เคยสงสัยไหมครับ ทำไมนิทานเรื่อง กระต่ายกับเต่า จึงเป็นเรื่องเล่าที่เราได้ยินกันตั้งแต่ยังเด็ก จวบจนเราเป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ก็ยังเล่าเรื่อง กระต่ายกับเต่าให้ลูกให้หลานเราฟัง ?

นิทาน

เป็นเรื่องเล่าที่มักจะมีความรู้ สาระ ข้อคิด เตือนใจสอดแทรกอยู่ในความบันเทิงเสมอ

 

กระต่าย เป็นสัตว์ที่วิ่ง กระโดดไว ตามธรรมชาติ จึงถูกหยิบยกมาเป็นตัวแทนของสัตว์ที่ทำอะไรรวดเร็ว แต่มีจุดหักเหบางอย่างทำให้ต้องแพ้ภัยตัวเอง ไม่สามารถเอาชนะเต่าได้

 

ในขณะ ที่เต่า เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ อุ้ยอ้าย ไปไหนมาไหนเชื่องช้า เมื่อจับมาสู้รบปรบมือวิ่งแข่งกับกระต่าย ก็คงไม่มีใครจะคิดหรือกล้ารับพนันขันต่อหรอกว่าเต่าจะเป็นผู้ชนะ ในการแข่งขัน

 

จุดพลิกเกม

กระต่ายออกตัววิ่งจากจุดสตาร์ทด้วยความรวดเร็ว มีความมั่นใจสูง

ไอ้เจ้าเต่าจอมอุ้ยอ้าย !!! ชาตินี้เองไม่มีทางชนะข้าอย่างแน่นอน

ถ้าพวกเราเป็นกระต่ายก็คงคิด ลำพองใจตัวเองอย่างนี้เช่นกัน หรือว่าคุณไม่คิด

 

เมื่อเกมมันคนละชั้น ความเร็วมันคนละเรื่อง

เหมือนรถไฟชินคันเซ็น ที่ความเร็วกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีหรือจะแพ้รถไฟสายใต้ที่วิ่งแบบถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง

กระต่ายผู้ผยอง ลำพองในความเร็ว ชะล่าใจ วิ่งไปได้ครึ่งทางขอพักนอนหลับให้สบาย ชาติหน้าตอนสาย ๆ เต่ามันคลานมาไม่ทัน

 

เต่าผู้ไม่ยอมแพ้ แม้ถูกหยามว่าแข่งอย่างไรก็ไม่ชนะ ยังคงทำหน้าที่ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง

คลานไปทีละก้าว ขยับไปทีละคืบ แต่ไม่หยุด หัวใจจดจ่ออยู่แค่ที่เป้าหมาย

เท้าก็ยังคงทำหน้าที่ “ก้าว” ไปอย่างไม่ย่อท้อ

จุดจบ

ทุกคนรู้คำตอบของ “นิทานเรื่องนี้”

ทุกคนรู้บทสรุปของนิทานเรื่องนี้ว่า “สอนใจอะไรเรา”

และพวกเราก็ยินดีที่จะ “เล่าต่อ” นิทานเรื่องนี้ต่อไปเรื่อย ๆ

กลายเป็นเรื่องเล่ากระต่ายกับเต่าที่ไม่มีวันจบไปเพียงแค่

“เต่า” เอาชนะ “กระต่าย” ได้ด้วยความ “พยายาม”

“กระต่าย” พ่ายแพ้ “เต่า” ไปเพราะความ “ประมาท”

 

พวกเรามองเห็นเหมือนผมไหม จริง ๆ แล้วหากเรานำเรื่องกระต่ายกับเต่า

มาประยุกต์ใช้ในการสร้าง Content ในการทำธุรกิจในปัจจุบันมันคงเป็นประโยชน์ได้ไม่น้อย

ประเด็นที่ที่พวกเราควรนำมาปรับใช้คือ

 

1.ทำ Content ให้เป็น “เรื่องเล่า” ที่ไม่มีวันตาย

2.มีสาระ ความรู้แฝงอยู่ในความบันเทิง หรือ จินตนาการ

3.การเปรียบเทียบให้เห็นภาพ จะเป็นที่จดจำมากกว่าการบอกไปตรง ๆ

4.มีจุด “พลิกเกม” ที่กระชากความรู้สึก หรือ เปลี่ยนความคิดของผู้ติดตาม

5.การเชื่อมโยง สิ่งหนึ่งเพื่อสิ่งหนึ่ง และสิ่งต่อไป เป็นเรื่องราว

6.บทสรุปที่เรียบง่าย ลงตัว ไม่ฝืนความรู้สึก

 

ลองจินตนาการดูนะครับ หากสินค้าหรือบริการของพวกเรา

กลายเป็นเรื่องเล่าที่คนพร้อมจะพูดถึง กล่าวถึง เขาได้ประโยชน์ และบันเทิง

เต่า หรือ สินค้าของเราก็เข้าเส้นชัยได้แบบสบาย

กระต่าย หรือ สินค้าของคู่แข่งอาจจะแพ้แบบสู้ไม่ได้

 

คิดใหม่

ถ้าหากเราเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนิทานกระต่ายกับเต่า

แล้วเราจะเล่าเรื่องให้กระต่ายเป็นผู้ชนะ

คิดว่าจะมีคนจดจำเรื่องนี้ไหม แล้วเขาจะได้อะไรจากนิทานเรื่องนี้

 

แล้วธุรกิจเราหละครับ !!!

เราจะเล่าเรื่องอย่างไร ?