การเลือกโฮสติ้งที่ดีก็เปรียบเสมือนคุณได้มหามิตรให้มาช่วยดูแลเว็บไซต์ของคุณให้ทำงานได้อย่างราบรื่น ก็คงจะตรงกับคำพูดที่ว่า “เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” จงอย่าละเลยการพิจารณาอย่างละเอียดและถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจเสมอ เพราะโฮสติ้งก็เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบของความสำเร็จที่ไม่ควรมองข้าม

หากคุณคิดจะสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาใช้งานในเชิงธุรกิจแล้ว ขั้นตอนแรก ๆ ที่คุณต้องพิถีพิถันในการเลือกก็คือการหาโฮสติ้งสำหรับให้เว็บไซต์ของคุณออนไลน์ในระบบอินเทอร์เน็ต นั่นก็เพราะโฮสติ้งดี ๆ ก็คือรากฐานที่สำคัญที่จะชี้ชะตาว่าเว็บไซต์ของคุณจะออนไลน์ได้อย่างราบรื่นหรือไม่และการทำงานของเว็บไซต์ที่คุณลงทุนทำมาทั้งหมดจะทำงานได้อย่างไร้ปัญหาหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการโฮสติ้งที่คุณเลือกใช้บริการนั่นเอง ยิ่งในปัจจุบันมีผู้ให้บริการเช่าโฮสติ้งมากมายหลายบริษัท หากคุณไม่พิถีพิถันในการเลือกใช้บริการสักนิด คุณก็มีโอกาสได้ผู้ให้บริการโฮสติ้งที่ไม่ถูกใจหรือไม่ตอบโจทย์การใช้งานของคุณ หรือหากเคราะห์ร้ายกว่านั้นก็อาจทำให้เว็บไซต์ของคุณล่มบ่อยจนเกิดความเสียหายตามมา หากเป็นเช่นนั้นจริงเว็บไซต์ที่คุณลงทุนและลงแรงทำมาเพื่อหวังให้เป็นหน้าเป็นตาของธุรกิจก็เท่ากับเสียแรงเปล่าไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย การเลือกโฮสติ้งที่เหมาะสมและตอบโจทย์การใช้งานมีหลักอย่างไรบ้าง วันนี้เรามาทำความเข้าใจกันครับ

โฮสติ้งคืออะไร ทำไมจึงต้องพิถีพิถันในการเลือก

โฮสติ้ง คือพื้นที่สำหรับรับฝากเว็บไซต์บนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ออนไลน์บนระบบอินเทอร์เน็ตสำหรับเก็บไฟล์เว็บไซต์ ฐานข้อมูลและอีเมล์ เพื่อให้เว็บไซต์ที่สร้างขึ้นสามารถออนไลน์บนอินเทอร์เน็ตได้และสามารถใช้งานรับส่งอีเมล์ได้ ปัจจุบันมีบริษัทจำนวนหนึ่งทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ให้บริการรับเช่าพื้นที่โฮสติ้งไว้คอยให้บริการแก่ผู้ต้องการทำเว็บไซต์ของตนเอง

สาเหตุที่ต้องเลือกพิจารณาผู้ให้บริการอย่างรอบคอบก็เนื่องจากโฮสติ้งเป็นเสมือนรากฐานการออนไลน์ของเว็บไซต์คุณในระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งถ้าเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการรายใดไม่เสถียรหรือล่มบ่อย ๆ ก็จะส่งผลต่อเว็บไซต์ของคุณโดยตรงครับ

โฮสติ้งมีกี่ประเภท อะไรบ้าง ?

โฮสติ้งในปัจจุบันแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆตามการใช้งานดังนี้

1.Shared hosting

คือโฮสติ้งที่เหมาะกับเว็บไซต์ทั่ว ๆไปที่มีการใช้งานไม่มากนัก เพราะโฮสต์ประเภทนี้จะมีการซอยแบ่งพื้นที่ในเซิร์ฟเวอร์ออกเป็นส่วน ๆให้ผู้ใช้บริการเช่า ดังนั้นในเซิร์ฟเวอร์หนึ่ง ๆจะมีผู้เช่าพื้นที่หลายรายและมีจำนวนเว็บไซต์มากมาย ทรัพยากรภายในเครื่องจึงถูกแชร์ร่วมกับผู้อื่น ข้อดีของโฮสติ้งประเภทนี้คือราคาไม่แพง

 2.  Virtual Private Server Hosting หรือ VPS hosting

คือโฮสติ้งที่ให้บริการเสมือนผู้ใช้บริการมีเซิร์ฟเวอร์เป็นของตนเอง โฮศติ้งแบบนี้เหมาะกับผู้ใช้บริการที่ต้องการเพิ่ม โปรแกรมหรือapplication เพื่อใช้งานในเว็บไซต์ของตนเอง ซึ่ง shared hosting ไม่อนุญาตให้ลง application เหล่านั้น นอกจากนี้ยังเหมาะสมกับเว็บไซต์ที่มีปริมาณผู้เข้ามาเยี่ยมชมสูงเพราะ bandwidth และ data transfer จะถูกแบ่งแยกการใช้งานอย่างชัดเจน ไม่ต้องแชร์กันเหมือน shared hosting

3. Dedicated server hosting

คือบริการเซิร์ฟเวอร์สำหรับให้คุณใช้งานแต่เพียงผู้เดียว โดยส่วนมากมักจะเหมาะกับองคฺกรขนาดกลางขึ้นไปที่ต้องการความเสถียรและความปลอดภัยเพราะเซิร์ฟเวอร์ทั้งเครื่องมีเว็บไซต์ที่ใช้งานเพียงเว็บเดียวเท่านั้น

4. Reseller hosting

คือบริการสำหรับให้ผู้ให้บริการจัดทำเว็บไซต์เพื่อพัฒนาเว็บไซต์สำเร็จรูปไปขายต่อให้แก่ผู้ต้องการใช้งาน และยังรวมถึงผู้ที่มีเว็บไซต์หลายเว็บที่ต้องดูแล

5. WordPress Hosting

คือ โฮสติ้งที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้งานของเว็บไซต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยโปรแกรม WordPress โดยเฉพาะเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาจมีทั้งในรูปแบบของ shared หรือ VPS Hosting ได้

Web hosting wordpress ที่ไหนดี ? | แนะนำ A2Hosting โฮสติ้งคุณภาพสูง แรงเร็ว ราคาประหยัด การันตีรับประกัน 30 วัน

หลักเกณฑ์ในการเลือกโฮสติ้งให้ตรงกับการใช้งาน และไม่มีปัญหาในระหว่างการทำงานต้องดูอะไรบ้าง

1. ต้องดูว่าเว็บไซต์ของเรามีการใช้งานแบบใดและเหมาะกับโฮสติ้งประเภทไหน

        เนื่องจากโฮสติ้งมีด้วยกันหลายรูปแบบ และเหมาะกับการใช้งานที่ต่างกันคุณจึงต้องทราบก่อนว่าเว็บไซต์ของคุณมีการทำงานในรูปแบบใด เช่นหากคุณเป็นเพียงเว็บไซต์เล็ก ๆที่มีจำนวนข้อมูลไม่มากหรือเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งที่ยังไม่ต้องการลงทุนในโฮสติ้ง และยังไม่มีผู้เข้าเยี่ยมชมมากนัก Shared Hosting ก็เพียงพอต่อการใช้งานของคุณ หรือหากคุณเป็นเว็บไซต์ที่มีปริมาณผู้เข้าเยี่ยมชมสูง และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต หรือมีการใช้โปรแกรมหรือ application เพื่อรันในเว็บไซต์คุณอาจจำเป็นต้องใช้งาน VPS Hosting เพื่อตอบสนองการใช้งาน

2. ต้องดูพื้นที่ที่คุณจะใช้รวมถึงอาจจะต้องใช้ในอนาคต

จำนวนพื้นที่ใช้งานในเซิร์ฟเวอร์หรือที่เรียกว่า disk space คือพื้นที่ที่ถูกจัดสรรเพื่อให้คุณได้ใช้งานร่วมกับผู้อื่น เมื่อเลือกประเภทของโฮสต์ที่เหมาะกับการใช้งานแล้ว คุณจำเป็นต้องเลือกพื้นที่ disk space เพื่อให้เว็บไซต์ของคุณมีพื้นที่ใช้งานในเซิร์ฟเวอร์นั้น หากคุณไม่แน่ใจว่าควรใช้พื้นที่เท่าไหร่ ก็ให้ดูขนาดเว็บไซต์ที่คุณสร้างเสร็จว่าใช้พื้นที่เท่าไหร่ นั่นคือพื้นที่อย่างน้อยที่สุดที่คุณต้องใช้

3. ต้องดู Data Transfer และ bandwidth ที่ได้รับและ Traffic ที่เข้าสู่เว็บไซต์

Data transfer คือการรับส่งข้อมูล ซึ่งหลาย ๆโฮสต์มักจะชูคำว่า Unlimited เป็นจุดขาย แต่Data Transfer ยังสัมพันธ์กับตัว Bandwidth และ Traffic อีกด้วยโดยคำว่า Traffic ก็คือการจราจรของข้อมูลหรือก็คือปริมาณของผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณ หากผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณเข้ามาในช่วงเวลาที่ต่างกันก็คงไม่มีปัญหาใด ๆ แต่หากผู้เข้าเยี่ยมชมพร้อมใจกันเข้ามาดูเว็บไซต์ของคุณ ก็อาจเกิดปัญหาเปิดหน้าเว็บไม่ได้ ซึ่ง Traffic ยังสัมพันธ์โดยตรงกับคำว่า bandwidth ถ้ายกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย bandwidth ก็เปรียบเสมือนท่อประปาที่รับส่งข้อมูลของเว็บไซต์ของคุณซึ่งปกติจะถูกกำหนดมาให้ใช้ปริมาณหนึ่ง เพราะคุณอาจต้องแชร์ bandwidth กับผู้ใช้บริการรายอื่น ๆด้วย ดังนั้นไม่ว่าคุณจะอัปโหลดข้อมูลขึ้นเว็บไซต์หรือมี traffic จากผู้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์คุณ ทุก ๆกิจกรรมที่เกิดขึ้นก็ถูกนำมาคิดเป็นปริมาณ bandwidth ทั้งสิ้น ดังนั้นหากปริมาณ bandwidth ของคุณมีปริมาณมากพอก็เสมือนคุณมีท่อประปาขนาดยักษ์ที่รองรับการอัปโหลดข้อมูล หรือTrafficจากการเข้าชมเว็บไซต์ของผู้เยี่ยมชมได้ดีกว่าการมีปริมาณ Bandwidth ที่น้อย ๆ

4.  ต้องมีการประมวลผลที่รวดเร็ว มีจำนวน Memory ที่สูง

ความรวดเร็วในการประมวลผลนั่นหมายถึงความสามารถในการเปิดหน้าเว็บไซต์ที่รวดเร็วของผู้เข้าเยี่ยมชม คุณจึงควรเลือกโฮสติ้งที่เซิร์ฟเวอร์มีจำนวน Memory ที่สูงครับหน้าเว็บไซต์ของคุณจึงจะประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว

5. ดูภาษาหรือระบบปฏิบัติการที่เราใช้ทำเว็บไซต์

ข้อมูลตรงนี้หาไม่ยากครับ คุณอาจค้นหาในอินเทอร์เน็ตหรือสอบถามทางผู้ให้บริการโดยตรงก็ได้ การเลือกโฮสติ้งที่ตรงกับภาษาที่ใช้ทำเว็บไซต์ของเรา จะทำให้การทำงานหรือการออนไลน์เว็บไซต์บนระบบอินเทอร์เน็ตมีความราบรื่น

6. ฟีเจอร์และระบบการจัดการเว็บไซต์ของโฮสติ้ง

เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยครับ คุณควรจะต้องดูให้ดีว่าโฮสติ้งมีระบบการจัดการเป็นอย่างไรบ้าง และการใช้งานระบบต่าง ๆ ยากง่ายเพียงใด โดยสิ่งที่คุณต้องให้ความสนใจเพิ่มเติมมีดังนี้

-ระบบจัดการเว็บไซต์เป็นอย่างไร มีการจัดการด้วยวิธีไหนบ้าง การอัปโหลดข้อมูลลงในเว็บไซต์ ยากหรือง่ายเพียงใด

-ระบบจัดการฐานข้อมูลเป็นอย่างไร

-ระบบป้องกันหรือความปลอดภัยเป็นอย่างไร สามารถป้องกันอีเมล์ขยะหรือไวรัสได้หรือไม่

-ระบบสำรองข้อมูลในกรณีที่เว็บไซต์หรือเซิร์ฟเวอร์เกิดปัญหา เพราะหากการสำรองข้อมูลไม่ดี         หน้าเว็บไซต์ของคุณก็อาจหายสาบสูญไปตลอดกาล

-ระบบตรวจสอบสถิติการใช้งานเพื่อตรวจสอบปริมาณผู้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

7. ความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ

ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้บริการมาประกอบการตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบริษัท รีวิวจากผู้ใช้งานหรือแม้กระทั่งการจดทะเบียนพาณิชย์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคุณได้ครับ นอกจากนี้คุณอาจหาข้อมูลว่ามีองค์กรใหญ่ ๆองค์กรใดมาใช้บริการโฮสต์นี้หรือไม่ เพราะมันแสดงถึงความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการเช่นกัน

8. การบริการก่อนและหลังการขาย

ในเรื่องนี้ก็ควรเป็นอีกสิ่งสำคัญที่คุณใช้ประกอบการตัดสินใจครับ เพราะบริการก่อนการขายจะแสดงให้เห็นว่าผู้ให้บริการใส่ใจลูกค้าเพียงใด ตอบคำถามหรือข้อสงสัยของเรารวดเร็วและชัดเจนเพียงใด ให้ข้อมูลสำคัญแก่เรามากน้อยขนาดไหน และอาจจะต้องหาข้อมูลของบริการหลังการขายตามรีวิวต่าง ๆ มาช่วยประกอบการตัดสินใจอีกทางหนึ่งว่าลูกค้ารายอื่นให้คะแนนหรือคอมเมนท์อะไรต่อผู้ให้บริการรายนี้บ้าง

9. ราคาสมเหตุสมผล

อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาก็คือราคาค่าบริการว่าสมเหตุสมผลและเหมาะสมกับงบประมาณที่คุณตั้งไว้เพียงใด บางครั้งอาจต้องเปรียบเทียบราคากับการบริการที่คุณได้รับหลาย ๆ ผู้ให้บริการเพื่อประกอบการตัดสินใจครับ เพราะบางครั้งราคาที่ถูกเกินไปก็ใช่ว่าจะดีหรือราคาที่สูงมันอาจจะมีระบบการจัดการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานมากกว่า

10. ช่องทางการติดต่อชัดเจนและกระแสตอบรับถูกพูดถึงในทางที่ดี

ผู้ให้บริการที่มีข้อมูลการติดต่อที่ชัดเจนมีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ ย่อมสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้ามากกว่าเพราะหากเกิดปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือคุณสามารถติดต่อได้ทันท่วงที ขณะที่กระแสตอบรับในเชิงบวกหรือเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับการแนะนำบอกต่อเป็นวงกว้างก็แสดงถึงความเป็นมืออาชีพของผู้ให้บริการรายนั้น ๆ เช่นกันครับ

การเลือกโฮสติ้งที่ดีก็เปรียบเสมือนคุณได้มหามิตรให้มาช่วยดูแลเว็บไซต์ของคุณให้ทำงานได้อย่างราบรื่น ก็คงจะตรงกับคำพูดที่ว่า “เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” จงอย่าละเลยการพิจารณาอย่างละเอียดและถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจเสมอ เพราะโฮสติ้งก็เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบของความสำเร็จที่ไม่ควรมองข้าม