รีฟินน์คือเว็บไซด์ที่ช่วยบริหารจัดการหนี้บ้านโดยเป็นสื่อกลางที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมให้ลูกค้าที่ต้องการรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารผู้ให้บริการสินเชื่อได้มาเจอกัน

start up คือคำที่เป็นที่กล่าวถึงในเวลาไม่กี่ปีหลัง ทุกคนฝันหวานอยากเริ่มต้นเป็นเจ้าของกิจการ หลายๆมหาวิทยาลัยถึงกับเชิญวิทยากรพิเศษไปบรรยายให้นักศึกษาฟัง คน gen Y หลังเรียนจบมุ่งหวังว่าตัวเองจะเป็นเจ้าของกิจการเป็นเจ้านายตัวเอง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าในบรรดา start up หลายร้อยหลายพันกิจการ จะมีสักกี่กิจการที่อยู่รอด และในบรรดาที่อยู่รอดจะมีสักกี่กิจการที่ “ปัง”

Start up ที่ปังจะต้องมีอะไรที่พิเศษไม่เหมือนใคร อะไรคือความพิเศษนั้น วันนี้เราจะมาดู start up ที่ปัง มาแรงและเป็นที่กล่าวถึงในช่วงปีหลัง เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับ refinn บริษัทที่เป็นสื่อกลางการรีไฟแนนซ์บ้านที่ “ปัง” ที่สุดใน พ.ศ.นี้

กว่าจะมาเป็น Refinn

   “พงศธร ธนบดีภัทร” คือชื่อของผู้ร่วมก่อตั้งและพัฒนาบริษัทรีฟินน์ ใครได้ยินอาจจะคิดถึงชายหนุ่มอายุ 40-50 ผู้ผ่านประสบการณ์ธุรกิจมาอย่างโชกโชน แต่หากใครได้รู้ความจริงที่ว่าเขาคนนี้คือเด็กหนุ่มอายุเพียง 24 ปี เชื่อว่าใครต่อใครก็ต้องทึ่งให้กับหนุ่มน้อยดีกรีวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์คนนี้ ธุรกิจเของเขาเริ่มต้นมาจากการประกวดและคว้ารางวัลชนะเลิศโครงการ Krungsri Uni Start up 2015 ในตอนนั้นผลงานที่คว้ารางวัลชนะเลิศคือ การพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ช่วยวางแผนการลงทุนและตัวแทนการซื้อขายหน่วยลงทุนเพื่อวางแผนการเงินก่อนเกษียณ

จุดพลิกผันสู่การมองในอีกมุม

หลังจากพัฒนาแอพพลิเคชั่นได้สักระยะและมีผู้ใช้งานจำนวนหนึ่ง พงศธรพบว่ามันยังไม่ตอบโจทย์ จนวันหนึ่งคุณพ่อซึ่งทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทยได้กล่าวกับเขาว่า “คนไทยที่ลงทุนมีแค่ 5-7% แต่คนไทยที่เป็นหนี้มีมากกว่า 90 % นั่นคือที่มาที่ทำให้พงศธรกลับมาคิดว่าน่าจะหันมาทำอะไรที่ช่วยให้คนไทยได้ปลดหนี้ จึงเป็นจุดกำเนิดของ refinn

Refinn คืออะไร

รีฟินน์คือเว็บไซด์ที่ช่วยบริหารจัดการหนี้บ้านโดยเป็นสื่อกลางที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมให้ลูกค้าที่ต้องการรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารผู้ให้บริการสินเชื่อได้มาเจอกัน โดยรีฟินน์จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลของผลิตภัณฑ์สินเชื่อจากทุกธนาคารให้ลูกค้าได้เลือก หน้าที่ของรีฟินน์จะช่วยให้คำแนะนำ ช่วยคำนวณว่าผลิตภัณฑ์ใดจะให้ประโยชน์แก่ลูกค้าในแง่การประหยัดดอกเบี้ยและการผ่อนส่งค่างวดที่อยู่อาศัยมากที่สุด และช่วยวางแผนให้แก่ลูกค้าในระยะยาวว่าจะปลดหนี้ให้เร็วที่สุดได้อย่างไร

กลยุทธ์สู่ความ “ปัง”ของรีฟินน์

1.มองให้ต่างจากคนอื่น

หากพูดถึงความมั่งคั่ง เชื่อว่าทุกคนจะมุ่งเน้นไปที่การลงทุนเป็นสิ่งแรกทั้งหุ้น กองทุนรวมหรืออสังหาริมทรัพย์ แต่รีฟินน์กลับมองในอีกมุมหนึ่ง โดยตัวผู้ก่อตั้งเชื่อว่าหากคนไทยสามารถลดหนี้สินที่มีอยู่ได้ส่วนต่างของเงินที่ประหยัดไปได้ทั้งจากค่างวดผ่อนชำระและภาระดอกเบี้ยนี่แหละคือทุนที่ลูกหนี้สามารถผันไปเป็นสิ่งต่าง ๆได้ ทั้งเงินออม ค่าใช้จ่ายหรือเงินลงทุน

อีกประการสำคัญคือตลาดของนักลงทุนมีเพียง 5-7 % ของประชากรทั้งหมดและมีผู้เล่นมากรายอยู่ก่อนแล้ว ในขณะที่ตลาดของหนี้สินมีกว่า 90 % และถูกมองข้ามจากผู้เล่นรายอื่น ๆ

2.ไม่นั่งรอคอยโอกาส

ในระยะแรก พงศธร ใช้วิธีการเดินเข้าหาลูกค้า โดยเสนอตัวเข้าไปให้ความรู้การรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยกับพนักงานบริษัท เมื่อมีผู้สนใจเขาจึงพยายามดีลกับธนาคารต่าง ๆ ซึ่งเขาพบว่าแต่ละธนาคารมีนายหน้าสินเชื่ออยู่แล้ว เขาจึงใช้วิธีเข้าไปสมัครเป็นทีมงานเพื่อช่วยดีลระหว่างลูกค้าและธนาคาร ขณะเดียวกันเขาก็พัฒนาเว็บไซด์รีฟินน์ขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับ

3.ทำทุกอย่างให้ง่ายและจบภายในที่เดียว

แม้ว่าการรีไฟแนนซ์จะเป็นวิธีการที่ดีในการลดภาระหนี้สินและช่วยให้ปลดหนี้ได้เร็ว แต่กลับไม่เป็นที่นิยมของคนไทยซึ่งปัญหาสำคัญก็คือ “ความยุ่งยากในการติดต่อกับธนาคารและการเตรียมเอกสาร” เพราะลูกค้าจะต้องวิ่งหาข้อมูลและส่งเอกสารไปหลายๆธนาคาร ความยุ่งยากเหล่านี้ทางรีฟินน์เห็นและช่วยเหลือจัดการโดยรวบรวมข้อมูลโปรโมชั่นจากทุก ๆธนาคาร ช่วยคำนวนโปรโมชั่นที่เหมาะสมแก่ลูกค้าและยังสามารถสมัครสินเชื่อออนไลน์พร้อมรู้ผลอนุมัติเบื้องต้นอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าเป็น one-stop service ก็ว่าได้

4.บริการทุกอย่างไม่เสียค่าใช้จ่าย

ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการรีฟินน์ทุกคนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการใช้งานแม้แต่บาทเดียว เพราะทางบริษัททำงานในลักษณะเป็นนายหน้าสินเชื่อร่วมกับทุกธนาคารที่เป็นพาร์ทเนอร์ด้วย รายได้หลักของทางรีฟินน์จึงมาจากค่าคอมมิสชั่นที่ทางธนาคารเป็นผู้จ่ายให้กับทางรีฟินน์โดยไม่ต้องเรียกเก็บขากลูกค้า

5.เลือกเดินทางลัดแทนการลองผิดลองถูก

            ผู้ก่อตั้งเองยอมที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นของตัวเองลงและหา co-partner ที่มีประสบการณ์มาร่วมลงทุนด้วย

เพราะแนวคิดที่ว่าการมีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์มาช่วยเหลือย่อมดีกว่าคนไม่รู้ที่คลำทางไปเรื่อย ๆ และนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะทำให้รีฟินน์สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี

ถอดรหัสรีฟินน์ สู่บทเรียนที่ SME ควรเอาอย่าง

1.อย่ายึดติดกับรูปแบบความคิดเดิม ๆ

ปัญหาใหญ่สำหรับ start up และ SME ก็คือ “แนวความคิดเดิม ๆที่ไม่เคยเปลี่ยน”  ทุกคนอยากเป็นเจ้าของกิจการและเกือบ 100 % กลับคิดเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองจากสิ่งที่ตลาดมีอยู่แล้ว ผลก็คือมีผู้เล่นในระบบมากเกินไป ในขณะที่ผู้บริโภคมีเท่าเดิมทำให้ธุรกิจใหม่ๆกลับต้องปิดตัวลง ลองมองมุมมองใหม่ว่า

“เราจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน” ถ้าคุณหาเจอคุณก็จะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับรีฟินน์

2.จริงจังกับการเรียนรู้

ทุก ๆการเริ่มต้นมาพร้อมการเรียนรู้ ไม่มีใครรู้ไปทุกเรื่อง หากคิดจะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ คุณต้องเรียนรู้ให้มากที่สุด แม้สิ่งนั้นจะดูเป็นเรื่องไกลตัวที่เราไม่เคยรู้มาก่อน จำว้าว่าทุก ๆความรู้ที่เพิ่มขึ้นนั้นหมายถึงความผิดพลาดที่ลดลงไปอีก 1 เรื่องเช่นกัน ใฝ่รู้ตลอดเวลาแล้วเราจะรอดในทุกสถานการณ์

3.อย่าหวง “หุ้น” หรือกลัวคนเข้ามาแย่งรายได้

ปัญหาใหญ่ของ SMEs ที่คิดต่างกับ Startup คือ SMEs มักจะกอดธุรกิจไว้แนบกับอก จะทำมันเองทุกอย่าง เอามันเองทั้งหมด แต่ Startup มักมองหา “คนเก่ง” มาร่วมงานและร่วมทุน เพื่อมาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้โตแบบก้าวกระโดดมากยิ่งขึ้น ยิ่งได้คนที่มีประสบการณ์ความรู้ในเรื่องที่เราทำ หรือมีคอนเนคชั่นที่สามารถผลักดันให้ธุรกิจโตไปได้มากขึ้นก็จะทำ

                SMEs ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ไม่กอดธุรกิจไว้คนเดียว ยิ่งกอดยิ่งจบเร็ว ยิ่งปล่อยให้คนอื่นเข้ามาช่วยยิ่งเติบโต

4.การบริหารต้นทุนดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ

ในอีกมิติของการบริหารธุรกิจ หรือ การทำงาน ก็ตามที บ่อยครั้งที่เราละเลยเรื่องต้นทุนและดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายออกไปโดยไม่ได้หาวิธีมาจัดการให้ดอกเบี้ยเหล่านั้นลดลง refinn เป็นอีก 1 ไอเดียที่เราควรนำมาปรับใช้ในการบริหารธุรกิจของเรา ดอกเบี้ยอะไรอีกบ้างที่เราสามารถลดได้ ยิ่งเราบริหารต้นทุนเหล่านี้ได้มากยิ่งขึ้น โอกาสที่ธุรกิจเรามีกำไรมากยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว

นอกจากนั้นแล้วการปรับพื้นฐานเรื่องต้นทุน ดอกเบี้ย ให้อยู่ในระดับที่ต่ำ ก็จะทำให้บริษัทมีจุดแข็งเพิ่มขึ้น สร้างความคล่องตัวในการลงทุน หรือ ขยายธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

การเติบโตและความสำเร็จของรีฟินน์คือก้าวกระโดดที่น่าสนใจในแง่ของ start up ที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าและน่าติดตามก็คือ “กลยุทธ์” และแนวความคิดที่ไม่เหมือนใคร เชื่อได้ว่าน่าจะจุดประกายความคิดดี ๆให้ใครหลายๆคนที่สนใจอยากเป็น start up และในอนาคตเราจะได้มีโอกาสเห็น Start up หน้าใหม่ที่มีไอเดียเจ๋งๆ มาขายให้เราต้องทึ่งเฉกเช่นกับที่รีฟินน์ทำให้เรารู้สึกในเวลานี้

บทความโดย

ผู้ผ่านรับการฝึกอบรม “ใช้เวลาว่างเขียนบทความสร้างรายได้”

คุณ  นรินทร์พล ตรีรัตน์สกุล

นักกายภาพบำบัด