ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการ SMEs เรื่องของกฎหมายภาษีเกี่ยวกับนิติบุคคลที่มีความซับซ้อน แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีความรู้และไม่เข้าใจ แต่ถ้าศึกษาให้ดีจะพบว่ามีสิทธิประโยชน์จากตรงนี้อีกมากมาย เพียงแค่ผู้ประกอบการต้องแบ่งเวลาในการศึกษาทำความเข้าใจ เพื่อประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีและค่าใช้จ่ายบริษัท

ความสงสัยในเรื่องของภาษียังคงเป็นประเด็นที่สร้างความหวั่นใจไม่น้อยสำหรับผู้ประกอบการ แน่นอนว่าการทำธุรกิจย่อมต้องหวังในผลกำไร ยิ่งกำไรมากย่อมนำมาซึ่งการเสียภาษีที่มากขึ้นตามไปด้วย การลดหย่อนภาษีในรูปแบบนิติบุคคลเป็นอีกสิ่งที่ผู้ประกอบการทั้งหลายควรสละเวลาในการศึกษา เนื่องจากหลักการคำนวณภาษีนิติบุคคลคิดจากกำไรสุทธิ (รายได้-ค่าใช้จ่าย) หากมีรายจ่ายนอกเหนือจากที่เกิดขึ้นจริงให้กับบริษัท เมื่อนำไปคิดภาษีจึงเป็นที่มาในการจ่ายภาษีน้อยลงนั่นเอง สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ สำหรับนิติบุคคลนั้นมีอะไรบ้าง

1.ค่าใช้จ่ายการทำบัญชี จดทะเบียนบริษัท ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

ผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนนิติบุคคล มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถนำค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนิติบุคคล ค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชี มาเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เป็นเวลา 5 รอบบัญชีต่อเนื่องกัน หรือ 5 ปีภาษี แต่หลายคนยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่าย โดยที่รายจ่ายส่วนตัว และรายจ่ายที่ไม่ใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรของกิจการ ไม่สามารถถือเป็นรายจ่ายของธุรกิจได้ ตรงส่วนนี้ห้ามนำมาปนกันเด็ดขาด เพราะจะก่อให้เกิดปัญหากับสรรพากรตามมาได้แถมเสียเงินเพิ่มโดยไม่รู้ตัว

2.โปรแกรมคอมพิวเตอร์ลดหย่อนภาษีได้

เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการแข่งขัน ส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ อีกหนึ่งนโยบายของกรมสรรพากรที่ออกมาสนับสนุน SMEs เกี่ยวกับการลดหย่อนภาษี สำหรับผู้ประกอบการ SMEs เมื่อซื้อหรือใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากนักพัฒนาหรือผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ DEPA สามารถนำมาคิดเป็นรายจ่ายเพื่อหักภาษีได้ 1 เท่าของรายจ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง โดยภาษีที่หักต้องอยู่ในหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค. 2560 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค. 2562

3.ลดหย่อนภาษีด้วยค่าเสื่อมและค่าสึกหรอ

หนึ่งตัวแปรที่ต้องนำมาใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักออกจากรายได้นั่นคือ ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน สำหรับกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ใช่ว่าทรัพย์สินถาวรทุกชนิดนั้นจะสามารถนำมาใช้ในการคำนวณได้ โดยทรัพย์สินที่นำมาคิดมีดังนี้

  • ทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ระยะเวลาการใช้งานไม่เกิน 5 ปี คิดค่าเสื่อมราคาในอัตรา 40% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เหลือ ทยอยหักภายใน 3 รอบระยะเวลาบัญชี
  • ทรัพย์สินประเภทอาคารโรงงาน ระยะเวลาการใช้งานไม่เกิน 20 ปี ไม่รวมที่ดินและไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน คิดค่าเสื่อมราคาในอัตรา 25% ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5% ต่อปี
  • ทรัพย์สินประเภทเครื่องจักร ระยะเวลาการใช้งานไม่เกิน 5 ปี คิดค่าเสื่อมราคาในอัตรา 40% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เหลือ ทยอยหักภายในระยะเวลา 5 ปี

4.ลดหย่อนภาษีด้วยการบริจาค

สำหรับ SMEsนิติบุคคล สายใจบุญหรือชื่นชอบในการสนับสนุนงานวิจัย สามารถลดหย่อนภาษีด้วยการบริจาคให้กับองค์กรและกองทุนต่างๆได้ดังนี้

  • บริจาคให้กับกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สามารถหักรายจ่ายเท่าจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคจริง แต่ต้องไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย
  • บริจาคให้กับสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี สามารถนำเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคจริงมาคิดค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า แต่ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศล
  • บริจาคให้กับกองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทุนสนับสนุนการวิจัย กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข ให้หักรายจ่ายได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา และรายจ่ายที่กำหนดแล้วต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย

5.ค่าจ้างงานลูกจ้างสูงอายุ สามารถลดหย่อนภาษีได้

ตามมาตรการของกรมสรรพากรเพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยให้แก่บริษัทนิติบุคคล มีเงื่อนไขดังนี้

  • พนักงานจะต้องอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
  • เป็นลูกจ้างอยู่ก่อนแล้ว หรือขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน
  • ค่าจ้างพนักงานคนชราจะต้องไม่เกิน 15,000 บาท ต่อเดือน
  • จ้างได้ไม่เกิน 10% ของลูกจ้างทั้งหมด
  • ไม่เคยเป็นกรรมการฯบริษัท หรือบริษัทในเครือมาก่อน

6.ทำประกันชีวิต ลดหย่อนภาษีได้

การทำประกันชีวิตให้กับกรรมการฯบริษัท เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยประหยัดค่าภาษีได้เช่นกัน โดยที่การจ่ายเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวต้องเป็นไปตามระเบียบและมติที่ประชุมของบริษัท เพื่อผลประโยชน์ของบริษัท จึงสามารถถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ แต่ต้องไม่ใช่รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา ทั้งนี้หากเข้าลักษณะเป็นผลประโยชน์เพิ่มที่กรรมการฯบริษัทได้รับ ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการ SMEs เรื่องของกฎหมายภาษีเกี่ยวกับนิติบุคคลที่มีความซับซ้อน แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีความรู้และไม่เข้าใจ แต่ถ้าศึกษาให้ดีจะพบว่ามีสิทธิประโยชน์จากตรงนี้อีกมากมาย เพียงแค่ผู้ประกอบการต้องแบ่งเวลาในการศึกษาทำความเข้าใจ เพื่อวางแผนการทำบัญชีบริษัทให้รัดกุมและถูกต้อง หรือการมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำปรึกษา นอกจากจะช่วยไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดแล้ว ยังเป็นการช่วยแนะนำให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ของภาษีได้อย่างเต็มที่อีกด้วย