ถึงแม้ว่าการเริ่มต้นธุรกิจจะมีความเสี่ยงอยู่อีกหลายประการที่คุณไม่สามารถจะควบคุมมันได้เช่นดินฟ้าอากาศ ภาวะเศรษฐกิจหรือการเมืองก็ตามที ทว่าคุณสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีการจัดวางแผนสำรองฉุกเฉินไว้ดีพอแล้ว

ในการเริ่มธุรกิจใดก็ตามเรื่องของความเสี่ยงถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้ประกอบการต้องได้พบเจออยู่แล้วจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ การบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีมีประสิทธิภาพ มันก็หมายถึงความสำเร็จและอยู่รอดของธุรกิจนั้นด้วย ถึงแม้จะเตรียมใจรับกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้นแล้วก็ตามที ผู้ประกอบการก็หนีความรู้สึกวิตกกังวลในจุดนี้ไม่ได้

เพราะฉะนั้นนอกจากการเตรียมใจแล้ว การเตรียมแผนรับมือกับความเสี่ยงก่อนเริ่มธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญมากเลยทีเดียว ลองมาดูเคล็ดลับเหล่านี้กันที่จะช่วยลดทอนความเสี่ยงและความกังวลใจที่อาจจะเกิดขึ้นกับคุณ

1.คิดใหญ่ได้ แต่เริ่มที่พอดี ล้มไปพลาดไปจะได้ไม่เจ็บหนัก

การเริ่มธุรกิจด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่โตเกินความจำเป็นในระยะแรกนั้น ทำให้คุณสามารถที่จะบริหารจัดการได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบาย การบริหารงานภายในที่ไม่ซับซ้อน สามารถปรับยืดหยุ่นได้ง่าย คล่องตัว ไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ยังไม่จำเป็นในช่วงแรกของการเริ่มธุรกิจ งานในส่วนที่ต้องใช้เวลามาก ปริมาณมากจนล้นมือ แต่ไม่ได้ก่อเกิดตัวเงินในทันที เช่นงานเอกสาร งานหลังบ้าน อาจพิจารณาจ้างบริษัทเอ้าซอร์ซ (outsource) เข้ามาทำให้ก็เป็นการลดต้นทุน และแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องขาดแคลนพนักงานได้อีกด้วย

2.ความรู้ ความสามรถ ความชำนาญที่เรามี คือต้นทุนชั้นดีในการเริ่มต้น

การเริ่มธุรกิจในเรื่องที่คุณมีความชำนาญ อาจยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าคุณจะประสบความสำเร็จในเส้นทางธุรกิจ แต่แน่นอนที่สุดคือมันง่ายที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจ คุณสามารถทำได้เลยโดยที่ไม่ต้องใช้เวลามากมายในการฝึกฝน เพราะชำนาญอยู่แล้ว และหากเกิดปัญหาขึ้น คุณก็สามารถแก้ไขมันได้ไม่ยาก หาทางออกได้รวดเร็ว และธุรกิจของคุณยังดูน่าเชื่อถือเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้าได้ง่ายอีกด้วย หากคุณไม่ได้ทำธรุกิจในสาขาวิชาชีพที่ร่ำเรียนมา ไม่ใช่สิ่งที่ทำมันอยู่ทุกวันจนชำนาญ นั่นก็ยังไม่ใช่ปัญหา แต่ขอให้คุณมีความรัก ความชอบ ความสนใจในสิ่งนั้น เพราะมันจะทำให้คุณสนุกที่จะทำ สนุกที่จะศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นคุณไม่ได้รู้สึกเบื่อหน่ายหรือท้อถอยยอมแพ้กับมัน สิ่งนี้ก็สามารถทำให้การเริ่มธุรกิจของคุณเสี่ยงน้อยลงได้เช่นกัน

3.สร้างรากฐานธุรกิจให้แข็งแรง ด้วยการวางแผนการเงินให้รอบคอบ

ก่อนที่คุณจะเริ่มทำธุรกิจ ต้องประเมินให้ได้ว่า คุณต้องการใช้เงินลงทุนในการก่อตั้งกิจการเท่าไร ซึ่งเจ้าของธุรกิจควรมีเงินลงทุนอย่างน้อย 1 ใน 3 ของการลงทุนทั้งหมด ส่วนที่เหลืออาจขอกู้จากสถาบันการเงินได้ และคุณต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเท่าไร เพื่อให้เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยเผื่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนไว้ด้วย ซึ่งอาจใช้เงินทุนของตนเอง หรือขอก็จากสถาบันการเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

4.เรียนรู้เพิ่มเติม เสริมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ธุรกิจก้าวไกลไปอีกขั้น

นอกจากความรู้ความชำนาญในธุรกิจที่คุณทำแล้วนั้น คุณยังจำเป็นจะต้องมีความรู้ด้านอื่นๆ เช่นความรู้ด้านการตลาด การโฆษณา กลยุทธ์ต่างๆ ภาษี การทำบัญชี โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ที่มีความก้าวหน้าไปมาก ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดต้นทุน และเป็นช่องทางการทำการตลาดได้อีกด้วย โดยความรู้เหล่านี้คุณอาจหาเรียนรู้จากหนังสือ อินเตอร์เน็ต หรือคอร์สอบรมสัมมนา

5.สินค้าคุณภาพดี ตรงกลุ่มเป้าหมาย หาซื้อได้ง่าย นำไปสู่ยอดขายตามเป้า

เมื่อพูดถึงการตลาด คนมักจะคิดว่าเป็นเรื่องของการทำโฆษณาและการขายเท่านั้น ธุรกิจที่มีแนวคิดเช่นนี้ก็มักจะผลิตสินค้าออกมาไม่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ จึงขายไม่ออก ต้องอาศัยฝ่ายขายดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อขายสินค้าให้ได้ จนบางทีก็ได้เห็นกลยุทธ์ต่างๆ ที่ล่อลวงให้ลูกค้าซื้อ ซึ่งอันที่จริงแล้วความหมายของ การตลาด ยังหมายถึงการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคที่คุณคิดว่าคุณมีศักยภาพในการตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ดีที่สุด นั่นเรียกว่ากลุ่มเป้าหมายของธุรกิจคุณ หาให้เจอว่าพวกเขาคือใคร อยู่ที่ไหน ต้องการอะไร เมื่อรู้แล้วก็หาทางสื่อสารกับพวกเขา ทำให้พวกเขารู้ว่าสินค้าและบริการของคุณดีเด่นอย่างไร และจะซื้อสินค้าและบริการของคุณได้จากที่ไหน หากตีแตกในโจทย์ข้อนี้ได้ ก็ลดทอนความเสี่ยงเรื่องผลิตมาขายแต่ไม่มีคนซื้อไปได้มากเลยทีเดียว

6.แผนธุรกิจที่ดี เหมือนเข็มทิศ ชี้เส้นทางธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ

จากแนวความคิดที่ฟุ้งๆ ในหัว คุณต้องนำมาจัดระเบียบใหม่แล้วถ่ายทอดมันลงบนกระดาษหรือที่เรียกกันว่าการเขียนแผนธุรกิจ การทำธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเขียนแผนธุรกิจ เพื่อคุณจะได้เข้าใจโครงสร้างและเห็นภาพอย่างละเอียดของธุรกิจนั้น ซึ่งในแผนธุรกิจของคุณควรประกอบด้วย การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์การ เป้าหมายของธุรกิจ แผนการตลาด แผนการผลิต (หรือแผนการให้บริการ) แผนการเงิน แผนการบริหารจัดการภายใน และแผนฉุกเฉิน ยิ่งคุณเขียนแผนธุรกิจได้ครอบคลุมเท่าไหร่ คุณก็อุดข้อเสี่ยงในการเริ่มธุรกิจได้มากเท่านั้น

7.รอดพ้นวิกฤต ด้วยการคิดแผนสำรอง

แม้คุณจะมีการวางแผนกลยุทธ์ต่างๆ สำหรับเริ่มธุรกิจไว้เป็นอย่างดีแล้วก็ตามที แต่ก็อาจมีบางกรณีที่แผนไม่ได้เป็นไปตามที่วางไว้ เพื่อเป็นการลดทอนความเสี่ยงจากสิ่งที่ไม่คาดคิดเหล่านั้น คุณควรประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ ออกมา พร้อมกับจัดวางแผนดำเนินการฉุกเฉินไว้ล่วงหน้า  เช่นแผนการจัดเก็บสำรองข้อมูลไว้เพื่อป้องกันความเสียหายหากมีเหตุฉุกเฉิน แผนดำเนินการกรณีขาดกำลังคน แผนการดำเนินการกรณีผลกำไรไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขาดสภาพคล่อง หรืออาจพิจารณากระจายความเสี่ยงด้วยการซื้อประกันภัย ในกรณีที่ธุรกิจเสี่ยงกับภัยธรรมชาติหรือการเกิดไฟไหม้

ถึงแม้ว่าการเริ่มต้นธุรกิจจะมีความเสี่ยงอยู่อีกหลายประการที่คุณไม่สามารถจะควบคุมมันได้เช่นดินฟ้าอากาศ ภาวะเศรษฐกิจหรือการเมืองก็ตามที คุณได้บริหารจัดการความเสี่ยงตามบทความข้างต้นอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีการจัดวางแผนสำรองฉุกเฉินไว้ดีพอแล้ว หากต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงจะทำให้คุณมองเห็นทางออก แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ลดทอนผลกระทบ จนสามารถรอดพ้นวิกฤตนั้นไปได้ ธุรกิจของคุณก็สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยืนยาวและมั่นคง

บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนบทความสร้างรายได้ รุ่น 2”

คุณ เปรมจิตร เพลินลาภ(เอ๋)
ปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
ปัจจุบัน อาชีพนักพยากรณ์ดวงชะตา(Tarot Reader)

บทความเกี่ยวกับ การเริ่มต้นทำธุรกิจ