สรุปเรื่องกองทุนสํารองเลี้ยงชีพลดหย่อนภาษี สิทธิประโยชน์ที่มนุษย์เงินเดือนจะได้รับ

มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้มากถึงจุดหนึ่ง มักจะคิดเรื่องของการลดหย่อนภาษีตามมา เพราะว่าสิทธิ์ในการหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีนั้นเรียกได้ว่าค่อนข้างน้อย (สูงสุด 50% ของเงินได้ไม่เกิน 100,000 บาท) การมองหาค่าลดหย่อนต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ก็เหมือนว่ากฎหมายจะไม่ใจร้ายจนเกินไป เพราะมีการส่งสิทธิพิเศษบางอย่างมาช่วยเหลือมนุษย์เงินเดือน เพื่อให้สามารถลงทุนได้แบบอัตโนมัติ พร้อมกับการลดหย่อนภาษีไปพร้อม ๆ กัน นั่นคือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสํารองเลี้ยงชีพลดหย่อนภาษีอย่างได้เท่าไหร่?

เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มนุษย์เงินเดือนสะสมเข้ากองทุนต่อปีตาม % ที่ตัวเองเลือก สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท (เมื่อรวมกับการลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณในรูปแบบอื่น) ดังนั้น ถ้าหากมนุษย์เงินเดือนคนไหนเลือก % การสะสมที่มากขึ้น ก็หมายความว่า “สิทธิลดหย่อนภาษีตรงนี้จะมากขึ้น ตามไปด้วย” และเป็นการช่วยให้ตัวเองในอนาคตมีเงินเพียงพอสำหรับการเกษียณที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างเช่น เงินเดือน 30,000 บาท สะสมเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละ 5% จะเป็นค่าลดหย่อนเท่ากับ 18,000 บาท แต่ถ้าเพิ่มเงินสะสมเป็น 15% จะคิดเป็นค่าลดหย่อนเท่ากับ 54,000 บาทเลยทีเดียว

แต่ข้อดีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะยังมีสิทธิประโยชน์ในส่วนของรายได้ที่เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับด้วย เนื่องจากผลตอบแทนและรายได้จากเงินลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายอีกด้วย ซึ่งทำให้ได้รับผลตอบแทนแบบเต็ม ๆ โดยที่ไม่ต้องเสียภาษี

นอกจากนี้ หากครบเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อนี้ นั่นคือ 1. ออกจากงาน และ 2. มีอายุขณะที่ได้รับเงินคืนไม่น้อยกว่า 55 ปี บริบูรณ์ และ 3. เป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ต่อเนื่องกัน (อายุสมาชิก) เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สะสมมาทั้งก้อน เงินสมทบจากนายจ้าง รวมถึงผลประโยชน์ทั้งหมด จะได้รับเต็ม ๆ แบบยกเว้นภาษีอีกด้วย

จากทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นตอบโจทย์ครบทุกด้านในการใช้ชีวิตของมนุษย์เงินเดือน ตั้งแต่ ลดหย่อนภาษี สะสมเงินเพื่อเกษียณอายุ และทั้งหมดนี้ ถ้าหากทำถูกต้อง เงินทั้งหมดที่ได้รับยังไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย

กองทุนสํารองเลี้ยงชีพลดหย่อนภาษี ลาออกแล้วได้เงินเท่าไหร่ ?

ถ้าลาออกจากงานโดยไม่เข้าเงื่อนไขอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิก 5 ปี ก็ยังมีโอกาสได้ลดหย่อนภาษีอยู่นะ เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้าง แต่ก่อนอื่นเรามาทบทวนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มเติมอีกสักนิดว่า เงินกองทุนแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่

1. เงินสะสม คือ เงินที่เราหักจากเงินเดือนเราทุกเดือน

2. เงินสมทบ คือ เงินที่เราได้จากนายจ้างทุกเดือน

3. ผลประโยชน์เงินสะสม คือ เงินที่งอกเงยจากการลงทุนของเงินสะสม

4. ผลประโยชน์เงินสมทบ คือ เงินที่งอกเงยจากการลงทุนของเงินสมทบ

ส่วนที่ไม่ต้องนำมาเสียภาษี นั่นคือ “เงินสะสม” (ก้อนที่ 1) เพราะเป็นส่วนที่เราได้สะสมเข้าเองจากเงินเดือนที่เรานำไป เสียภาษีแล้ว แต่ส่วนอื่น ๆ คือ “เงินสมทบ ผลประโยชน์เงินสะสม และ ผลประโยชน์เงินสมทบ” (ก้อนที่ 2) นั้น จะต้องนำมาคำนวณภาษี ซึ่งมีเงื่อนไขในการคำนวณที่แตกต่างกันดังนี้

กรณีที่ 1 หากมีระยะเวลาทำงานไม่ถึง 5 ปี เงินก้อนที่ 2 ทั้งหมด ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่นเดียวกับเงินเดือนที่เราได้รับทั้งจำนวน

กรณีที่ 2 หากมีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินก้อนที่ 2 จะได้รับสิทธิแยกคำนวณภาษีเงินได้ ซึ่งทำให้เสียภาษีน้อยลง โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายในส่วนแรก (คำนวณโดยใช้ 7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน หลังจากนั้นเหลือเท่าไร ให้หักค่าใช้จ่ายได้อีกครึ่งหนึ่ง) และจึงค่อยนำมาคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไป

จะเห็นว่าทั้ง 2 กรณี ไม่ว่าจะอายุงานถึง 5 ปีหรือไม่ เรายังต้องมีหน้าที่เสียภาษีอยู่ เพียงแต่จะเสียมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับอายุงานที่เราทำ แต่ถ้าหากใครมองว่าไม่อยากเสียภาษีส่วนนี้แล้วล่ะก็ เรายังมีทางเลือกเพิ่มเติม คือ

– โอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างเดิมไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่

– โอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รองรับ (RMF for PVD)

ซึ่งการเลือกโอนแบบใดแบบหนึ่งที่ว่ามา จะถือว่าเรายังไม่ได้รับเงินได้ (เพราะเงินไม่ได้ผ่านมือเรา) แต่ถือว่าเป็นการโอนหรือสับเปลี่ยนไปยังกองทุนแห่งใหม่นั่นเอง โดยสามารถศึกษาเงื่อนไขในการโอนเพิ่มเติมที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเรา หรือติดต่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ปลายทางที่มี RMF For PVD โดยตรงได้เลย ซึ่งสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของแต่ละ บลจ. ซึ่ง ก.ล.ต. ได้รวบรวมข้อมูลติดต่อไว้ที่นี่ คลิก ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มี บลจ. 10 แห่งให้บริการ RMF for PVD 128 กองทุน ซึ่งมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งในหุ้น กองทุน ตราสารหนี้ แบบผสม และสินทรัพย์ทางเลือก อย่างไรก็ดี ก่อนเราจะเลือกโอนเงินไป RMF for PVD ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการลงทุน ผลตอบแทน ความเสี่ยง และค่าธรรมเนียม ให้เข้าใจเสียก่อน

มาถึงตรงนี้ จะเห็นว่าถ้าหากมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา มีความเข้าใจเรื่องการวางแผนจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund แล้ว เราจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมายตั้งแต่การลดหย่อนภาษี ลดภาษีที่ต้องเสียลง ไปจนถึงมีเงินเกษียณได้อย่างสบายใจ ปลอดภัยหายห่วง

ท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์เงินเดือนทุกคนควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไว้ เพื่อที่จะให้เงินของเราทำงานได้อย่างเต็มที่ และเราเองก็สามารถทำหน้าที่ของเราได้อย่างดีที่สุดไปด้วยกัน