การส่งออกสินค้าไปวางจำหน่ายยังต่างประเทศเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายเล็กอย่าง SMEs ใช้ในการสร้างรายได้เพิ่มให้กับธุรกิจของตน นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มยังเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจของตนขยายขนาดและทำให้ธุรกิจของตนได้เป็นที่รู้จักยังต่างประเทศ การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศอาจไม่ใช่เรื่องยากสำหรับธุรกิจที่มีตลาดยังต่างประเทศอยู่ก่อนแล้ว แต่มันคือเรื่องยากสำหรับธุรกิจมือใหม่ที่สนใจจะไปบุกตลาดต่างแดนเนื่องด้วยไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวหรือต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะส่งสินค้าของตนไปวางขายยังต่างประเทศได้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีความฝันอยากให้สินค้าของคนไปเปิดตลาดต่างประเทศ วันนี้เรามีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ มาฝากกันครับ

9 ขั้นตอนเตรียมการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้และเปิดโอกาสให้แบรนด์ของคุณเป็นที่รู้จักยังต่างแดน

1. ทำความเข้าใจสินค้าของตัวเองและขีดความสามารถของตนเองให้ดี

การจะบุกตลาดต่างประเทศไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ดังนั้นก่อนที่จะคิดทำการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศคุณควรจะทำความเข้าใจตัวของสินค้าของตนให้ดีพออีกครั้งหนึ่งครับ นั่นก็เพราะสินค้าที่ประสบความสำเร็จในเมืองไทยอาจไม่ได้การันตีว่าเมื่อส่งออกไปยังประเทศปลายทางแล้วจะประสบความสำเร็จตามไปด้วย เพราะพฤติกรรมในการบริโภควัฒนธรรมของแต่ละประเทศแตกต่างกันเพื่อจะได้เป็นข้อมูลว่าสินค้าของคุณมีโอกาสเป็นอย่างไรในตลาดต่างประเทศ

อีกปัจจัยหนึ่งที่คุณควรทำความเข้าใจก็คือ “ขีดความสามารถของคุณเอง” ไม่ว่าจะเป็นด้านกำลังการผลิต ความสามารถที่จะช่วยเหลือ support ลูกค้า หรือแม้กระทั่งงบประมาณในการทำการตลาดว่าคุณมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำมาวางแผนว่าเมื่อคุณต้องออกไปต่างประเทศจริงๆ คุณนั้นมีเสบียงอยู่ในมือมากน้อยเพียงใด

2. กำหนดกลุ่มประเทศเป้าหมายที่ต้องการเข้าไปค้าขายและศึกษาตลาดของประเทศนั้นให้พร้อม

เมื่อทำความเข้าใจสินค้าและขีดความสามารถของตนแล้วก็ถึงคราวที่จะต้องกำหนดประเทศเป้าหมายที่จะทำการส่งออกสินค้าของตนไปวางจำหน่าย โดยอิงจากสินค้าที่คุณมีว่าประเทศใดมีความต้องการนำเข้าสินค้าที่คุณผลิตบ้างและต้องการในปริมาณเท่าไหร่ โดยคุณสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้ตามอินเทอร์เน็ตหรือจะเข้าไปดูที่กรมส่งเสริมการส่งออก โดยข้อมูลที่คุณต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษคือข้อมูลในด้านของพฤติกรรมการบริโภคของประเทศปลายทาง ความต้องการของตลาด ดูเทรนด์ความนิยมของประเทศนั้น ๆจำนวนประชากร รวมถึง GDP เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่จะส่งสินค้าของเราไป รวมถึงการวางแผนว่าคุณจะเข้าไปทำธุรกิจในรูปแบบใด และระยะเวลาเท่าใด

3. หาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้งหมดที่คุณควรรู้

สิ่งถัดมาที่คุณควรทำคือการหาข้อมูลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าจากประเทศปลายทาง โครงสร้างของภาษีนำเข้าของประเทศปลายทาง มาตรการในการนำเข้าและส่งออกสินค้า ข้อมูลการทำการตลาดในต่างประเทศ การอบรมสัมมนาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ รวมไปถึงวิธีการเจรจากับนักธุรกิจต่างประเทศ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่

3 เรื่องต้องรู้ ส่งของไปต่างประเทศ ทําอย่างไร ?

4. เตรียมขั้นตอนเรื่องเอกสารในการส่งออก

การจะส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศคุณต้องมีการเตรียมเอกสารที่จะใช้ยื่นเรื่องเพื่อส่งออกสินค่าไปขายยังต่างประเทศ เอกสารที่คุณควรจะเตรียมไว้มีดังนี้
– ใบขนสินค้าออก
– บัญชีราคาสินค้า
– แบบธุรกิจต่างประเทศ
– ใบอนุญาตในการส่งออกหรือเอกสารอื่นใดสำหรับสินค้าควบคุมการส่งออก
– เอกสารอื่น ๆที่เกี่ยวข้องหรือที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร้องขอ
ซึ่งทั้งหมดนี้คุณสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่กรมส่งเสริมการส่งออก

5. วางแผนช่องทางในการติดต่อกับลูกค้าหรือการมองหาตลาดในประเทศปลายทาง

ขั้นตอนนี้คือการเตรียมการในการหาตลาดหรือลูกค้าที่จะรับเอาสินค้าของคุณไปช่วยวางจำหน่ายครับ โดยวิธีการที่ได้รับความนิยมมากในการมองหาตลาดและติดต่อเจรจากับลูกค้าใหม่ ๆมีดังนี้

  • หาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งประเทศไทยหรือทางฝั่งประเทศปลายทางเพื่อที่จะได้ติดต่อประสานและร่วมกันทำธุรกิจเพื่อนำสินค้าของคุณไปวางจำหน่ายยังประเทศปลายทาง
  • หาผ่านนายหน้าที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของกรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งนายหน้าที่เป็นสมาชิกนี้จะช่วยสร้างความอุ่นใจให้แก่คุณว่าคุณจะไม่โดนหลอกให้ลงทุนฟรีและยังช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามมาครับ หากคุณเลือกวิธีการนี้คุณต้องใส่ใจในการเฟ้นหานายหน้าให้มาก
  • เข้าร่วม road show กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นการทำการตลาดในเชิงรุกที่จะพากลุ่มผู้ประกอบการจากเมืองไทยให้ไปเจรจาการค้ากับผู้ซื้อในต่างประเทศโดยตรง
  • เข้าร่วมการแสดงสินค้าซึ่งจัดโดยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งจะสร้างโอกาสให้สินค้าของคุณมีโอกาสเป็นที่รู้จักได้มากขึ้น

6. การตกลงทำการซื้อขายระหว่างประเทศ

เมื่อคุณผ่านทุกๆ ขั้นตอนตามข้างต้นมาแล้วและเกิดข้อตกลงเพื่อทำการซื้อขายสินค้าระหว่างคุณกับลูกค้าต่างประเทศ สิ่งที่คุณต้องทำเป็นอันดับถัดมาคือทุก ๆข้อตกลงดังกล่าวคุณต้องมีความละเอียดรอบคอบครับ โดยต้องระมัดระวังในเรื่องการทำสัญญาการค้าให้ละเอียดรัดกุมที่สุด โดยต้องตรวจสอบรายละเอียดของสัญญาทุกครั้งก่อนการลงนามสัญญานี้นอกจากจะใช้เป็นหลักประกันเพื่อป้องกันการบิดพลิ้วจากคู่ค้าคุณยังสามารถนำสัญญานี้ไปขอสินเชื่อเพื่อการส่งออกได้อีกด้วย

7. การเตรียมสินค้า

เมื่อคุณได้ออเดอร์สินค้ามาแล้วก็เข้าสู่กระบวนการผลิตสินค้าที่คุณต้องเคร่งครัดในเรื่องของระยะเวลาเป็นอย่างมาก หากคุณไม่ใช่ผู้ผลิตโดยตรงก็ควรกำชับหรือทำสัญญากับทางผู้ผลิตที่คุณส่งงานให้ว่าต้องทำตามระยะเวลาที่กำหนดและทันต่อการส่งมอบสินค้า อนึ่งในขั้นตอนนี้เมื่อคุณได้สินค้าออกมาแล้วก็อย่าได้ละเลยการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าก่อนส่งมอบสินค้าไปยังประเทศปลายทางเสียก่อน

8. การขนส่งสินค้า

ในขั้นตอนนี้คุณต้องเตรียมการเสียแต่เนิ่นๆ นับตั้งแต่วันที่ได้ออเดอร์และกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าออกมา เพราะคุณต้องไปทำการจองระวางสินค้าล่วงหน้าเพื่อขนส่งสินค้าให้กับคุณ ระบบขนส่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมี 2 ช่องทางคือการขนส่งทางเรือและทางเครื่องบิน ในขั้นตอนนี้คุณต้องเตรียมเอกสารที่จะไปพร้อมสินค้ากับคุณไม่ว่าจะเป็นใบกำกับสินค้า บัญชีสินค้าใบรายการบรรจุหีบห่อ หรือการขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า

9. การชิปปิ้งสินค้า

อันดับสุดท้ายก่อนที่การส่งออกสินค้าจะสำเร็จก็คือการเลือกบริษัทที่ช่วยในเรื่องของการชิปปิ้งสินค้าในการส่งออกครับ
เพราะบริษัทเหล่านี้จะมีความรู้ในเรื่องของพิธีการศุลกากรเป็นอย่างดีซึ่งจะช่วยประสานงานให้เกิดความเรียบร้อย รวดเร็วและทำให้การส่งออกสินค้าของคุณไม่มีปัญหาเกิดขึ้นครับ คุณจำเป็นต้องตัดสินใจเรื่องบริษัทชิปปิ้งที่เป็นที่ยอมรับในวงการและเหมาะสมกับคุณมากที่สุดข้อมูลของบริษัทเหล่านี้คุณสามารถหาได้ในอินเทอร์เน็ตครับ

การส่งออกสินค้าไปวางจำหน่ายยังต่างประเทศไม่ใช้เรื่องยากเลยหากคุณรู้หลักการและขั้นตอนทั้งหมด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากหากคุณต้องการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ พยายามศึกษาด้วยตนเองหรือสอบถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้รู้ที่มีประสบการณืในการส่งออกสินค้ามาก่อน อย่าปล่อยให้ความไม่รู้ของคุณมาทำลายโอกาสดี ๆของธุรกิจคุณครับ เพราะการส่งออกสินค้าไปยังต่างแดนจะสร้างมูลค่าให้แก่ธุรกิจของคุณอย่าง “มหาศาล” จริง ๆ