มาถึงบันทึกนี้ที่ผมคงต้องบอกกับเหล่า ๆ ลูกจ้างหรือเจ้าของกิจการที่เป็นสาวก หรือผู้ที่คลั่งไคล้ในความคิดของ Tim Ferriss ผู้แต่งหนังสือ The 4-Hour Workweek กันก่อนนะครับว่า ผมไม่ได้มีประเด็นคัดค้าน มุมมองใด ๆ เพียงแต่จะชี้ให้เห็นบางมุม บางประเด็นที่พวกเราหลายคนไปจับเอาประเด็นของ “ผล” งานมากกว่า “ต้นเหตุ” ของเรื่อง

อะไรคือแกนของหนังสือเล่มนี้ “DEAL”  หรือ “ดีล”  แปลความเป็นไทยก็คือ การติดต่อประสานงาน การเจรจา ประมาณนี้นะครับ แต่ในความหมายที่แฝงมาคือ “การจัดการ” อะไรสักอย่าง ในที่นี้มันก็คือ “ชีวิต เวลา และ งาน”

Ferriss ได้ให้นิยามของและ การจัดการ “ชีวิต เวลา และงาน” ของ คำว่า “DEAL” ไว้ดังนี้ครับ

ขั้นตอนที่ 1: D is for Definition ความหมายคือ ให้เรา “นิยาม” หรือให้ “ความหมาย” ของความสำเร็จในชีวิตเสียใหม่ ทุกอย่างไม่ได้ผูกติดอยู่กับจำนวน “เงิน” ที่มากมาย แต่ความสำเร็จอยู่ที่ “เวลา” ที่ได้ใช้ “เงิน” และนำ “เงิน กับ เวลา” มาเพิ่มคุณค่าให้กับ “ชีวิต”

ดูแล้วอาจจะงง ผมสรุปให้ครับ !! เลิกโฟกัสชีวิตไปที่ “เงิน” ครับ เงิน 100 ล้านก็ทำให้คุณมีความสุขไม่ได้ถ้า คุณไม่มี “เวลา” ที่จะใช้ “เงิน” แม้เงินเพียง 10,000 บาทก็ทำให้คุณมี “ความสุข” ได้ถ้า “เงิน” นั้นไหลมาตลอดเวลา โดยที่คุณมี “เวลา” ใช้ “ชีวิต” ในแบบที่คุณต้องการ

ขั้นตอนที่ 2: E is for Elimination ความหมายคือ ให้เรา “ปลดปล่อย”  การกระทำสิ่งที่ เบียดบัง เวลาออกไปให้หมด เลิกยุ่ง เลิกสนใจ (เรื่องชาวบ้าน) ขอคืนพื้นที่ “เวลา” ที่มีค่าให้กลับมาเป็นของเรา นั่นหมายความว่า “ใช้ชีวิตตามใจชอบ” กำหนดกรอบชีวิตด้วยตัวของตัวเอง

การบริการจัดการเรื่องเวลา ไม่ใช่เรื่องของ “ตารางงาน” แต่เป็นเรื่องของ “ตารางชีวิต” นั่นหมายความว่าบางสิ่งที่มัน “ไม่จำเป็นต่อชีวิต” ก็เขี่ยมันทิ้งไปไกล เมื่อ “ขยะที่ฆ่าเวลา” ถูกทำลาย กวาดออกไปจากวงจรชีวิต ที่เหลือก็จะเป็น “เวลาคุณภาพชีวิต”

อะไรบ้างที่เป็น “เศษขยะเวลาไร้ค่า” การดูละครน้ำเน่า ตามเฟสเรื่องไร้สาระ นั่งตอบเมล์เป็นวัน ๆ พูดคุยกับคนที่มองโลกในมุมมืด เป็นต้น นี่คือ “จุดอ่อน” ที่ต้อง “กำจัด”

ขั้นตอนที่ 3: A is for Automation ความหมายคือ ติดตั้งระบบ “ทำเงิน ทำงาน อัตโนมัติ” เอาท์ซอร์ส ทุกอย่างที่คนอื่นสามารถทำแทนได้ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ปล่อยให้ระบบอัตโนมัติ “ทำงาน และ ผลิตเงินให้เรา”

คิดทุกอย่างให้เป็น เอาท์ซอร์ส ทำทุกอย่างให้สามารถทำงาน อัตโนมัติได้ โดยที่เราใช้เวลาในการดูแล เข้าไปเกี่ยวข้อง และดำเนินการให้น้อยที่สุด

นี่คือ “กุญแจ” ของการที่เราจะสามารถทำงานน้อย แต่ได้เวลาและเงินกลับมามากยิ่งขึ้น ได้ออกไปใช้ชีวิต สร้างรูปแบบชีวิตของตัวเอง

ขั้นตอนที่ 4: L is for Liberation ความหมายคือ ปล่อยให้ชีวิตได้มีอิสระ ท่องโลกกว้างไร้พรมแดน อยากทำงานจากที่ไหนก็ทำ ไม่มีเจ้านาย ไม่มีลูกน้อง ไม่มีแล้วโลกของ งานที่ต้องทำ มีเพียงชีวิตที่ต้องใช้ให้คุ้มค่า

เมื่อทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ เงินเข้าตลอด งานไม่ต้องดูแล ชีวิตก็ถูกปลดปล่อยจากพันธนาการ ก้าวสู่อิสรภาพที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์ มีโอกาส เสาะแสวงหา เดินทางเพื่อ “สำรวจโลก” พร้อม ๆ กับการ “สำรวจตัวเอง”

ทั้ง 4 ขั้นตอนรวมกันมาเป็น DEAL หรือ “การจัดการ” เพื่อทำให้เป็น “สบายดี แต่รวยได้” ที่หลายคนปรารถนาและต้องการ

ความจริงนิสัยพวกเราคนไทยโดยส่วนใหญ ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ คือ มักจะทำกลับกันจาก DEAL กลายเป็นLAED ไม่ได้มีความหมาย คือ ใช้ชีวิตแบบสบายก่อน อย่างอื่นค่อยว่ากัน

เมื่อ ความสบายเข้ามาก่อนแล้วความรวยมันจะตามมาได้อย่างไร ? สบายดี ไม่มีรวย ครับ

เพราะเบื้องลึก เบื้องหลังเราไม่มี และไม่สนใจที่จะ จัดการสิ่งที่ควรจัดการ ไม่บริหารสิ่งที่ควรบริหารให้ดี หวังแต่ “ผล” ไม่ได้สนใจ “เหตุ”

ไม่มีระบบอัตโนมัติใดเกิดขึ้นได้หากเราไม่ทดสอบทำแบบแมนนวล หรือ ลงมือทำกับมือก่อน เราไม่สามารถกระจายงานหรือ เอาท์ซอร์ส ทุกอย่างออกไปได้ถ้าเราไม่มี “ความคิด และ เงิน”

พวกเราขาดการจัดการ “ชีวิต” บริหาร “งาน” ใช้ “เวลา” ให้ “คุ้มค่า” แต่ต้องการ “ผล” ของความสบายเป็นที่สุด ยึดโยงชีวิตไว้กับรูปแบบความสำเร็จของคนอื่น สนใจแค่รูปแบบความสำเร็จที่วางอยู่ตรงหน้า ไม่ศึกษาลงลึก ทำความเข้าใจว่า “เขาได้มาอย่างไร” และ “เราควรปรับปรุงพัฒนาอย่างไร”

นี่คือ “ปัญหาหลัก” และ เป็น “ปัญหาหนัก” สำหรับคนที่เป็น “ลูกจ้าง” ที่ย่ำชีวิตอยู่กับที่ แม้หัวใจอยากจะ “ลาออก” แต่นั่นมันเป็นเรื่องของ “อารมณ์” เสียเป็นส่วนใหญ่ครับ

ชีวิต การแก้ปัญหา ไม่เคยได้ผลในทางที่ดีเลย !! เมื่อเราตัดสินด้วย อารมณ์ “อยากลาออก” เป็นอารมณ์ เพราะความเบื่องาน เบื่อเจ้านาย เบื่อลูกน้อง ฯ มันใช่เหตุผลที่เหมาะที่อยู่หรือ ที่ว่ามาล้วนเป็นเรื่องของ “อารมณ์” ทั้งสิ้น

เอาหละครับ !! ถ้าเราต้องการชีวิตแบบ Tim Ferriss ก็ต้องถอดรหัสลองทำตามขั้นตอนเบื้องต้น DEAL  ครับ โอกาสที่จะใช้ชีวิตแบบ สบายดี แต่รวยได้ นั้นย่อมมีแน่ครับ

หากไม่เดินตามแนวทาง หวังแค่ความสบาย ชาติหน้าก็ไม่มีรวย…

ผมขมวดปม ของ 4HWW เพื่อให้เห็นภาพความสำเร็จโดยใช้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าเป็น “แกน” เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้นนะครับ ผมอ้างอิงหลักธรรมที่ว่าด้วย “อิทธิบาท ๔”

แนวทางชีวิต 4 ประการเพื่อทำให้หน้าที่การงาน ชีวิตประสบความสำเร็จ เป็นหลักโดยทั่วไป ที่แม้ใครนำมาใช้ปฏิบัติ ได้แค่ ครึ่งหนึ่งผมเชื่อว่า “สบายดี แต่รวยได้” นี้เรื่องธรรมดาเลยครับ

หลัก อิทธิบาท ๔ มีอะไรบ้าง

๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น

๒. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น

๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น

๔. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

 

ฉันทะ คือความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ ความพอใจ ไม่ได้บอกว่าไม่ให้เรา “พัฒนา” หรือ “เติบโต” ไปข้างหน้า ความพอใจ คือการที่เรา ยินดีกับสิ่งที่เรามี ไม่ใช่มักมาก โลภมาก ใคร่ได้อยากมีจากคนอื่น ทำในสิ่งที่รัก รักในสิ่งที่ทำ

วิริยะ คือความพากเพียร หมายถึงการการะทำที่ติดต่อไม่ขาดตอนเป็นระยะยาว จนประสบความสำเร็จ คำนี้มีความหมายของความกล้าหาญเจืออยู่ด้วยส่วนหนึ่ง

จิตตะ คือ เอาชีวิต จิตใจผูกไว้กับสิ่งที่ทำ หมายถึง สมาธิ การจดจ่อ ไม่วอกแวก ไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง ถ้าเราเอาชีวิต จิตวิญญาณ ผู้กับสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเกิดผลเป็นอย่างดี เพราะนั่นเรากำลังทำทุกสิ่งอย่างเพื่อตัวของเราเอง

วิมังสา หมายถึงความสอดส่องในเหตุและผลแห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้รวมความหมายของคำว่าปัญญาไว้อย่างเต็มที่ นี่คือเรื่อง “สำคัญ” นั่นคือ “เหตุและผล” ครับ

เอาหละครับ คุณสามารถกำหนดแนวทางชีวิต ความสำเร็จ ของคุณได้ตามแนวทาง 4HWW ตามตัวอย่างที่ Tim Feriss แนะนำ นั่นย่อมดีแน่ แต่ถ้าเรามองแค่ “ผล” แล้วยึดมาเป็น “สรณะ” นั่นคือหนทางของ “มรณะ” อย่างแน่นอน

จะก้าวออกจากชีวิต…ลูกจ้าง ถ้าคุณยังไม่เคยลองใช้เหตุ และผล ยึดแนวทาง “อิทธิบาท ๔” ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายครับที่จะออกมาเป็น “นายตัวเอง”