ผลผลิตทางการเกษตรที่ล้นตลาดเกินความต้องการของผู้บริโภค สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ราคาผลผลิตตกต่ำ ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่กระทบต่อการส่งออกผักผลไม้ไปต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาพืชผลตกต่ำลงเรื่อยๆ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นวิธีที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษา สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทาง เช่นเดียวกับแขกรับเชิญท่านนี้ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ นำผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดมาต่อยอดผ่านสิ่งที่ชื่นชอบและถนัด คุณปรีชานนท์ สรรพจิตต์ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชนแปรรูปไม้ผลต้นน้ำตาปี

จากธุรกิจร้านอาหาร สู่เส้นทางการเกษตร

ก่อนหน้านี้คุณปรีชานนท์ทำธุรกิจร้านอาหารที่จังหวัดอยุธยา เมื่อได้รับผลกระทบจากวิกฤตแศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540  จึงตัดสินใจย้ายกลับไปนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิด ทำการเกษตร ปลูกพืช ทำปุ๋ยหมัก จนถึงปีพ.ศ. 2552 ได้กลับมาทำธุรกิจร้านอาหารอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นตั้งใจแล้วว่าจะไม่ทำธุรกิจนี้อีก แต่ด้วยความที่ชื่นชอบการค้าขายจึงอยากที่จะลองอีกสักครั้ง คุณปรีชานนท์มองว่าแม้จะเคยล้มเหลวในธุรกิจมาก่อน แต่ก็ได้ประสบการณ์กลับมาเช่นกัน ทำให้เห็นว่ามีส่วนไหนที่ต้องปรับปรุงบ้าง

ส่วนตัวคุณปรีชานนท์เป็นคนที่ชื่นชอบการดื่ม ประกอบกับที่บ้านมีผลผลิตจากมังคุดในปริมาณที่ค่อนข้างเยอะ จึงประสบกับปัญหามังคุดล้นตลาด ส่งผลให้ราคาผลผลิตตกต่ำ ทั้งที่เมื่อก่อนแทบไม่ได้ใส่ใจเกี่ยวกับการทำเกษตรเลย จนเมื่อมีโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ หนึ่งในโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คุณปรีชานนท์จึงได้โอกาสเข้าร่วมเป็นประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่มังคุด การที่ได้ใช้เวลาทุ่มเทและศึกษาเกี่ยวกับมังคุด ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้คุณปรีชานนท์เริ่มคิดต่อยอดว่าจะเอามังคุดมาทำอะไรได้บ้าง จากนั้นได้พูดคุยกับสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ปัญหาเรื่องราคาผลผลิต ขืนยังปล่อยให้ราคามังคุดตกต่ำต่อไปเรื่อยๆ อาจส่งผลกระทบไปถึงคนรุ่นหลัง ทำให้ไม่มีใครอยากกลับมาทำสวนที่บ้านเกิด แต่ถ้ารู้จักเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ให้คนในชุมชน ก็น่าจะเป็นแรงจูงใจได้

ไวน์มังคุด จากวัตถุดิบชุมชน ผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยวิสาหกิจชุมชนแปรรูปไม้ผลต้นน้ำตาปี

เมื่อเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกวิสาหกิจชุมชนแปรรูปไม้ผลต้นน้ำตาปีเห็นด้วยกับแนวคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร คุณปรีชานนท์มีความคิดที่จะผลิตไวน์จากมังคุด โดยให้เหตุผลว่ามาจากความชื่นชอบส่วนตัวเกี่ยวกับเครื่องดื่มประเภทนี้นั่นเอง เพราะคิดว่าหากเลือกทำในสิ่งที่ชอบหรือถนัดจะเป็นแรงผลักดันให้ทำสิ่งนั้นได้ดี อยากที่จะผลิตไวน์มังคุดให้ได้รสชาติที่ดี ในตอนนั้นยังไม่คิดเรื่องการจำหน่าย ผลิตไว้ดื่มกันภายในแต่ละครอบครัวเท่านั้น

ในปีพ.ศ. 2560 จึงได้เริ่มทดลองผลิตไวน์มังคุดแจกจ่ายให้กับสมาชิกและชาวบ้านในชุมชน สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนที่จบทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Science)  เป็นคนจัดการด้านการผลิตและการแปรรูป โดยมีภาครัฐให้การช่วยเหลือทางด้านวิชาการ

ปีพ.ศ. 2561 ได้รับเชิญให้ไปออกบูธที่ไบเทคบางนา กระแสตอบรับดีมาก  จึงเริ่มมีการพัฒนาสินค้า ศึกษาการทำธุรกิจ การขออนุญาตจัดจำหน่ายจากกรมสรรพสามิต ได้รับความช่วยเหลือจากทางมหาวิทยาลัยในการทำวิจัย แนะนำการสร้างห้องสำหรับหมักไวน์ให้เป็นไปตามมาตรฐานโรงสุราแช่ชุมชน จนเกิดแบรนด์ “ไวน์พ่อเฒ่า” ที่อาศัยกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมและใช้เวลา 2 ปีในการพัฒนา ซึ่งการผลิตไวน์ชุมชน โรงสุราแช่ชุมชน จังหวัดนครศรีธรรมราชมีแค่ 3 โรงเท่านั้น

สินค้าประเภทไวน์ของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปไม้ผลต้นน้ำตาปี มีไวน์มังคุด ไวน์มะไฟกา ไวน์มะนาวโห่ ไวน์กระเจี๊ยบ กระบวนการขออนุญาตจากกรมสรรพสามิต ต้องยื่นเอกสารว่าผลิตภัณฑ์ไวน์ของเราใช้ผลผลิตอะไรจากนั้นกรมสรรพสามิตจะเข้าตรวจโรงผลิต เอกสารขั้นตอนการผลิตระบุ ชื่อแบรนด์ โลโก้ ข้อความ ขนาดตัวอักษร วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ ปริมาณที่บรรจุ ระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในไวน์ รวมถึงเอกสารทางบัญชี และเอกสารประกอบอื่นๆ เมื่อเอกสารผ่านการตรวจสอบแล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตที่เป็นไปตามที่กรมสรรพสามิตกำหนด ไวน์ที่ถูกผลิตจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานก่อนจัดจำหน่าย

นอกจากไวน์แล้วทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้แปรรูปสินค้าที่ทำจากมังคุด คือ แยมมังคุดทำจากเนื้อส่วนที่ไม่มีเมล็ด ท็อฟฟี่มังคุดทำจากเนื้อที่มีเมล็ด ผงมังคุดทำมาจากเปลือกอบแห้ง เป็นการนำมังคุดหนึ่งลูกมาแปรรูปได้อย่างคุ้มค่า อย่างเปลือกมังคุดสามารถนำไปทำเป็นสารตั้งต้นผลิตภัณฑ์ความงาม เช่น สบู่ สครับขัดผิว ผงแช่เท้า หากมีนักเรียนหรือบุคคลที่สนใจอยากนำเปลือกมังคุดไปแปรรูป สามารถติดต่อทางวิสาหกิจชุมชนแปรรูปไม้ผลต้นน้ำตาปีได้

การปรับตัวในช่วงวิกฤตโควิด-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น ทำให้งานแสดงสินค้าต่างๆ ถูกยกเลิก นั่นเป็นช่องทางหลักในการจัดจำหน่ายไวน์ แต่ก็มีลูกค้าที่รู้จักกันและลูกค้าประจำติดต่อขอซื้อ ในช่วงที่ทุกคนต้องอยู่บ้านกันเป็นส่วนใหญ่ คุณปรีชานนท์มองว่ายังมีโอกาสที่จะขายสินค้าได้ เพียงแค่ต้องกล้าเท่านั้น อย่างการไลฟ์ขายสินค้า เป็นวิธีการนำเสนอที่ไม่ยุ่งยาก แค่ต้องบอกไปว่า เราเป็นใคร สินค้าคืออะไร ผลิตที่ไหน อยากขายของได้ก็ต้องบอกให้คนอื่นรับรู้ แน่นอนว่าการจำหน่ายไวน์ไม่สามารถโฆษณาได้ วิธีไลฟ์ขายสินค้าสไตล์คุณปรีชานนท์จึงเน้นไปที่การแสดงท่าทางเพื่อเป็นการสื่อสารไปยังผู้ชม โดยให้คำแนะนำว่าการไลฟ์ขายของต้องมั่นใจในตัวเอง กล้านำเสนอ ฝึกฝนบ่อยๆ การที่เรารู้จริงในสิ่งที่ทำ สามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ตั้งแต่กระบวนการผลิต ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่แบรนด์

อย่างในช่วงที่ร้านอาหารของคุณปรีชานนท์ต้องปิดกิจการชั่วคราว ก็ได้หันมาทำเกษตร เริ่มปรับปรุงสวน ทำปุ๋ยชีวภาพ ขายผลไม้ออนไลน์ทาง Facebook Page  ส่วนปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการขนส่งที่ล่าช้า คุณปรีชานนท์เลือกที่จะเคลมสินค้าที่เสียหายทั้งหมดให้แก่ลูกค้า เพราะความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญในการค้าขาย ต้องพิถีพิถันทุกขั้นตอนเพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ ใช้เวลาในช่วงวิกฤตนี้เรียนรู้ว่าสินค้าของเรายังมีส่วนใดที่ต้องพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นบ้าง พยายามปรับตัวให้ได้แม้ในยามวิกฤต ศึกษาช่องทางการตลาดออนไลน์เพิ่มเติม เรียนรู้เทคโนโลยี รู้จักนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งหมดนี้เป็นการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์

การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูป ไม่เพียงสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกเท่านั้น การบอกเล่าเรื่องราวที่สามารถสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจ ช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตรได้เช่นกัน หากสินค้านั้นโดนใจผู้บริโภคและได้รับความนิยม ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จในตลาดได้ สนใจสินค้าจากวิสาหกิจชุมชนแปรรูปไม้ผลต้นน้ำตาปี ติดต่อได้ที่คุณติ 0819796110