จำไว้เสมอว่าเมื่อเป็นหนี้จงอย่าได้เบี้ยวหนี้เด็ดขาด เงินที่ยืมเพื่อน เงินที่ยืมญาติพี่น้องมา ต้องคืนให้เขา อย่าทำให้เขาต้องเดือดร้อนเพราะเรา
ไม่มีใครอยากเป็นหนี้ แต่เอาเข้าจริงคำพูดนี้มักใช้ไม่ได้ผลกับคนบางกลุ่ม นั่นก็เพราะวินัยทางการเงินไม่ได้มีกันทุกคนนั่นเอง และเมื่อถึงเวลาที่ชักหน้าไม่ถึงหลังหรือเงินไม่พอใช้ทางออกที่มักถูกนำมาใช้เป็นอันดับแรกก็คือ “การหยิบยืมเงินจากคนสนิทใกล้ชิด” ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทหรือญาติ ๆ ก็ตาม คุณรู้หรือไม่ว่าคนจำนวนไม่น้อยต้องเสียผู้เสียคนก็เพราะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ นี่แหละ ดังภาษิตที่ว่าเรื่องเงินเรื่องทองเปลี่ยนมิตรเป็นศัตรูกันมาเยอะ จงอย่าหยิบยืมเงินของใครโดยไม่จำเป็นจริง ๆ แต่ถ้าหากเข้าตาจนจริง ๆ วันนี้เรามีคำแนะนำให้คุณจัดการหนี้สินที่หยิบยืมจากเพื่อนสนิท จากญาติใกล้ชิดอย่างไรไม่ให้เสียเพื่อนมาฝาก ตามมาเลยครับ
สาเหตุการเป็นหนี้ “อยู่ที่ตัวเรา” ไม่ต้องไปเอาฟ้าดินมาเกี่ยวข้อง
จุดเริ่มต้นของหายนะเริ่มขึ้นเมื่อรู้สึกอยากมี อยากได้เหมือนกับคนอื่น
คุณยังจำความรู้สึกของการได้รับเงินเดือนเดือนแรกได้ไหม ตอนนั้นเชื่อว่าทุก ๆคนคงเริ่มต้นวางแผนเก็บเงินกันสุดชีวิต เพราะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของเงินจากการทำงาน หยาดเหงื่อเดือนแรก และเงินเดือนก้อนแรกที่น้อยนิดได้ดี เงินเดือนในช่วงปีแรกส่วนใหญ่จึงไหลไปเก็บไว้ในธนาคารและรู้สึกชื่นชมมันทุกครั้งที่เห็นยอดเงินในบัญชีค่อย ๆเพิ่มขึ้น จนกระทั่ง…..
ด้วยความที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่อทำงานไปสักพัก การชวนกันไปสังสรรค์หลังเลิกงานจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อเริ่มสนิทสนมกันมากขึ้น เริ่มคุยกันมากขึ้น เป็นธรรมดาที่จะเริ่มพูดคุยในเรื่องส่วนตัวทั้งไลฟ์สไตล์ การช็อปปิ้ง การใช้เสื้อผ้า เครื่องประดับและอื่น ๆ ความรู้สึกอยากมีกับเขาบ้างเริ่มก่อตัวขึ้นทีละน้อย
เมื่อถึงคราวเลี้ยงนัดสังสรรค์กับเพื่อนร่วมรุ่นสมัยเรียน ยิ่งได้เห็น ได้ฟังเพื่อนแต่ละคนเล่าถึงเรื่องงาน เรื่องการใช้ชีวิตและเริ่มโอ้อวดกันตามประสาเช่น คนนี้ใช้กระเป๋าแบรนด์เนม คนนั้นใส่เสื้อผ้ายี่ห้ออะไร อีกคนซื้อรถแล้วนะ จึงเกิดคำถามภายในใจว่า “ทำไมเราไม่ซื้อของดี ๆใช้เหมือนเพื่อนคนอื่นบ้าง” และคำพูดที่ว่าให้รางวัลตัวเองบ้างก็เริ่มถูกกรอกหูจากคนรอบตัว
และแล้วของขวัญให้ตัวเองชิ้นแรกก็มาถึง เสื้อแบรนด์เนมและเข็มขัดสุดหรู ความภูมิใจที่ได้สวมใส่ยังคงระลึกถึงอยู่ เมื่อมีชิ้นแรกก็ต้องมีชิ้นที่สอง และชิ้นต่อ ๆมาก็ตามมาเรื่อย ๆ กลายเป็นคนเสพติดชีวิตหรูหรา ทั้งซื้อของ ทั้งไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ความคิดตอนนั้น “ไม่เป็นไรให้รางวัลตัวเอง” และแล้วรางวัลชีวิตก็เริ่มชิ้นใหญ่ขึ้นจนไปสู่การมีรถยนต์เป็นของตัวเอง วันแรกที่ถอยป้ายแดงออกมา โอ้โหยืดน่าดู
ชีวิตทั้งหมดก็คงจะสวยหรูเช่นนี้ไปตลอดถ้าไม่เผอิญว่าเปิดกระเป๋าสตางค์ขึ้นมาแล้วพบว่า “ทำไมเงินเหลือแค่นี้” ยิ่งพอไปกดดู ATM “หา เงินในบัญชีมีแค่นี้เองเหรอ” พอมองรายจ่ายปลายเดือนที่กำลังจะตามเข้ามาถึงกับต้องกุมขมับ “นี่เกิดอะไรขึ้นกับเรากันเนี่ย” เมื่อหายนะกำลังจะจ่ออยู่ตรงหน้าทางรอดที่นึกได้ตอนนั้นคือต้องยืมเงินใครสักคนแล้ว และคน ๆ แรกที่นึกถึงก็คือเพื่อนสนิทที่รู้จักกันมานาน หลังจากออกปากและเล่าปัญหาให้ฟัง สิ่งแรกที่ตามมาคือโดนมันเฉ่งเป็นชุด พร้อมกับเงินที่โอนเข้าบัญชีมาพร้อมคำพูดที่ว่า “หวังว่าเอ็งจะปรับปรุงตัวเองนะ เงินนี่ถ้ามีค่อมมาใช้คืน จำไว้เป็นบทเรียนให้ดีเชียว” คำพูดของเพื่อนในวันนั้นคือฉุดให้เราพ้นจากนรกโดยแท้ หากไม่ได้เพื่อนเตือนสติก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ หลังจากวันนั้นผ่านพ้นไประยะหนึ่งก็ถึงเวลานำเงินไปคืนเพื่อนผู้แสนดี พร้อมกับคำมั่นกับตัวเองว่าจะไม่ยอมให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก
6 วิธีเคลียร์หนี้ ที่ยืมเงินเพื่อน ยืมเงินญาติพี่น้อง
การมีหนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญของชีวิต การที่คุณหยิบยืมเงินจากผู้อื่นนั่นเท่ากับว่า คุณได้รับโอกาสต่อลมหายใจออกไปแล้ว ที่สำคัญเมื่อตัวเองได้รับความช่วยเหลือก็จงอย่าสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นและพยามยามใช้คืนดังนี้
1. พูดคุยให้ชัดเจนถึงเหตุผลที่เราต้องหยิบยืมเงินเพื่อน ยืมเงินญาติ
การจะขอความช่วยเหลือจากใครสักคน สิ่งแรกคือคุณต้องชัดเจน อย่าอมพะนำไม่พูดความจริง คนที่จะช่วยเหลือจึงจะทราบสถานการณ์และความจำเป็นของคุณโดยละเอียด และควรกำหนดเวลาใช้คืนให้ชัดเจนว่าคุณพร้อมใช้คืนเมื่อไหร่ และที่สำคัญเมื่อได้รับความช่วยเหลือมาแล้ว อย่าได้หายหน้าหายตาไปอย่างเด็ดขาดแม้จะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็จงติดต่อกับเพื่อนเพื่อแสดงความจริงใจตลอดเวลา หากคุณยังติดขัดอะไรอยู่จงบอกเหตุผลกับเพื่อนหรือญาติเสมอ การหายเข้ากลีบเมฆ คุณกำลังทำลายตัวเองและความน่าเชื่อถือของตัวเองอย่างน่าอดสูที่สุด
2. สำรวจข้อผิดพลาดในอดีตของตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
ก่อนจะใช้หนี้ได้ คุณต้องเข้าใจเสียก่อนว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับคุณบ้าง คุณจะได้เข้าไปแก้ไขอย่างตรงจุด ถ้าคุณไม่สำรวจความผิดพลาดในอดีต เชื่อเถอะว่าในไม่ช้าวังวนเดิม ๆ จะกลับมาหาคุณอย่างแน่นอน
3. ทำบัญชีค่าใช้จ่ายเพื่อเปรียบเทียบสมดุลของรายได้และรายจ่าย
จริง ๆ สิ่งนี้เป็นหัวข้อคลาสสิคที่สุดสำหรับการสร้างวินัยทางการเงิน เพราะมันจะบอกคุณเลยว่าในแต่ละเดือนคุณมีรายได้เข้ามาเท่าไรและคุณเสียเงินไปกับเรื่องอะไรบ้าง คุณจะได้เข้าไปจัดการกับรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเหล่านั้น
4. ปรับพฤติกรรมสิ้นคิดบางอย่างลง
ถ้าแม้คุณจะมีบัญชีรายรับรายจ่าย หรือคุณจะรู้และเข้าใจความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ถ้าคุณยังไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง มันก็แทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยแล้วคุณก็ไม่อาจหลุดพ้นจากวังวนนั้นแน่นอน จำไว้ว่าการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้คุณต้องอาศัยความอดทนและความตั้งใจอย่างมาก
5. บริหารเงินที่เหลือจากการตัดรายจ่ายนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ
จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่แค่การบริหารเงินที่เหลือจากการจัดการรายจ่ายที่ไม่จำเป็นนั้นอย่างเดียว คุณควรจะวางแผนการเงินตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ เงินที่ได้เพิ่มมานั้น คุณควรจะวางแผนดี ๆ ว่าแต่ละส่วนคุณจะจัดการอย่างไรส่วนไหนเก็บ ส่วนไหนกันไว้ใช้หนี้ คุณต้องแบ่งแต่ละส่วนให้ชัดเจนครับ
6. ถ้าบริหารแล้วยังไม่พอก็ต้องหารายได้เพิ่ม
สำนวนที่ยังคงเป็นจริงเสมอคือประโยคที่ว่า “หาให้มากกว่าใช้” ถ้าคุณบริหารทุกอย่างแล้วยังไม่เป็นไปตามเป้า คุณก็ควรจะหารายได้เพิ่มเติมครับ สำรวจว่าคุณมีศักยภาพอะไรหรือถนัดอะไรและมันพอจะเอามาเป็นวิธีหารายได้เพิ่มเติมได้หรือไม่แล้วจงลงมือทำเสีย เอาเวลาที่มานั่งเครียดนั่งกุมขมับมาหาเงินเพิ่มดีกว่าครับ
3 หลักคิดใช้ชีวิตอย่างไรให้ปลอดหนี้ ไม่ต้องยืมเงินเพือน
1. การเงินต้องมีวินัย ต้องเด็ดขาดกับตัวเอง
วินัยทางการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าไม่อยากมีหนี้ก็ต้องสร้างมันขึ้นมาให้ได้ ต้องวางแผนการเงินทุกครั้งว่าเงินแต่ละก้อนที่ได้มาเราจะจัดการอย่างไร ส่วนไหนใช้ ส่วนไหนเก็บ ส่วนไหนให้รางวัลกับตัวเอง อย่าเอามาปะปนกันเด็ดขาด และจำไว้เสมอว่าวินัยทางการเงินมาพร้อมกับคำว่าเด็ดขาดที่คุณต้องมีให้ตัวเอง มันอาจดูว่าคุณ “สติ๊ก” ในสายตาของคนอื่น แต่เชื่อเถอะถ้าคุณเดือดร้อนหรือจำเป็นต้องใช้เงินไม่มีใครช่วยคุณง่าย ๆ ถ้าคุณไร้วินัยและไม่เด็ดขาดกับตัวเอง
2. รู้จักหาก็ต้องรู้จักเก็บ
การจะปลอดหนี้อีกเรื่องที่สำคัญคือคุณต้องเก็บให้อยู่แล้วคุณจะไม่เดือดร้อน สูตรในการเก็บออมมีอยู่หลายสูตรซึ่งคุณปรับใช้ตามความเหมาะสมของตนเอง แม้ว่าคุณจะหาเงินเก่งเพียงใดก็ไร้ประโยชน์ ถ้าคุณเก็บมันไม่อยู่
3. คิดให้ดีก่อนจะควักเงินออกมาใช้
คุณเป็นแบบไหนระหว่าง “ใช้เงินเป็น” หรือ “ใช้เงินเก่ง” ทั้ง 2 แบบนี้แตกต่างกันตรงที่คุณคิดก่อนไหมก่อนจะควักเงินออกมาจ่ายแต่ละครั้ง คุณต้องคิดให้มาก ๆ ว่า แต่ละครั้งที่คุณต้องจ่ายเงิน สิ่งนั้นมันจำเป็นหรือไม่ ถ้าจำเป็นก็จ่ายได้เลยไม่มีปัญหา แต่ถ้ายังไม่เห็นความจำเป็นหรือมันยังชะลอออกไปก่อนได้คุณก็ควรทำครับ การใช้เงินถ้าคุณนำอารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผล ชีวิตคุณเจ๊งแน่นอน
จำไว้เสมอว่าเมื่อเป็นหนี้จงอย่าได้เบี้ยวหนี้เด็ดขาด ทุกปัญหามีทางแก้ไขเสมอ อย่าหนีปัญหาโดยการผลักภาระให้คนอื่น เพราะถ้าคุณทำเช่นนั้นเท่ากับว่าคุณได้ทำลายความน่าเชื่อถือของตนเองไปเสียแล้วและต่อไปคุณจะไม่ได้รับโอกาสและความช่วยเหลือ ความเชื่อใจจากใครอีกเลย
หากคุณอยากแก้ปัญหานั้นจริง ๆ วิธีแรกที่คุณควรทำคือการเปลี่ยนตัวเอง เมื่อคุณทำได้ปัญหาหนี้สินของคุณก็จะคลี่คลายในไม่ช้า
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME