแบบเคาท์เตอร์เซอร์วิส (รับออเดอร์ที่เคาท์เตอร์จ่ายตังค์ที่เคาท์เตอร์) มีคุณภาพและรสชาติที่เป็นมาตรฐาน นั่งทานในห้องแอร์เย็นฉ่ำ   ซึ่งดูค่อนข้างแหวกแนววิถีการทานไก่ย่างของไทยไปสักหน่อย

เปิดครัวเชสเตอร์กริลล์

จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลากว่าสามสิบปีแล้วที่เชสเตอร์ได้รังสรรค์อาหารเมนูคุณภาพที่หลากหลายและมีความอร่อยถูกปากคนไทยออกสู่ผู้บริโภค สมกับสโลแกน “ความอร่อยสั่งได้ที่เชสเตอร์”

เชสเตอร์เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2531  ในนาม บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด เป็นบริษัทฯในเครือเจริญโภคภัณฑ์  จากวิสัยทัศน์ของ เจ้าสัวธนินท์  เจียรวนนท์  ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบสำหรับทำอาหารส่งออกไปทั่วโลกอยู่แล้ว และมองเห็นโอกาสของธุรกิจอาหารที่สามารถเติบไตได้ในตลาดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  และแนวความคิดที่จะสร้างแบรนด์อาหารไทยให้ได้คุณภาพระดับโลก  แรกเริ่มเดิมทีได้ใช้ชื่อร้านว่า “เชสเตอร์ กริลล์ ชิคเก้น”  โดยแจ้งเกิดที่ศูนย์การค้ามาบุญครองเป็นสาขาแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2534  ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เชสเตอร์ กริลล์”  และเปลี่ยนเป็น “เชสเตอร์”   ในปี พ.ศ. 2556  เพื่อสรรสร้างอาหารด้วยรสชาติถูกปากคนไทยและเมนูที่หลากหลายยิ่งขึ้นไม่ได้จำเพาะเจาะจงเฉพาะไก่เพียงอย่างเดียว

กลยุทธ์ “เชสเตอร์กริลล์” จากไก่ย่างสู่แฟรนไชส์พันล้าน

  1. ฝังตัวอยู่ในห้างสรรพสินค้า เราจะสังเกตได้ว่าเชสเตอร์ส่วนใหญ่จะอยู่ในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ  ทั้งนี้เนื่องจากตามห้างฯ ต่างๆ มีผู้คนเดินกันอยู่ตลอดอีกทั้งทางห้างฯ ก็ยังมีการโปรโมทอยู่ไม่ขาดเพื่อให้มีลูกค้ามาเดินเยอะๆ  ดังนั้นข้อดีของการเปิดร้านในห้างก็คือไม่ต้องลงทุนก่อสร้างเยอะอีกทั้งยังการันตีได้ว่ายังไงก็ต้องมีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างแน่นอน
  2. สร้างอาหารจานด่วนที่เป็นอาหารจานหลัก เชสเตอร์ไม่ใช่อาหารแฟชั่น เหมือนแบรนด์ Fast food ส่วนใหญ่  แต่เป็นอาหารหลัก  มีหลากหลายเมนู  หลากหลายรสชาติ  ที่ถูกปากคนไทยและเหมาะสมกับวิถีไทย
  3. ใช้การบริการแบบ Counter Service ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมระหว่างลูกค้ากับพนักงาน  สามารถเลือกอาหารจากเมนูบอร์ด  และมองเห็นอาหารที่อยู่ด้านหลัง Counter ทำให้สามารถเรียกน้ำย่อยได้เป็นอย่างดี
  4. เพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบที่มีอยู่ เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า “เชสเตอร์” อยู่ในเครือของ P. ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารคุณภาพอยู่แล้ว  การสร้างแบรนด์เชสเตอร์ขึ้นมาจึงถือเป็นการต่อยอดทางธุรกิจจากสิ่งที่มีอยู่ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
  5. สะอาดปลอดภัยได้มาตรฐาน เนื่องจากเชสเตอร์อยู่ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ทำธุรกิจอาหารระดับโลกจึงสามารถการันตีได้ว่าวัตถุดิบต้องได้คุณภาพ  และนำมาผ่านกระบวนการปรุงรสที่ได้มาตรฐานสะอาดปลอดภัยก่อนจะเสิร์ฟความอร่อยให้กับลูกค้า
  6. ทำให้ทันสมัย  นำอาหารธรรมดาพื้นๆ ที่คนไทยเราทานกันเป็นประจำอยู่แล้วมาทำให้ทันสมัยแปลกใหม่ ซึ่งก็สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม
  7. แฟรนไชส์คือทางลัดของ SME หลักๆ ของการลงทุนคือต้องคืนทุนเร็ว  การทำแฟรนไชส์จึงถือเป็นทางลัดของ SME เพราะ เป็นการลงทุนที่มีพี่เลี้ยงคอยดูแลไม่ต้องมาเสียเวลาลองผิดลองถูก

ต้องยอมรับว่า “เชสเตอร์” เป็น Fast Food แบรนด์ไทยที่มีการควบคุมคุณภาพจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาและอุปสรรค์ใดๆ   แต่จากแผนการตลาดที่เน้นการขยายตัวในระบบแฟรนไชส์เป็นหลัก   จึงทำให้เชสเตอร์พบกับปัญหาเกี่ยวกับแฟรนไชส์   โดยการถ่ายทอดความรู้นั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าของแฟรนไชส์ส่วนการนำไปปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องของผู้ซื้อแฟนไชส์   ซึ่งความสามารถในการรับรู้และนำไปปฏิบัตินั้นไม่เท่ากัน  อีกทั้งความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์ที่แตกต่างกันด้วย   จึงทำให้เชสเตอร์เติบโตในตลาด Fast Food ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

สิ่งที่ SME ควรนำบทเรียนจากกรณีศึกษาเชสเตอร์กริลล์ มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ

  1. สร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ เชื่อว่าก่อนที่จะนำสินค้าออกสู่ตลาดแบรนด์แต่ละแบรนด์ต้องมีจุดขายที่มีความน่าเชื่อถือแตกต่างกันไปพยายามมองหาและดึงออกมาสู่สายตาผู้บริโภคให้ได้ค่ะ  อย่างเชสเตอร์เขามีความน่าเชื่อถือเพราะอยู่ในเครือเจริญโภคภัณฑ์  ซึ่งทำธุรกิจอาหารชั้นนำระดับโลกอยู่แล้วจึงถือเป็นข้อได้เปรียบในการสร้างแบรนด์ Fast food  ให้ได้รับการยอมรับง่ายในกลุ่มผู้บริโภค
  2. สามารถตอบโจทย์ให้กับลูกค้า ถึงแม้สินค้าจะมีคุณภาพมากแค่ไหนถ้าไม่สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้  สะกดคำว่า จบ รอเลยค่ะ  แรกเริ่มเดิมที เชสเตอร์มีเฉพาะเมนูไก่ย่าง  แต่เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลาย  จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อร้านถึง 3 ครั้ง  พร้อมกับปรับเมนูให้หลากหลายสามารถทานได้ทุกเพศทุกวัย ที่สำคัญรสชาติถูกปากคนไทยด้วยค่ะ
  3. การเลือก Location การเลือกสถานที่ตั้ง หรือ Location ถือเป็นหัวใจสำคัญของร้านค้าปลีก ถึงจะมีสินค้าดีมีคุณภาพตอบโจทย์ลูกค้าได้  แต่ถ้าเลือก Location ผิดชีวิตเปลี่ยนกันเลยทีเดียวค่ะ อย่างเชสเตอร์ส่วนใหญ่เขาจะเลือกสถานที่ตั้งเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียงเพราะห้างเหล่านี้มีลูกค้าประจำและมีกำลังซื้ออยู่แล้ว  แถมทางห้างฯ ยังมีการโปรโมทอยู่ตลอดเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาจับจ่าย  ทำให้ทางแบรนด์ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดึงดูดลูกค้ามากนัก
  4. มีทางเลือกให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการถ้าเราสามารถสร้างทางเลือกให้ลูกค้าได้มากกว่าหนึ่งทางถือว่าเป็นเรื่องดีค่ะ อย่างเชสเตอร์เขามีการปรับเพิ่มเมนูต่างๆ  อยู่ตลอด  เพื่อให้ลูกค้ามีเมนูหลากหลายให้เลือกสรร

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.painaidii.com/business/146425/chester-s-grill-chester-s-coffee-10400/lang/th/

บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนสร้างรายได้ออนไลน์ รุ่น 3”

คุณ กัญญาภัค  พุฒพวง
แม่บ้าน