การตลาดออนไลน์และการขนส่งที่สะดวกรวดเร็วกว่าในอดีต ทำให้เกษตรกรสามารถส่งผลผลิตไปสู่ผู้บริโภคได้โดยตรง เกษตรกรรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักแก่กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น สร้างฐานลูกค้าจากทั่วประเทศ เช่นเดียวกับแขกรับเชิญท่านนี้ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ทำเกษตรออนไลน์ วางแผนต่อยอด การตลาดครบวงจร  ทำช่อง Youtube ให้เป็นร้านค้า สามารถพลิกชีวิตได้จากธุรกิจการเกษตร คุณ วัยญากรณ์ คงสุวรรณ์ภานิช เกษตรกรปลูกและแปรรูปโกโก้ จังหวัดชุมพร

เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวหยุดชะงัก เจอกับมรสุมชีวิตจนทุกอย่างพังทลาย

ก่อนหน้าที่จะมาทำการเกษตร คุณวัยญากรณ์ เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น พม่า อินเดีย ภูฏาน ญี่ปุ่น และจีน จากชีวิตที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศเป็นประจำ ต้องหยุดชะงักในปีพ.ศ.2557  ระหว่างนั้นได้ช่วยเหลือเพื่อนที่ต้องการทำธุรกิจนำสินค้าไปจำหน่ายที่จีน ปรากฏว่าธุรกิจไปไม่รอดจนทำให้ตัวเองมีภาระหนี้สินตามมา จากนั้นมีโอกาสวางระบบทัวร์ให้กับบริษัทหนึ่ง กลายเป็นว่าบริษัทนี้คือมิจฉาชีพ ทำให้สูญเสียเงินไปจำนวนไม่น้อย หลังจากพยายามประคับประคองธุรกิจและพยายามจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า ดูเหมือนว่าไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นเลย จนมาถึงปีพ.ศ.2560 คุณวัยญากรณ์ตัดสินใจขายทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วเดินทางกลับ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นบ้านเกิดทันที นับเป็นช่วงวิกฤตของชีวิตที่ทำให้ไม่เหลือความมั่นใจอีกเลยหมดกำลังใจที่จะพลิกฟื้นชีวิตในแบบเดิมให้กลับมา แต่ก็ไม่ถอดใจง่ายๆ เพราะก่อนที่จะทำธุรกิจท่องเที่ยว คุณวัยญากรณ์ก็เริ่มต้นจากที่ไม่มีอะไรเลย ชีวิตที่ประสบกับปัญหาในตอนนั้นจึงไม่ต่างจากก่อนที่เริ่มสร้างธุรกิจ

จากชีวิตติดลบ เป็นหนี้ สู่เส้นทางอาชีพเกษตรกรปลูกโกโก้

ในช่วงที่กลับมาอยู่บ้านคุณวัยญากรณ์ไม่มีรายได้เข้ามาเลย แถมยังเป็นหนี้บัตรเครดิตอีก จึงตัดสินใจทำงานทุกอย่างที่สามารถทำได้ เช่น เลี้ยงแกะ  ปอกมะพร้าว เพื่อให้มีเงินทุนตั้งตัวอีกครั้ง คุณวัยญากรณ์ เล่าว่า การเลี้ยงแกะเป็นอะไรที่ยากกว่าการทำธุรกิจท่องเที่ยวเสียอีก ต้องคอยหาหญ้าเนเปียร์ให้แกะกิน ซึ่งเป็นหญ้าที่หาได้ลำบาก จนมาถึงจุดเปลี่ยนของชีวิตคุณวัยญากรณ์ หลังจากที่ทราบข่าวว่าคุณยายเสียชีวิต จึงได้พาครอบครัวเดินทางไปที่บ้านของคุณยาย พบว่าที่นั่นมีสวนโกโก้ปลูกเต็มไปหมด คุณวัยญากรณ์นึกถึงช่วงเวลาที่เคยไปอินเดีย ได้ไปเห็นกระบวนการทำช็อคโกแลตโดยใช้โม่หิน นำเอาเมล็ดโกโก้ไปคั่ว คุณวัยญากรณ์จึงเก็บเมล็ดโกโก้ใส่กระสอบ เพื่อนำมาทดลองคั่ว ในช่วงนั้นโกโก้ยังไม่เป็นที่นิยมในตลาด หลังจากที่คั่วเมล็ดแล้วก็นำมาตำให้ละเอียด ลองใส่น้ำตาลผสมลงไปปรากฏว่ารสชาติอร่อยถูกปาก จึงผสมนมลงไปแล้วเทใส่แก้วที่มีน้ำแข็ง แล้วขายโกโก้แก้วละ 20 บาท โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในหนึ่งวันต้องขายให้ได้ 50 แก้ว ควบคู่กับการทำงานเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเข้าอบรมตามโครงการต่างๆ ที่จัดขึ้นในจังหวัด ทำให้มีโอกาสได้รู้จักคนอื่นๆ มากขึ้น

จนวันหนึ่งคุณวัยญากรณ์ได้โพสต์รูปถ่ายของตัวเองบนเฟสบุ๊คเปรียบเทียบขนาดของใบหน้ากับผลโกโก้ ปรากฏว่ามีคนสอบถามเกี่ยวกับโกโก้เข้ามาเป็นจำนวนมาก คุณวัยญากรณ์ได้ขายผลโกโก้ให้กับทางอาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ติดต่อเข้ามา เพาะต้นโกโก้ส่งจากชุมพรไปเชียงใหม่ จากที่เพาะขายโดยที่ไม่ได้คิดอะไรมาก ภายหลังได้เปลี่ยนมาให้ความสำคัญตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ขนาดของต้น และพัฒนาให้เป็นแบรนด์ของต้นเอง นั่นคือ “อาจารย์ป๊อป โกโก้”  คุณวัยญากรณ์เลือกที่จะไม่ซื้อเครื่องกะเทาะเปลือกเมล็ดโกโก้ แต่ให้ชาวบ้านมาช่วยแกะเปลือก นอกจากเหตุผลที่ว่าเครื่องจะทำให้เมล็ดโกโก้แตกไม่สวย ยังเป็นการสร้างงานให้กับชาวบ้านในชุมชนอีกด้วย ส่วนเปลือกก็จะนำไปทำเป็นชาโกโก้

เกษตรกรนักขาย วางแผนต่อยอดผลผลิต ใช้ช่องทางออนไลน์เป็นร้านค้า

มีเกษตรกรหลายท่านที่หันมาปลูกโกโก้ จะทำอย่างไรให้คนรู้จักสินค้าของเรา การสร้างแบรนด์คือสิ่งที่คุณวัยญากรณ์ให้ความสำคัญ เริ่มจากใช้ถุงดินสีน้ำเงินเพื่อสร้างความแตกต่าง ใช้ช่องทาง Youtube ในการนำเสนอแบรนด์ นำผลโกโก้มาแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ เช่น เบียร์ ไวน์ ชาโกโก้ สบู่ แชมพู ไอศครีม ป๊อปคอร์นช็อคโกแลต โกโก้นิบส์ เป็นต้น ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนได้สินค้าที่น่าสนใจหลายอย่าง กลายเป็นว่าผลิตวัตถุดิบไม่ทัน จนในปีพ.ศ. 2563 คุณวัยญากรณ์ได้รับซื้อผลผลิตโกโก้จากเกษตรกรท่านอื่น และได้ก่อตั้งโรงงานผลิตช็อคโกแลตเป็นของตัวเอง สินค้าที่ลูกค้าซื้อไปแล้วเป็นที่ชื่นชอบ ได้ผลตอบรับดี ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะบอกต่อ จนทำให้มียอดขายเข้ามาเรื่อยๆ การที่คุณวัยญากรณ์ทำคลิปวิดีโอโพสต์ลง Youtube ตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มเพาะโกโก้ขาย ทำให้มีจำนวนผู้ติดตามเพิ่มขึ้น เป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้นอกเหนือจากการเป็นเกษตรกร

คุณวัยญากรณ์  แนะนำว่า เกษตรควรที่จะกล้าแนะนำว่าตัวเองทำอะไร ขายอะไร พยายามหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอ แล้วนำเสนอให้ได้ พาธุรกิจของตัวเองเข้าไปอยู่บนโลกออนไลน์ และต้องทำให้กลุ่มลูกค้าค้นหาเราเจอ เมื่อค้นหาคีย์เวิร์ดที่ตรงกับธุรกิจของเรา นอกจากรู้จริงในสิ่งที่ทำแล้ว ลองดูว่าพอจะหาอะไรที่อยู่ในสายเกษตรทำเสริมควบคู่ไปได้บ้าง อย่างคุณวัยญากรณ์ที่ปลูกโกโก้และแปรรูปสินค้าจากโกโก้เป็นหลัก ก็ได้ขายดินและกระถางเพิ่มเติม ไม่ใช่แค่ธุรกิจเกษตรเท่านั้น คุณวัยญากรณ์ได้เปิดตลาดต้นไม้ เพื่อให้คนมาเลือกซื้อต้นไม้และอุปกรณ์ทางการเกษตร แน่นอนว่าลูกค้าที่มาเดินย่อมต้องการที่พักรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเช่นกัน จึงได้เปิดเป็นซุ้มเล็กๆ ให้พ่อค้าแม่ค้ามาเช่าเปิดร้าน เมื่อพ่อค้าแม่ค้าขายของได้ ตลาดของคุณวัยญากรณ์ก็อยู่ได้เช่นกัน

สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์

ไม่ว่าอยากจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม ความกล้าต้องมาก่อนความเก่ง คิดให้ไวทำให้เร็ว ตามสถานการณ์ให้ทัน อย่าเพิ่งไปคิดแทนลูกค้า ให้ลงมือทำไปก่อน เจอปัญหาก็ค่อยๆ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ พอทำไปสักพักจะได้ทักษะจากการทำ จะรู้ว่าธุรกิจควรต่อยอดไปทิศทางไหน จะขยับขยายอย่างไร ที่สำคัญต้องรู้จักใช้ช่องทางการตลาดออนไลน์ให้เป็นประโยชน์เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเติบโต ติดตามช่องอาจารย์ป๊อป เกษตรอินทรีย์ ได้ที่ https://bit.ly/3paDN5C