“ระวัง ผลิตภัณฑ์ลดอ้วน ขายเกลื่อนว่อนเน็ต อันตรายกินมั่วถึงตาย”

“จับอีก!! แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางผิดกฏหมายรายใหญ่”

ข้อความข่าวจาก อย. เผยแพร่ ไม่เว้นในแต่ละวัน การประกอบธุรกิจความสวยความงามและสุขภาพที่เดินออกนอกกรอบกฎกติกา ทำให้ อย. ต้องควบคุมจับตาเป็นพิเศษจนเป็นข่าวครึกโครม ผลลัพธ์ คือ ผู้บริโภคขาดความมั่นใจ สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีซบเซาลงทันที หากใครคิดจะเริ่มธุรกิจสวย ให้รวยแบบยั่งยืน

ลองมาศึกษากันดูว่าคุณมีความพร้อมที่จะเป็นผู้เล่นในเกมนี้มากน้อยแค่ไหน และทำอย่างไรไม่ให้เสี่ยงกับ อย.

เตรียมพร้อมก่อนลงเล่นในน่านน้ำสีแดง

ถึงแม้การเริ่มธุรกิจเครื่องสำอางและอาหารเสริมในยุคนี้  จะง่ายราวพลิกฝ่ามือ เพราะมีบริษัทรับจ้างผลิตคอยให้บริการอย่างครบวงจร ทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ พยายามเข้าสู่เกมการแข่งขันในตลาดน่านน้ำสีแดงตลอดเวลา แต่จะให้รวยและอยู่รอด จำเป็นต้องอ่านเกมนี้ให้ขาดก่อนตัดสินใจลงเล่น

1.ต้องการเล่นในสนามการแข่งขันไหน

ลองเลือกสนามในการแข่งขันด้วย 4 คำถามง่ายๆ ว่าคุณวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ได้ชัดเจน มากเพียงใด

  1. จะขายให้ใคร คุณมีฐานลูกค้าอยู่แล้วหรือไม่ ใครคือกลุ่มเป้าหมายของคุณ อายุเท่าไหร่ ถ้าเป็นกลุ่มวัยรุ่น อาจชอบแนวหน้ากระจ่างใส แต่ถ้าผู้ใหญ่ อาจจะเน้นลดริ้วรอย anti-aging
  2. จะขายผ่านช่องทางไหน ขายออนไลน์ ทีวี หน้าร้าน หรือขายผ่านแฟรนไชส์ กลุ่มเป้าหมายลูกค้าของคุณวนเวียนอยู่ช่องทางไหน
  3. จะขายผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง ลดริ้วรอย กันแดด สปา ผิวกระจ่างใส รักษาสิว หรือเพิ่มความชุ่มชื้น
  4. อยากให้สินค้าเรามีภาพลักษณ์แบบไหน เช่น ดูพรีเมียม ไฮโซ ดูน่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ หรือ ของดีราคาถูก เข้าถึงง่าย

2.ใครคือผู้เล่นในสนามเดียวกับคุณ

เป็นรายใหญ่ หรือ รายเล็ก ผลประกอบการของเขาดีมั้ยในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการลงงบโฆษณาโปรโมทสินค้ามากน้อยแค่ไหน ผลตอบรับเป็นอย่างไร

คุณเองอาจต้องลองสำรวจตลาด สอบถามผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกับสิ่งที่คุณคิดไว้ ทดสอบว่าผู้ขายจะนำเสนอสินค้าอะไรให้เราได้เลือกบ้าง เหตุผลที่เขาเลือกสินค้านั้นมานำเสนอเรา เพราะอะไร มันมีอะไรดี ทำไมเขาถึงเลือก ทดสอบสัก 5-10 ร้าน ก็พอจะรู้ว่าคู่แข่งเราน่าเป็นใคร  การแข่งขันดุเดือดขนาดไหน แล้วเราพอจะแข่งขันกับเขาไหวมั้ย

3.สินค้าเรามีความแตกต่างมากพอที่จะอยู่รอดในตลาดได้หรือไม่

ถ้าสินค้าไม่มีความแตกต่างกันเลย หรือความแตกต่างนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ตลาดต้องการ ไม่อยู่ในกระแส คุณจะเป็นผู้นำสร้างกระแสนั้นด้วยตนเองหรือไม่ ซึ่งอาจต้องใช้งบลงทุนมหาศาล แต่เมื่อกระแสเกิดขึ้น ก็จะมีผู้ตามกระแส เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากคุณทันที

5 สิ่งที่ที่พึงระวังในการทำธุรกิจ ไม่ให้เสี่ยง อย. จับ ปรับ ขัง

1.ขึ้นทะเบียนตำรับให้ถูกต้อง กับ อย.

ในฐานะเจ้าของเงินทุน หากต้องว่าจ้างผลิต ต้องขอดูเอกสารที่ได้รับรองจาก อย. เป็นเอกสารจริง สูตรตรงตามที่ยื่นจดแจ้ง และผลิตตามข้อมูลที่ยื่นจริง ไม่แอบเปลี่ยนสูตรหลังจากได้รับอนุญาต ศึกษาส่วนผสมที่พึงระวัง เช่น สารบางตัวห้ามใช้ หรืออนุญาตให้ใช้ในปริมาณต่ำกว่าที่กำหนดเท่านั้น ให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ไม่มีส่วนผสมของสารต้องห้าม หรือใส่เกินปริมาณที่กำหนดในสารเคมีบางตัว

2.อย่าอวดอ้าง หรือโฆษณาเกินจริง

กล่าวอ้างเกินสรรพคุณ ทำการวิจัยแบบลำเอียงเพื่อผลประโยชน์เข้าข้างผลิตภัณฑ์ตนเอง ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูน่าเชื่อถือ ดึงดูดให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ ซึ่งอาจต้องโทษทั้งจำทั้งปรับ

กลยุทธ์ในการโฆษณาที่ได้ผล มักเป็นการบอกต่อ  เนื่องจากแบรนด์ในท้องตลาดมีเยอะ ถ้าไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจน การรีวิวจากดารา ซีเลปที่มีชื่อเสียงทั้งหลายให้ความคิดเห็นในเชิงบวก จะช่วยดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายหลงเชื่อ ทดลองใช้ ซึ่งเข้าข่ายการโฆษณาเกินจริง ทั้งที่คนดังบางรายอาจไม่เคยได้ทดลองใช้จริงเลยก็ตาม

3.หาแหล่งวัตถุดิบที่น่าเชื่อถือ

วัตถุดิบชนิดเดียวกัน คุณภาพอาจแตกต่างกันในแต่ละแหล่ง เราจึงควรเลือกเฉพาะแหล่งที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับ มีการตรวจสอบไม่มีสารปนเปื้อน หลายครั้งที่ผู้ประกอบการมักเลือกวัตถุดิบราคาถูก คุณภาพต่ำ  ไม่ผ่านมาตรฐาน แล้วนำมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุนการผลิตแต่อาจอันตรายสำหรับผู้บริโภค

4.เลือกผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice)

ขั้นตอนในการผลิตถือเป็นสิ่งสำคัญ การเลือกโรงงานควรเลือกที่ได้มาตรฐาน GMP เพราะสามารถตรวจสอบเอกสารทุกขั้นตอนได้ ไม่หมกเม็ด เจ้าของผลิตภัณฑ์อาจจะขอเยี่ยมชมโรงงาน ดูใบรับรองโรงงานที่ได้รับจริง  ครอบคลุมมาตรฐานด้านไหนบ้าง

5.จริยธรรมของผู้ประกอบการเอง

ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่มุ่งเน้นรวยแบบไร้จรรณยาบรรณ ผู้ประกอบการย่อมอยากให้ผลิตภัณฑ์ขายดี สร้างความมั่งคงให้กับธุรกิจตนเอง จึงละเลยผลเสียที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค บางครั้ง หลังจากได้รับอนุมัติจาก อย. แต่ลักลอบปรับเปลี่ยนสูตรจากที่ได้รับอนุมัติ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ แล้วเห็นผลอย่างรวดเร็ว ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ธุรกิจเครื่องสำอางและอาหารเสริม เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง แข่งขันสูง และอ่อนไหวกับข่าวคราวๆ ในแง่ลบ การควบคุมดูแลของ อย.เป็นเพียงเครื่องรับประกันความมั่นใจให้กับผู้บริโภค แต่หากจะทำให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ประกอบการที่รับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ และสังคม ไม่มุ่งแต่เรื่องขายเป็นหลัก

ธุรกิจจึงสามารถอยู่รอดในตลาดที่อ่อนไหวต่อข่าวร้ายและข่าวลือ ที่สำคัญถ้าเราดำเนินธุรกิจตามกฎกติกามารยาทที่ถูกต้องแล้ว อย. ก็ไม่เข้ามายุ่งวุ่นวายให้เราเหนื่อยใจ

บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนบทความสร้างรายได้ รุ่น 2”