“ไหน ใครอยากเป็นเจ้าของกิจการบ้าง ยกมือขึ้นค่ะ”

นี่คือประโยคคำถามที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆในห้องบรรยาย และผลลัพธ์ของคำถามนี้ก็คือ พรึบ!! เกือบ 90% ที่ยกมือกันขึ้นมา อาจเหลือเพียงประมาณ 10% ที่กำลังเผลอฝันในห้องบรรยาย เมื่อคนเราคิดอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเองขึ้นมา เราก็มักจะนึกถึงสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคย ซึ่งบางครั้งคุณอาจจะชอบมันโดยไม่รู้ตัว หรือหากมองหาจากสิ่งรอบตัว

สุดท้ายก็มักจะไม่พ้นหนึ่งในปัจจัย 4  ซึ่งได้แก่ อาหาร และเครื่องนุ่งห่มนั่นเอง แต่หากเป็นสาวที่ไม่ถนัดงานครัวล่ะก็  คงไม่พ้นธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้า ในทุกวันนี้เราจึงเริ่มเห็นธุรกิจย่อมๆประเภทนี้เกิดขึ้นมากมาย  คือการผลิตสร้างแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง แต่กว่าเธอๆทั้งหลายจะก่อร่างสร้างตัวมาได้แบบนั้น เค้าต้องผ่านการคิดกลั่นกรองอะไรมาบ้าง และจับจ่ายไปอย่างไร มาดูกันค่ะ

เรื่องนี้ต้องขยาย

1.ขายให้ใคร

หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ “กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย” ของคุณคือใคร?  ลองหยิบกระดาษกับปากกา มานั่งหาคำตอบดูนะคะ เช่น เพศอะไร, ช่วงอายุประมาณเท่าไหร่, การศึกษาระดับใด, อาชีพอะไร, รายได้อยู่ในช่วงไหน และมีรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างไร  เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะนำพาคุณไปเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของคุณได้ง่ายยิ่งขึ้นนั่นเอง

2.ขายอะไร

ในส่วนของเสื้อผ้านั้น มีทั้งเสื้อ, สูท, กางเกง, กระโปรง, ชุดเดรส  เราจะผลิตอะไรเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายคุณดีคะ แล้วสัดส่วนการผลิตของคุณนั้นคืออะไร โดยเริ่มต้นอาจทำการสำรวจข้อมูลจากพฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าของสาวๆรอบๆตัวคุณ ว่าสินค้าประเภทไหนลูกค้าซื้อบ่อยที่สุด และผลิตประเภทนั้นเป็นจำนวนมากแบบที่สุด และลดหลั่นลงไปตามความนิยม และเมื่อร้านคุณเริ่มเกิดยอดขายคุณก็สามารถประเมินและปรับสัดส่วนในการผลิตตามความต้องการของลูกค้าคุณได้

3.ขายเท่าไหร่

ตรงนี้ควรนึกถึงรายได้ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเข้าไว้ หากกลุ่มลูกค้าของคุณมีรายได้สูง แน่นอนเค้ามักจะเลือกซื้อในสิ่งที่ดีและมีคุณภาพ แต่มันก็ไม่จำเป็นต้องราคาสูงเสมอไปนะคะ ของดีราคาถูกใครๆก็ชอบจริงไหมคะ ฉะนั้นกำหนดราคาสินค้าให้เหมาะสมกับคุณภาพเข้าไว้ จุดยืนของสินค้าคุณในตลาดเสื้อผ้าอยู่ตรงไหนคุณต้องบอกตัวเองอยู่เสมอ อยู่ในช่วง สูง กลาง หรือ ต่ำ และคงรักษาไว้เพื่อความเป็นแบรนด์ของคุณ

4.ขายที่ไหน

คุณจะเริ่มจากการขายออนไลน์ก่อน แล้วจึงเริ่มขยับขยายเป็นมีหน้าร้านซึ่งอาจเช่าสถานที่ แล้วขายเองหรือจ้างลูกจ้าง หากงบประมาณยังไม่พร้อมขอแนะนำควรค่อยๆเริ่มทีละขั้นตอนจะดีกว่านะคะ แต่หากคุณไม่มีปัญหาในเรื่องทุนทรัพย์หรือมีทำเลที่ทางที่เหมาะเจาะแล้วล่ะก็ ลุยเลยสิคะ  เพราะการมีหน้าร้านให้ลูกค้าได้เข้าไปสัมผัส และลองสวมใส่ ยังไงมันก็เป็นการเพิ่มโอกาสขายให้กับสินค้าประเภทนี้ได้อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าลืมว่า

ที่ตั้งของร้านคุณนั้นต้องสอดคล้องและสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคุณได้ด้วยนะคะ

เช่น ร้านรับตัดชุดนักเรียนที่มักจะตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงเรียน เป็นต้น

5.ขายอย่างไร

จะมีเทคนิคการขายอย่างไร เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาสนใจในสินค้าของเรา มีโปรโมชั่นดีๆที่เพิ่มความคุ้มสุดคุ้มให้กับลูกค้าโดยที่เราก็ไม่ขาดทุนและยังคงได้กำไรหรือไม่  จะมีการโฆษณาหรือเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไร เพื่อให้ลูกค้าได้รู้จักและจดจำแบรนด์ของคุณ  เหล่านี้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนตายตัว คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับคุณอาจไม่ใช่คำตอบที่ใช่สำหรับลูกค้า จึงจำเป็นต้องหมั่นสำรวจตลาด ดูการตลาดของคู่แข่งของคุณทั้งหลาย สู้ไหวไหม และเตรียมแผนรับมือกับมันให้พร้อม

ก่อนจะเป็นเสื้อ 1 ตัวมาวางขายต้องควักไปเท่าไหร่บ้าง

สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้สัมผัสในขั้นตอนของการผลิตเสื้อผ้านั้น  มาดูคร่าวๆกันว่างบประมาณเท่าไรที่คุณต้องตระเตรียมในแต่ละขั้นตอนและมีกลุ่มคนใดบ้างที่คุณต้องค้นหาเพื่อร่วมมือกับคุณในการสร้างแบรนด์ในฝันของคุณให้เป็นจริง

1.ออกแบบ โดยการสเก็ตภาพ

หรือหากใครไม่ถนัดวาดก็คงต้องเมื่อยปากกันหน่อยนะคะ เพื่อให้ผู้สร้างแพทเทิร์นเข้าใจถึงความต้องการของคุณ  พยายามหาเอกลักษณ์ของแบรนด์คุณให้เจอ เพื่อให้เป็นจุดขาย และเป็นที่น่าจดจำ

2.หาวัตถุดิบ

ควรซื้อเพื่อเย็บตัวอย่างขึ้นมาหนึ่งตัวก่อน  เมื่อสรุปแบบเรียบร้อยแล้วจึงสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อผลิตตามจำนวนที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดและการสูญเสียที่มากเกินไป

ผ้า : ใช้ 2-3 หลา/1 ตัวอย่าง  ราคาผ้าตัดแบ่งประมาณ 80-200 บาท/หลา  ขึ้นอยู่กับชนิดและคุณภาพของผ้า

ชิ้นแต่งหรือผ้าแต่ง :  เช่น ผ้าซับใน ผ้าถุงกระเป๋าอาจซื้อเพียง 1 หลา ประมาณ 30-80 บาท

อุปกรณ์อื่นๆ : เช่น ซิป,กระดุม,ยางยืด แต่ละชิ้นอยู่ในราคาหลักสิบโดยรวมอาจอยู่ในช่วง 50-100 บาท, ด้ายร้านเย็บมีให้

ป้ายเลเบลแบรนด์ : ต้องสั่งทำ มักมีขั้นต่ำในการผลิต เช่น 25 หลา (1 หลา=90 ซม.) จะได้ประมาณ 200-400 ชิ้น ขึ้นกับความยาวของเลเบลแต่ละชิ้น  ส่วนราคาจะอยู่ในช่วง 1500-2000 บาท ขึ้นอยู่กับโลโก้และเนื้อผ้าของเลเบล

3.สร้างแพทเทิร์นและเย็บตัวอย่าง

งานคุณจะออกมาถูกใจแค่ไหน  ขั้นนี้ถือว่ามีผลอย่างมากทีเดียว ยิ่งช่างประสบการณ์ดีนี่ยิ่งทำให้คุณยิ้มเลยล่ะ คุณควรกำหนดไซส์ตัวอย่าง  โดยมากมักกำหนดเป็นไซส์กลางหรือ M  หรือคุณอาจเป็นหุ่นฟิตเอง ก็อาจเลือกไซส์ที่คุณสวมได้

สร้างแพทเทิร์น : ราคาเริ่มต้นที่ 300-800 บาท/แบบ/ไซส์  ขึ้นกับความยาก ง่ายของแบบ หลังสรุปแบบหากต้องการเพิ่มไซส์ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 500 บาท/ไซส์

เย็บตัวอย่าง : ราคา 300-1,000 บาท ขึ้นกับความยากง่าย และรายละเอียดของงาน

4.ฟิตติ้งตัวอย่างและสรุปแบบ

ถึงเวลาที่เราจะต้องมาลุ้นดูว่า เมื่อลองให้นางแบบสวมแล้ว มันกระชับได้สัดส่วน หรือมีรูปแบบได้ดั่งใจหรือไม่ จากนั้นให้ช่างปรับแก้ไข  ส่วนใหญ่ช่างจะบริการปรับแก้ไขให้ฟรี 1 ครั้ง แต่ต้องไม่เกี่ยวกับการแก้แบบ

 5.ซื้อวัตถุดิบสำหรับการผลิต

ช่างจะแจ้งจำนวนผ้าที่ต้องใช้สำหรับงานผลิต เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องไปซื้อผ้าและอุปกรณ์มาให้ช่างเย็บ ในกรณีนี้ คุณอาจจะได้ผ้าในราคาส่ง  อย่าลืมต่อราคานะคะ อาจได้ถูกกว่า 30-50 บาท/หลาทีเดียว

6.งานเย็บผลิต

ผู้ที่รับงานเย็บอาจเป็นเจ้าเดียวกับกับผู้ที่สร้างแพทเทิร์นและขึ้นตัวอย่างให้คุณ เนื่องจากสมัยนี้ความสะดวกสบายมักจะวิ่งเข้ามาหาเราเสมอ ส่วนใหญ่จึงมีผู้รับทำเป็นแพ็จเกจเลยทีเดียว คุณจึงไม่ต้องไปลำบากหาแหล่งเย็บให้ยุ่งยาก แต่ราคางานเย็บแต่ละที่ก็จะแตกต่างกันไป การจ่ายเงินผู้รับจ้างมักให้คุณชำระค่ามัดจำ 50%  ของค่าแรงทั้งหมดก่อนจึงเริ่มผลิต และชำระอีกครั้ง 50% ในวันรับงาน

ขั้นต่ำในการผลิต : ร้านมักจะกำหนด 20-50 ตัว/แบบ/3 ไซส์

ค่าแรงเย็บ : อยู่ในช่วง 100-800 บาท/ตัว ขึ้นอยู่กับคุณภาพและประเภทชิ้นงาน

7.ตรวจสอบคุณภาพสินค้าและรีด พับ แพ็ค

ซึ่งโดยมากร้านเย็บจะดำเนินการให้เสร็จสรรพ แต่เพื่อความชัวร์คุณอาจตรวจสอบสินค้าด้วยตัวเองอีกครั้งเป็นการจบขั้นตอน

กดเครื่องคิดเลขกันระรัวเลยหรือเปล่าคะคุณว่าที่เถ้าแก่ใหม่  จะทำการใดไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่  สิ่งสำคัญก็คือการวางแผนก่อนลงมือทำจริง หลายคนที่ต้องเสียเงินและเสียแรงไปกับความล้มเหลว  แต่หากคุณได้ทำในสิ่งที่คุณรัก คุณจะไม่เสียใจที่ได้ทำมัน  รักและเรียนรู้ไปกับสิ่งที่ทำอย่างถูกวิธีแล้วคุณจะไม่รู้สึกว่าเสียอะไรเลย