Netflix คือบทเรียนที่น่าสนใจ การมองเห็น วิสัยทัศน์ของผู้บริหารองค์กร คือสิ่งที่น่าเรียนรู้ยิ่ง นับตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงปัจจุบัน Netflix มีมุมมองที่ต่างจากรูปแบบเดิม ๆ ที่เคยมีมาเสมอ และนี่เองคือ “สูตรลับแห่งความสำเร็จ” ที่แท้จริง

ในโลกยุคออนไลน์ที่นับวันอินเตอร์เน็ตจะยิ่งมีอิทธิพลในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการซื้อของ การเรียน เกมส์ หนังสือ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ต่างก็ปรับตัวเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดและฐานลูกค้ากันอย่างดุเดือด การแข่งขันในโลกออนไลน์ลามไปยังธุรกิจไม่เว้นแม้แต่ในวงการภาพยนตร์ ซีรี่ย์และเพลง หนึ่งในผู้ให้บริการความบันเทิงอย่างภาพยนตร์ที่น่าจับตามองในยุคนี้ย่อมหนีไม่พ้น Netflix ด้วยอัตราการขยายตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกปีทำให้ Netflix เป็นผู้ให้บริการออนไลน์สตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ลำดับต้น ๆ ของโลก ในครั้งนี้เราจะมาล้วงลึกความสำเร็จและดูว่าเหตุใด Netflix จึงประสบความสำเร็จได้ถึงเพียงนี้

จุดกำเนิดจากการยืมหนังแล้วเสียค่าปรับ

Netflix ก่อตั้งในปี 1997 โดย Reed Hastings โดยจุดเริ่มต้นมาจากการที่เขาไปเช่าหนังดังเรื่องหนึ่งจากร้านเช่าแล้วเผอิญว่าเขาส่งหนังคืนช้ากว่ากำหนด ทำให้เขาต้องเสียค่าปรับกว่า 40 เหรียญ นั่นทำให้เขารู้สึกว่ามันไม่ค่อยแฟร์เพราะลูกค้าอาจจะไม่ได้สะดวกที่จะนำหนังไปคืนเมื่อครบกำหนด นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เขาคิดจะทำร้านเช่าวีดีโอขึ้นมา

เมื่อเขาเริ่มต้นอยากทำธุรกิจเขาจึงศึกษาโมเดลการทำร้านเช่าวีดีโอ แต่เมื่อเขามองเห็นข้อจำกัดในวิธีการแบบเดิม เขาจึงสร้างโมเดลธุรกิจขึ้นมาใหม่ด้วยความที่เขาเองก็เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่แล้วเขาจึงพัฒนาระบบการให้เช่าออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต โดย Netflix จะแนะนำหนังให้แก่ลูกค้าและให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกหนังที่ Netflix เลือกหรือตามความสนใจจากลูกค้า จากนั้น Netflix จะส่งแผ่นหนังมาให้ทางไปรษณีย์พร้อมซองเปล่าติดแสตมป์ให้ลูกค้าส่งกลับและสิ่งสำคัญก็คือลูกค้าจะคืนแผ่นหนังกลับเมื่อใดก็ได้โดยไม่มีค่าปรับเพียงแต่ลูกค้าจะไม่สามารถยืมแผ่นใหม่ได้หากยังไม่คืนของเดิม

 ความสำเร็จแรกเขย่าบัลลังค์เจ้าตลาด

ด้วยความที่เป็นการให้บริการออนไลน์ ทำให้ Netflix ไม่ต้องมีหน้าร้านในการให้เช่ามีเพียงแค่ศูนย์กระจายสินค้าเท่านั้น จากนั้น Netflix จึงปฏิวัติรูปแบบใหม่อีกครั้งจากระบบการเช่ารายแผ่นเป็นการสมัครสมาชิกรายเดือนและลูกค้าสามารถเช่าหนังได้ไม่จำกัดจำนวน ผลจากการเปลี่ยนแปลงทำให้ Netflix เคยทำสถิติส่งแผ่นเช่าหนังกว่า 1.9 แสน แผ่นในหนึ่งวันเลยทีเดียวและจากความสำเร็จอย่าสูงเกินคาดก็ทำให้ “blockbuster” บริษัทให้บริการเช่าหนังรายใหญ่ในขณะนั้นถึงกับไปไม่เป็น และพยามยามขอเข้าซื้อกิจการของ Netflix  และปรับกลยุทธ์เข้าสู้กับทาง Netflix และท้ายที่สุด blockbuster บริษัทยักษ์ใหญ่ก็ถึงกาลอวสานล้มละลายไปในที่สุด 

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงถ้าอยากอยู่รอดก็ต้องปรับตัว

แม้จะล้มยักษ์และครองตลาดอยู่พักหนึ่ง Netflix ก็ต้องเผชิญกับมรสุมครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อโลกเข้าสู่ยุคออนไลน์เต็มตัวและการดูหนังหรือเช่าหนังแผ่นเริ่มกลายเป็นสิ่งล้าสมัยไปเสียแล้ว Netflix ก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเช่นกัน และวิธีการที่ใช้ก็คือการปรับตัวเข้าสู่โลกธุรกิจออนไลน์โดยการให้บริการ Video Streaming ทางอินเตอร์เน็ตแทนและขึ้นแท่นเป็นผู้ให้บริการวีดีโอสตรีมมิ่งรายใหญ่ในวงการไปในที่สุด 

ความสำเร็จของ Netflix ในวันนี้

ปัจจุบัน Netflix คือผู้ให้บริการวีดีโอสตรีมมิ่งที่ให้บริการดูหนัง ซีรี่ย์และสารคดี โดยมี package ให้เลือกที่แตกต่างกันในคุณภาพของไฟล์,จำนวนการรับชมสูงสุดซึ่งสามารถรับชมได้ทั้งในทีวี คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ด้วยสมาชิกกว่า 117 ล้านคนทั่วโลก, มีoriginal content ของตัวเองกว่า 400 เรื่อง, มีซับไตเติ้ลกว่า 20 ภาษาและงบการลงทุนกว่า 7 พันล้านเหรียญในปี 2018 

กลยุทธ์ของ Netflix : ผ่าแนวคิดความสำเร็จที่ทั้ง”ปัง”และ”โดน”

1.ซื้อคอนเทนต์ที่น่าสนใจ

สิ่งแรกที่ Netflix ทำในการเป็นผู้ให้บริการวีดีโอสตรีมมิ่ง ก็คือการมีคอนเทนต์ดี ๆ ไว้ให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งทางบริษัทให้ความสำคัญในการลงทุนในจุดนี้ เราจึงเห็นภาพยนตร์ดี ๆ และซีรี่ย์ดัง ๆ มีให้ดูใน Netflix หากคอนเทนต์ไหนดังและคุ้มค่า Netflix ก็ไม่รีรอที่จะขอซื้อสิทธิ์มาให้บริการในแพลตฟอร์มของตนเองเช่นกัน

2.สร้างคอนเทนต์ของตนเอง

สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือเมื่อธุรกิจใดเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วก็มักจะถูกเล่นแง่จากบรรดา “ซัพพลายเออร์”หรือบริษัทคู่ค้าที่เริ่มมองการเติบโตนั้นเป็นคู่แข่งสำคัญ Netflix ก็เช่นกันเพราะการเติบโตเช่นนี้ทำให้บริษัทต้องเสียค่าสิทธิ์ในการให้บริการที่แพงขึ้นกว่าเดิมในทุกปี ๆ ปี บางบริษัทถึงกับไม่ยอมขายสิทธิ์ให้กับ Netflix เลยก็มี Netflix จึงแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ไม่มีใครคาดคิดคือ “การสร้างคอนเทนต์ของตนเองเสียเลย” โดยเริ่มจากการผลิตซีรี่ย์ 2 เรื่องในปี 2013 ซึ่งกลายเป็นว่าผลตอบรับดีเกินคาดอย่างมาก ผลงานของ Netflix ได้รับรางวัลสำคัญมากมาย ปัจจุบัน Netflix มีคอนเทนต์ของตนเองรองรับในทุก ๆ หมวด

3.ขยายตลาดไปทั่วโลกด้วยกลยุทธ์ local and original contents

วิธีการขยายตลาดไปต่างประเทสยิ่งน่าสนใจเพราะ Netflix เข้าใจดีว่าในแต่ละประเทศมีวัฒนธรรมในการดูคอนเทนต์ต่างกัน การจะเข้าไปนั่งในใจลูกค้าประเทศนั้น ๆ  Netflix จะต้องมีคอนเทนต์ที่ “โดน” นี่จึงใช้วิธีการไปเป็นพันธมิตรกับบรรดาสตูดิโอท้องถิ่นของประเทศนั้น ๆ เพื่อนำ local contents มาให้บริการบนสตรีมมิ่งของตนเอง ขณะเดียวกันก็จับมือกับสตูดิโอของบางประเทสในการร่วมกันผลิตคอนเทนต์ใหม่ออกมา ผลจากวิธีการนี้ทำให้ Netflix เติบโตในต่างประเทศอย่างรวดเร็ว

  1. วิธีการชำระเงินค่าบริการหลากหลาย

ในหลายประเทศที่ Netflix ให้บริการลูกค้าไม่ได้มีบัตรเครดิตกันทุกคน บริษัทจึงแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มวิธีและช่องทางการชำระค่าบริการไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิท และในบางประเทศ Netflix ก็ออก “บัตรเติมเงิน” มาให้บริการกันเลยทีเดียว

  1. รุกตลาดอินเตอร์เน็ตทีวี

ผลจากการมีคอนเทนต์น่าสนใจและมีคุณภาพอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก ทำให้ฐานลูกค้าของทาง  Netflix แซงหน้าบรรดาเคเบิ้ลทีวีหรือรายการออกอากาศทางช่องทางโทรทัศน์หลายราย ปรัชญาที่น่าสนใจของ Netflix ก็คือทาง Netflix มองว่า “อนาคตของการดูโทรทัศน์คือแอพพลิเคชั่นที่จะมาแทนช่องทีวี และโทรศัพท์มือถือจะถูกใช้ควบคุมการดูแลรีโมท และรูปแบบการดูทีวีจะเป็นแบบตามใจเราไม่ใช่ไม่ใช่ตามใจช่องที่อยากจะฉายอะไรเราก็ต้องดูตาม” ผลจากปรัชญาข้างต้นทำให้ Netflix ปล่อยคอนเทนต์ของตนอย่าสงไม่มี “กั๊ก” ทำให้ลูกค้าเลือกชมได้ตามความชอบและสนใจ

  1. จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทสื่อสารของประเทศต่าง ๆ

นี่คืออีกหนึ่งกลยุทธ์ของ Netflix การจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทสื่อสารโดยเฉพาะรายใหญ่ที่มีเครือข่ายดี ๆ นอกจากจะทำให้ลูกค้าไม่เสียอรรถรสในการชม ยังเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าโดยอาศัยฐานลูกค้าจากบริษัทพันธมิตรนั่นเอง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ “ฉลาดมาก ๆ” ในการเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่

 Netflix สอน SMEs ทำตาม: แนวคิดสู่ความสำเร็จ

1.ทำในสิ่งที่ตนถนัด

Netflix ถือเป็นอีกหนึ่ง “เต้ย” ในการผลิตคอนเทนต์คุณภาพและแม้ว่าคู่แข่งจะหันไปเพิ่มบริการในด้านรายการสดหรือลิขสิทธิ์กีฬา แต่ Netflix ก็ไม่ยอมทำตามสิ่งที่คู่แข่งทำและเลือกจะทำในสิ่งที่ถนัดต่อไป SMEs ควรเรียนรู้จากจุดนี้หากเรารู้ว่าเรามีอะไรดี ก็จงมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ตนถนัดต่อไป บางครั้งการบ้าจี้ทำตามคู่แข่งหรือใช้กลยุทธ์ที่ตนเองไม่ถนัด ไม่รู้และไม่เชี่ยวชาญ มันไม่ใช่การเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เสมอไป แต่หลายกรณีกลับกลายเป็นการทำลายรากฐานที่สั่งสมมาให้ทลายไปในพริบตา

  1. รักษามาตรฐานสู้กับคู่แข่ง

สิ่งเดียวที่จะทำให้เราอยู่เหนือกว่าคู่แข่งเสมอก็คือการรักษา “จุดแข็ง” ของเราให้ได้มาตรฐานไปตลอด เพราะเส้นทางสายธุรกิจมาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากวันใดที่มาตรฐานของคุณลดลงไปจากที่ควรจะเป็น ตัวคุณเองนั่นแหละที่จะเสียเครดิตและหากไม่ยอมแก้ไขอีกก็เตรียมตัวหาอะไรอย่างอื่นทำได้เลย

3.ให้ความสำคัญกับการพัฒนา

หากแม้นว่าคุณรักษาคุณภาพได้ตามมาตรฐานและพอใจที่จะหยุดเพียงแค่นี้วันหนึ่งหากคู่แข่งของคุณผลิตสิ่งที่ดีกว่าคุณก็ต้องรับสภาพเป็นผู้พ่ายแพ้ไปตามระเบียบเฉกเช่นที่ blockbuster พ่ายแพ้ให้กับ Netflix การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนกลับมามากที่สุดก็คือการลงทุนพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการของตนให้ดีขึ้นกว่าเดิม สายน้ำยังไม่หยุดไหลแล้วเจ้าของธุรกิจอย่างคุณจะหยุดนิ่งได้อย่างไร จริงไหม

  1. ทุก ๆ สิ่งมีช่องโหว่หาให้เจอแล้วอุดมันซะ คุณจะเป็นผู้ชนะ

ในทุก ๆ ระบบมันมีช่องโหว่อยู่เสมอ รอยปริเล็ก ๆ นี้แหละคือจุดเปลี่ยนสู่ชัยชนะอะไรที่คนอื่นคิดว่าดีมันมักจะมีจุดเล็ก ๆ ที่คนมองข้ามเสมอ ใครเห็นมันก่อนแล้วตอบสนองต่อมันได้ก่อน จุดเล็ก ๆ คืออิมแพคใหญ่ที่ใช้ตัดสินผลแพ้ชนะในหลายธุรกิจมาแล้ว

Netflix คือบทเรียนที่น่าสนใจ การมองเห็น วิสัยทัศน์ของผู้บริหารองค์กร คือสิ่งที่น่าเรียนรู้ยิ่ง นับตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงปัจจุบัน Netflix มีมุมมองที่ต่างจากรูปแบบเดิม ๆ ที่เคยมีมาเสมอ และนี่เองคือ “สูตรลับแห่งความสำเร็จ” ที่แท้จริง หากวันนั้น Netflix ยังใช้รูปแบบเดิมมาทำธุรกิจก็เชื่อได้ว่าผู้แพ้ในวันนั้นก็คือ Netflix เอง และเราย่อมไม่มีโอกาสสัมผัสความยิ่งใหญ่ของ Netflix ราชาแห่งออนไลน์สตรีมมิ่งในวันนี้