ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง !!! แต่เราสามารถกระจายความเสี่ยงได้โดยการเลือกลงทุนในหลายๆ ธุรกิจที่เรายอมรับความเสี่ยงได้ ไม่วางอนาคตไว้กับแหล่งรายได้หรือการลงทุนเพียงช่องทางเดียว

การลงทุนผ่านกองทุนรวมก็เป็นอีก 1 ช่องทางที่หลายคนให้ความสนใจเพราะโดยรวมแล้วความเสี่ยงจะต่ำกว่าการที่เราลงทุนเองในตลาดหุ้น แม้รายได้ไม่สูงเท่าการซื้อขายเอง ทว่ามันเป็นรายได้ที่ค่อนข้างมั่นคงเลยทีเดียว

กองทุนรวมแบบที่มีการประกันความเสี่ยงของนักลงทุนก็เป็นอีก 1 โมเดลธุรกิจที่บริษัทผู้ให้ประกันชีวิตออกแบบออกมาเพื่อเสนอให้กับกลุ่มเป้าหมาย ที่ต้องการลงทุน พร้อมกับได้ความคุ้มครองชีวิต

หลายคนอาจเคยได้ยิน ชื่อแบบประกันชีวิต Unit Linked  หรือการทำประกันชีวิตควบคู่ไปกับการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งมีความแตกต่างจากการทำประกันชีวิตแบบเดิม ๆ ที่เรารู้จักอย่างการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์  ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งมีข้อดีคือการให้ความคุ้มครองชีวิต และจะได้รับเงินคืนเมื่อครบกำหนดสัญญาพร้อมผลตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้ โดยผลตอบแทนที่จะมาจากการนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในสินทรัพย์หรือพันธบัตรที่มีความเสี่ยงต่ำ

แบบประกันชีวิตแบบ Unit Linked เองก็มีคอนเซ็ปท์คล้ายคลึงกับประกันชีวิตในแบบอื่น ๆ แต่มีความแตกต่างกันตรงที่การทำประกันชีวิต Unit Linked นอกจากจะให้ความคุ้มครองในชีวิตแล้ว แทนที่บริษัทประกันชีวิตจะนำเงินส่วนหนึ่งของเราไปลงทุนในสินทรัพย์หรือพันธบัตรที่มีความเสี่ยงต่ำแบบเดิม ๆ  แต่ประกันชีวิต Unit Linked  บริษัทประกันชีวิตจะเปิดช่องทางให้ผู้ถือกรมธรรม์ เป็นผู้เลือกลงทุนในกองทุนรวม สามารถจัดพอร์ตการลงทุนได้ด้วยตนเอง โดยจะมีกองทุนให้เลือก 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง  ความเสี่ยงปานกลาง และความเสี่ยงต่ำ เพื่อเลือกรับผลตอบแทนจากกองทุนในแต่ละกลุ่ม ได้อย่างมีอิสรภาพ

ข้อดีการลงทุนแบบ Unit Linked ช่วยลดความเสี่ยงการลงทุนได้อย่างไร ?

พวกเราทราบกันรู้ดีว่าการลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนในกองทุนเองก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ในระดับกลางเกือบสูง และหน่วยกองทุนบางกลุ่มก็อาจอยู่ในระดับความเสี่ยงสูงแต่กลับมีผลตอบแทนที่น่าเย้ายวนใจ แต่ก็ต้องชั่งใจดูว่าจะลองเสี่ยงหรือไม่  หากกองทุนมีผลกำไรเราก็จะได้รับผลตอบแทนในระดับสูงเป็นที่น่าพอใจ แต่หากขาดทุน เราเองก็คงเจ็บใจไม่ใช่น้อย  การลงทุนในประกันชีวิตแบบ Unit Linked จะช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยมีกลุ่มธุรกิจให้เราเลือกลงทุนแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ โดยเราอาจเลือกลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือจะแบ่งสัดส่วนลงทุนทั้ง 3 กลุ่มเพื่อกระจายความเสี่ยงได้ คือ

  1. ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนไม่มาก แน่นอนว่าในเมื่อความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนก็คงไม่ได้สูงมาก กองทุนกลุ่มนี้ แม้จะได้ผลตอบแทนไม่มากแต่โอกาสที่จะขาดทุนมีน้อยมากเช่นกัน กองทุนกลุ่มนี้จะช่วยในการกระจายความเสี่ยงให้กับเราได้ในกรณีที่กลุ่มธุรกิจในกองทุนความเสี่ยงปานกลาง และสูงมีผลขาดทุน
  2. ความเสี่ยงปานกลาง ผลตอบแทนปานกลาง หากไม่อยากแบกรับความเสี่ยงสูง แต่ก็ไม่ได้พึงพอใจในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนต่ำ  กองทุนกลุ่มนี้เรียกว่าเป็นทางสายกลางสำหรับนักลงทุน  ที่ต้องการผลตอบแทนสูงขึ้นแต่มีความเสี่ยงในระดับที่พอรับได้
  3. ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง ในเมื่อกองทุนมีความเสี่ยงสูง หากเลือกลงทุนในกองทุนกลุ่มนี้หมดหน้าตัก ในกรณีที่กองทุนมีผลกำไร แน่นอนว่าผลตอบแทนที่ได้รับจะสูงมาก เร็วมาก และคุ้มค่ามาก ๆ เมื่อเทียบกับการทำประกันแบบสะสมทรัพย์ แต่ในทางกลับกัน หากมีผลขาดทุน นั่นหมายความว่า เงินสะสมในกรมธรรม์ของเราจะลดน้อยลงตามอัตราส่วนที่ขาดทุน

การลงทุนควบประกันแบบ Unit Linked เหมาะกับใคร ?

การลงทุนแบบ Unit Linked  มาจากคำว่า  Unit Linked Insurance Policy (ULIP) คือแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองชีวิตควบคู่ไปกับการลงทุนในหน่วยกองทุนได้อย่างอิสระ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิตควบคู่ไปกับการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่ามูลค่าการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำในกรมธรรม์แบบเดิม ๆ  ซึ่ง Unit Linked สามารถตอบโจทย์ความต้องการในหลาย ๆ ด้านได้ อย่างเช่น

  • รูปแบบของการจ่ายเงินเพื่อการลงทุน เราสามารถเลือกจ่ายเบี้ยแบบจ่ายทั้งหมดในครั้งเดียว หรือจะเลือกแบ่งจ่ายแบบรายปีก็ได้
  • สามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนได้ตามที่เราต้องการ ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์และความเหมาะสม ว่าในช่วงนั้นเราต้องการแบ่งสัดส่วนการลงทุนส่วนใหญ่ไปที่กลุ่มความเสี่ยงน้อย ความเสี่ยงปานกลาง หรือความเสี่ยงสูง
  • ไม่ว่าใครก็สามารถลงทุนในประกันแบบ Unit Linked ได้ ไม่จำกัด เพศ อายุ การศึกษา ทำให้ Unit Linked เป็นการลงทุนในกองทุนที่เข้าถึงง่าย และยังได้รับความคุ้มครองชีวิตคู่กันไปด้วย
  • สามารถถอนเงินบางส่วนออกมาได้โดยไม่จำเป็นต้องเวนคืนกรมธรรม์ซึ่งประกันชีวิตแบบเดิม ๆ จะไม่สามารถทำได้ หากต้องการเงินคืนไปทั้งก้อนจะต้องเวนคืนกรมธรรม์จะมีผลทำให้ความคุ้มครองสิ้นสุดลง หรือการกู้เงินในกรมธรรม์ของตนเอง ซึ่งทำให้ต้องเสียดอกเบี้ย แต่การลงทุนในแบบประกัน Unit Linked เราสามารถถอนเงินจากกรมธรรม์ออกมาได้ส่วนหนึ่ง โดยที่กรมธรรม์ก็ยังคงให้ความคุ้มครองชีวิตเหมือนเดิม
  • หากไม่มีประสบการณ์ด้านกองทุนต่าง ๆ ก็สามารถซื้อประกันแบบ Unit Linked  ได้ เพระบริษัทประกันชีวิตจะมี Broker ช่วยดูแลให้ โดยจะมีการประเมินสถานการณ์ให้ทุก ๆ 3 – 6 เดือน ตามข้อตกลงของบริษัท เพื่อทำการปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสม และกระจายความเสี่ยงออกไปไม่ให้เงินทุนกระจุกอยู่กับกองทุนใดกองทุนหนึ่งจนผู้ถือกรมธรรม์ขาดทุน

ลงทุนแบบ Unit Linked กับกองทุนไหนดี แนวทางการเลือกซื้อประกันแบบ Unit Linked ที่ไหนดี

แม้ประกันชีวิตแบบ Unit Linked  จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าประกันชีวิตแบบอื่น ๆ แต่ก็ใช่ว่าเราจะได้รับผลตอบแทนในระดับสูงอยู่ตลอดเวลา หากต้องการการลงทุนใน Unit Linked จะทำอย่างไรให้ได้รับผลตอบแทนที่พึงพอใจ และมีความเสี่ยงในระดับที่พอรับได้

  1. ศึกษาเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ชัดเจน เลือกซื้อประกันแบบ Unit Linked กับบริษัทประกันที่มีความน่าเชื่อถือ ตัวแทนให้คำแนะนำ แจ้งเงื่อนไข ผลประโยชน์ และความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างชัดเจน
  2. กองทุนที่มีให้เลือกในแต่ละบริษัทนั้นอาจไม่เหมือนกัน และมีจำนวนกองทุนให้เลือกลงทุนไม่เท่ากัน ควรศึกษาเทรนด์ของกองทุนของแต่ละบริษัทก่อนตัดสินใจซื้อประกัน
  3. กระจายการลงทุนในกองทุนในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าประกันสะสมทรัพย์แบบเดิม ๆ และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
  4. มีการศึกษาแนวโน้มของกองทุนในแต่ละกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ เพราะเราสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนได้ทุก 3-6 เดือน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง แต่อาจมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อย หรืออาจไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในกรมธรรม์

การลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนแบบก็เช่นกัน แม้การลงทุนกองทุนแบบ Unit Linked จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ทว่าข้อเสียคือ ประกันชีวิตแบบ Unit Linked  ไม่ได้มีการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำเหมือนประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

ดังนั้นผู้ถือกกรมธรรม์ หรือนักลงทุน จะต้องบริหารจัดการการลงทุนในกองทุนอย่างรอบคอบ เลือกบริษัทประกันชีวิตที่เชื่อถือได้ มีประสบการณ์ในด้านการประกันชีวิตแบบ Unit Linked สูง  มีการกระจายความเสี่ยงโดยการแบ่งสัดส่วนลงทุนในกองทุนกลุ่มต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพียงเท่านี้ เราก็จะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าประกันชีวิตแบบเดิม ๆ แต่มีความเสี่ยงในระดับที่รับได้