สวัสดีครับ สำหรับวันนี้ Taokaemai.com นำเสนอบทความก่อนการเลือกลงทุนในแฟรนไชส์ที่เหมาะสม และเติบโตร่ำรวยไปกับเจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์อย่างยั่งยืน โดยในวันนี้ จะพาทุก ๆ ท่าน ไปเรียนรู้เคล็ดลับในการเลือกแฟรนไชส์ทั้ง 5 เคล็ดลับ ดังนี้
เคล็ดลับที่ 1 – คุณต้องชอบในธุรกิจนั้นจากใจจริง
ทุก ๆ ธุรกิจ มักจะขับเคลื่อนด้วย Passion หรือแปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า คุณต้องมีความชอบ ความหลงใหลในสิ่งที่คุณทำอยู่จากใจจริง วิธีตรวจสอบง่าย ๆ ว่าคุณชอบสิ่งนั้น ๆ จริงหรือไม่ อาจจะใช้เทคนิคนี้ช่วยในการตัดสินใจได้ คือ ต่อให้คุณไม่มีรายได้จากสิ่งนั้น คุณก็ยังคงยินดีที่จะทำมันอยู่ดี แต่ยิ่งถ้าคุณมีรายได้จากสิ่งที่ทำอยู่นั้นด้วย ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ ให้คุณตั้งโจทย์คำถามกับตนเองไว้เลยว่า คุณสามารถอยู่กับธุรกิจนั้น ๆ ไปอีกอย่างน้อย 5 ปี ได้หรือไม่
เคล็ดลับที่ 2 – ต้องตั้งเป้าหมายและงบประมาณในการลงทุน
การลงทุนในแฟรนไชส์นั้น มีการลงทุนหลายระดับ ตั้งแต่หลักพัน หลักหมื่น หลักแสน ยันหลักล้าน และแต่ละระดับก็มีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่แตกต่างกันออกไป
ก่อนการลงทุน คุณจำเป็นต้องประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงด้วยว่า หากเกิดกรณีที่เลวร้ายที่สุดจากการลงทุนในแฟรนไชส์ ตัวคุณเองนั้นจะสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เพราะแต่ละคนย่อมมีความสามารถในการรับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน บางคนเงินหลักหมื่นคือเรื่องใหญ่ แต่ในขณะที่อีกคนอาจรองรับความเสี่ยงได้ถึงหลักแสน เป็นต้น
จงตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าคุณต้องการยอดขายเท่าไหร่ต่อเดือน ยกตัวอย่างเช่น หากคุณลงทุนในแฟรนไชส์ 6 หมื่นบาท และหลังจากหักต้นทุนต่าง ๆ แล้ว เหลือกำไรประมาณ 2 หมื่นบาท ต่อหนึ่งสาขา ดังนั้นคุณจะคืนทุนในเวลา 3 เดือน
แต่หากคุณต้องการกำไรเดือนละ 1 แสนบาท คุณก็อาจจะเพิ่มการลงทุนเป็น 5 สาขา ซึ่งใช้เงินในการลงทุนประมาณ 3 แสนบาท ในกรณีที่มีกำไรสาขาละ 2 หมื่นบาทเท่ากัน คุณก็จะใช้เวลาในการคืนทุน 3 เดือนเท่ากรณีแรก เป็นต้น
เคล็ดลับที่ 3 – ลงเลือกเจ้าของแฟรนไชส์เสมือนเลือกคู่ครอง
การที่เราจะเลือกลงทุนในแฟรนไชส์ใดสักเจ้าหนึ่งนั้น ก็เหมือนกับการที่เราเลือกคู่ค้า ที่จะต้องอยู่ด้วยกันไปอีกนาน ดังนั้นหลักในการเลือกแฟรนไชส์ ก็ให้คุณเริ่มพิจารณาจากเจ้าของแฟรนไชส์เป็นอันดับแรก ดังนี้
- มีประสบการณ์ในการทำแฟรนไชส์มาแล้วอย่างน้อย 1 ปี ขึ้นไป
- คุยกันถูกคอ พูดง่าย ๆ ก็คือ หากเราไม่ชอบคุยกับเจ้าของแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไม่ชอบขี้หน้า ไม่ชอบภาษาที่ใช้ ต่อให้คุณชอบสินค้าของเขา ก็คงจะคุยไม่ราบรื่นสักเท่าไหร่นัก ดังนั้น จงทำงานกับคนที่คุณชอบ เพราะถ้าเปรียบเทียบกับการเลือกคู่ครอง คุณก็คงไม่เลือกคนที่คุณไม่ชอบใช่ไหมครับ?
- มีระบบ Operation หรือระบบการจัดการที่ยอดเยี่ยม – เรามักจะพบว่าหลาย ๆ แฟนไชส์ มักมีสินค้าที่ยอดเยี่ยม แต่ดันมีระบบการจัดการที่ไม่ได้เรื่องเอาซะเลย ไม่ว่าจะเป็น การตลาด การส่งวัตถุดิบ คุณภาพของวัตถุดิบ การตรงต่อเวลา ซึ่งมันจะส่งผลเสียอย่างมากต่อแฟรนไชส์ซีหรือผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ไป ดังนั้น ต่อให้คุณซื้อแฟรนไชส์ไปแล้วขายดิบขายดี แต่วันต่อมากับพบว่า เจ้าของแฟรนไชส์ดันส่งวัตถุดิบล่าช้ากว่าที่ตกลงกันเอาไว้ ก็อาจจะทำให้คุณสูญเสียรายได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
- มีการพัฒนาธุรกิจและสินค้าอยู่ตลอดเวลา เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ และการไม่หยุดพัฒนาให้ธุรกิจเติบโตมากยิ่งขึ้น
- ศึกษากฏกติกาในการเข้าร่วมแฟรนไชส์อย่างละเอียดถี่ถ้วน อ่านและทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพราะการที่คุณลงทุนในแฟรนไชส์นั้น ๆ นั่นหมายถึงคุณต้องยอมรับกฏ กติกาของเจ้าของแฟรนไชส์นั้น ๆ ด้วย
เคล็ดลับที่ 4 – ลงสำรวจพื้นที่จริงด้วยตัวคุณเอง
ไม่ว่าคุณจะรู้จักแฟรนไชส์จากสื่อใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น ทีวี อินเตอร์เน็ต ป้ายโฆษณา เพื่อนฝูง หรือแม้กระทั่งจากปากของเจ้าของแฟรนไชส์เองก็ตามที อย่าพึ่งด่วนตัดสินใจตามคำโฆษณาเหล่านั้นว่ามันเป็นธุรกิจที่ดี เป็นธุรกิจที่ยอดเยี่ยม ดังคำกล่าวที่ว่า “อย่าพึ่งเชื่อ จนกว่าคุณจะได้ลงมือทำและเห็นผลลัพธ์ด้วยตัวของคุณเอง”
วิธีการง่าย ๆ ก็คือ ให้คุณลงพื้นที่สำรวจ โดยอาจจะเริ่มจากสาขาที่ขายดีที่สุด 5 อันดับแรกก่อน แล้วหลังจากนั้น ลองสำรวจสาขาที่ขายได้ปานกลาง และสุดท้ายสำรวจสาขาที่ขายได้น้อย
โดยให้เราถามเจ้าของแฟรนไชส์ไปตรง ๆ เลยว่า สาขาไหนขายได้เยอะ ปานกลาง และน้อย ก็ให้เราลองไปเป็นลูกค้าสาขานั้น ๆ ก่อน ดูว่า สาขาที่ทำยอดขายได้เยอะนั้น เขาทำกันอย่างไร และสาขาที่ขายได้น้อยนั้น มีอะไรที่เราไม่ควรเอาแบบอย่าง
เคล็ดลับที่ 5 – มีบริการหลังการขายที่ยอดเยี่ยม
แน่นอนว่าธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจที่ต้องติดต่อกันระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์และคนที่ซื้อแฟรนไชส์ไปอยู่ตลอดเวลา เพราะจะต้องมีการซื้อ-ขาย วัตถุดิบกันอยู่เสมอ ดังนั้นก่อนที่จะทำการลงทุนแฟรนไชส์ใด ๆ เราควรตั้งคำถามต่อเจ้าของแฟรนไชส์ไปเลยว่า หากเกิดปัญหานู่น นี่ นั่น เขาจะมีวิธีแก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลือเราอย่างไรได้บ้าง
และหากต้องการรู้จริง ๆ ว่า ถ้าซื้อแฟรนไชส์ไปแล้ว เขาจะบริการอย่างไร ก็ให้เราลองไปคุยกับคนที่ซื้อแฟรนไชส์ไปก่อนหน้านี้ ลองคุยดูว่า เขามีความรู้สึก มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง หลังจากที่ได้ซื้อแฟรนไชส์ไปแล้ว
เคล็ดไม่ลับ – รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง
ทีนี้เราลองมาดูมุมมองของเจ้าของแฟรนไชส์กันบ้าง เพราะ เจ้าของแฟรนไชส์ ก็เลือกลูกแฟรนไชส์เหมือนกันนะ
- ลูกแฟรนไชส์ กลุ่ม พ่อค้าแม่ค้า กลุ่มนี้เจ้าของแฟรนไชส์ชอบ เพราะพ่อค้าแม่ค้า มีทักษะในการขายที่ดีอยู่แล้ว กลุ่มนี้ความคาดหวังในการรับผลตอบแทนไม่สูงมากนัก หากมีกำไรเดือนละ 25,000 บาท ขึ้นไป 3 เดือนคืนทุน ที่เหลือคือกำไร
- มีเงินลงทุน แต่ซื้อให้ลูกหลานหรือญาติพี่น้องทำ – กลุ่มนี้เจ้าของแฟรนไชส์จะไม่ค่อยชอบ เพราะเจ้าของเงินลงทุนกับคนลงมือทำ เป็นคนละคนกัน โอกาสที่จะมีความคิดเห็นแตกต่างกันค่อนข้างสูง และโอกาสในการประสบความสำเร็จค่อนข้างต่ำ มีโอกาสล้มเหลวได้
- กลุ่มนักลงทุน – กลุ่มนี้มีเงินแต่ไม่ค่อยมีเวลา แต่จะใช้การจ้างพนักงานดูแลร้านแฟรนไชส์แทน ยอมแบ่งกำไร เพื่อไปจ้างลูกจ้างในการดูแล กลุ่มนี้มีโอกาสลงทุนทีละหลายสาขา ยกตัวอย่างเช่น หากลงทุนหนึ่งสาขา หักค่าต้นทุนการผลิตสินค้า ค่าเช่าร้าน ค่าจ้างพนักงานแล้ว เหลือกำไรเดือนละ 20,000 บาท แต่นักลงทุนต้องการกำไรเดือนละ 1 แสนบาท ก็อาจจะลงทุนเป็นจำนวน 5 สาขา ในเวลาพร้อม ๆ กันนั่นเอง
มีคำถามหนึ่งที่ผู้คนมักถามนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จกันว่า “เวลาที่ดีที่สุดในลงทุนคือเวลาใด?”
และพวกเขาเหล่านั้นก็มักจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เวลาที่เหมาะสมที่เริ่มต้นธุรกิจก็คือ “เดี๋ยวนี้!”
อ่านจบแล้ว อย่าลืมแบ่งปันเคล็ดลับความรวยให้กับผู้อื่น “ยิ่งให้ ยิ่งได้” แชร์เลย
เจ้าของแฟรนไชส์ที่ต้องการติดต่อลงโฆษณาเพื่อขยายสาขาให้เติบโตยิ่งขึ้น
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME