ร้านขายยาเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน เป็นทางเลือกในการใช้บริการของหลายคนเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นหรือหาซื้อยาสามัญประจำบ้านไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน เราจึงเห็นร้านขายยาตั้งอยู่หลายร้านในแต่ละชุมชม ทั้งร้านที่เจ้าของเปิดเองและร้านแฟรนไชส์ บางร้านเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง สร้างความสะดวกให้กับผู้บริโภคในการเข้าถึงร้านขายยา สำหรับใครที่สนใจธุรกิจบริการด้านสุขภาพอย่างร้านขายยา แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ใช้งบประมาณลงทุนเท่าไหร่ บริหารจัดการร้านอย่างไรให้อยู่รอดและประสบความสำเร็จ บทความนี้มีคำตอบ

ทำไมธุรกิจแฟรนไชส์ ร้านขายยาจึงน่าลงทุน

ร้านขายยาเป็นธุรกิจที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน ธุรกิจอยู่ในกลุ่มสินค้าจำเป็น เมื่อใดที่มีอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น และสามารถดูแลตนเองได้ หลายคนเลือกที่จะหาซื้อยามารับประทานเองแทนการไปพบแพทย์หรือหาซื้อเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อุปกรณ์การแพทย์ และอุปกรณ์ผู้ป่วย ในอนาคตที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โอกาสที่บุคคลกลุ่มนี้จะเจ็บป่วยก็มีเพิ่มขึ้น บวกกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ผู้บริโภคใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น เน้นป้องกันมากกว่ารักษา

นี่จึงเป็นโอกาสของธุรกิจร้านขายยาที่จะจับกลุ่มลูกค้าดังกล่าวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อ้างอิงข้อมูลในปี 2560 จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร้านขายยาทั่วประเทศมีมูลค่าตลาดรวมถึง 40,000 ล้านบาท คำถามที่หลายคนสงสัยคือ หากไม่ได้จบทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง สามารถทำธุรกิจนี้ได้หรือไม่ เจ้าของร้านยาไม่จำเป็นต้องเภสัชกร แต่ในร้านจะต้องมีเภสัชกรวิชาชีพประจำร้านและขึ้นทะเบียนร้านให้เรียบร้อย

ต้องศึกษากฎหมายและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดร้านขายยาอย่างละเอียด ซึ่งค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะพอสมควรและเอกสารค่อนข้างมาก รวมถึงแนวทางที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด แฟรนไชส์ ร้านขายยาจึงเป็นทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ และไม่รู้ว่าจะหาเภสัชกรที่ไหน ตลอดจนเภสัชกรที่ต้องการเปิดร้านขายยา ซึ่งคุณภาพและมาตรฐานของแฟรนไชส์ ร้านขายยาสามารถสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคที่มาใช้บริการ

นอกจากนี้ยังมีข้อดีตรงที่ช่วยลดกระบวนการยุ่งยากเรื่องการเตรียมตัว มีการวางระบบบริหารจัดการให้เรียบร้อย มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายให้สอดรับกับผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ จัดหาเภสัชกรและพนักงาน พร้อมทั้งมีการจัดอบรมเป็นประจำ

งบประมาณการลงทุนเบื้องต้นธุรกิจแฟรนไชส์ร้านขายยา

เปิดร้านขายยาเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ก่อนตัดสินใจเลือกว่าจะลงทุนแฟรนไชส์เจ้าไหนดี นอกจากทำความเข้าใจในธุรกิจร้านขายยาแล้ว ควรทำการวิเคราะห์ทำเลเสียก่อน เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคและกำลังซื้อในแต่ละพื้นที่นั้นต่างกัน ซึ่งทำเลเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ในส่วนของงบประมาณเงินลงทุนเริ่มต้นที่หลักแสนกลางๆ ไปจนถึงหลักล้าน บางแบรนด์มีแพคเกจให้เลือกลงทุนตามขนาดของพื้นที่ร้าน นอกจากเตรียมเงินลงทุนค่าแฟรนไชส์แล้ว ต้องเตรียมงบประมาณค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ อีกด้วย เช่น

  • ค่าเช่าร้าน (กรณีที่เช่า) เริ่มต้นที่หลักหมื่น ราคาต่างกันในแต่ละทำเล
  • ค่าสต๊อกสินค้า
  • ค่าจ้างพนักงาน สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ใช่เภสัชกร ก็ต้องจ้างเภสัชกรและผู้ช่วยเภสัชกร
  • ค่าใบประกอบวิชาชีพเภสัช
  • ค่าสาธารณูปโภค
  • ค่าจิปาถะอื่นๆ

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการต้องรู้จักบริหารจัดการต้นทุนให้ดี โดยเฉพาะสินค้าคงคลัง สั่งซื้อสินค้าแต่ละชนิดในปริมาณที่พอเหมาะ สต๊อกสินค้าให้น้อยที่สุด แต่สินค้าจะต้องไม่ขาด เพื่อให้มีกระแสเงินสดเหลือสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในร้าน

กลยุทธ์การตลาดทำแฟรนไชส์ ร้านขายยา ให้ประสบความสำเร็จ

1.จัดเรียงสินค้าให้สวยงามเป็นระเบียบ

วิธีนี้เป็นการเพิ่มคุณค่าของสินค้าที่มีอยู่ในร้านให้ดูน่าซื้อ นอกจากแยกประเภทของยาที่จำหน่ายให้ชัดเจนแล้ว อาจจัดเป็นโซนที่ลูกค้าสามารถบริการตัวเอง เช่น อุปกรณ์สำหรับทำแผล ชุดอุปกรณ์สำหรับล้างจมูก ผลิตภัณฑ์ความงาม เป็นต้น หรือจัดโซนให้เกร็ดความรู้ในการใช้ยา การดูแลสุขภาพเบื้องต้น ที่ลูกค้าสามารถอ่านเข้าใจได้ง่ายในช่วงเวลาที่เข้ามาซื้อสินค้าภายในร้านหรือเภสัชกรกำลังให้บริการลูกค้าท่านอื่นอยู่

2.มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย

ร้านขายยาที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลายหรือแตกต่างจากร้านอื่น เช่น อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์เบื้องต้น สินค้าสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ เวชสำอาง อาหารเสริมต่างๆ เป็นต้น สินค้าเหล่านี้เป็นทางเลือกให้ร้านดูมีความหลากหลายและน่าสนใจมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องสต๊อกสินค้าในปริมาณมาก แต่ไม่ควรให้มีการขาดสต๊อกให้เน้นความหลากหลายและตรงต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้า

3.ให้บริการที่เป็นมิตร มีการพูดคุยให้คำปรึกษาที่ดีแก่ลูกค้า

การรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเป็นที่สิ่งสำคัญ ตัวบุคคลเป็นจุดขายในการช่วยเพิ่มยอดขายเช่นกัน นอกจากคุณภาพและราคาที่เหมาะสม ร้านขายยาที่ใส่ใจลูกค้า เต็มใจให้บริการและให้คำปรึกษาอย่างเป็นมิตร เพราะลูกค้าย่อมคาดหวังที่จะได้รับคำแนะนำที่ดี ถูกต้อง และเข้าใจง่าย หากยาที่แนะนำไปสามารถทำให้หายจากการเจ็บป่วย หรือสินค้ามีประสิทธิภาพตรงตามที่แนะนำ ลูกค้าจะเกิดความประทับใจ จะให้ความเชื่อถือและไว้วางใจ มีโอกาสที่จะกลับมาซื้อยาหรือสินค้าอื่นๆ ซ้ำ และมักจะเป็นลูกค้าในระยะยาว รวมถึงแนะนำบอกต่อให้แก่คนรู้จัก

แฟรนไชส์ร้านขายยา ยี่ห้อไหนดี ? หลักเกณณ์ในการเลือกแฟรนไชส์

1. ชื่อเสียงแบรนด์

แบรนด์เป็นที่รู้จัก รวมถึงเจ้าของแบรนด์ก็ควรจะเป็นที่รู้จักมีความน่าเชื่อถือ

2. ระบบแฟรนไชส์ ถ่ายทอดความรู้ การสนับสนุนด้านต่างๆ

การฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ ระบบสนับสนุนทางด้านการขายหน้าร้าน บัญชี สต็อก ฯ รวมถึงการตลาด ที่บริษัทแม่สนับสนุนให้

3. รายได้ กำไรต่อหน่วยลงทุน

พิจารณาสินค้าหรือบริการที่นำมาขายนั้นกำไรต่อหน่วยเพียงพอกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าสถานที่ ค่าน้ำค่าไฟ และ ค่าพนักงาน แล้วมีกำไรเหลือกำไรเหมาะสมตามที่เราต้องการมากน้อยเพียงใด

4. งบประมาณการลงทุน ระยะเวลาคืนทุน

เงินลงทุนเบื้องต้นเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายระหว่างการทำธุรกิจต่างๆ เท่าไหร่ และสามารถคืนทุนได้เมื่อไหร่ ทั้งหมดนี้ต้องลองนำมาคำนวณเบื้องต้น เพื่อจะได้ดูความคุ้มค่าในการที่จะลงมือลงแรง

5.ระยะเวลาสัญญา

สัญญาแฟรนไชส์มีระยะเวลากี่ปี เงื่อนไขในการอยู่ในระหว่างการทำธุรกิจมีอะไรบ้าง เช่นการซื้อวัตถุดิบต่างๆ  เงื่อนไขกรณีเกิดข้อพิพาทต่างๆ รวมถึง เงื่อนไขในการต่อสัญญามีอย่างไร เหล่านี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ

ผู้ที่สนใจลงทุนแฟรนไชส์ ร้านขายยา ต้องมีความเข้าใจในธุรกิจ ศึกษาข้อกำหนดทางกฎหมาย และหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะทำธุรกิจใดนั้น หากโอกาสทางการตลาดสูง ย่อมมาพร้อมกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการต้องตื่นตัว ปรับตัวให้ทัน และเตรียมความพร้อมรับมือในด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

สำหรับเจ้าของแฟรนไชส์ร้านขายยา ที่ต้องการแนะนำแฟรนไชส์ร้านขายยาน่าลงทุนในบทความนี้สามารถติดต่อได้ ที่นี่