ซื้อประกันชีวิตแบบไหนดี 5 เทคนิคการเลือกซื้อประกัน ให้ได้ประโยชน์สูงสุดในแต่ละวัย

ประกันชีวิต บางคนอาจจะมองเป็นแค่เรื่องของการซื้อเพื่อลดหย่อนภาษี หรือเป็นเรื่องของคนมีครอบครัวเท่านั้น แต่ความจริงแล้วจะมีซักกี่คนที่รู้ว่า ประกันชีวิตมีความหลากหลายมากกว่านั้น แต่จะซื้อยังไงให้ตรงความต้องการ เราลองไปดูแนวทางการเลือกซื้อประกันให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุกัน

ซื้อประกันชีวิตแบบไหนดี

1. ช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่น (0-20 ปี)

ช่วงวัยเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นช่วงที่ภูมิต้านทานโรคยังต่ำ มีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรพิจารณาทำประกันสุขภาพให้แก่เด็ก เพื่อช่วยแบ่งเบาค่ารักษาพยาบาลเวลาที่ลูกเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล ส่วนถ้าโตขึ้นมาหน่อยจนถึงช่วงวัยรุ่น ก็อาจทำประกันอุบัติเหตุเพิ่มเติมด้วยก็ได้ เพราะวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่ใช้ชีวิตโลดโผน เสี่ยงอันตรายด้วยอยู่แล้ว

2. ช่วงวัยทำงานตอนต้น (21-30 ปี)

ช่วงเริ่มต้นของวัยทำงาน เป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มมีรายได้ อยู่ในวัยสร้างเนื้อสร้างตัว จึงควรให้ความสำคัญกับการออมเป็นหลัก รวมถึงเมื่อเริ่มมีรายได้ ก็อาจจะเริ่มมีการเสียภาษี ช่วงวัยนี้จึงเหมาะกับการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เพื่อสร้างวินัยในการออม รวมถึงได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีด้วย และหากคุณทำงานเก็บเงินไปได้ซักระยะ ควรพิจารณาการทำประกันชีวิตที่ได้ความคุ้มครองระยะยาวเพิ่มเติมด้วย เช่นแบบตลอดชีพ เพื่อนำไปผูกไว้กับประกันสุขภาพ เพราะช่วงวัยนี้ค่าเบี้ยประกันชีวิตจะถูกกว่าช่วงวัยอื่น ทำให้เราได้ประกันชีวิตที่คุ้มค่า แถมจ่ายเบี้ยราคาเดิมนี้ไปตลอดอายุของสัญญา (เฉพาะค่าเบี้ยสุขภาพเท่านั้นที่จะปรับเพิ่มตามช่วงอายุ แต่ไม่ได้มีการปรับทุกปี) ที่สำคัญ การที่เรานำประกันสุขภาพไปผูกกับแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองนานๆ นี้ จะส่งผลให้เราได้ประกันสุขภาพที่ผูกพันยาวนานตามไปด้วย ไม่ต้องมาคอยกังวลในวันที่ไม่มีสวัสดิการจากที่ทำงานมาช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาล และไม่ต้องกังวลด้วยว่า ถ้าเราเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาจะถูกยกเลิกประกันสุขภาพในปีต่อไปหรือไม่ เพราะตราบใดที่ประกันหลักที่เราผูกไว้ ยังไม่หมดอายุสัญญา เราก็จะได้รับการต่อประกันสุขภาพโดยอัตโนมัติตามไปด้วยทุกปีจนกว่าจะหมดอายุความคุ้มครองของประกันสุขภาพ ซึ่งประกันสุขภาพส่วนใหญ่จะคุ้มครองถึงอายุ 70 – 85 ปี แล้วแต่กรมธรรม์

3. ช่วงวัยทำงานตอนกลางและเริ่มสร้างครอบครัว (31-45 ปี)

การทำประกันสำหรับคนในช่วงนี้ ควรทำประกันชีวิตแบบเน้นความคุ้มครองชีวิต เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่หัวหน้าครอบครัวเกิดเสียชีวิตไปอย่างกระทันหัน ไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ หรือ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา โดยควรเลือกช่วงเวลาคุ้มครองให้เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของเรา หรือจะซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติมด้วยก็ได้ โดยการซื้อประกันสุขภาพควรผูกไว้กับแบบประกันที่คุ้มครองเราไปจนแก่เฒ่าเพื่อให้ประกันสุขภาพมีผลต่อเนื่องคุ้มครองยาวนานตามไปด้วยนั่นเอง นอกจากนั้น อาจจะพิจารณาทำประกันชีวิตควบการลงทุนแบบจ่ายเบี้ยรายงวด (Regular Premium : RP) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนการศึกษาบุตร เพื่อสร้างการการันตีว่า หากระหว่างที่กำลังส่งเสียค่าเล่าเรียนให้ลูกแล้วเราเกิดจากไปอย่างกะทันหัน ลูกก็จะได้มีเงินจากทุนประกันชีวิตไว้เป็นค่าเล่าเรียนจนจบการศึกษา

4. ช่วงวัยทำงานตอนปลายจนถึงเวลาเกษียณ (46-60 ปี)

ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ภาระเลี้ยงดูครอบครัวจะค่อยๆ ลดลง (เนื่องจากลูกเริ่มโตขึ้น เริ่มมีความสามารถในการหาเงินเองได้) เรื่องสำคัญที่จะเข้ามาแทนจึงกลายเป็นเรื่องการเตรียมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ ช่วงอายุตอนต้นของช่วงเวลานี้ จึงเป็นช่วงอายุสำคัญช่วงสุดท้ายในการเตรียมเงินเพื่อวัยเกษียณ (หากเริ่มเตรียมเงินเกษียณหลังอายุ 50 ปี อาจจะเตรียมเงินไม่ทัน) ประกันที่เหมาะสมกับช่วงวัยนี้จึงควรเป็นประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อสร้างเงินบำนาญหลังเกษียณที่เป็นเงินการันตี ไว้ใช้ส่วนหนึ่ง ควบคู่กับเงินออมเงินลงทุนในเครื่องมืออื่นๆ (RMF LTF กองทุนรวม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากบริษัท) เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีเงินไว้ใช้หลังเกษียณอย่างเพียงพอ

5. ช่วงหลังเกษียณ (61 ปี เป็นต้นไป)

ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต บางคนอาจจะเริ่มนึกถึงการทำพินัยกรรม หรือการเตรียมทรัพย์สิน เตรียมเงินมรดกเพื่อส่งมอบให้ลูกหลาน ซึ่งก็สามารถใช้ประกันชีวิตเป็นเครื่องมือในการสร้างเงินมรดกการันตีให้ลูกหลาน หรือใช้บริหารภาษีมรดก สำหรับคนที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก (เกิน 100 ล้านบาท) โดยประกันชีวิตที่เหมาะสมในการสร้างเงินมรดกคือประกันชีวิตที่เน้นการคุ้มครองชีวิตแบบ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ แต่สำหรับใครที่อยากจะสร้างเงินมรดกให้ลูกหลาน แต่อาจจะมีสุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรงปกติ หรือมีโรคประจำตัว ทำให้ไม่สามารถทำประกันชีวิตแบบทั่วไปได้ ก็อาจจะพิจารณาทำประกันชีวิตผู้สูงอายุทดแทนได้ เพราะไม่จำเป็นต้องตรวจหรือต้องตอบคำถามสุขภาพ ทำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวก็สามารถทำประกันชีวิตได้ (กรณีเสียชีวิตจากโรค บริษัทประกันจะจ่ายทุนประกันให้ผู้รับผลประโยชน์ก็ต่อเมื่อกรมธรรม์นั้นทำมาเกิน 2 ปีแล้วเท่านั้น)

นั่นก็คือคำแนะนำคร่าวๆ สำหรับการทำประกันชีวิตที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ อย่างไรก็ตาม อาจจะไม่จำเป็นต้องทำตามนี้เสมอไป ขึ้นอยู่กับศักยภาพและความเหมาะสมของแต่ละบุคคลด้วย

ประกันชีวิตมีกี่ประเภท แต่ละแบบเหมาะกับใคร ซื้อประกันชีวิตแบบไหนดี

ตามหลักการแบ่งประเภทประกันชีวิตของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ แบบประกันชีวิตพื้นฐาน และแบบประกันชีวิตพิเศษ ให้เราสามารถเลือกประกันชีวิตที่เหมาะสมกับเราได้ดังนี้

ประกันชีวิตพื้นฐาน มี 4 แบบ คือ

1. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา หรือ Term Insurance

ประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองในช่วงระยะเวลาจำกัด เช่น 1 ปี, 5 ปี, 10 ปี เป็นต้น หากเลือกประกันชีวิตแบบนี้บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้กับผู้รับประโยชน์เมื่อเราเสียชีวิตในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากเรายังมีชีวิตอยู่จนครบระยะเวลานั้น ก็จะไม่ได้รับเงินทุนประกันชีวิตคืน

เหมาะสำหรับใคร?
คนที่ต้องการความคุ้มครองชีวิตในระยะเวลาหนึ่ง
คนที่มีความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยต่ำ แต่ต้องการความคุ้มครองสูง
คนที่ต้องการบริหารความเสี่ยงในระยะสั้นๆ

2. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ หรือ Whole Life

ประกันชีวิตที่เน้นความคุ้มครองชีวิตแบบระยะยาว เช่น ให้ความคุ้มครองจนเราอายุถึง 85 ปี 90 ปี หรือ 99 ปี โดยเราจ่ายเบี้ยเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี จ่ายเบี้ย 20 ปีแรก เป็นต้น หากเราเลือกประกันชีวิตแบบนี้ แล้วเรามีชีวิตอยู่ครบตามระยะเวลาที่กำหนดก็จะได้ทุนประกันชีวิตกลับคืน แต่หากเราเสียชีวิตในระยะเวลาที่คุ้มครอง ผู้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับเงินทุนประกันชีวิตแทน

เหมาะสำหรับใคร?
คนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นเสาหลักของบ้าน ไว้เป็นหลักประกันให้คนข้างหลัง
คนที่ต้องการทำเป็นมรดกส่งต่อให้กับลูกหลาน

3. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือ Endowment

ประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินเพื่อไว้ใช้ในอนาคต ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว หากว่าเราเลือกประกันชีวิตแบบนี้ เราจะได้เงินคืนพร้อมกับอัตราผลตอบแทนที่มากกว่าเบี้ยที่เราจ่าย ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าวจะเป็นผลตอบแทนที่แน่นอนตามที่บริษัทตกลงไว้ในสัญญา นอกจากนี้ยังได้รับความคุ้มครองชีวิตเหมือนประกันชีวิตแบบอื่นอีกด้วย

เหมาะสำหรับใคร?
คนที่ต้องการลงทุน แต่รับความเสี่ยงได้น้อย
คนที่ต้องการเก็บออมเงินไว้ใช้ในอนาคต
คนที่ต้องการความคุ้มครองควบคู่กับการออมเงิน

4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือ Annuity

ประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่เราเมื่อเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี เป็นต้นไป หากว่าเราเลือกประกันชีวิตแบบนี้ เราต้องจ่ายเบี้ยไปจนถึงอายุที่กำหนด แล้วหลังจากนั้นก็จะได้รับเงินไปเรื่อย ๆ จนครบกำหนดอายุตามที่เลือกไว้ ซึ่งผลตอบแทนที่ได้อาจจะไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับแบบสะสมทรัพย์ แต่เราก็จะได้รับความคุ้มครองชีวิตเหมือนประกันชีวิตแบบอื่น เช่น ถ้าเราเสียชีวิตในช่วงก่อนเกษียณ ผู้รับประโยชน์ก็จะได้รับเงินตามทุนประกันชีวิตที่เราเลือกไว้ แต่ถ้าเราเสียชีวิตหลังเกษียณก็จะได้ทั้งเงินบำนาญ และผลประโยชน์ตามทุนประกันชีวิต

เหมาะสำหรับใคร?
คนที่ต้องการวางแผนเกษียณ
คนที่อยากมีรายได้ที่แน่นอนหลังเกษียณ

ที่สำคัญ หากว่าเราเลือกประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา แบบตลอดชีพ และแบบสะสมทรัพย์ เราสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง และต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยประกันชีวิตจะต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ส่วนประกันชีวิตแบบบำนาญ เราสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง และต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 200,000 บาท

ซื้อประกันชีวิตแบบไหนดี ประกันชีวิตพิเศษ มี 2 แบบ คือ

1. ประกันชีวิตควบการลงทุน หรือ Investment linked life insurance

ประกันคุ้มครองชีวิตที่ควบการลงทุน หากว่าเราเลือกประกันชีวิตแบบนี้ เราจะได้ทั้งความคุ้มครองชีวิตเหมือนแบบประกันทั่วไป และยังได้ผลตอบแทนจากที่เราเลือกลงทุนเองด้วย โดยจะแบ่งเบี้ยประกันชีวิตที่เราจ่ายเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนความคุ้มครองชีวิต ส่วนค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และส่วนเงินลงทุน ซึ่งเราสามารถกำหนดสัดส่วนของเบี้ยกับความคุ้มครองเองได้ และสามารถปรับสัดส่วนได้ตลอดเวลา ในปัจจุบันมีประกันชีวิตควบการลงทุน 2 แบบ คือ ประกันชีวิตแบบ Unit Linked และประกันชีวิตแบบ Universal Life

จุดเด่นของการเลือกประกันชีวิตแบบ Unit Linked คือ เราจะได้เลือกกองทุนที่จะไปลงทุนเองภายใต้กองทุนที่บริษัทกำหนด ทำให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าประกันชีวิตแบบอื่น แต่ก็ต้องรับความเสี่ยงจากการขาดทุนของกองทุนที่เราเลือก

จุดเด่นของการเลือกประกันชีวิตแบบ Universal Life คือ จะมีความแน่นอนของผลตอบแทน และการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำ โดยบริษัทประกันจะเป็นผู้บริหารการลงทุนให้ แต่ในปัจจุบันเรามักจะเห็นประกันชีวิตนี้น้อยลง เพราะไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าประกันชีวิตแบบ Unit Linked

แม้ประกัน 2 แบบนี้เป็นประกันควบการลงทุนเหมือนกัน แต่การใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีจะแตกต่างกัน คือ หากว่าเราเลือกประกันชีวิตแบบ Unit Linked จะสามารถลดหย่อนภาษีได้เฉพาะในส่วนของเบี้ยที่เกี่ยวกับประกันชีวิตเท่านั้น (ไม่รวมส่วนเงินลงทุน) ไม่เกิน 100,000 บาท แต่หากเราเลือกประกันชีวิตแบบ Universal Life สามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน ตามที่จ่ายจริง และต้องไม่เกิน 100,000 บาท

เหมาะสำหรับใคร?
คนที่เข้าใจในด้านการลงทุน สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้
คนที่มีเป้าหมายทำประกันเพื่อเน้นการออมเงิน แต่ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าประกันชีวิตแบบอื่น

2. ประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุ

สำหรับบุคคลที่มีอายุระหว่าง 50-70 ปี (ตัวเลขอายุอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามแบบประกันของแต่ละบริษัทประกันชีวิต) สามารถเลือกประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุได้ โดยจะคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและโรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนี้ ยังเป็นประกันที่เราไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ

หากว่าเราเลือกประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุก็นำมาลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน โดยมีเงื่อนไขว่าเราจะต้องเลือกประกันชีวิตที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จึงสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง และต้องไม่เกิน 100,000 บาท

เหมาะสำหรับใคร?
ผู้สูงอายุที่ต้องการความคุ้มครองชีวิตและอยากสร้างมรดกไว้ให้ลูกหลาน แต่มีสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง ทำให้ไม่สามารถทำประกันชีวิตแบบทั่วไปได้
ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว แต่อยากทำประกันชีวิต
หลังจากที่เราพอทราบกันไปแล้วว่าประกันชีวิตมีแบบไหนบ้าง ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ใครที่ไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อประกันแบบไหนดี เราอาจจะลองใช้ช่วงวัย หรือการใช้ชีวิตประจำวันมาเป็นปัจจัยในการเลือกประกันชีวิต

ยกตัวอย่างเช่น
วัยเด็กถึงวัยเรียน ควรจะเลือกประกันชีวิตที่เน้นการออมเงิน เช่น ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตควบการลงทุน เพื่อเก็บออมเงินไว้เป็นทุนการศึกษาให้ลูก หรืออาจจะเป็นต้นทุนไว้ให้ทำธุรกิจ นอกจากนี้วัยเด็กยังเป็นวัยที่ซุกซนและสุขภาพยังไม่แข็งแรงเท่าวัยผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่อาจจะพิจารณาซื้อประกันอุบัติเหตุหรือประกันสุขภาพควบคู่ให้กับลูกก็ได้เช่นกัน
วัยทำงาน ควรจะเลือกประกันชีวิตที่เน้นการออมเงิน เช่น ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตควบการลงทุน เนื่องจากวัยนี้ยังเป็นวัยที่ยังไม่มีภาระติดตัวมากนัก ก็อาจจะเริ่มจากเก็บออมเงินไว้ใช้ในอนาคต หรือสำหรับคนที่กำลังวางแผนเกษียณ ประกันชีวิตแบบบำนาญก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
หัวหน้าครอบครัว ควรจะเลือกประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เพราะเป็นเสาหลักของครอบครัว หากเกิดเหตุจากไปก่อนวัยอันควร คนข้างหลังก็ได้เงินจากหลักประกันที่ทำไว้ โดยทุนประกันชีวิตที่ทำอาจจะให้ครอบคลุมถึงภาระค่าใช้หลักที่หัวหน้าครอบครัวเป็นคนรับผิดชอบ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ

อ้างอิง
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/how-to-choose-insurance-plan.html
https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/life/family-insurance/choose-insurance-suit-for-generation

 

ซื้อประกันชีวิตแบบไหนดี