วิกฤตโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจเช่นกัน  บางธุรกิจสาหัสจนต้องเข้าห้อง ICU บางธุรกิจล้มตาย ที่เหลืออยู่ก็ต้องดิ้นรนกันต่อไป  โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจรากหญ้าที่อาการหนักสุด ทางรอดธุรกิจช่วงโควิด ทำอย่างไรมาดูบทสรุปคำแนะนำจากบทสัมภาษณ์คุณ วรวุฒิ อุ่นใจอดีต ซีอีโอ COL จำกัด (มหาชน) และ อดีต ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กันครับ

ผลกระทบเศรษฐกิจจากโควิด-19

คาดการณ์กันว่า นี่เป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 100 ปีเลยก็ว่าได้ วิกฤตที่ทำให้ทุกคนต้องหยุดกิจกรรมแทบทุกอย่างเพื่ออยู่บ้าน นับเป็นวิกฤตแรกในโลกที่หลายประเทศถึงขั้นประกาศปิดประเทศตามๆ กัน ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกล่มสลายได้ภายใน 1-2 ปีนี้ แม้แต่ประเทศที่ปลอดเชื้อก็ไม่กล้าเปิดรับนักท่องเที่ยว ประเทศไหนที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว เรียกได้ว่า โดนไปเต็มๆ

ไทยเองก็โดนไม่ใช่น้อย เมื่อปีที่แล้วจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประมาณ 40 ล้านคน ในตอนนี้ 10 ล้านคนก็ไม่รู้ว่าจะถึงหรือไม่ อย่าลืมว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่นกัน มาถึงตรงนี้ ใครว่าโควิด-19 ไม่เกี่ยวกับเราโดยตรง ก็ต้องทบทวนกันใหม่ ไม่ใช่แค่ธุรกิจโรงแรม ที่พัก การเดินทางเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงธุรกิจอาหาร ช้อปปิ้ง ธุรกิจบริการสาธารณะต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย

ขนาดธุรกิจขนาดใหญ่ยังล้มต่อกันเป็นทอดๆ แล้วกลุ่มคนตัวเล็กๆ อย่างธุรกิจSME จะหลุดพ้นได้อย่างไร

ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุนที่น้อย บางรายไม่มีเลยด้วยซ้ำ! หลายคนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจนี้ไม่ได้เป็นหนี้ธนาคาร แต่เป็นหนี้นอกระบบ! เราต่างรู้ดีกว่าดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบนั้นโหดแค่ไหน เมื่อผู้ประกอบการเจอพิษเศรษฐกิจเข้าไป ปิดกิจการแค่ 2 สัปดาห์ก็แทบจะไม่รอด แต่นี้ต้องปิดไปเกือบ 3 เดือน คงไม่ต้องบอกก็พอจะเดาได้ว่าผลเป็นยังไง หากต้นปีที่ผ่านมาเรียกว่าโหดแล้ว บอกเลยว่า วิกฤตเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มต้น!!! พอเข้าสู่ช่วงปลายไตรมาสที่ 3 เป็นอะไรที่หนักหน่วงกว่านี้มาก เรียกว่าทุกอย่างดิ่งลงสู่ก้นเหวเลยก็ว่าได้ วิกฤตเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่ เริ่มต้นจากการที่หลายคนเริ่มทยอยเจ๊ง ตามมาด้วยไม่สามารถจ่ายหนี้คงค้างได้ ทีนี้ก็จะเริ่มกระทบคนทำธุรกิจที่ยังเหลือรอดอยู่ เพราะเจ้าหนี้ไม่สามารถเก็บเงินจากลูกหนี้ได้ ก็จะล้มต่อๆ กันเป็นโดมิโนนั่นเอง

ส่วนมาตรการภาครัฐที่ประกาศพักชำระหนี้ “งดต้น งดดอก” แต่พอเข้าสู่เดือนตุลาคม จะเป็นจุดที่ไม่มีการผ่อนผัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อถึงตอนนั้นจะเป็นอย่างไรกันต่อไป จะหาเงินมาจ่ายได้หรือไม่ เรื่องยอดขายคงไม่กลับมาเป็นปกติแน่นอน พอเข้าสู่ไตรมาสที่ 4 เราคงได้เห็นอีกหลายธุรกิจปิดตัวลงตามๆ กัน  ปิดไป 3 เดือนอาจยังอยู่ได้ แต่ถ้า 6 เดือนคงอยู่ไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งการล้มครั้งนี้จะไม่เหมือนครั้งไหนๆ ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40  ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินการลงทุน ค่าเงินบาท แต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ลามไปทั่วโลกเข้าถึงทุกภาคธุรกิจ แทบจะพร้อมกัน! จนนึกภาพไม่ออกเลยว่าวิกฤตครั้งนี้จะรุนแรงแค่ไหน

สำหรับผู้ประกอบการ ทางรอดธุรกิจช่วงโควิดทำอย่างไร เพื่อให้อยู่รอดหรือเจ็บตัวน้อยที่สุด

1.ขยันทำทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มโอกาสรอด

ถ้าอยากรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจสุดโหดอย่างแรกเลยคือ ต้องขยันเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ยิ่งเศรษฐกิจแย่ ยิ่งต้องขยันหาอะไรทำเพิ่ม ลองดูว่าถ้าลูกค้าเก่าหายไป จะหาลูกค้าใหม่จากไหน  ส่วนลูกค้าเก่าที่ซื้อกับเรา สามารถซื้ออะไรเพิ่มเติมได้อีกบ้าง อาจจะต้องหาสินค้าหรือบริการใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน สำรองไว้เพื่อเป็นทางเลือก อะไรที่ทำให้เกิดรายได้ ก็ขอให้ทำ

2.มองตลาดให้ออก ปรับตัวให้เร็ว

แค่ขยัน ไม่การันตีว่าจะรอดเสมอไป ความยากของวิกฤตคือ “ตลาด” หันไปทางไหนก็มีแต่คนอยากขาย แต่คนซื้อลดลง ส่วนจะเป็นตลาดไหนนั้น ต้องดูที่ความต้องการของตลาดว่าไปในทิศทางใด รีบหาให้เจอ! และปรับตัวให้ไว้ ธุรกิจใดที่ยอดขายตกฮวบถึง 50% อาการน่าเป็นห่วงมาก เตรียมตัวหาธุรกิจใหม่รอไว้ได้เลย บางคนถึงขั้นต้องเปลี่ยนอาชีพ ในขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่า ธุรกิจขายของออนไลน์ ธุรกิจ E-Commerce ต่างๆ และธุรกิจเดลิเวอรี่ ก็เติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวในเวลาไม่กี่เดือน

3.พัฒนาทักษะความสามารถ ใช้ช่องทางออนไลน์ในการเพิ่มยอดขาย

เมื่อจับทิศทางของตลาดได้แล้ว ก็ต้องมาดูกันต่อว่าผู้ประกอบการเองมีความสามารถที่จะทำแค่ไหน อย่างสินค้าหน้ากากผ้าเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ทำอย่างไรให้เราแตกต่างและน่าสนใจ ผู้ประกอบการต้องอัพสกิลตัวเองเพื่อให้อยู่รอด อีกทักษะสำคัญที่จะขาดไม่ได้คือ ขายของออนไลน์ พอพูดถึงออนไลน์ก็ต้องมาดูกันต่อว่า ทำคอนเทนต์เป็นหรือไม่ ช่องทางไหนเข้าถึงลูกค้า ช่องทางชำระเงินมีอะไรบ้าง จัดส่งสินค้าอย่างไรให้รวดเร็ว ประหยัด และสินค้าไม่เสียหาย เรื่องพวกนี้ต้องนำมาคิดให้หมด เพราะเกี่ยวข้องกับต้นทุน! ศึกษาให้เร็ว ถามผู้รู้ อย่าช้า! เพราะเวลามีจำกัด

4.สู้คนเดียวอาจไม่รอด ต้องสู้ไปด้วยกัน

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่มสินค้า OTOP หากที่ผ่านมามุ่งเน้นไปที่การออกบูธตามงานแสดงสินค้า ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับตัวหาช่องทางอื่น เพื่อให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จัก ธุรกิจกลุ่มนี้สู้คนเดียวไม่รอดแน่ ต้องหาพันธมิตรเข้าร่วมกลุ่มธุรกิจเดียวกัน สมาคมการค้าต่างๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ

5.หาเงินเพิ่มไม่ได้ ก็ต้องตัดรายจ่ายออกไป!

เมื่อเงินกำลังจะหมด จะทำอย่างไร กู้แบงก์ก็ไม่ได้ หนี้เก่าก็ยังไม่เคลียร์ ปัญหาโลกแตกที่ยังไร้ทางแก้ไขจากทางภาครัฐ ไม่ใช่แค่ธุรกิจปิดตัวลง แล้วจบเพียงเท่านี้ แต่ยังกระทบถึงลูกจ้างของธุรกิจนั้นๆ อีกด้วย เท่ากับว่ากระทบกันไปหมดทุกย่อมหญ้า ถ้ายังหาเงินทุนไม่ได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ตัดรายจ่ายออกไป บางเรื่องแม้ฟังดูโหดร้าย แต่มันคือเรื่องจริง!

แม้วิกฤตจะจบลง ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับเข้าที่เข้าทาง วิกฤตเศรษฐกิจไม่เคยปราณีใคร อยากรอดต้องคิดให้ออก อย่ายึดติด ต้องยืดหยุ่น คิดให้เยอะ ออกแรงทำให้มาก เพราะถ้าเราไม่ดิ้นรนเอง ใครจะมาดิ้นรนให้เรา ถ้าผ่านไปได้จะแข็งแกร่งขึ้น หมดทุกอย่างได้ แต่อย่าหมดกำลังใจ

บริการอบรม ให้คำปรึกษา การทำให้สินค้าค้นหาเจอบน Google การทำ Digital Marketing & Brand Storytelling ทั้งแบบรูปแบบองค์กร กลุ่ม และ ตัวต่อตัวForex signal แม่น ๆ