เมื่อรายได้จากต่างประเทศต้องเสียภาษี

เมื่อเกิดประเด็นร้อนขึ้นอย่างการเรียกเก็บภาษีเงินได้ที่มาจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย ทำให้ผู้ที่ไม่ว่าจะทำงานหารายได้เสริมจากต่างประเทศ ผู้ที่ทำการซื้อขายหุ้นต่างประเทศ รวมไปจนถึงการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ถึงกับต้องวิตกกังวลกันมากเลยทีเดียว ทั้งอาจสับสนในเงื่อนไข โดยที่กรมสรรพากรได้กำหนดตาม “คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร”ให้ผู้มีรายได้เริ่มรายงานเงินได้จากต่างประเทศรวมกับรายได้อื่นๆเพื่อยื่นภาษี แม้ว่ารายได้นั้นจะเกิดก่อนปีที่จะนำเข้ามายังประเทศไทย และเริ่มเก็บภาษีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

รายละเอียดของประกาศจากกรมสรรพากรเรื่องภาษีเงินได้จากต่างประเทศ

ผู้ที่มีรายได้จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติไทยหรือต่างชาติ และอยู่อาศัยในประเทศไทยเกิน 180 วันต่อปี หากมีการนำเงินที่เป็นรายได้เข้ามาภายในประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2567 โดยที่เงินนั้นอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วันขึ้นไป ผู้นั้นจะถือว่ามีความรับผิดชอบในการยื่นภาษีต่อกรรมสรรพากร โดยรายได้ที่มาจากต่างประเทศนั้น ครอบคลุมตั้งแต่รายได้จากการเทรดหุ้น จากหน้าที่การงานที่ทำอยู่ที่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะโดยบริษัทต่างชาติที่อยู่ต่างประเทศ หรือการรับงานอิสระที่ต่างประเทศ ผู้ที่มีรายได้จากการทำธุรกิจที่ต่างประเทศ โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดๆ อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม ร้านค้า ร้านเสริมสวย ฯลฯ เป็นต้น  ดอกเบี้ยเงินฝากจากสถาบันการเงินทุกประเภทที่ต่างประเทศ รวมไปถึงผู้ที่มีทรัพย์สินอยู่ที่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กำไรจากการซื้อขายทรัพย์สินที่อยู่ที่ต่างประเทศ รายได้จากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ เงินปันผลจากการลงหุ้นต่างประเทศโดยตรง หรือที่เป็นที่รู้จักและมักเรียกกันว่าการลงทุน offshore รวมไปถึงเงินได้ กำไรส่วนต่างราคา เงินปันผล และสิทธิต่างๆจากการลงทุนซื้อขายทรัพย์สินเงินตราดิจิตัลในต่างประเทศหรือผ่านตัวแทนของต่างประเทศ อย่างอาทิ Binance โดยเงินได้ที่จะนำมาคำนวณภาษีนั้นจะไม่นับรวมเงินลงทุนที่ผู้ลงทุนนำไปลงทุนที่ต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ 

ขยายในส่วนของรายละเอียดการลงทุนโดยตรงที่ต่างประเทศ จะรวมการซื้อขายหุ้นต่างประเทศผ่านบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ หรือที่กล่าวไปเบื้องต้นว่า การลงทุน offshore การซื้อขายหุ้นต่างประเทศหรือกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของผู้ให้บริการในไทย และรวมไปถึงการซื้อขายหุ้นหรือลงทุนสินทรัพย์ใดๆ โดยเปิดบัญชีซื้อขายกับผู้ให้บริการที่ต่างประเทศโดยตรง 

วางแผนรับมือกับภาษีรายได้ในต่างประเทศ

จากที่ได้กล่าวมาในขั้นต้น ผู้อ่านที่เข้าข่ายในกรณีใดกรณีหนึ่ง หรือในหลายๆกรณีที่ได้กล่าวมาในข้างต้นนั้น จะต้องพิจารณาตรวจสอบรายได้ของตนที่มีอยู่ในต่างประเทศ เพื่อที่นำเข้ามาก่อนสิ้นสุดปีพ.ศ. 2566 นี้ก่อนที่ประกาศเพิ่มเติมของกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้เมื่อเริ่มต้นปีพ.ศ. 2567 และสามารถวางแผนต่อไป ในการขอเอกสารว่าส่วนไหนเป็นรายได้ของปีใด ต่อจากนั้นก็จะได้ทำการวางแผนจัดการการภาษีให้จ่ายน้อยลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำรายได้ที่ได้รับในต่างประเทศนั้นกลับเข้ามาในประเทศไทยจำนวนไม่สูง หรือนำเข้ามาในปีที่มีรายได้ที่ก่อเกิดภายในประเทศไทยน้อยลงได้ เพื่อให้รายได้ที่นำเข้ามาถูกนำไปคำนวณภาษีด้วยฐานภาษีที่ต่ำลงตามกฎหมายนั้นเอง หรือในกรณีที่ผู้ใดที่มีคู่สมรส ก็สามารถเลือกที่จะนำรายได้กลับเข้ามาในประเทศไทย และนำไปรวมกับรายได้ของคู่สมรส เพื่อกระจายให้รายได้นั้นลดลง และเช่นเดียวกัน นำไปคำนวณภาษีด้วยฐานภาษีต่อคนที่ต่ำลงด้วยนั้นเอง

สำหรับผู้ที่ทำการลงทุนในต่างประเทศ อาจจะต้องพิจารณาทางเลือกในการลงทุนอื่นๆเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเงินลงทุนหรือซื้อขายหุ้นภายในประเทศ การซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีตามสิทธิสูงสุดที่สามารถนำไปลดหย่อยได้ หรือการการลงทุนสินทรัพย์อ้างอิงต่างประเทศที่กรมสรรพากรได้มีประกาศยกเว้นภาษี หรือเมื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วไม่ต้องนำรายได้ส่วนนี้ไปรวมกับรายได้อื่นๆเพิ่มเติมเพื่อยื่นภาษีอีก อาทิ หุ้นของบริษัทต่างประเทศ ดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศ รวมไปถึงอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจอย่างการลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ ซึ่งส่วนต่างกำไรได้รับการยกเว้นภาษี และในส่วนของเงินปันผลที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องนำไปยื่นภาษีเงินได้เพิ่มเติมอีกด้วย นอกจากนั้น การลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศยังช่วยให้เงินที่ลงทุนนั้นมีกระจายความเสี่ยง เพราะการลงทุนนั้นลงทุนไปกับหุ้นที่มีความหลากหลาย นอกจากนั้นยังมีกองทุนหุ้นต่างประเทศ อย่างกองทุน SSF/RMF ที่สามารถนำมาเป็นทางเลือกในการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ลงทุนอีกด้วย

ประกาศบัญญัติเพิ่มเติมนี้ มีเพียงผู้ที่มีรายได้จากต่างประเทศเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากประกาศ แต่ไม่ได้ครอบคลุมมีผลถึงผู้ที่มีรายได้ภายในประเทศทั่วไป ไม่ว่าจากอาชีพหลัก อาชีพเสริม หรือการเทรดหุ้นแต่อย่างใด ดังนั้นผู้มีรายได้ควรศึกษาข้อมูลเรื่องภาษีเงินได้ให้ถี่ถวน และติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ตกหล่นในการทำธุรกรรมทางการเงินที่สำคัญ