สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจบุกตลาดจีน กำลังมองหาช่องทาง แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง หลายคนมองว่าจีนเป็นดินแดนที่ค่อนข้างปราบเซียน ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1400 ล้านคน รวมถึงศักยภาพในการซื้อสินค้า จึงมีแต่คนที่อยากจะนำเสนอขาย ทั้งจากผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างชาติ หากสามารถนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายได้ นั่นหมายถึง โอกาสมหาศาลในการสร้างรายได้และการเติบโต แล้วการค้าหลังวิกฤตจะเป็นไปในทิศทางไหน อยากลุยตลาดจีนต้องทำอย่างไร กลยุทธ์ใดที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออก สรุปเนื้อหาการสัมภาษณ์คุณ กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ CEO ของ TEC มาแบ่งปันให้กับทุกคน

โอกาสและลู่ทางเปิดตลาดในจีน

ตลาดประเทศจีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพอย่างมาก กำลังซื้อสินค้าสูง โดยเฉพาะตลาดดิจิทัล ซึ่งจีนเป็นประเทศที่มีการเติบโตของ E-commerce มากที่สุดในเอเชีย สำหรับไทย มีข้อได้เปรียบตรงที่ ชาวจีนค่อนข้างชื่นชอบอาหารและการท่องเที่ยวของไทย หากนักธุรกิจไทยท่านใดที่สินค้าดีมีคุณภาพ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้ถูกใจชาวจีน ส่วนการทำการตลาดนั้น ถ้าจะมองว่าง่าย มันก็ง่าย มองว่ายาก มันก็ยาก ส่วนใหญ่มักคิดว่ายาก เพราะไม่เข้าใจในกระบวนการ และศึกษาข้อมูลไม่มากพอ สำหรับธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก อาจใช้เวลานานกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ในการขยายธุรกิจเข้าถึงตลาดจีน แนะนำว่าเติบโตในไทยให้แข็งแรงก่อน มีรายได้แตะหลักล้านต่อปี บางกลุ่มสินค้าแตะหลักสิบล้าน แล้วค่อยไปลุยจีน เพราะตลาดมีการแข่งขันสูงมาก และต้องจัดการในส่วนของการจดทะเบียนบริษัทเอกสาร เรื่องกฎระเบียบ มาตรฐานการผลิต แพคเกจจิ้ง ภาษาบนฉลากสินค้า เป็นต้น ใครที่ไม่เคยทำ ในช่วงแรกอาจเหนื่อยหน่อย แต่ก็คุ้มค่าที่จะลอง เพราะได้ลูกค้าในตลาดที่ใหญ่ขึ้นนั่นเอง

ขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าจากจีนแบบถูกต้องตามกฎหมายเป็นอย่างไร

ถ้าเรารู้วิธีการส่งออกที่ถูกต้อง รู้ว่าจุดขายของสินค้าเราคืออะไร จะพัฒนาให้ดีขึ้น ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายได้ยังไง ทำการตลาดอย่างไรให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า มีโอกาสเป็นไปได้สูงมากที่จะขายสินค้าให้ชาวจีนได้ กระบวนการที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้ มีดังนี้

1.จด Trademark และสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา

ในช่วงเริ่มต้นของการนับหนึ่งส่งออกสินค้าเข้าสู่จีน แนะนำให้จด Trademark เป็นอันดับแรก ทั้งในไทยและจีน แม้จะยังไม่ได้ก้าวสู่ตลาดจีนในทันทีก็ตาม แต่ถ้าวางแผนไว้ว่าจะไป ก็ต้องเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองก่อน ตัดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ดีกว่าไปฟ้องร้องกันภายหลัง

2.ทำ Market Survey

ผู้ประกอบการหลายท่าน ชอบทึกทักไปเองว่า อะไรที่คนไทยชอบ คนจีนก็ชอบด้วย บางสินค้าขายดีมากในไทย ที่จีนอาจจะขายไม่ดีก็เป็นได้ หรือเห็นว่านักท่องเที่ยวจีนซื้อสินค้าบางอย่างจากไทย บางทีเค้าอาจจะซื้อตามที่คนขายแนะนำ โดยที่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะชอบหรือไม่ จนกว่าจะได้ลอง อย่าลืมว่าของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน สุดท้ายแล้วทุกคนก็จะเลือกตามที่ตัวเองชอบ ดังนั้นสินค้าที่ขายดีสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนในไทย อาจจะเป็นคนละอย่างกับที่ชาวจีนซื้อผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซก็ได้ อย่างใน Taobao, Tmall กลุ่มสินค้ายอดนิยมจากไทยคือ  ผลไม้แปรรูป สุขภาพและความงาม แพคเกจเป็นภาษาจีน แต่ Made in Thailand มักจะไม่เห็นตามร้านของฝาก หรือห้างสรรพสินค้าในไทย เพราะทางแบรนด์เน้นส่งออกตีตลาดจีนในระยะยาว ไม่ได้เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว เจ้าของธุรกิจต้องทำการสำรวจตลาดก่อน เพราะพฤติกรรมและความชื่นชอบของลูกค้าชาวจีนแต่ละมณฑลต่างกัน เราจะเจาะกลุ่มไหนก็ต้องดูว่าเค้าชื่นชอบอะไร เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่สินค้าของเราจะตีตลาดได้ทั้ง 1400 ล้านคน

3.เข้าร่วมงานแสดงสินค้า เพื่อสร้างโอกาสเจอคู่ค้า

งานแสดงสินค้านานาชาติ ยกตัวอย่าง กวางเจาเทรดแฟร์ (Guangzhou Fair) เป็นงานที่นักลงทุนและนักธุรกิจทั่วโลกต่างให้ความสนใจ ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการนำเข้า-ส่งออกไม่ควรพลาด

4.ภาษาจีน

เพื่อเข้าถึงลูกค้าชาวจีนมาขึ้น ต้องปรับสินค้าให้พร้อมเข้าสู่ตลาดออฟไลน์และออนไลน์ในจีน ไม่ว่าจะเป็นฉลาก แคตตาล็อก แม้แต่การโฆษณาทางออนไลน์ก็ต้องเป็นภาษาจีน

5.เรียนรู้การใช้เครื่องมือที่จำเป็นในการส่งออกนำเข้า

จะทำการตลาดออนไลน์อย่างไร เพื่อเข้าถึงลูกค้าชาวจีน? นอกจากเรื่องงบประมาณที่ต้องเตรียมให้พร้อมแล้ว ก็ต้องดูว่าใช้เครื่องมืออะไรบ้าง เพราะการขายสินค้าบน E-commerce  ของแต่ละประเทศใช้แพลตฟอร์มที่ต่างกัน อย่างในไทยนิยมขายสินค้าบน Facebook  พูดคุยกันทาง Line  ส่วนในจีนแอปพลิเคชั่นยอดนิยม เช่น TikTok,  Xiaohongshu (Little Red Book), Baidu, Weibo และ Wechat  ถ้าจะบุกตลาดจีน ควรใช้Social Media ช่องทางไหนดี? นี่คือ เครื่องมือการตลาดออนไลน์ที่นักธุรกิจไทยต้องรู้

  • Weibo โซเชียลมีเดียที่คนจีนใช้งานแทน Facebook และ Twitter เป็นช่องทางยอดนิยมสำหรับทำการตลาด ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen-Y และ Z สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ที่กำลังเริ่มต้น หรือมองหาโอกาสทำตลาดจีน อาจเริ่มจาก Weibo เพื่อทำการตลาดเชิงรุก
  • Baidu เว็บ Search Engine อันดับหนึ่งของจีน เป็น Platform ที่เทียบเท่ากับ Google เหมาะสำหรับทำการตลาดเชิงรับ  ซึ่งการทำ Baidu Marketing มีรูปแบบคล้ายกับการทำ Search Engine Marketing (SEM) ใน Google มีทั้งแบบเสียค่าใช้จ่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • WeChat แอปพลิเคชั่นเทียบเท่ากับ Line ช่วยเพิ่มช่องทางสื่อสารให้เข้าถึงลูกค้า ครอบคลุมการใช้งานในหลายมิติ เช่น ส่งข้อความ E-Payment ทางแบรนด์สามารถแชร์เนื้อหาหรือโปรโมชั่นเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรงและทั่วถึงที่สุด สามารถวางกลยุทธ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ และส่งลูกค้าไปสู่เว็บไซต์หลักของแบรนด์ได้

ผู้ประกอบการควรเรียนรู้ในเชิงกลยุทธ์ว่า แต่ละแพลตฟอร์มใช้ทำอะไร  ในขณะเดียวกันแนะนำว่าควรใช้บริการ Digital Agency ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำตลาดออนไลน์จีนควบคู่ไปด้วย

นำเข้าส่งออกการค้าหลังวิกฤตโควิด-19

เชื่อว่าหลังจากพ้นวิกฤตไปแล้ว การนำเข้าส่งออกจะโฟกัสเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น เจ้าของธุรกิจต้องเน้นความสะอาด การฆ่าเชื้อ เพื่อความน่าเชื่อถือแก่คู่ค้าและลูกค้า กล้าที่จะสั่งสินค้าอีกครั้ง ที่ผ่านมาการนำเข้าส่งออกซบเซาลง โลจิสติกส์ล่าช้า แต่ก็จะฟื้นตัวกลับมาได้ ใครที่อยากนำเข้าสินค้าจากจีนมาขายในไทย อาจเจอในเรื่องของสงครามราคา จะเห็นได้ว่าสินค้าที่ขายกันบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของไทย มีราคาถูกมาก เน้นขายในปริมาณมาก สินค้ายอดนิยมที่นำเข้าจากจีนเป็นกลุ่มไลฟ์สไตล์ เฟอร์นิเจอร์ ไอที และเครื่องสำอาง ส่วนใครที่กังวลเรื่องการส่งออกไปจีน ต้องขอบอกว่าไทยติด Top 20 ส่งออกสินค้าไปจีน นับเป็นสัญญาณที่ดี ที่เหลือขึ้นอยู่ว่าเจ้าของธุรกิจเตรียมความพร้อมมากแค่ไหน

ด้วยจำนวนประชากรที่มหาศาล มูลค่านำเข้าส่งออกที่มีปริมาณสูง จีนจึงเป็นประเทศที่น่าจับตามอง สำหรับผู้ประกอบการไทยที่อยากส่งออกจีน ต้องคิดวางแผนให้รอบคอบ เตรียมความพร้อมรอบด้าน พัฒนาสินค้าสู้ศึกในไทยให้แข็งแรงก่อน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออก เมื่อพร้อมแล้วค่อยลุยตลาดจีน

บริการอบรม ให้คำปรึกษา การทำให้สินค้าค้นหาเจอบน Google การทำ Digital Marketing & Brand Storytelling ทั้งแบบรูปแบบองค์กร กลุ่ม และ ตัวต่อตัวForex signal แม่น ๆ