การจดทะเบียนบริษัทสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายแล้วยังเป็นการเพิ่มประสบการณ์และความรู้ใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการอีกด้วย

ผู้ประกอบการทุกคนล้วนมีความคาดหวังที่อยากเห็นธุรกิจมีการเติบโตที่มั่นคงและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าต้องอาศัยหลายปัจจัยกว่าจะไปถึงจุดนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการมือใหม่มักจะมองข้ามไปตั้งแต่แรกคือ การจดทะเบียนธุรกิจ เพราะคิดว่ามีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร ทำให้ล้มเลิกความคิดนี้ไป  ถือเป็นการตัดสินใจที่ไม่ดีเท่าไรนัก เพราะนี่ถือเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ เอกสารหลักฐานต่างๆล้วนมีส่วนสำคัญต่อการดำเนินการในธุรกิจ เช่น เรื่องของภาษี การขยายโอกาสทางธุรกิจ การขอสินเชื่อ เป็นต้น ลองทำความเข้าใจแล้วจะรู้ว่าขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทเป็นของตัวเองไม่ยากอย่างที่คิด

เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนบริษัท

การเปิดบริษัทและการจดทะเบียนบริษัทสำหรับผู้ประกอบการSMEs อาจไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่มีเอกสารที่ต้องจัดเตรียมพอสมควร  แม้แต่ร้านค้าออนไลน์เองก็ควรที่จดทะเบียนบริษัทเช่นกัน เอกสารที่ใช้มีดังนี้

  1. แบบแจ้งผลการจองชื่อ
  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เริ่มก่อการและกรรมการทุกคน
  3. หลักฐานการชำระค่าหุ้น ที่ออกให้ผู้ถือหุ้นแต่ละคน
  4. สำเนาทะเบียนบ้านของสถานที่จัดตั้งบริษัท หากไม่ได้เป็นเจ้าบ้านต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม คือ หนังสือให้ความยินยอมใช้สถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ หรือสำเนาสัญญาเช่าสถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่
  5. แผนที่แสดงสถานที่ซึ่งใช้ประกอบพาณิชยกิจ และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป

ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท

1.ตรวจสอบและจองชื่อบริษัท

ชื่อที่จะใช้ต้องไม่ซ้ำหรือใกล้เคียงกับบริษัทที่เคยจดทะเบียนไปก่อนหน้าแล้ว โดยการจองชื่อบริษัทนั้นสามารถทำได้ 2 วิธีคือ

  • จองด้วยตัวเองที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตหรือสำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัดที่อาศัยอยู่
  • จองผ่านอินเตอร์เน็ต โดยจะต้องเข้าไปทำการสมัครสมาชิกที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

สามารถทำการจองชื่อสำหรับใช้จดทะเบียนบริษัทได้ 3 ชื่อ โดยปกติจะรู้ผลภายใน 30 นาที เมื่อจองชื่อได้แล้วจะต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นต้องทำการจองใหม่

2.การเตรียมข้อมูลสำหรับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและการจดจัดตั้งบริษัท

หนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือที่แสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท มีไว้เพื่อระบุขอบเขตต่างๆของธุรกิจ ซึ่งสามารถจดทะเบียนบริษัทและจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิไปในคราวเดียวกันได้ ดังนั้นจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อความถูกต้องและรวดเร็ว สำหรับข้อมูลที่ต้องเตรียมมีดังนี้

  • ชื่อของบริษัท (ตามที่ได้จองชื่อไว้)
  • ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ / สาขา
  • วัตถุประสงค์ของบริษัทต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม
  • ทุนจดทะเบียน ส่วนใหญ่นิยมจดกันที่ 1 ล้านบาท
  • ข้อมูลผู้ก่อการ โดยการจดทะเบียนบริษัทนั้นจะต้องมีผู้ก่อการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป
  • ข้อมูลผู้ถือหุ้น เช่น ชื่อ-สกุล สัญชาติ ที่อยู่ และจำนวนผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ก่อตั้งเท่านั้น บุคคลอื่นก็สามารถเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทได้
  • ข้อมูลพยาน ในการจดทะเบียนบริษัทจะต้องมีพยาน 2 คน
  • รายละเอียดการประชุมจัดตั้งจดทะเบียนบริษัท เช่น ข้อบังคับของบริษัท กรรมการบริษัท ผู้สอบบัญชี เป็นต้น

3.รอให้นายทะเบียนตรวจสอบ และเตรียมเอกสารให้พร้อม

สามารถยื่นตรวจเอกสารออนไลน์ได้ที่ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จากนั้นให้รอการตรวจสอบจากนายทะเบียน หากมีส่วนไหนที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมจะได้รับการแจ้งกลับ ถ้าผ่านแล้วให้พิมพ์แบบฟอร์มออกมาให้บุคคลที่ระบุในแต่ละหน้าเซ็น พร้อมกับแนบเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนบริษัท และค่าธรรมเนียม

4.ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

สามารถยื่นได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตที่ใกล้บ้าน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ทุกจังหวัดทั่วทั้งประเทศ เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนและมอบหนังสือรับรองเป็นที่เรียบร้อย ก็แสดงว่าบริษัทของเราได้จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ โดยสมบูรณ์ทุกประการ

 ค่าบริการในการจดทะเบียนบริษัท

ในกรณีที่ดำเนินการด้วยตัวเอง คิดค่าธรรมเนียมตามที่ระบุไว้ ดังนี้

  • ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ คิดจากเงินทุนแสนละ 50 บาท โดยเกณฑ์การชำระขั้นต่ำอยู่ที่ 500 บาท และขั้นสูงได้ไม่เกิน 25,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัท ตามทุนจดทะเบียนแสนละ 500 บาท ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5,000 บาท และขั้นสูงไม่เกิน 250,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียมออกหนังสือรับรอง ฉบับละ 200 บาท
  • ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท
  • ค่ารับรองสำเนาเอกสาร หน้าละ 50 บาท

หากมีความต้องการที่จะจ้างบริษัทสำหรับจดทะเบียนบริษัท จะมีค่าดำเนินการในส่วนอื่นเพิ่มเข้ามา แต่ละที่คิดค่าบริการแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้จัดตั้ง ทุนจดทะเบียน การจดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือจดทะเบียนบริษัทร่วมกับชาวต่างชาติ ถ้าจดเต็มรูปแบบค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้น จึงต้องศึกษาก่อนว่าบริษัทที่จะจัดตั้งประกอบไปด้วยอะไรบ้าง จะได้เตรียมค่าใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม

การจดทะเบียนบริษัทสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายแล้วยังเป็นการเพิ่มประสบการณ์และความรู้ใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการอีกด้วย สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาสามารถจ้างสำนักงานบัญชีได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจในแต่ละบุคคล ท้ายที่สุดสิ่งที่ผู้ประกอบการควรตระหนักคือความถูกต้องและชัดเจน ไม่เพียงแต่เป็นการช่วยรักษาผลประโยชน์ของตัวเองแล้ว แต่ยังเป็นการรับผิดชอบต่อผู้บริโภคที่ต้องการความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการอีกด้วย เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่เรื่องของเอกสารแต่เป็นการมุ่งมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมีศักยภาพในอนาคต