หลายคนอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ อยากมีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน จะผลิตสินค้ายังไง จะต้องใช้เงินมากแค่ไหน และร้อยแปดปัญหาของว่าที่เจ้าของธุรกิจทุกคนประสบปัญหา “ไปไม่เป็น”

เคล็ดลับของการประกอบธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จนั้น นอกจากการวางแผนที่ดี มีการศึกษาเทรนด์ตลาด  มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน และอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการประกอบธุรกิจการขายสินค้า คือ “การผลิตสินค้า”

ธุรกิจ OEM ถือเป็นผู้ช่วยที่สร้างฝันให้เป็นจริงสำหรับ SME มือใหม่ ที่ยังต้องการผู้ช่วยในด้านการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานเพื่อลดการจ่ายเงินก้อนใหญ่ในการซื้อเครื่องจักรและโรงงานผลิตสินค้า ในระยะเริ่มต้นธุรกิจ

OEM คืออะไร ทำไมต้องใช้ OEM

OEM ย่อมาจาก Original Equipment Manufacturer คือ ผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ตามแบบ หรือสูตรที่ต้องการ โดยปัจจุบัน บริษัท OEM ไม่ได้รับแค่ผลิตสินค้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีออฟชั่นเสริมต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเจ้าของธุรกิจ SME รายใหม่ ๆ ที่ยังไม่เจนตลาด ให้สามารถก้าวผ่านปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์ได้แบบครบวงจร

คุมต้นทุนได้ งบไม่บานปลาย

เพราะ OEM มีพร้อมทั้งเครื่องจักร และแรงงาน คุณไม่จำเป็นต้องเสียเงินก้อนโต มาลงทุนในส่วนของเครื่องจักร ไม่ต้องจ้างแรงงานในการผลิตสินค้า ลดปัญหาหยุมหยิมเรื่อง เครื่องพัง คนไม่พอ ผลิตสินค้าไม่ทัน  พนักงานไร้ฝีมือ ช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องมาปวดหัวกับเรื่องหยุมหยิม  และไม่ต้องกังวลเรื่องส่วนสูญเสียจากการผลิตที่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่ลงทุนผลิตสินค้าเอง และทำให้สามารถรู้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่อชิ้น ต่อล็อตได้ทันที

ไม่มีสูตร แต่อยากขาย OEM ช่วยได้

บริษัท OEM มีสูตรการผลิตสินค้าสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่รู้ว่าอยากขายอะไร แต่ไม่ได้มีสูตรเด็ดสูตรดังมาสั่งให้ผลิต  หรือบางคนไม่อยากใช้สูตรการผลิตร่วมกับใคร คุณสามารถแจ้งความ ประสงค์ให้ OEM พัฒนาสูตรเฉพาะสำหรับแบรนด์ของคุณได้ โดยจ่ายค่าคิดค้นสูตรเฉพาะสำหรับคุณแต่เพียงผู้เดียวเพียงเล็กน้อย และยังสามารถปรับแก้สูตรการผลิตได้จนกว่าคุณจะ “โอเค”

อยากได้แพคเกจจิ้งดี ๆ OEM ก็มีให้

แพคเกจสินค้าถือเป็นรูปลักษณ์ภายนอกของสินค้า เปรียบเสมือนเสื้อผ้าของผลิตภัณฑ์  เป็นตัวช่วยในการดึงดูดให้ลูกค้า “หยุดมอง” ซึ่งเป็นสัญญาณแรกของการ “ตัดสินใจซื้อ”  บริษัท รับจ้างผลิต หลายแห่งมีทีมออกแบบผลิตภัณฑ์และโลโก้สินค้าให้บริการสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ยังเคว้งคว้างหาทางออกไม่ได้เรื่องรูปแบบแพคเกจจิ้ง   เพียงแจ้งคอนเซปท์ของแพคเกจของสินค้าที่ต้องการเท่านั้น ทีมออกแบบแพคเกจผลิตภัณฑ์จะทำการออกแบบให้โดยอาศัยคอนเซปท์ที่คุณต้องการ และคำนวณราคาของการสั่งทำแพคเกจของสินค้าให้คุณพิจารณาล่วงหน้าได้อีกด้วย

จะขอใบอนุญาตอะไร ก็ซัพพอร์ตให้ได้ หายห่วง

ไม่ว่าสินค้าของคุณจำเป็นต้องขอ อย. (สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา )   มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม)  หรือหน่วยงานอะไรต่อมิอะไร บริษัท OEM สามารถให้คำปรึกษาว่าสินค้าของคุณจะต้องขออนุญาตหน่วยงานไหนบ้าง  ต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่  เพราะ พวกเขาล้วนต้องยื่นขออนุญาตต่อหน่วยงานราชการก่อนทำการผลิตและขายมาก่อนคุณ นอกจากนี้ OEM บางบริษัทยังมีบริการยื่นขออนุญาตแทนคุณเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการอีกด้วยค่ะ

เรื่องการตลาดปรึกษาได้ พร้อมให้บริการเต็มที่ 

เพราะคุณคือลูกค้าของพวกเขา  หากสินค้าของคุณปัง ยอดผลิต ก็ปังตามไปด้วย หากชั่วโมงบินเรื่องการตลาดของคุณยังน้อย คุณสามารถเข้ารับการฝึกอบรมตามสถาบันต่าง ๆ หรือขอคำปรึกษาจากบริษัท OEM ก็ได้  บริษัทคู่ค้าของคุณพร้อมให้คำปรึกษาด้านการตลาดและโฆษณาให้คุณอย่างเต็มที่อยู่แล้ว เพราะเมื่อคุณเลือกที่จะให้ เขา ผลิตสินค้าให้ นั่นหมายถึงพวกเขาได้ลงเรือลำเดียวกันกับคุณ รายได้ของคุณ ก็คือรายการคำสั่งผลิตสินค้าของเขา  ดังนั้น ในเบื้องต้นหากไม่รู้จะหันหน้าหาใคร OEM ที่เป็นคู่ค้าของคุณนี่แหละ คือคู่คิดที่ดีเยี่ยมเลยล่ะ

หลักการเลือก OEM มือขวาที่จะพาคุณสู่ความสำเร็จ

บริษัทรับจ้างผลิตในบ้านเรามีเป็นร้อย ๆ บริษัท คุณควรเลือกคู่ค้าที่ดีมีจรรยาบรรณ เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้สูตรการผลิตที่มีค่าดังทองคำของคุณรั่วไหล หรือถูกใครก็ไม่รู้ชุบมือเปิบไปได้ง่าย ๆ  รวมไปถึงความไม่ซื่อสัตย์อื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต วิธีการตรวจสอบบริษัท OEM ก่อนตัดสินใจทำสัญญาว่าจ้างเบื้องต้น มีดังนี้ค่ะ

  1. ศึกษาหาข้อมูลของบริษัทที่คุณสนใจจากแหล่งข่าวต่าง ๆ ว่าบริษัทดังกล่าว เคยได้รับรางวัลการันตีความสำเร็จอะไรมาบ้าง เช่น รางวัล OTOP, รางวัลสุดยอด SME , รางวัลสถานประกอบการดีเด่น เป็นต้น รางวัลเหล่านี้นอกจากการันตีเรื่องควมสำเร็จและความน่าเชื่อถือของ OEM แล้ว ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ของคุณว่าได้ผลิตจากโรงงานที่ดีมีมาตรฐานผ่านการรับรองจากหน่วยงานภายนอกมาด้วย
  2. ตรวจสอบการจดทะเบียรธุรกิจกับหน่วยงานราชการ, การขออนุญาตประกอบการโรงงาน และการขออนุญาตกับหน่วยงานเฉพาะสำหรับการผลิตสินค้าแต่ละประเภท เพื่อความมั่นใจว่าโรงงานเป้าหมายนั้น มีตัวตนอยู่จริง และยังมีการดำเนินงานอยู่จริง
  3. ตรวจสอบสถานที่ตั้งของสถานประกอบการ ว่ามีความน่าเชื่อถือ และถูกสุขลักษณะหรือไม่…คุณคงไม่โอเคหาก OEM ที่คุณว่าจ้างให้ผลิตสินค้า ดำเนินการผลิตสินค้าของคุณในห้องแถวเล็ก ๆ หรืออยู่ในหมู่บ้านจัดสรร เพราะนอกจากจะไม่สามารถการันตีเรื่องสุขอนามัยได้แล้ว ความน่าเชื่อถือก็แทบจะไม่หลงเหลืออีกด้วย ดังนั้น หากคุณปักธงว่าสนใจว่าจ้างบริษัทนี้ผลิตสินค้าให้คุณแล้ว คุณควรขอเข้าเยี่ยมชมสถานที่จริงก่อนตัดสินใจทำสัญญาว่าจ้างดีกว่ามาเสียใจเอาทีหลัง
  4. ตรวจสอบสินค้าจากแบรนด์สินค้าอื่น ๆ ที่ผลิตจาก OEM เป้าหมาย ว่ามีเสียงตอบรับจากผู้บริโภคดีมากแค่ไหน มีข้อวิพากษ์วิจารณ์หรือข้อร้องเรียนในแง่ลบบ้างหรือไม่ เช่น แบรนด์สินค้าประเภทอาหารอบแห้ง  เคยมีผู้ร้องเรียน หรือโพสต์ข้อความเชิงลบเกี่ยวกับความสะอาดหรือรสชาติของผลิตภัณฑ์หรือไม่  ถ้ามีควรมองหาเป้าหมายอื่น ๆ เพื่อเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจนะคะ

        สำหรับมือใหม่ที่ต้องการริเริ่มธุรกิจบริษัท OEM ถือเป็นตัวช่วยที่น่าสนใจ เพราะนอกจากช่วยลดต้นทุนแล้วยังช่วยลดภาระเรื่องแรงงานและปัญหาจุกจิกในกระบวนการผลิตลงได้

ว่าที่เจ้าของธุรกิจคนใหม่สามารถใช้โอกาสนี้ในการวางแผนการตลาด และศึกษาหาช่องทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ของคุณเพื่อสร้าง

เมื่อคิดจะเริ่ม ก็ควรรีบ…รีบศึกษาหาลู่ทางที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจของคุณตั้งแต่วันนี้ เถอะค่ะ

บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนบทความสร้างรายได้ รุ่น 2”

คุณ สุภารัตน์  ศรีลา (แต)

ปริญญาตรี บริหารธุรกิจบัณฑิต

มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา

ปัจจุบัน พนักงานบริษัท และตัวแทนประกันชีวิต

บทความเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์