การส่งออก 2566 ยังย่ำแย่ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

สำนักข่าวฐานเศรษฐกิจได้รายงานเรื่องจับตาส่งออกไทยส่อหืดขึ้นคอหลังการผลิตโลกชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโดยมีรายละเอียดดังนี้

มีรายงานตัวเลขการส่งออก 2566 ในเดือน ม.ค.2566 ออกมาแล้วว่ามีการติดลบถึง 4.5% ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีมูลค่าถึงกว่า 20,249.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 7 แสนล้านบาทซึ่งมาจากการลดลงของสินค้าเกษตร 2.2% สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 3.3% และสินค้าอุตสาหกรรม 5.7% รวมถึงผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศคู่ค้าที่ยังอยู่ในระดับสูงจึงส่งผลต่อกำลังซื้อของคนในประเทศนั้น ๆ

สาเหตุอีกประการที่สำคัญคือการผลิตโลกที่หดตัวก็ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบลดลงและส่งผลต่อการส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน โดยภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ มีผลสรุปได้ดังนี้ การส่งออกไปยังตลาดหลักติดลบ 5.3%   ตลาดรองติดลบ 3.1%  ในขณะที่ตลาดอื่น ๆ มีอัตราการขยายตัว 17.4% โดยตลาดที่ติดลบมีดังนี้

ตลาดสหรัฐติดลบ 4.7%  เป็นหดตัวต่อเนื่อง 2 เดือนโดยสินค้าที่หดตัวได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ในขณะที่สินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์และส่วนประกอบ

ตลาดจีนยังคงติดลบอยู่ถึง 11.4% ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 8 ติดต่อกัน โดยสินค้าที่หดตัวได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และรถยนต์รวมถึงอุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัวกลับอยู่ในกลุ่มของผลิตภัณฑ์ยาง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และน้ำมันสำเร็จรูป

ตลาดญี่ปุ่นติดลบ 9.2% เป็นการหดตัวอย่างต่อเนื่อง 5 เดือนโดยสินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ไก่แปรรูป และทองแดง ส่วนสินค้าที่ขยายตัวได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รวมถึงรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ตลาด CLMV ติดลบ11.1% เป็นการหดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน สินค้าที่หดตัวได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องดื่ม ส่วน สินค้าที่ขยายตัวได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว

ตลาดเอเชียใต้ ติดลบ 4.3% โดยหดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ข้าว และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด

ตลาดทวีปออสเตรเลียติดลบ 7.2% เป็นการหดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน สินค้าที่ส่งออกลดลงได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และน้ำตาลทราย

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ติดลบถึง 46.4% และหดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน สินค้าที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น สินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และน้ำมันสำเร็จรูป

ตลาดอาเซียนขยายตัวร้อยละ 2.3 ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน สำหรับสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงข้าว ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก ยางพารา และแผงวงจรไฟฟ้า

แม้ว่าตลาดหลักจะติดลบอย่างมาก แต่ก็มีบางตลาดที่การส่งออกกลับมาอยู่ในแดนบวกอยู่บ้างโดยตลาดที่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวอีกครั้งมีดังนี้

ตลาดสหภาพยุโรปกลับมาขยายตัวถึง 2.2% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้แก่อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้า แต่สำหรับสินค้าที่หดตัวได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ตลาดตะวันออกกลางขยายตัวถึง 23.7% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องถึง 12 เดือนและ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รวมถึงข้าว สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์

ตลาดทวีปแอฟริกามีการขยายตัว 14.7%  นับเป็นการกลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องยนต์สันดาปภายใน และเม็ดพลาสติก

ตลาดลาตินอเมริกาพลิกกลับมาขยายตัวที่ 1.5% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และส่วนประกอบ  สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา และเม็ดพลาสติก

ตลาดสหราชอาณาจักรเป็นอีกตลาดที่มีการขยายตัวถึง 6.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องกว่า 8 เดือนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วน สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ และอาหารสัตว์เลี้ยง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยกล่าวว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ทำให้การส่งออกตั้งแต่ตุลาคม 2565 จนถึงมกราคม 2566 ชะลอตัวลงตาม ซึ่งคาดกันว่าจะลดลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ส่วนไตรมาสที่  2 ยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการส่งออกที่ไม่สามารถคาดเดาได้อีกหลายปัจจัยแต่ก็เป็นที่คาดการณ์เอาไว้ว่าน่าจะดีกว่าไตรมาสที่ 1 นี้รวมถึงคาดว่าการส่งออกในครึ่งปีหลังก็น่าจะมีแนวโน้ที่ดีขึ้นเช่นกัน

ที่มา: https://www.thansettakij.com/business/economy/557797

ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่อง การส่งออก 2566 ยังย่ำแย่ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

เป็นที่ทราบกันมานานว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเติบโตได้ดีมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับเครื่องยนต์ 2 ตัวที่ชื่อว่าการส่งออกและการท่องเที่ยว

ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวกำลังกลับมาจากมาตรการผ่อนปรนต่าง ๆ และการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไมยกำลังไต่ระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแต่ทว่าภาคการส่งออกนั้นกลับมีการเติบโตที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ภาคการส่งออกของไทยติดลบอยู่ในขณะนี้ เฉพาะแค่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาภาคการส่งออกกลับติดลบไปแล้วด้วยมูลค่ากว่า 7 แสนล้าบาท

แม้ว่าในบางตลาด การส่งออก 2566 จะมีอัตราการขยายตัวที่เป็นไปในทางที่น่าประทับใจแต่ทว่ารายได้หลักของเรามาจากตลาดส่งออกหลักที่ติดลบในทุกตลาดจึงเป็นตัวฉุดให้ภาคการส่งออกของเราติดลบอยู่ในขณะนี้

นอกเหนือไปจากสินค้าอุปโภคบริโภคที่ชะลอตัว ในส่วนของสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าก็ล้วนแต่ชะลอตัวตามไปด้วยจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอนอยู่ในขณะนี้

ดังนั้นผู้ผลิตส่งออกสินค้าจึงจำเป็นต้องวางแผน วางกลยุทธ์ให้ดีว่าควรทำอย่างไรเช่นการมองหาตลาดอื่นเพื่อมาชดเชยตลาดหลักที่หดตัว นอกจากนี้ก็ควรติดตามข่าวสารของประเทศปลายทางการส่งออกเพื่อให้ทราบข้อมูลที่เกิดขึ้นของประเทศนั้น ๆและเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งโลกดีขึ้นก็คาดว่าอัตราการส่งออกจะกลับมายืนในแดนบวกได้อีกครั้ง