ทำธุรกิจจุดที่ยากที่สุดสำหรับผมไม่ใช่เรื่องของว่าทำอะไรดี ทำอย่างไรดี เงินทุนมาจากไหน แต่อยู่ที่ว่า “ทำธุรกิจกับใคร” เรื่อง “คน” นี่หละครับที่เป็นเรื่องที่ยากถึงยากที่สุดเลยทีเดียว จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหาให้คิดให้แก้อยู่ตลอดเวลา

ทำธุรกิจกับญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เป็นจุดสุ่มเสี่ยง ที่จะก่อเกิดความสัมพันธ์ที่ “ร้าวฉาน” หากไม่มีการเตรียมการ เตรียมใจ และที่สำคัญคือ “เปิดใจ” ที่จะทำงานด้วยกัน

หลายคนคิดว่าทำธุรกิจกับพี่น้องมันง่าย เชื่อใจ ใช้งานได้ แต่อย่าลืมนะครับ ธุรกิจไม่ได้เดินไปด้วยกันด้วยความเชื่อใจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีเรื่องของ ความสามารถ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

มีให้เห็นเยอะครับ ธุรกิจครอบครัวที่ “ล้ม” เพราะความเห็นแก่ตัวของคนไม่กี่คน คนที่ขยันก็ทำงานกันไป คนที่ขี้เกียจ ก็สบายกันไป สุดท้ายคนขยันก็ไม่อยากทำงานร่วมด้วย แล้วทีนี้จะเหลืออะไรให้เป็นธุรกิจ เรียกว่า เสียทั้งธุรกิจ เสียทั้งครอบครัว

ยังมีอีกหลายประเด็นที่จะเป็น “ปัญหา” ให้การทำธุรกิจแบบครอบครัวที่เราต้องเรียนรู้แก้ไขกันไปนะครับ วันนี้ผมนำแนวทางเบื้องต้นมา บอกเล่าเผื่อท่านที่คิดจะทำธุรกิจแบบครอบครัวมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจ

5 วิธีการสร้างธุรกิจครอบครัว

1.เปิดอกพูดคุย

อย่าชวน ๆ กันมาทำธุรกิจด้วยความเป็น ญาติ เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อน แต่การตั้งต้นธุรกิจต้องคุยกันแบบ “ธุรกิจ” นะครับ อย่าติดลูกเกรงใจมึงเกรงใจกู อยากช่วยให้เขามีงานมีเงิน แต่ไม่ได้คุยกันก่อนว่านี่คือ “ธุรกิจ” นะ

ผมมักจะย้ำเสมอกับเพื่อนที่เข้ามาขอคำแนะนำในการเริ่มต้นธุรกิจ ว่า “คิดให้ดีนะ” มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยหากเราไม่คุยกันให้ รู้เรื่องตั้งแต่ต้น ว่าการทำงาน กับ ความเป็นญาติพี่น้อง มันต่างกัน ต้องรู้บทบาทหน้าที่ ไม่ใช่ใช้แต่ความสัมพันธ์

“เปิดอกพูดคุย” ตั้งแต่ต้น หรือเมื่อเริ่มมีปัญหาก็ต้องพูดคุย ยอมรับฟังปัญหา และช่วยกันแก้ไข อย่าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ “ความเชื่อใจ” หดหาย

ความเชื่อใจมันเปรียบเหมือน กระจก เมื่อมันเป็นรอยแตก รอยปริ เมื่อเราไปส่องเราก็เห็นรอยนั้นอยู่ดี เช่นกันครับ ทำธุรกิจ เมื่อเกิดความขัดแย้งในครอบครัว รอยร้าวนั้นมันก็ยังเป็น รอยแผลติดอยู่ในใจเช่นกัน

เปิดอกพูดคุย แม้มันจะเกิดความร้าวฉาน แต่มันก็นำมาซึ่งความเข้าใจ แต่หากไม่ทำมันก็จะกลายเป็นรอยแผลเป็นรอยแค้นฝังลึก คราวนี้มันจะยากที่ถอนความรู้สึกนั้นนะครับ

คิดให้ดีนะ !!! ถ้าจะทำธุรกิจแบบครอบครัว ถ้ายังไม่พร้อมรับฟังซึ่งกันและกันก็อย่างเพิ่งทำธุรกิจแบบนี้

2.ใช้เหตุผลก่อนอารมณ์

เมื่อทำธุรกิจคุณต้องเป็น “มืออาชีพ” คือยอมรับฟังคำติติง แนะนำได้นะครับ บ่อยครั้งที่อาจจะเกิดเหตุการณ์พ่อแง่แม่งอน อารมณ์พี่น้อง พูดนิดแนะนำหน่อยไม่ได้ ผมบอกได้เลยนี่คือจุดเริ่มต้นที่จะนำพาธุรกิจลงเหว

มืออาชีพ ต้องแยกให้ได้ครับ อารมณ์ กับ เหตุผล คุยกันด้วยเหตุผล ตรรกะ มันอาจจะดูเหมือนพูดง่าย แต่ทำยาก ใช่ครับ !!! ทำไม่ง่าย แต่ต้องทำ

คุณเคยเห็นบริษัทใหญ่ ๆ ที่ไหนเข้ามัวแต่เอาอกเอาใจกันไหมครับ ไม่นะ ทุกอย่างเดินกันไปตามหน้าที่ ความรับผิดชอบคุยกันด้วย เหตุผล ที่ต้องเป็นอย่างนี้ ที่ต้องทำอย่างนั้น

จะมาบอกว่า “ไม่มีอารมณ์” ที่จะทำ “เหนื่อย” ที่จะทำ มันคงไม่ใช่เหตุผล ถ้าเป็นองค์กรใหญ่ ๆ ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น คำตอบคือ คน ๆ นั้นอาจโดนเชิญให้ออกไปแล้วด้วยซ้ำไปนะครับ

ตั้งหลักคุย กันด้วย เหตุผล ช่วยกันนำพาธุรกิจเดินไปข้างหน้า แต่เมื่อใดที่ชักหน้าคุยกันด้วยอารมณ์มันก็คือช่วยกันฉุดธุรกิจลงเหว

3.จ่ายเงินเดือนตามความสามารถ

การวางแผนระบบเงินเดือนเป็นอีกเรื่องที่ต้องยึดกรอบที่บริษัทใหญ่ ๆ เขาทำกัน เงินเดือนจ่ายตามหน้าที่ความรับผิดชอบ ความสามารถในการทำงาน ไม่ใช่จ่ายตามความพึงพอใจ

ระบบการวัดผล ขึ้นเงินเดือน โบนัส ทุกอย่างต้องมีการจัดให้เป็นมาตรฐานนะครับ เหตุผลหนึ่งก็เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ไม่เช่นนั้นแล้ว เรื่องนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ในการเติบโตของธุรกิจ ไม่สามารถรับคนเข้ามาทำงานได้

จะกลายเป็นว่า “คนของใคร” คนใหม่เข้ามาก็ทำงานไม่ได้ เงินเดือนไม่เหมาะสม คนที่ลำบากก็คือเจ้าของกิจการหละครับคราวนี้ กลายเป็นว่า “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” มันพะอืดพะอม ขมอยู่ในใจคนเดียว

4.ยุติธรรมนำธุรกิจ

เรื่องนี้ผมแนะนำว่าให้เราร่างเป็นนโยบายต่าง ๆ ให้ชัดเจนนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวันเวลาทำงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ มาตรการเตือน ลงโทษ เมื่อทำผิดกฏกติกา

อย่าทำธุรกิจครอบครัวแบบมักง่าย คือ อะไรก็ได้ เข้างานกี่โมง เลิกกี่โมง จะทำงานเต็มที่หรือไม่ ใช้เวลางานทำเรื่องส่วนตัวมากไหม

ผมอยากให้เราลองดูตระกูลดัง ๆ เจ้าสัวใหญ่ ๆ ทุกวันนี้ไม่ว่า ในเครือ CP,Central ฯ คำถามคือตอนเริ่มเขาก็เป็นแค่ครอบครัวเล็ก ๆ แต่มาถึงทุกวันนี้ได้ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเขามีการเข้มงวดเรื่องของ กฏกติกา การทำงาน การอยู่ร่วม เขาถึงมาได้จนทุกวันนี้

สำหรับพวกเราที่คิดจะตั้งต้นธุรกิจครอบครัว ก็ควรที่จะช่วยกันวางกฏเกณฑ์ทุกอย่างก่อนที่จะทำงานกันนะครับ ไม่อย่างนั้น “เละ” อย่างแน่นอนครับ

5.สร้างสมดุลครอบครัวธุรกิจ

สุดท้ายของแนวทางที่ผมอยากแนะนำคือ อย่าให้ธุรกิจทำลายความสัมพันธ์ของครอบครัว ข้อนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหาก เราไม่เข้มงวดตั้งแต่ข้อ 1-4 ที่ว่ามาครับ ถ้า 1-4 แย่ มันก็ยากที่จะทำให้ข้อ 5 เป็นจริงได้

เรื่องเงินมันไม่เข้าใครออกใคร เรื่องธุรกิจผลประโยชน์ก็เช่นกันครับ หากมันไม่ลงตัว ครอบครัวก็พัง มิตรภาพก็หายได้

ทางที่ดีที่สุด คือ คุยกันครับ ช่วยกันครับ อย่าเป็นคนนิ่งดูดาย อย่าเอาเปรียบซึ่งกันและกัน แล้วทุกอย่างมันจะค่อยผ่านได้ด้วยดี

ครอบครัว เพื่อน ญาติ พี่น้อง ก็อาจจะมีปัญหากันได้ ลิ้นกับฟัน แต่อย่าให้ถึงกับต้องฆ่าฟันกันเพราะผลประโยชน์ทางธุรกิจนะครับ

หากร่วมงานกันไม่ได้ ก็แยกย้ายกันไปดีกว่า เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันครับ

เพื่อน ๆ ลองนำแนวทางไปปรับใช้นะครับ หรือมีมุมมองธุรกิจ ปัญหาการทำงานร่วมกันลองแนะนำพูดคุยบอกเล่ากันนะครับ