เคยสวมหมวกลูกจ้างมาตลอดชีวิต วันหนึ่งเกิดคิดอยากเปลี่ยนมาเป็นเจ้าของกิจการ ควรเริ่มอย่างไร

หนังสือเรื่อง “พ่อรวยสอนลูก” ของโรเบิร์ต คิโยซากิ กล่าวถึงเรื่องเงินสี่ด้านไว้ว่าในโลกนี้มีคนอยู่สองฝั่ง คนฝั่งซ้ายคือลูกจ้าง กับคนทำธุรกิจส่วนตัว ส่วนคนฝั่งขวา คือเจ้าของกิจการ กับนักลงทุน ในทัศนะของโรเบิร์ต คิโยซากิ คนที่ทำธุรกิจส่วนตัวคือคนที่พึงพอใจจะจ้างตนเองทำงาน ชอบคิดเองทำเอง ไม่ชอบให้ใครมาควบคุม รักความอิสระ ชอบกำหนดเวลาทำงานด้วยตนเอง ยินดีทำงานหนัก หากงานนั้นสร้างผลสำเร็จที่คุ้มค่ากับเวลาที่สูญเสียไป

ถ้าคุณมีแนวคิดและความตั้งใจที่จะเปลี่ยนสถานะจากลูกจ้างมาเป็นเจ้าของกิจการ คุณต้องหาตัวช่วยสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง การศึกษาข้อมูล และการเตรียมตัวให้พร้อม เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

1.คิดได้เหมือนเจ้าของกิจการ

ลองหาข้อมูลธุรกิจ ชีวิตและการทำงานของเจ้าของกิจการที่คุณชื่นชอบมาลองอ่านดู ดูสิว่าคุณอยากเป็นเจ้าของกิจการแบบไหน กิจการเล็ก หรือใหญ่ เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่มีโอกาสมากเพียงไร มีคู่แข่งมากแค่ไหน อ่าน ศึกษา วิเคราะห์ แล้วลองเขียนใส่ลงในกระดาษดูว่า คุณสมบัติอะไรที่เขามี คุณสมบัติอะไรที่คุณมี คุณยังขาดอะไร คุณต้องเติมอะไร มองตัวเองให้ขาด วาดฝันของตนให้ชัดเจน นี่คือก้าวแรกของการเป็นเจ้าของธุรกิจ

2.เข้าอบรมในโรงเรียนสอนทำธุรกิจ

การเปลี่ยนฝั่งจากลูกจ้างมาเป็นเจ้าของธุรกิจนั้น เริ่มจากการเปลี่ยนผังความคิดในสมองของคุณเองเสียก่อน โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่กลัวการเปลียนแปลงจึงไม่กล้าก้าวข้ามจากผู้รับเงินเดือนทุกสิ้นเดือน มาเป็นผู้จ่ายเงินเดือนตัวเองและพนักงานทุกวันที่ 30 ของเดือน การเข้าอบรมในโรงเรียนสอนธุรกิจ นอกจากจะให้วิธีการคิดแก่คุณแล้ว ยังมีพี่เลี้ยงคอยสนับสนุนให้กับคุณอีกด้วย

3.มองหาลู่ทางธุรกิจ

ตัวช่วยน่าสนใจในปัจจุบันยังคงยกให้ธุรกิจประเภทแฟรนไชส์ ข้อดีของธุรกิจประเภทนี้ก็คือคุณไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ คุณสามารถขอรับสิทธิ์ดำเนินการจากเจ้าของแฟรนไชส์ที่คุณสนใจ ในวงเงินที่คุณกำหนด แต่คุณเองต้องทำการบ้านให้มาก ต้องมีความเข้าใจตลาดพอสมควร เนื่องจากความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของธุรกิจเป็นของคุณแต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่ของเจ้าของแฟรนไชส์ ดังนั้น คุณต้องมองออกว่าธุรกิจอะไรที่น่าทำ ในจังหวะ โอกาส และทำเลที่คุณมี จากนั้นจึงไปศึกษาว่ามีแฟรนไชส์ประเภทไหน ของบริษัทไหน ที่สอดคล้องกับลู่ทางในการเป็นเจ้าของธุรกิจของคุณ

4.หัดเขียนแผนธุรกิจให้เป็น

แผนธุรกิจ คือเอกสารที่เป็นบทสรุปของวิธีการดำเนินธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการจัดทำขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพของธุรกิจ รูปแบบการดำเนินงาน การจัดหาทรัพยากร วัตถุดิบ ช่องทางการจัดจำหน่าย โอกาสในกาสลงทุน ความเสี่ยง กลุ่มเป้าหมาย รายรับ รายจ่าย ฯลฯ สรุปได้ว่า แผนธุรกิจคือแผนที่ชี้ทางไปยังขุมสมบัติที่มีความสมเหตุสมผล และเดินตามได้จริง การฝึกคิดและเขียนแผนธุรกิจ เป็นการฝึกให้เรามองตลาดให้ออกในฐานะเจ้าของกิจการ ที่จะต้องเป็นผู้นำองค์กรของตนเองไปสู่เป้าหมาย ถ้าคุณเขียนแผนธุรกิจได้ดี คุณจะมีวิสัยทัศน์และมีความพร้อมในการพูดคุยกับคู่ค้าพันธมิตรของคุณ ในกรณีที่คุณพร้อมจะเป็นแฟรนไชส์ซี ไม่มีใครบอกว่าคุณจะต่อรองกับแฟรนไชส์ซอร์ไม่ได้ แต่คุณต้องมีความรู้เสียก่อน เพราะการต่อรองคือศิลปะสู่ความสำเร็จด้วยวิสัยทัศน์ของคุณ

5.หาแหล่งเงินทุน

เมื่อประเมินความต้องการของตนได้แล้ว คุณอาจจะลองใช้เวลาไปพูดคุยกับแหล่งเงินทุน ซึ่งปัจจุบันนี้มีธนาคารต่างๆ ยินดีให้การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ วิธีง่ายๆ คือเข้าไปหารือ เล่าแผนธุรกิจของคุณให้ทางธนาคารได้ฟัง เงินทุนยังไม่ได้ก็ไม่เป็นไร บางครั้งคุณอาจจะได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมอย่างที่คาดไม่ถึง

6.กล้าหรือไม่ถามใจคุณดู

การย้ายฝั่งจากลูกจ้างมาสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก หากเพียงคุณกล้าถอดสลักคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ทิ้ง เปลี่ยนเป็นคำว่า “เริ่มต้นเมื่อไร” คุณก็จะสามารถย้ายฝั่งจากลูกจ้างดีเด่นมาเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน