ในโลกแห่งธุรกิจค้าปลีก คงไม่มีใครไม่รู้จักยักษ์ใหญ่ของวงการค้าปลีกทั้ง 2 เจ้าดังระหว่างมุมแดงคือ “ห้างค้าปลีก walmart” ค้าปลีกอันดับ 1 ของโลก และมุมน้ำเงินคือ “เว็บไซต์ amazon” เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซอันดับ 1 ของโลก

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อการค้าปลีกแบบเดิมถูกเขย่าและขย่มจากการค้าปลีกแบบใหม่ในรูปแบบออนไลน์ ปรากฏการณ์สะเทือนบัลลังก์ “walmart” โดย “amazon” จะเป็นเช่นไร เราจะมาดูกลยุทธ์และการแก้เกมส์กันของสงครามระดับเฮฟวี่เวทที่มีความอยู่รอดเป็นเดิมพันของยักษ์ใหญ่ 2 เจ้านี้กันครับ เพราะนี่คือมวยที่ถูกคู่และสมน้ำสมเนื้อกันอย่างที่สุด

เริ่มต้นมหากาฬ

walmart เจ้าพ่อค้าปลีกในตำนาน

วอลมาร์ทถือกำเนิดขึ้นที่รัฐอาร์คันซอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1962 โดย “แซม วอลตัน” ซึ่งมีประสบการณ์เปิดร้านค้าปลีกแฟรนไชส์ Ben Fraction ในปี 1945 ก่อนจะเพิ่มพูนประสบการณ์ในการค้าปลีกด้วยการเปิดห้าง Eagle store และร้านวอลตัน ไฟล์ แอนด์ ไดม์

นับจากการเปิดสาขาแรกมีการขยายเป็น 51 สาขาในปี 1972 และ 276 สาขาในปี 1980 และเพิ่มเป็น 11,000 สาขาใน 28 ประเทศทั่วโลก ก้าวขึ้นมาเป็นเครือข่ายค้าปลีกเบอร์หนึ่งของโลก

amazon จอมทัพโลกออนไลน์ที่ไม่เกรงใคร

ในขณะที่อเมซอนถือกำเนิดขึ้นในปี 1994 โดย “เจฟ เบซอส” โดยแรกเริ่มนั้นเป็นเพียงร้านขายหนังสือออนไลน์ที่เติบโตและเป็นอันดับต้น ๆ ของวงการ และได้ขยายออกไปให้บริการที่อังกฤษในปี 1998 ก่อนจะหันเหเพิ่มสินค้าเข้ามาขายในหลากหลายประเภทจนถึงปัจจุบัน และยังมีคลังสินค้าของตนเองขนาดมหึมา รวมทั้งพนักงานกว่า 5 แสนชีวิต เป็นอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของโลก

รูปแบบธุรกิจ เปิดมุมไม้เด็ดแต่ละธุรกิจ

walmart ใช้คลังมาสู้

ดำเนินธุรกิจเป็นร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งแยกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

– Discount store : ขายสินค้าหลากหลายโดยไม่มีอาหารสด

– Supercenters : คล้าย Discount store แต่มีอาหารสดด้วย

– Sam’s Club : ร้านค้าส่งสำหรับสมาชิก

โดยที่มียอดขายกว่า 4.8 แสนล้านเหรียญในปี 2016

amazon รบด้วยฐานออนไลน์

อเมซอนเป็นเว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์ที่มีจำนวนสินค้ามากกว่า 300 ล้านรายการ ซึ่งรูปแบบธุรกิจมีทั้งที่ดำเนินการโดยตัวอเมซอนเอง และเปิดโอกาสให้ผู้ค้ารายอื่นเข้ามาร่วมขายสินค้ากับทางเว็บไซต์อเมซอน

มีรายได้กว่า 1.7 แสนล้านเหรียญในปี 2017

จุดเปลี่ยนเมื่อเทรนด์การบริโภคเปลี่ยนไป

เมื่อโลกเริ่มเข้าสู่ยุคออนไลน์และอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจและการค้าเริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่โลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น “อเมซอน” มองเห็นความเปลี่ยนแปลงและเริ่มเดินหน้าสู่การค้าในแบบออนไลน์มากขึ้นทั้งการพัฒนาระบบและการตลาด

ในขณะที่ช่วงปี 2010 “วอลมาร์ท” และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กลับมองข้ามการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์การบริโภคนี้ เพราะวอลมาร์ทเองยังรู้สึกว่าตลาดออนไลน์ของทั้งโลกยังเล็กอยู่มากและมีมูลค่าเพียง 10 – 15% เมื่อเทียบกับขนาดของวอลมาร์ท

แต่ในช่วงเวลาไม่ถึง 7 ปีนับจากที่วอลมาร์ทครองความยิ่งใหญ่สูงสุด เมื่อเทคโนโลยีขยายตัวอย่างเต็มที่ ทำให้ธุรกิจออนไลน์เติบโตก้าวกระโดดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นั่นเองทำให้อเมซอนได้รับอานิสงส์โตวันโตคืน ทั้งรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และราคาหุ้นที่โตอย่างต่อเนื่อง

และในช่วงเวลานี้เองที่วอลมาร์ทได้รับผลกระทบอย่างจัง แม้ว่ายอดขายยังคงเติบโตไปได้ แต่การเติบโตของกำไรเริ่มลดลงเรื่อย ๆ และเริ่มส่อแวววิกฤตเมื่อวอลมาร์ทต้องไล่ปิดสาขาของตนเองกว่า 260 สาขาในปี 2016 รวมถึงปลดพนักงานกว่า 1 หมื่นคน และราคาหุ้นของวอลมาร์ทเริ่มตกต่ำลงเรื่อย ๆ ถึงขนาดที่ว่า “วอร์เรน บัฟเฟต” นักลงทุนอันดับ 1 ของโลกยอมทิ้งหุ้นทั้งหมดของวอลมาร์ทด้วยเหตุผลคือ “วอลมาร์ทไม่อาจไล่ทันอีคอมเมิร์ซได้อีกแล้ว”

กลบจุดอ่อนของตนเองด้วยการงัดกลยุทธ์มาสู้ศึก

walmart สู้เพื่ออยู่รอด

ความเพลี่ยงพล้ำที่เกิดขึ้นของวอลมาร์ทเกิดจากความชะล่าใจด้วยคาดไม่ถึงว่าอีคอมเมิร์ซจะเติบโตแล้วส่งผลสะเทือนรุนแรงต่อตนเอง ครั้นจะไปเริ่มต้นสร้างอีคอมเมิร์ซของตนเองก็อาจจะไม่ทันการณ์ ทางแก้ของวอลมาร์ทคือการใช้เงินทุนของตนเองเข้าซื้อกิจการอีคอมเมิร์ซและสตาร์ทอัพมาเป็นของตนเองเพื่อนำเอาความรู้จากโมเดลเหล่านี้มาต่อยอดและกลบจุดอ่อนของตนเอง

ซึ่งบรรดาธุรกิจที่วอลมาร์ทเข้าซื้อมีดังนี้

– Jet.com อีคอมเมิร์ซที่โตเร็วที่สุดด้วยมูลค่า 3.3 พันล้านเหรียญ

– ShoeBuy บริษัทขายรองเท้าและเสื้อผ้าออนไลน์

– Moosejaw ค้าปลีกออนไลน์ที่ขายแบรนด์ outdoor ชั้นนำ

– Modcloth ค้าปลีกออนไลน์ที่โดดเด่นด้านการออกแบบเสื้อผ้าและแฟชั่น

– Bonobos แบรนด์เสื้อผ้าที่จำหน่ายเสื้อผ้าออนไลน์

ซึ่ง Jet.com คือการเข้าซื้อที่ตอบโจทย์ให้แก่วอลมาร์ทมากที่สุดในการต่อสู้กับอเมซอนทั้งในด้านประสบการณ์และกลยุทธ์ผนึกกับจุดแข็งด้านการตลาดออฟไลน์ของตัววอลมาร์ทเอง ในที่สุดวอลมาร์ทก็ดึงเอา “มาร์ค ลอว์” ผู้บริหารของ Jet.com เข้ามาเป็น CEO แผนกอีคอมเมิร์ซ

amazon รุกเพื่อครอบครอง

อเมซอนเองก็ไม่น้อยหน้าเมื่อใช้กลยุทธ์ในการเข้าซื้ออีคอมเมิร์ซรายอื่นเพื่อเพิ่มศักยภาพและความแข็งแกร่งของตนเอง

แต่สิ่งที่เป็นดีลสำคัญและเป็นการกลบจุดอ่อนสำคัญของอเมซอนที่ไม่เคยมีหน้าร้านของตนเองคือการเข้าซื้อกิจการ “Whole Food Market” เป็นฟู้ดรีเทลรายใหญ่ซึ่งจำหน่ายอาหารสดและผลิตภัณฑ์ออแกนิคด้วยมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญที่จะมาช่วยผนึกกิจการในส่วนของออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันและทำให้อเมซอนมีหน้าร้านจำนวนมากและคลังสินค้าขนาดใหญ่มาครอบครอง

เดิมพันกันด้วยโลจิสติกส์

เมื่อทั้ง 2 ผนึกการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันแล้วทั้งคู่ เป้าหมายต่อไปคือการช่วงชิงตลาดอาหารสดและเครื่องดื่ม เพราะความที่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดมหึมามูลค่ากว่า 7 แสนล้านเหรียญ แต่มีการสั่งซื้อผ่านออนไลน์เพียงแค่ 3% ของมูลค่าทั้งหมด ซึ่งปริมาณที่น้อยนิดนี้มีเหตุผลเดียวคือ “ความรวดเร็วในการจัดส่ง” คืออุปสรรคสำคัญ ซึ่งทั้งวอลมาร์ทและอเมซอนต่อสู้กันในด้สนความเร็วในการส่งสินค้า ความสะดวกสบายและราคา โดยพันธมิตรของวอลมาร์ทก็คือ “Postmates” ในขณะที่พันธมิตรของอเมซอนคือ “Prime Delivery”

นับเป็นอีกหนึ่งสนามแข่งขันที่ดุเดือดและแทบไม่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายอื่นเข้ามาแย่งส่วนแบ่งเลย

สงครามขยายอาณาเขตสู่ต่างแดนแบบไม่มีใครยอมใคร

amazon ก้าวไวกว่า ไปเร็วกว่า 

ผลจากประสบการณ์อันยาวนานและความแข็งแกร่งของโครงสร้างธุรกิจที่ตนเองมี การรุกไปยังตลาดในต่างประเทศจึงไม่ใช่เรื่องยากของอเมซอน เพราะความเชี่ยวชาญในด้านอีคอมเมิร์ซนั่นเอง ไม่ว่าอเมซอนจะเข้าไปยังประเทศใดก็ล้วนประสบความสำเร็จอย่างสูง และอีกหนึ่งสาเหตุของความสำเร็จคือการเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์กับอีคอมเมิร์ซท้องถิ่นที่ช่วยเพิ่มโอกาสแห่งการเติบโต

walmart ช้าแต่ไม่หยุดสร้างพันธมิตร

ธุรกิจในต่างประเทศของวอลมาร์ทเองกลับสู้ยอดขายในประเทศแม่ไม่ได้อยู่แล้ว ยิ่งการมาของอีคอมเมิร์ซทำให้วอลมาร์ทสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดเข้าไปอีก เพื่อที่จะอุดรูรั่วนี้วอลมาร์ทจึงต้องหาพันธมิตรกับอีคอมเมิร์ซของประเทศต่าง ๆ และวิธีการที่วอลมาร์ทเลือกใช้คือการเข้าไปซื้อกิจการอีคอมเมิร์ซในประเทศที่มองเห็นโอกาส ตัวอย่างเช่นในอินเดียที่เข้าซื้อกิจการ “Flipkart” อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของอินเดีย

บทเรียนที่สำคัญของ SMEs ต่อมหาศึกในครั้งนี้

1.อย่ามองข้ามเทรนด์ใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ข้อผิดพลาดเดียวของวอลมาร์ทคือ การมองข้ามเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงเพราะความชะล่าใจนั่นเอง สิ่งนี้คือ “จุดอันตราย” ที่ SMEs ต้องเรียนรู้และจำให้มั่น เพราะกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลบวกแก่ผู้ที่มองเห็นและปรับตัวรับกับมัน ขณะเดียวกันก็ส่งผลเสียอย่างมหาศาลแก่ผู้ที่ตามมันไม่ทัน จงสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอแล้วคุณจะไม่ตกเทรนด์

2.ไม่มีธุรกิจไหนที่ไม่มีคู่แข่ง แต่ธุรกิจที่อยู่รอดได้คือธุรกิจที่เอาชนะธุรกิจตัวเองได้ตลอดเวลา

ธุรกิจที่ล่มสลายส่วนใหญ่คือยอมให้คู่แข่งเอาชนะตัวเอง ทั้งๆ ที่รู้ว่าสักวันหนึ่งวันนี้ก็มาถึง แต่ธุรกิจที่ยังอยู่รอดได้คือธุรกิจยอมทำลายธุรกิจตัวเอง ด้วยการสร้างธุรกิจใหม่ นวัตกรรมใหม่ เพื่อเอาตัวรอด ไม่ยอมให้ใครต้องมาทำลายธุรกิจของตัวเอง

3.ทำธุรกิจต้องสร้างโอกาสทั้งโลกออนไลน์ และ ออฟไลน์

ช่องทางการตลาดเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งในการทำกลยุทธการตลาด หากรบไปมีแค่อาวุธหรือเครื่องมือ ก็ย่อมจะเพลี่ยงพร้ำ แพ้พ่ายให้กับคู่ต่อสู้แม้เขาไม่ได้มีอาวุธใด ๆ ก็ตาม หากแต่เขามีกลยุทธด้านการตลาดที่ดี ก่อนรบ ก่อนทำธุรกิจของให้วางแผนกลยุทธก่อนที่จะเลือกใช้เครื่องมือ

บทสรุปของศึกครั้งใหญ่

แม้ทั้ง 2 บริษัทจะแข่งขันกันอย่างดุเดือดโดยการเสริมจุดเด่นและกลบจุดอ่อนของตนเอง แต่เราก็ไม่อาจตัดสินให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้ชนะที่แท้จริงได้ เพราะสิ่งที่ทั้งคู่ทำคือการผนึกกลยุทธ์ระหว่างการค้าแบบออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน เกิดเป็นโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า online to offline หรือ O2O นี่คือโมเดลธุรกิจในอนาคตที่ผสานเอาจุดแข็งของการค้าออนไลน์ในด้านความสะดวกสบายและการมีสินค้าให้ได้สัมผัสจริงของการค้าแบบออฟไลน์เข้าด้วยกันจึงอาจกล่าวได้ว่า “การต่อสู้ที่แท้จริงกำลังเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น”

แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรประมาทคู่แข่งรายอื่น ๆ ที่อาจจะเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งขนาดมหึมานี้อย่าง alibaba อีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนที่กำลังมาแรงเช่นกัน