ตั้งแต่ปี 2004 ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลกอย่าง Blockbuster ก็ประสบกับปัญหาขาดทุนมาตลอด จนสุดท้ายก็เข้าสู่สภาวะล้มละลายในปี 2010
ถ้าย้อนกลับไปซักประมาณ 10 กว่าปี จะหาหนังดูทั้งทีต้องทำอย่างไร ร้านเช่าภาพยนตร์ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่คงไม่ใช่สำหรับยุคนี้ ยุคที่อะไรก็ดูรวดเร็วไปเสียหมด เมื่อของเก่าไป ก็ย่อมมีของใหม่มาแทนที่เสมอ เหมือนกับ Blockbuster อดีตร้านเช่าภาพยนตร์ที่ครองอับดับหนึ่งมานานถึง 28 ปี แล้วเกิดอะไรขึ้น ลองมาหาคำตอบกันค่ะ
จุดเริ่มต้นของอาณาจักรเช่าภาพยนตร์
Blockbuster ก่อตั้งโดย David Cook เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 1985 ที่เมืองแดลลัส รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้เขาได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับซอฟท์แวร์ที่ให้บริการสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊ส แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงเปลี่ยนมาเป็นซื้อแฟรนไชส์ร้านเช่าวิดีโอที่ชื่อว่า Video Works โดยเขาตั้งใจจะออกแบบร้านให้เป็นสีน้ำเงินและเหลือง แต่ความคิดนี้ไม่ได้รับการอนุมัติ David จึงตัดสินใจเปิดร้านเช่าวิดีโอแห่งแรกขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า Blockbuster Video และมีการเปิดสาขาเพิ่มอีก 3 สาขาภายในปีถัดไป
เข้าสู่ยุคแห่งความรุ่งโรจน์ ขึ้นแท่นผู้นำร้านเช่าวิดีโอที่ใหญ่ที่สุดในโลก
- ปี 1987 จริงๆแล้วการเติบโตของ Blockbuster เริ่มต้นมาจากการที่ David ได้ขายร้านบางส่วนให้กับกลุ่มนักลงทุนที่นำโดย Wayne Huizenga หลังจากนั้นภายใน 1 ปี Blockbuster ขยายสาขาเพิ่มถึง 400 สาขา
- ช่วงต้นของยุค 90 Blockbuster มีจำนวนสาขามากถึง 1,000 สาขา และขยายไปยังประเทศอื่นๆ จนได้ชื่อว่าเป็นผู้นำของร้านเช่าวิดีโอที่ใหญ่ที่สุดในโลก
- ปี 1994 Blockbuster ถูกซื้อโดย Viacom ยักษ์ใหญ่ทางด้านสื่อ เจ้าของ MTV และ Nickelodeon ในตอนนั้น
จากปัญหาที่นำไปสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ
ในขณะที่จำนวนสาขาเพิ่มมากขึ้น ครอบคลุมในทุกพื้นที่ แต่ดูเหมือนว่าค่าปรับจากการส่งคืนวิดีโอที่ล่าช้ากำลังสร้างปัญหาให้กับลูกค้า ซึ่งในขณะเดียวกันกลับเป็นช่องทางธุรกิจทำให้ในปี 1997 ได้ถือกำเนิด Netflix บริษัทเช่าแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ทางไปรษณีย์ขึ้นมา เป็น Business Model ใหม่ที่ให้บริการแก่ผู้ไม่สะดวกเดินทางไปร้านเช่าภาพยนตร์เป็นหลัก โดย 2 ปีต่อมา Netflix เพิ่มรูปแบบการเก็บค่าบริการสมาชิกรายเดือน เพื่อให้ลูกค้ายืมภาพยนตร์ได้ไม่จำกัดเรื่อง และไม่มีกำหนดวันคืน
เมื่อรูปแบบการแข่งขันเปลี่ยน แม้จะประกาศสู้ศึก แต่ดูเหมือนว่าจะสายเกินไป
การที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก ส่งผลให้การแข่งขันในวงการเช่าภาพยนตร์เริ่มเปลี่ยนมาสู่ระบบการดาวน์โหลดภาพยนตร์ผ่านระบบออนไลน์ จากที่เคยเป็นม้วนเทปเริ่มหมดสมัย เปลี่ยนเป็นแผ่นซีดีและ DVD แต่ถึงอย่างไรดูเหมือนว่า Blockbuster จะไหวตัวช้ากับเรื่องนี้ แม้ในช่วงปี 2005 จะประกาศสู้กับ Netflix ด้วยการไม่คิดค่าปรับเมื่อส่งหนังคืนช้า แต่ก็ไม่สามารถช่วยได้มาก ในขณะที่ Netflix คู่แข่งขันที่มาแรงได้เปลี่ยนไปสู่การ Streaming Video ทางอินเทอร์เน็ตเพื่อรองรับรูปแบบนี้อย่างเต็มที่
เข้าสู่ภาวะล้มละลาย และการกลับสู่สังเวียนการต่อสู้ครั้งใหม่
หลังจากที่ออกจากการดูแลของ Viacom ตั้งแต่ปี 2004 ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลกอย่าง Blockbuster ก็ประสบกับปัญหาขาดทุนมาตลอด จนสุดท้ายก็เข้าสู่สภาวะล้มละลายในปี 2010 ก่อนที่ Dish Network ผู้ให้บริการโทรทัศน์ดาวเทียมจะเข้ามาซื้อกิจการไปในปี 2011 และช่วงต้นปี 2013 สาขาของ Blockbuster ได้ปิดไปอีกกว่า 300 แห่ง จนสุดท้ายได้ประกาศปิดสาขาที่เหลือในอเมริกาทั้งหมด รวมทั้งบริการส่งถึงบ้านอีกด้วย
สำหรับก้าวใหม่ของ Blockbuster ตั้งแต่ต้นปี 2014 เป็นต้นไปภายใต้การดูแลของ Dish Network นั้น จะให้บริการชมภาพยนตร์ในรูปแบบ online streaming ภายใต้ชื่อ Blockbuster@Home ถึงแม้ว่าอดีตยักษ์ใหญ่จะมีประสบการณ์บวกกับชื่อเสียงที่มีมานาน ก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่าการลงแข่งในสนามใหม่ครั้งนี้จะสามารถต่อกรกับผู้เล่นรายอื่นได้ อีกทั้งผู้เล่นที่มาแรงแซงทางโค้งอย่าง
Netflix ก็มีข้อได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนที่ต่ำกว่า ความสะดวกในการให้บริการ รวมถึงเข้ากับไลฟ์สไตล์คนยุคนี้มากกว่า ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถนัดสำหรับ Blockbuster
เห็นทีศึกครั้งนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องแก้เกมให้ได้ หากจะต่อกรกับคู่แข่งคงต้องงัดสุดยอดกลยุทธ์ นำเสนอสิ่งใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ไม่เช่นนั้นชื่อของ Blockbuster อาจกลายเป็นแค่ตำนาน ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นที่สุดแห่งวงการเช่าภาพยนตร์
บทสรุป Blockbuster เหตุใดยักษ์ใหญ่ถึงโดนโค่น
1.การปรับตัวที่ช้าเกินไป
จริงแล้วๆสัญญาณเตือนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั่น มีมาซักระยะหนึ่งแล้ว แต่ Blockbuster กลับเพิกเฉยกับสิ่งเหล่านั้น การที่เทคโนโลยีสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคนิยมใช้บริการผ่านทางออนไลน์ ที่มีข้อได้เปรียบกว่าในหลายๆเรื่อง อีกทั้งยังเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ลองคิดง่ายๆว่าตอนที่อินเตอร์เน็ตยังไม่เฟื่องฟู การจะหาหนังดูสักเรื่อง ต้องมีการเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆตามมา ฟังเป็นอะไรที่ดูยุ่งยากสำหรับยุคนี้ จึงทำให้รูปแบบการให้บริการแบบเก่าไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป
2.เจอคู่แข่งที่โดดเด่น
ในขณะที่ Blockbuster กำลังวุ่นอยู่กับการบริหารสาขา ในอีกด้านหนึ่งก็เกิดคู่แข่งทางธุรกิจขึ้นมาใหม่ ใครจะไปคาดคิดว่าจากจุดเล็กๆ จะทำให้เกิด Business Model ใหม่ขึ้นมา แถมยังมีการพัฒนาต่อไปได้อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นกระแสที่หลายบริษัทหันมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด
กว่าที่ Blockbuster จะเริ่มรู้สึกตัวและลงมาในสนามแข่งนี้ คู่แข่งก็ทิ้งช่วงห่างไปไกลแทบไม่ทิ้งฝุ่นให้เห็น
3.ชื่อเสียงและความสำเร็จในอดีต
การยึดติดในชื่อเสียงและความสำเร็จ อาจทำให้เกิดความคาดหวังและความกดดัน เมื่อถึงคราวที่ต้องเปลี่ยนแปลง กลับกลายเป็นการยึดติด จนท้ายที่สุดความสำเร็จในอดีตนั้นอาจเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียในอนาคตได้
Blockbuster ให้บทเรียนอะไรสำหรับธุรกิจ SMEs
1.อย่าติดกับดักความสำเร็จของตนเอง
การประสบความสำเร็จเป็นสิ่งที่ SMEs ต่างปรารถนา แต่หากสำเร็จแล้วจะทำอย่างไรต่อ แต่หากกลายเป็นการยึดติด ผลลัพธ์ในอนาคตคงไม่ดีแน่ เพราะความสำเร็จเป็นแค่ส่วนหนึ่งของธุรกิจแต่การที่จะทำให้คงอยู่ได้นาน อยู่ได้ดีมีประสิทธิภาพ SMEs ควรมองหาช่องทางในการต่อยอดความสำเร็จนั้น อย่ามัวแต่หลงดีใจปลาบปลื้ม ทุกอย่างต้องมีการก้าวหน้าเสมอ ยิ่งก้าวเร็วเท่าไหร่ยิ่งได้เปรียบมากเท่านั้น เพราะการเป็นผู้นำให้ผู้อื่นเดินตามย่อมดีกว่าเสมอ
2.ต้องเรียนรู้และพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ
สิ่งที่ SMEs ควรจะต้องทำและทำให้เกิดเป็นวินัย คือการเรียนรู้และพัฒนา
อะไรมาใหม่ อะไรกำลังจะล้าสมัย ต้องรวดเร็วและปรับตัวให้ทัน แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเปลี่ยนตามกระแสจนกลายเป็นว่าไม่มีความชัดเจนในแบรนด์ เพราะนั้นจะทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกสับสน เชี่ยวชาญด้านไหนก็พัฒนาด้านนั้นแต่ต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้า ดูทิศทางตลาด แนวโน้มที่เป็นไปได้ในอนาคต หากหยุดเรียนรู้เมื่อไหร่ ก็เท่ากับว่าธุรกิจได้หยุดอยู่แค่นั้น หรือไม่ก็ได้แต่ภาวนาว่าขอให้มีคนที่ด้อยกว่า เราถึงไปต่อได้ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่ดีสักเท่าไหร่ ในเมื่อลงสนามแข่งแล้วต้องเอาให้สุด ขนาดนักกีฬายังไม่หยุดฝึกซ้อมแม้ไม่ใช่ช่วงการแข่งขัน แล้ว SMEs หล่ะจะกล้าหยุดคิดได้อย่างไร
อ้างอิง
- https://www.forbes.com/sites/civicnation/2018/03/27/baltimore-county-builds-a-college-promise/#2f7ad24267bb
- https://www.history.com/this-day-in-history/first-blockbuster-store-opens
- https://exstreamist.com/the-idea-for-netflix-came-from-40-in-late-fees-on-an-apollo-13-rental/
บทความโดย
ผู้ผ่านรับการฝึกอบรม “ใช้เวลาว่างเขียนบทความสร้างรายได้”
คุณ มาลินี เพ็ชรอุไร แม่บ้านครูสอนพิเศษวิชาวิทยาศาสตร์ |
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME