นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกมาตรการ สินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ล่าสุดได้อนุมัติมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ให้แก่ลูกหนี้แล้วจำนวน 61,073 ราย รวมทั้งสิ้น 222,324 ล้านบาท คิดเป็นเกือบร้อยละ 90 ของวงเงินที่ตั้งไว้ และยังมีวงเงินคงเหลือ 27,676 ล้านบาท นอกจากนี้ ได้อนุมัติสินเชื่อโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ให้แก่ลูกหนี้ 476 ราย รวมยอดสินทรัพย์ที่ตีโอนทั้งสิ้น 72,057 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72 ของวงเงินที่ตั้งไว้ และยังมีวงเงินคงเหลือ 27,943 ล้านบาท
มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ต่อไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 9 เมษายน 2567
โดยมาตรการทั้งสองดังกล่าวจะครบกำหนด 2 ปี ในวันที่ 9 เมษายน 2566 นี้ ทั้งนี้ แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวเข้าใกล้ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในภาคบริการบางสาขาที่ยังมีกิจกรรมในระดับต่ำ ธปท. และกระทรวงการคลัง จึงเห็นควรขยายระยะเวลามาตรการ สินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ต่อไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 9 เมษายน 2567 เพื่อให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
แต่ไม่ขยายอายุโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม เริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศแล้ว โดยจะโอนวงเงินคงเหลือของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการ มารวมไว้เป็นวงเงินภายใต้มาตรการ สินเชื่อฟื้นฟูต่อไป
ข้อมูลข่าวและที่มา
https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230322142712652
ผู้สื่อข่าว : เอกวิณ กากะนิก
ผู้เรียบเรียง : ธนพิชฌน์ แก้วกา
แหล่งที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้
ตามที่ภาครัฐได้ร่วมกันจัดทำมาตรการทางการเงินเพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจ 2 โครงการ ได้แก่ (1) “สินเชื่อฟื้นฟู” และ (2) “พักทรัพย์ พักหนี้” ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและได้จัดงานแถลงข่าวไปเมื่อ 23 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา หลายท่านอาจยังสับสนว่า โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ซึ่งเป็นมาตการใหม่นั้น คืออะไร มีกลไกอย่างไร และใครมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการนี้บ้าง ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการนี้ได้ที่นี่
วัตถุประสงค์ของมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้
เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพแต่ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดของโรค COVID- 19 และต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เกิดจากเงินกู้ยืมกับสถาบันการเงินที่มีอยู่เดิม เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ตามปกติในอนาคต โดย ธปท. จะให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่กับสถาบันการเงิน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจโอนทรัพย์สินชำระหนี้แก่สถาบันการเงินโดยมีเงื่อนไขซื้อคืนในราคาที่โอนไปและมีสิทธิเช่าทรัพย์สินนั้นกลับไปใช้ประกอบธุรกิจได้ตามปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้อันจะส่งผลฐานะทางการเงินของผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน และต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจของประเทศ
วงเงินรวมของมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้
100,000 ล้านบาท
ผู้ประกอบธุรกิจและทรัพย์สินประเภทใดมีสิทธิ์เข้ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ได้บ้าง
ผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถขอเข้ามาตรการ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ที่มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในประเทศไทย
เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทั้งนี้ หากเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 ต้องไม่เป็นลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน
ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันที่สถาบันการเงินจะรับโอนตามมาตรการ
ไม่จำกัดประเภททรัพย์สิน แต่ต้องเป็นทรัพย์สินที่ผู้ประกอบธุรกิจนำมาเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินตามกฎหมายไทย ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 เพื่อประกันการชำระหนี้ของสินเชื่อในการประกอบธุรกิจ
เงื่อนไขการรับโอน การเช่า และการซื้อคืนทรัพย์สินหลักประกัน ที่สำคัญ มีอะไรบ้าง
ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินหลักประกันคืนได้ภายในระยะเวลา 3 – 5 ปีนับแต่วันที่สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์สินหลักประกัน โดยสถาบันการเงินจะไม่นำทรัพย์สินไปขายแก่บุคคลอื่นหากผู้ประกอบธุรกิจไม่ยินยอม
ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเช่าทรัพย์สินนั้นจากสถาบันการเงินเพื่อไปประกอบธุรกิจได้ ตามอัตราค่าเช่าที่จะตกลงกัน แต่ต้องแจ้งความประสงค์ว่าจะเช่าให้สถาบันการเงินทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่โอนทรัพย์สิน หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ประสงค์เช่าทรัพย์สิน สถาบันการเงินอาจนำทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่นเช่าได้
ราคาทรัพย์สินที่สถาบันการเงินจะขายคืนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันต้องไม่สูงกว่าราคาที่รับโอนไว้รวมกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอีกไม่เกิน 1% ต่อปีของราคาที่รับโอนและค่าใช้จ่ายอื่นที่สถาบันการเงินได้จ่ายไปเพื่อดูแลรักษาทรัพย์สิน หักด้วยค่าเช่าที่ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายระหว่างสัญญาเช่า
มีการกำหนดวงเงินสินเชื่อสูงสุดที่สามารถโอนทรัพย์ชำระหนี้ไว้หรือไม่
มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ไม่มีการกำหนดวงเงินสินเชื่อสูงสุดไว้ ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถโอนทรัพย์เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงินนั้นได้ โดยการพิจารณาวงเงินขึ้นกับข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีหนี้ท่วมทรัพย์ (มูลหนี้มากกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน) สถาบันการเงินจะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในส่วนที่เกินกว่ามูลค่าหลักประกันให้ผู้ประกอบการเพิ่มเติม
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME