ถามใคร ๆ ก็อยากมีร้านกาแฟสดเก๋ ๆ เป็นของตัวเอง บ้างก็อยากทำร้านชานม ชานมไข่มุก ไข่นกกระทา !! ชานมไต้หวัน ชาปักษ์ใต้ หลากหลายเลยทีเดียว

เดี๋ยวนี้ร้านชา กาแฟสด กาแฟโบราณ เห็นกันให้เกลื่อนตา ที่อยากเปิด กำลังจะเปิดก็มีอีกมากมายทีเดียว

ที่เจ๊งไปก็มากนะคะ แต่ที่รอดก็มีไม่น้อย สำหรับคนใหม่ ๆ ที่อยากมีร้านเครื่องดื่ม ประเภท ชา กาแฟ นมสด ฯ ลองมาดูแนวทางการเริ่มต้นธุรกิจประเภทนี้ว่าทำอย่างไรไม่ให้เจ๊งกันดีกว่า

 

1.ตลาดหรือลูกค้า 

ถ้ายังไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจเครื่องดื่มประเภทไหน ลองดูเทรนด์ในช่วงนี้ ที่ตลาดยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีความต้องการเพิ่มขึ้น เป็นข้อแรก ๆ เพราะการมีตลาดรองรับ จะทำให้เราสามารถเข้ามาทำหรือแข่งขันได้

 

“ตลาดมีความต้องการสูงเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีโอกาสในการเริ่มต้นธุรกิจได้เท่านั้น”

 

2.เลือกประเภทของเครื่องดื่มที่สนใจ

ที่ต้องดูที่ความสนใจของตัวเองเป็นหลัก ว่าชอบดื่มอะไร ชอบไปนั่งร้านไหน ทำไมร้านนั้นคนเยอะจัง จะทำให้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เราชอบมากขึ้น หรือมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ เพราะเมื่อเราชอบอะไร เราจะเริ่มลงลึกกับเรื่องนั้นหรือได้พบปะพูดคุยกับคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน เอาเป็นว่าจะทำให้เรามีข้อมูลในหัวมากขึ้นด้วย เช่น รู้แหล่งวัตถุดิบที่จะซื้อ รู้จักลูกค้า รู้เทคนิคที่จะปรับปรุง “รสชาติ ความอร่อย” ได้เองหรือทำสูตร ส่วนผสมเอง ทำให้เราทำธุรกิจเครื่องดื่มแบบสนุก และมีความสุขเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นคนที่รักสุขภาพ การทำธุรกิจเครื่องดื่มสุขภาพก็น่าสนใจ

“ทำในสิ่งที่ชอบ ชอบในสิ่งที่ทำ แล้วจะเกิดรอยยิ้มและความสุข จากธุรกิจที่เราเริ่มสร้าง”

3.เลือกทำเลที่ใช่ ตรงกับกลุ่มลูกค้า

ทำเล เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในการทำธุรกิจเลยก็ว่าได้ อย่าคิดแต่ว่ามีที่ทางอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียค่าเช่าแพง ๆ  ปรากฎว่าลูกค้าน้อยเกินไปแบบนี้ก็ไม่ไหว ทำให้ต้องออกแรงประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้น

สังเกตทำเลที่มองไว้ว่ายังขาดเครื่องดื่มแบบไหนบ้าง หรือมีกี่เจ้าแล้ว ยังพอมีช่องทางให้เข้ามาได้อีกมั้ย ถ้าทำได้ก็ต้องทำให้โดดเด่นและแตกต่างกว่าร้านเดิม ๆ ที่มี หรือควรเปลี่ยนทำเลที่มีคู่แข่งน้อยกว่า แต่ลูกค้ายังมีความต้องการ โดยเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการช่วยตัดสินใจเพิ่มเติม ถ้าลูกค้าคือพนักงานออฟฟิศ ก็จะเป็นทำเลแถว ๆ ออฟฟิศใหญ่ ๆ ที่มีพนักงานจำนวนมากก็ควรเลือกประเภทเครื่องดื่มที่ตรงกลุ่ม ทำเลในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ศูนย์ราชการ ในห้างสรรพสินค้า หรือตลาด ซึ่งขึ้นอยู่กับงบประมาณเงินลงทุนของผู้ประกอบการแต่ละราย

   “มองหาทำเลที่ดี มีลูกค้ามากมาย จะช่วยให้ขายได้ แบบไม่ต้องออกแรงประชาสัมพันธ์” 

4.เลือกรูปแบบของร้าน

แบบที่มีสูตรเอง คิดเอง ทำเอง ต้องเพิ่มความโดดเด่นให้กับสินค้าและร้าน อาจจะเป็นการตั้งชื่อเมนูแปลก ๆ เก๋ ๆ ไม่ซ้ำใคร ให้ลูกค้าอยากลอง หรือจดจำได้ และอย่าลืมที่จะสร้างเรื่องราวให้มีเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร  บางร้านก็เล่าเรื่องราวถิ่นกำเนิดของกาแฟที่นำมาชง บ้างก็กรรมวิธีชงที่มีใช้ความร้อนกี่องศา มีคุณภาพดียังไง หรือหากเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ก็ควรบอกประโยชน์ของเมนูแต่ละแก้ว ว่าดีอย่างไร แก้วนี้กี่แคลอรี่ ช่วยบำรุงสมอง สายตา รักษามะเร็ง บลาๆๆ รับรองขายได้ขายดี

แบบแฟรนไชน์ ก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน มีมากมายหลายแบรนด์ และหลายขนาดให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบคีออส ร้านขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับมือใหม่ ที่ได้เรียนทางลัด ได้รู้ตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ การขาย การบริหารและการจัดทำระบบบัญชี แต่มีข้อเสียตรงที่ค่าแฟรนไชน์และเงินลงทุนค่อนข้างสูงซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละแบรนด์และเงินในกระเป๋าเราเองว่าจะใช้แบรนด์ไหนดี

“รูปแบบไหน ก็มีข้อดี ข้อเสีย ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความพร้อมและการเรียนรู้ที่จะพัฒนา”

5.การตกแต่งร้านที่เก๋ไก๋ ดูดีมีดีไซน์

เราไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงเสมอไปถึงจะมีดีไซน์ บางร้านแต่งแบบไม่เยอะ ดูแล้วสบาย ๆ แต่มีเอกลักษณ์ หรือแปลกตา น่าเข้าไปแวะเวียนใกล้ ๆ  แต่งร้านสไตล์เก๋ ๆ น่ารัก ๆ ดูอบอุ่นและเป็นมิตร ซึ่งมองจากข้างนอกแล้วอยากจะเข้าไปนั่งบ้าง หรือมีมุมถ่ายรูปแบบชิค ๆ ให้ลงโซเชียลอวดเพื่อน ๆ เป็นเทรนด์ที่ขาดไปไม่ได้เลยในยุคนี้ รวมถึงที่กล่าวไปข้างต้น ที่ต้องสร้างเรื่องราว (Story Telling) ให้ลูกค้าอยากบอกต่อ มาแล้วมาอีก

“การแต่งร้านให้น่ามอง เป็นเอกลักษณ์ที่บอกตัวตนและเป็นการสร้างแบรนด์อย่างหนึ่ง”

 

6.การบริการ

การบริการเป็นวิธีมัดใจลูกค้าที่ดีที่สุด การพูดคุย ยิ้มแย้มด้วยน้ำเสียงและท่าทีที่เป็นมิตร จะทำให้ลูกค้ารู้สึกเป็นกันเอง มีทัศนคติเชิงบวกต่อร้าน และเป็นปากเสียงให้ร้านเราได้อีกด้วยนะคะ

หากไม่ได้ดูแลร้านเอง ก็ต้องหมั่นฝึกอบรมการบริการให้กับพนักงานหน้าร้านสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ถ้ามีบริการอื่น ๆ เสริมเช่น Wifi , หนังสือ , คอมพิวเตอร์ ให้ด้วยก็จะยิ่งโดดเด่น ขึ้นอยู่กับร้านแถว ๆ นั้นเป็นลักษณะอย่างไร เราจะสร้างความต่างด้วยบริการใด และขึ้นอยู่กับเงินลงทุนในกระเป๋าอีกด้วยค่ะ

 “ลูกค้าจะอยู่กับเราได้นาน  เพราะบริการที่น่าประทับใจ”

7.การตั้งราคาขาย

 ขอให้ตั้งราคาที่เหมาะสมกับตลาด เหมาะสมลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เพื่อที่จะได้มีกำลังซื้อ และสังเกตร้านในละแวกเดียวกันว่าตั้งราคาขายเท่าไหร่ ถ้าเราจะขายแพงกว่า ต้องมีคุณค่าพอที่ลูกค้ายอมจ่าย

  “ตั้งราคาให้เหมาะสมกับลูกค้า สามารถซื้อหาจับต้องได้ คุ้มค่าเงินที่จ่าย”

 

8.งบลงทุน/กำไร/ระยะเวลาคืนทุน

คราวนี้ก็เป็นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ กันแล้วค่ะ ว่าเราต้องเตรียมงบลงทุนเท่าไหร่ถึงจะพอในการเปิดร้านธุรกิจเครื่องดื่ม ขอยกตัวอย่างธุรกิจร้านกาแฟ รูปแบบสร้างแบรนด์เอง ไม่ซื้อแฟรนไชน์ โดยแบ่งค่าใช้จ่ายเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ค่ะ

เงินที่ลงทุนที่เป็นสินทรัพย์ถาวร ประมาณ 300,000-1,000,000 ขึ้นกับรูปแบบที่เลือก

  • ค่าออกแบบตกแต่งร้าน
  • ค่าวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเครื่องชงกาแฟ
  • ค่าสิทธิการเช่า (เซ้ง) ถ้ามี ขึ้นอยู่กับแต่ละทำเล

รายจ่ายประจำเดือน ประมาณ 25,000-60,000 บาท

  • ค่าเช่า ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของร้าน ทำเล และรูปแบบ ราคาค่าเช่าก็แตกต่างกันไปรูปแบบร้านที่มีที่นั่ง 40 ตารางเมตรขึ้นไป ตามแหล่งชุมชน รูปแบบเคาน์เตอร์หรือคีย์ออส 6 ตารางเมตรขึ้นไป มีที่นั่งจำนวนเล็กน้อย
  • ค่าจ้างพนักงาน
  • ค่าน้ำ ค่าไฟ

ตั้งเป้าหมาย ขายกี่แก้วต่อวัน และต้นทุนวัตถุดิบเฉลี่ย

  • ถ้าเราตั้งราคาเฉลี่ย 35-55 บาท/แก้ว ขาย 100 แก้ว/วัน กำไรขั้นต้นเฉลี่ย 70-75%
  • กำไรขั้นต้นต่อเดือนคิดเป็น 73,000-123,000 บาทต่อเดือน
  • หักรายจ่ายประจำเดือนเฉลี่ย 25,000-60,000 เป็นกำไรสุทธิประมาณ 48,000-63,000 บาทต่อเดือน

ระยะเวลาคืนทุน

  • 5-1.3 ปี คืนทุน

  อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาข้อมูลเพื่อนำมาคำนวณแผนธุรกิจให้แม่นยำมากขึ้น ก่อนลงมือจริงนะคะ เชื่อว่าถ้าได้เตรียมความพร้อมมาอย่างดี บวกกับแรงบันดาลใจที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจ มีความฝันแล้วลงมือทำ ลงมือก่อนย่อมได้เปรียบ ค่อย ๆ เรียนรู้ ค่อย ๆ ปรับหาจุดแข็งให้ตัวเอง ทำให้ดีกว่าคนอื่น และที่สำคัญทำอย่างมีความสุข จะช่วยให้ธุรกิจเครื่องดื่มดีขึ้นตามลำดับและขายดีแน่นอนค่ะ

ดื่มกาแฟหนึ่งแก้ว อาจทำให้คุณนอนไม่หลับไปหนึ่งคืน

แต่ถ้าร้านกาแฟคุณเจ๊ง จะทำให้คุณนอนไม่หลับไปหลายคืน…

คิดก่อนทำ วางแผนก่อนลงทุน


บทความโดย ผู้เข้ารับการอบรมโครงการ “เปลี่ยน Content ให้เป็นเงิน รุ่น 1

คุณ ขวัญ  เอมโยธิน (ขวัญ)
www.facebook.com/kwanmeenawww.kwankaolaoruang.blogspot.com