แม้ตลาดในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มจะมีการแข่งขันสูง แต่ธุรกิจร้านกาแฟยังคงอยู่ในกระแสความนิยมอย่างต่อเนื่อง มักจะมาพร้อมกับเมนูใหม่ๆ ที่เรียกความสนใจจากผู้บริโภคได้ไม่น้อย การจะเปิดร้านกาแฟทั้งทีต้องมีการวางแผนและเตรียมตัวให้พร้อม สำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำธุรกิจ แฟรนไชส์กาแฟสดเป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับการลงทุน จะงบน้อยหรือมากแค่ไหนก็สามารถเปิดร้านกาแฟสดได้ มาดูกันว่า ต้องใช้เงินลงทุนเบื้องต้นเท่าไหร่ อาศัยกลยุทธ์การตลาดอย่างไรให้ร้านอยู่รอดในภาวะที่มีการแข่งขันสูง

ทำไมธุรกิจแฟรนไชส์กาแฟสดจึงน่าลงทุน

ธุรกิจร้านกาแฟขึ้นชื่อในเรื่องการแข่งขันที่สูงมาก เราจึงเห็นร้านกาแฟอยู่ทั่วทุกมุมถนน ตั้งแต่ร้านข้างทางไปจนถึงร้านกาแฟระดับพรีเมี่ยม จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ส่วนแบ่งการตลาดของแฟรนไชส์ร้านกาแฟในปี 2560 คิดเป็น 6% ของร้านกาแฟทั่วประเทศ ซึ่งรูปแบบร้านกาแฟประเภทแฟรนไชส์ มีแนวโน้มว่าน่าจะยังมีการขยายตัวในระยะถัดไป เห็นได้จากแผนการขยายสาขาของผู้นำตลาด โอกาสสำหรับธุรกิจก็ยังมีอยู่

แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ก็ไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอยไป บางรายที่ทำธุรกิจเบเกอรี่และเครื่องดื่มอยู่แล้ว หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อ ต่างก็เพิ่มเมนูกาแฟสดเข้ามาเป็นตัวเลือกให้แก่ลูกค้า ในทางกลับกันหลายคนที่ไม่ได้เตรียมตัว มองว่าเป็นธุรกิจที่เปิดง่าย กำไรสูง หรืออาจจะคิดน้อยไปหน่อย ไม่ช้าก็เร็วก็จะหายไปจากวงการ ผ่านไปไม่นานก็จะมีเจ้าใหม่เข้าไปแทนที่

หากจะว่าไปแล้วความพอใจของผู้ประกอบการแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเปิดร้านกาแฟเป็นอาชีพเสริม บางคนไม่มีค่าเช่าร้าน  บางคนพอใจที่จะเปิดร้านกาแฟไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าร้านกาแฟสดเป็นธุรกิจที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว อย่างไรก็ตามธุรกิจย่อมต้องมีเรื่องกำไรขาดทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำแล้วต้องมีกำไร ต้องคำนึงถึงผลตอบแทนระยะยาว

งบประมาณการลงทุนแฟรนไชส์กาแฟสดเบื้องต้น

ขนาดของธุรกิจมีตั้งแต่ร้านกาแฟที่เป็นลักษณะเคาน์เตอร์ไปจนถึงร้านขนาดใหญ่ ลองดูว่าแฟรนไชส์ร้านกาแฟใดที่ตอบโจทย์ตามความต้องการ งบในการลงทุนตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักล้านขึ้นอยู่กับพื้นที่ของร้าน แต่ละแบรนด์เจาะกลุ่มลูกค้าต่างกัน ก่อนอื่นต้องรู้ว่าทำเลที่เราจะขายเหมาะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแบบไหน ร้านของเราตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนั้นหรือไม่ นอกจากค่าใช้จ่ายที่ทางแฟรนไชส์ประเมินให้คร่าวๆ แล้ว ก็ต้องมาดูว่ามีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อะไรอีกบ้าง เพื่อให้แผนธุรกิจร้านกาแฟมีแนวทางชัดเจนขึ้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. เงินสำหรับหมุนเวียนใช้จ่ายภายในร้าน
  • วัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ คำนวณคร่าวๆ ว่าจะขายกี่แก้วต่อวันหรือต่อสัปดาห์ วัตถุดิบบางอย่างเก็บไว้นานไม่ได้ ต้องประเมินว่าจะใช้เท่าไร
  • ค่าเช่าสถานที่ เช่น ค่าเช่ารายเดือน ค่าเช่าจ่ายล่วงหน้ากี่เดือน เงินมัดจำหรือเงินประกันตามสัญญาเช่า
  • ค่าจ้างพนักงาน ทั้งพนักงานประจำ และพนักงาน Part Time
  • ค่าสาธารณูปโภค ลองคำนวณว่าจะเสียค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาเท่าไรต่อเดือน
  1. เงินทุนสำรอง การทำธุรกิจต้องเตรียมเงินเงินไว้ใช้สำหรับกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นต่างๆ เงินส่วนนี้ควรแบ่งกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการมาเก็บไว้
  2. เงินสำรองสำหรับขยายกิจการ หากกิจการไปได้สวย ต้องการขยับขยาย สามารถใช้เงินส่วนนี้ลงทุนเพิ่มเติมได้

ลองวางแผนงบประมาณค่าใช้จ่ายที่จะเกิดในแต่ละวัน ต้องมียอดขายสักเท่าไหร่จึงจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายและได้กำไร สำหรับแฟรนไชส์นั้นจะมีค่า Royalty Fee  และค่า Marketing Fee  ให้ประมาณการล่วงหน้า 6 เดือนดูว่าอยู่ไหวหรือไม่ ก่อนตัดสินใจเปิดร้านต้องมีการวางแผนเพื่อหาทางแก้ก่อนเกิดปัญหา

กลยุทธ์การตลาดทำแฟรนไชส์กาแฟสด ให้ประสบความสำเร็จ

1.สร้างตัวตนให้ร้านสาขาบนโลกออนไลน์

แม้ว่าแฟรนไชส์จะเป็นที่รู้จักและยอมรับจากลูกค้า มีการทำการตลาดออฟไลน์ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ ร้านสาขาเองก็ควรทำการตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขายเช่นกัน ใช้ Facebook Fanpage เป็นช่องทางสร้างกิจกรรมให้ลูกค้ามีส่วนร่วมต่างๆ ควรมีการอัพเดทข่าวสาร เมนูใหม่ โปรโมชั่นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หรือเข้าร่วมGoogle My Business เป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้น สามารถอัพเดทรายละเอียดต่างๆ ของร้าน เช่น รูปสินค้า รีวิวจากลูกค้าที่เคยใช้บริการ เพื่อเป็นการโปรโมทธูรกิจ ช่วยให้ลูกค้าใหม่ๆ ตัดสินใจเลือกใช้บริการได้ง่ายขึ้น

2.สร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า

ท่ามกลางร้านกาแฟที่ตั้งอยู่มากมาย จะทำอย่างไรให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ และกลายเป็นลูกค้าประจำ กาแฟรสชาติดี ร้านบรรยากาศดี แค่นี้อาจยังไม่เพียงพอ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ทำให้พวกเขารู้สึกประทับใจ ลองดูว่าร้านของเราสามารถทำให้ลูกค้าประทับใจได้อย่างไรบ้าง พยายามจดจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จากการสั่งเครื่องดื่ม ให้ระลึกอยู่เสมอว่า ทุกครั้งที่ลูกค้าใช้บริการต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่าเราขอบคุณที่เลือกดื่มกาแฟร้านเรา

3.ใส่ใจพนักงานไม่น้อยไปกว่าการดูแลลูกค้า

เมื่อพูดถึงกลยุทธ์ในการเพิ่มยอดขาย ผู้ประกอบการหลายคนมักจะโฟกัสไปที่ลูกค้าเป็นหลัก แต่อย่าลืมว่าบรรยากาศในการทำงานก็สำคัญเช่นกัน พนักงานจะส่งต่อความสุขให้ลูกค้าได้อย่างไร หากพวกเขาไม่มีความสุขกับงานที่ทำ สำหรับร้านกาแฟนั้นการให้บริการถือเป็นหัวใจสำคัญไม่น้อยไปกว่าคุณภาพและรสชาติของกาแฟ พนักงานอารมณ์ดี ลูกค้าแฮปปี้ แบบนี้ขายดีแน่นอน

แฟรนไชส์กาแฟสด ยี่ห้อไหนดี ? หลักเกณณ์ในการเลือกแฟรนไชส์

1. ชื่อเสียงแบรนด์

แบรนด์เป็นที่รู้จัก รวมถึงเจ้าของแบรนด์ก็ควรจะเป็นที่รู้จักมีความน่าเชื่อถือ

2. ระบบแฟรนไชส์ ถ่ายทอดความรู้ การสนับสนุนด้านต่างๆ

การฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ ระบบสนับสนุนทางด้านการขายหน้าร้าน บัญชี สต็อก ฯ รวมถึงการตลาด ที่บริษัทแม่สนับสนุนให้

3. รายได้ กำไรต่อหน่วยลงทุน

พิจารณาสินค้าหรือบริการที่นำมาขายนั้นกำไรต่อหน่วยเพียงพอกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าสถานที่ ค่าน้ำค่าไฟ และ ค่าพนักงาน แล้วมีกำไรเหลือกำไรเหมาะสมตามที่เราต้องการมากน้อยเพียงใด

4. งบประมาณการลงทุน ระยะเวลาคืนทุน

เงินลงทุนเบื้องต้นเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายระหว่างการทำธุรกิจต่างๆ เท่าไหร่ และสามารถคืนทุนได้เมื่อไหร่ ทั้งหมดนี้ต้องลองนำมาคำนวณเบื้องต้น เพื่อจะได้ดูความคุ้มค่าในการที่จะลงมือลงแรง

5.ระยะเวลาสัญญา

สัญญาแฟรนไชส์มีระยะเวลากี่ปี เงื่อนไขในการอยู่ในระหว่างการทำธุรกิจมีอะไรบ้าง เช่นการซื้อวัตถุดิบต่างๆ  เงื่อนไขกรณีเกิดข้อพิพาทต่างๆ รวมถึง เงื่อนไขในการต่อสัญญามีอย่างไร เหล่านี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ

ธุรกิจร้านกาแฟสดมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นกว่าในอดีต ผู้ประกอบการสามารถเลือกลงทุนได้ตามความพร้อมและความเหมาะสมของตนเอง แม้ว่าร้านกาแฟประเภทแฟรนไชส์มีจุดแข็งตรงที่เป็นที่รู้จักของลูกค้า มีมาตรฐานของสินค้าที่ค่อนข้างสูง แต่การที่จะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ผู้ประกอบการต้องมีความมุ่งมั่น หมั่นเรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ หาทางแก้ไขเมื่อเกิดปัญหา เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้

แนะนำแฟรนไชส์กาแฟสดน่าลงทุน 2021

 

แฟรนไชส์กาแฟสดน่าลงทุน

สำหรับเจ้าของแฟรนไชส์กาแฟสด ที่ต้องการแนะนำแฟรนไชส์กาแฟสดน่าลงทุนในบทความนี้สามารถติดต่อได้ ที่นี่